มองตนจึงพ้นทุกข์

พระไพศาล วิสาโล 22 เมษายน 2006

ท่านเว่ยหลางเป็นสังฆปริณายกที่มีชื่อเสียงมากของพุทธศาสนานิกายเซนในประเทศจีนเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว  มีเกร็ดเล่าว่าที่วัดแห่งหนึ่งได้จัดงานใหญ่ มีการติดธงทิวทั่วสำนัก พระมาร่วมงานกันคับคั่ง  มีพระรูปหนึ่งเห็นธงโบกสะบัด จึงบอกกับอีกรูปหนึ่งว่า ธงกำลังพัดไหว  แต่อีกรูปหนึ่งเถียงว่าไม่ใช่ ธงไม่ได้ไหว ลมต่างหากที่ไหว  ทั้งสองเถียงกันเท่าไหร่ก็ตกลงกันไม่ได้ ว่าธงไหวหรือลมไหวกันแน่ ยิ่งเถียงก็ยิ่งมีคนมามุงและถือหางจนเกิดเป็นสองฝ่ายขึ้นมา  ทั้งสองฝ่ายต่างทุ่มเถียงกัน ต่างมีเหตุผลดีทั้งคู่ แต่ก็หาข้อยุติไม่ได้ ยิ่งเถียงก็ยิ่งโมโห ส่งเสียงดังมากขึ้นเรื่อยๆ  ในที่สุดก็มีคนพูดขึ้นว่าท่านเว่ยหล่างน่าจะตัดสินให้ได้

ทั้งสองรูปจึงไปหาท่านเว่ยหลาง ถามท่านว่าลมไหวหรือธงไหวกันแน่  ท่านเว่ยหลางได้ฟังก็ตอบว่า ที่ไหวๆ นั่น ไม่ใช่ลมหรือธงหรอก แต่เป็นใจของพวกท่านต่างหากที่ไหว  พอได้ฟังอย่างนี้เข้าพระทั้งสองฝ่ายก็ได้สติ หยุดเถียงกันเลย

คำตอบของท่านเว่ยหล่างสามารถยุติการโต้เถียงกันได้ เพราะท่านเตือนสติพระทั้งสองรูป รวมทั้งเตือนพวกเราด้วย  เพราะพวกเราส่วนใหญ่ชอบสนใจเรื่องข้างนอก แต่เรามักลืมมองจิตใจของตัวเอง มัวแต่สนใจว่า ธงไหวหรือลมไหว แต่ลืมดูใจของตัวเองว่ากำลังโกรธ กำลังโมโห หรือพลุ่งพล่านแค่ไหนแล้ว ใจเรากำลังกระเพื่อมหรือร้อนรนด้วยความโกรธ ด้วยความอยากเอาชนะกัน  ตรงนี้เรามักมองไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ เพราะว่าเราไม่ค่อยชอบมองตน มัวแต่ไปมองข้างนอกกัน  ฉะนั้นท่านเว่ยหลางจึงพูดเตือนสติให้ลูกศิษย์ทั้งสองฝ่ายหันมาดูใจของตัวเอง  เมื่อดูใจของตัวเองแล้ว ลมไหวหรือธงไหวก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว มันไม่มีสาระประโยชน์  ตรงกันข้ามถ้ามัวแต่สนใจว่าลมไหวหรือธงไหว โดยไม่ดูใจของตัวเองเลย อาจลงท้ายด้วยการทะเลาะวิวาทหรือชกตีกันก็ได้ อย่างที่มักเกิดขึ้นเวลาผู้คนมีความเห็นไม่ตรงกัน

การมองตนจนเห็นจิตใจของตนเองเป็นเรื่องสำคัญ  ถ้าเราไม่มองตนหรือไม่เอาใจมามองภายในเลย ก็หลงตัวลืมตนได้ง่าย  เมื่อลืมตนแล้วความถือตัวก็เกิดขึ้นตามมา รวมทั้งความโกรธและความเกลียด  เรื่องไม่เป็นเรื่องเช่น ธงไหวหรือลมไหวก็กลายเป็นชนวนให้คนทะเลาะกันได้เพราะความอยากเอาชนะ  ความอยากเอาชนะก็มีเหตุมาจากความถือตัวถือตนหรือยึดติดในตัวตนนั่นเอง  ฉะนั้นถ้าไม่มองตนก็ลืมตน เมื่อลืมตนก็หลงตัว เมื่อหลงตัวก็ทำให้ทะเลาะวิวาทกันได้

ปัญหาเกิดขึ้นกับคนเราบ่อยๆ ก็เพราะเราไม่ค่อยมองตนหรือดูใจตัวเอง  เมื่อเรามองตนบ่อยๆ จะรู้เท่าทันกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ ทำให้สามารถระงับยับยั้งได้ง่าย  แต่ถ้าไม่เห็นมันก็เหมือนกับหนุมานที่หางถูกไฟไหม้  หนุมานเป็นทหารเอกพระรามที่มีฤทธิ์สารพัด สามารถปราบศัตรูได้  แต่พอไฟไหม้หางตัวเองกลับหาทางดับไม่ได้ วิ่งพล่านไปทั่วกรุงลงกา ไฟเลยไหม้ลามไปทั่วเมือง  หนุมานจะหาน้ำมาดับไฟที่หาง ก็หาไม่เจอ แต่หนุมานไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าแค่เอาหางมาใส่ปากตัวเอง ไฟก็ดับได้ โดยไม่ต้องไปวิ่งพล่านหาน้ำที่ไหน

คนเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกันใช่ไหม เวลาไฟทุกข์เผาใจเรา เรามัวแต่วิ่งพล่านให้คนอื่นมาช่วยดับ หรือไปหาสิ่งภายนอกมาดับทุกข์ของตัวเอง ทั้งๆ ที่ตัวเองสามารถที่จะดับทุกข์ได้  สิ่งที่จะดับทุกข์ได้ก็มีอยู่แล้วในตัวเรา ทุกข์เกิดขึ้นที่ไหน ทางดับทุกข์ก็อยู่ที่นั่น  เมื่อทุกข์เกิดขึ้นกับตัวก็อย่ามัวไปหาทางดับทุกข์จากข้างนอก เราสามารถแก้ด้วยตัวเองได้ เพราะในใจเรามีน้ำที่จะดับไฟทุกข์อยู่แล้ว  ไฟเกิดขึ้นที่ใจก็ดับที่ใจนี่แหละ จะไปหาสิ่งภายนอกมาดับ อย่างมากก็แค่บรรเทาหรือระงับชั่วคราวเท่านั้น  แต่เดี๋ยวนี้คนเราชอบไปหาสิ่งภายนอกมาดับทุกข์ของตัวเอง  กลุ้มอกกลุ้มใจ เครียด ท้อแท้หมดหวังก็คิดว่าถ้าไปเที่ยว ไปดูหนัง ไปฟังเพลง ไปกินเหล้า ไปเที่ยวผับบาร์คาราโอเกะแล้วจะหายได้  หรือหนักกว่านั้นก็คือไปพึ่งยาบ้า ยาเสพย์ติด ซึ่งกลับจะทำให้ทุกข์หนักขึ้น

ที่ทำอย่างนี้ก็เพราะเราไม่รู้จักตัวเอง เลยไม่รู้ว่าเรามีความสามารถที่จะดับไฟในใจได้ด้วยตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้นก็คือพอไม่มองตัวเองแล้ว ก็เผลอตกเข้าไปในความทุกข์ ทำให้ทุกข์หนักขึ้น  ความทุกข์นั้นเมื่อเกิดขึ้นใหม่ๆ เปรียบเสมือนสะเก็ดไฟเล็กๆ  แต่ถ้าปล่อยให้มันลาม ก็อาจเติบใหญ่จนไหม้บ้าน หรือลุกลามเป็นไฟป่า  ที่จริง เราไม่ได้ปล่อยให้มันลามเท่านั้น เรายังมักเอาฟืนมาเติมให้ไฟแรงขึ้นด้วยซ้ำ

ถ้าไม่มองตนก็ลืมตน เมื่อลืมตนก็หลงตัว เมื่อหลงตัวก็ทะเลาะวิวาทกัน

จะว่าไปใจของคนเรานับว่าแปลก  ไม่เหมือนกับร่างกายของเรา  เวลานิ้วของเราไปถูกไฟหรือของร้อน เราจะรีบชักนิ้วออกทันที  แต่พอใจเราไปถูกเพลิงโทสะ ไฟตัณหา ไฟราคะเผาลน  ถามว่าใจพยายามหนีห่างไหม ตรงกันข้ามมันกลับยิ่งเข้าไปคลอเคลียหนักขึ้น

เวลามีอะไรมากระทบใจ ใจเราแทนที่จะสลัดทิ้ง หรือถอยห่าง กลับเอามาปรุงแต่ง เอามาคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ถ้าโกรธใครก็มัวแต่นึกถึงหน้าคนนั้น หรือนึกถึงการกระทำที่ไม่ดีของเขา ยิ่งคิดก็ยิ่งร้อนใจ แต่ว่าก็ยังเอามาคิดอยู่นั่นเอง  ทั้งๆ ที่คิดแล้วก็ทุกข์ แต่ก็ยังคิด  เปรียบไปก็เหมือนกับมีไฟมาสุมกองอยู่ในใจ แต่แทนที่จะดับ กลับเอาฟืนมาเติม เอาน้ำมันมาราด  เกลียดใคร ก็นึกถึงเขาทั้งคืนทั้งวัน  กินก็คิด นอนก็คิด จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ  เท่านั้นไม่พอ ยังไปสาวเอาเรื่องเก่าๆ ที่ไม่ดีของเขามาทิ่มแทงจิตใจอีก  เรื่องที่ดีๆ ของเขาไม่เอามาคิดนะ ไปขุดเอาแต่เรื่องที่ไม่ดีของเขามาตอกย้ำ  บางทีเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 10 ปี ก็ยังขุดเอามาคิด ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเราก็ให้อภัยเขาแล้ว หรือว่าเลิกลากันไปแล้ว ตกลงกันแล้วด้วยดี  แต่ว่าพอมีเรื่องกระทบใจอีก ก็ไปขุดเรื่องเก่าเอามาเป็นอารมณ์อีก  ทั้งๆ ที่มันอาจไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันเลย แต่ว่าพอโกรธหรือเกลียดเสียแล้ว ก็เอามาปรุงแต่งไม่เลิก  สุดท้ายใครทุกข์ ใครเจ็บ ใครปวด ก็เรานั่นแหละ

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราไปจดจ่อใส่ใจกับเรื่องนอกตัวมากเกินไป  ไปจดจ่ออยู่กับคนที่เราเกลียด ก็เลยไปเอาเรื่องร้ายมาใส่ตัว  ถ้าเราลองหันมามองตนดูใจตัวเองเสียหน่อย ก็จะเห็นว่า ไฟกำลังลุกท่วมใจแล้ว  แต่ก่อนมันเป็นแค่สะเก็ดไฟนิดเดียว แต่ตอนนี้กลายเป็นกองไฟที่ลุกท่วม  ถ้าเห็นตรงนี้ก็จะหาทางดับมันให้ได้  แต่ถ้าไม่เห็น เพราะมัวไปจับผิดหรือจดจ้องคนโน้นคนนี้ ก็เลยคิดพยาบาท คิดหาทางแก้แค้น คิดหาทางทำร้ายเขา  แต่ความคิดเหล่านี้แหละที่มันทำร้ายเรา ยังไม่ทันจะเล่นงานเขาเลย เราก็ทำร้ายตัวเองด้วยความคิดอกุศลเหล่านี้เสียแล้ว

คนเราถ้าจะแก้ทุกข์ได้ ต้องรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง  สติทำหน้าที่เหมือนตาในที่จะทำให้เราเห็นอารมณ์ความนึกคิดของเราได้  และเมื่อรู้เท่าทันตัวเอง เราก็จะพบว่าสิ่งที่เราหมกมุ่นครุ่นคิดนั้นถ้าไม่ใช่อดีตที่ผ่านไปแล้วก็เป็นอนาคตที่ยังมาไม่ถึง หาใช่เรื่องปัจจุบันไม่  คำพูดที่เขาด่าเราก็เป็นอดีตไปแล้ว สิ่งที่เรากังวลก็เป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง เมื่อรู้เช่นนี้เราก็ควรพยายามอยู่กับปัจจุบัน  ถ้าคนเราหันมาอยู่กับปัจจุบันแล้ว จิตใจจะโปร่งสบาย เพราะมีแต่สิ่งที่จะต้องทำในขณะนี้เท่านั้น งานการจะทำได้อย่างมีสมาธิ แม้มีปัญหาก็สามารถแก้ไขได้อย่างไม่หงุดหงิด  ความสุขเป็นของใกล้ตัวเมื่อใจมีสติอยู่กับปัจจุบัน


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา