มาช่วยกันทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำใจ

พระไพศาล วิสาโล 15 เมษายน 2007

ความตกต่ำทางศีลธรรมของผู้คน รวมทั้งความซวดเซของพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากการคุกคามจากภายนอก  ได้ทำให้ชาวพุทธจำนวนมากมีความเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องชูพุทธศาสนาให้กลับมามีความสำคัญในระดับชาติ  มาตรการหนึ่งก็คือการเรียกร้องให้มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างเด่นชัดว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

แม้ว่าในอดีตพุทธศาสนาจะมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับชนชาติไทย ทั้งในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างยากจะปฏิเสธได้  แต่ในปัจจุบันประเทศไทยนับวันจะห่างไกลจากคำสอนทางพุทธศาสนายิ่งขึ้นเรื่อยๆ  เห็นได้จากปัญหาอาชญากรรมที่พุ่งไม่หยุด การคอร์รัปชั่นที่แพร่ระบาดไปทุกหย่อมหญ้าและทุกระดับ ความรุนแรงในครอบครัวโดยเฉพาะกับผู้หญิงและเด็ก การหมกมุ่นในอบายมุขและการสำส่อนทางเพศ การหลงใหลวัตถุจนถึงขั้นบูชาเงินและพึ่งพิงวิงวอนอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ จนไสยพาณิชย์ระบาดอย่างไม่เคยมีมาก่อน  ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดมีข้อกังขาว่าพุทธศาสนายังเป็นศาสนาประจำชาติอยู่อีกหรือ?

ไม่เป็นการเสียหาย กลับเป็นการดีด้วยซ้ำ หากเราพยายามทำให้พุทธศาสนากลับมาเป็นศาสนาประจำชาติ  แต่นั่นไม่สามารถเกิดขึ้นได้แม้แต่น้อยด้วยการเพิ่มข้อความดังกล่าวลงไปในรัฐธรรมนูญ  ตรงกันข้ามอาจเกิดความฉงนสงสัยที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่คนต่างชาติต่างศาสนาว่า ในเมื่อพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว แต่เหตุใดความตกต่ำทางศีลธรรมยังมีอยู่ทั่วประเทศไทย?  พุทธศาสนาไม่ได้ทำให้คนไทยมีศีลธรรมสูงขึ้นเลยหรือ?

หากจะทำให้พุทธศาสนากลับมาเป็นศาสนาประจำชาติอย่างแท้จริง มีทางเดียวเท่านั้นคือทำให้พุทธศาสนากลับมาเป็นศาสนาประจำใจของผู้คนให้ได้  ชาวพุทธจึงควรระดมสรรพกำลังเพื่อการนี้ยิ่งกว่าอย่างอื่น  จริงอยู่พุทธศาสนาจะเป็นศาสนาประจำใจได้ ต้องอาศัยมาตรการต่างๆ มากมาย มิใช่แค่การเทศนาสั่งสอนเท่านั้น  มาตรการเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐด้วย เช่น การออกกฎหมาย การช่วยเหลือด้านงบประมาณและบุคลากร  แต่บทบาทสำคัญของรัฐนั้นยังมีความสำคัญน้อยกว่าบทบาทของคณะสงฆ์และประชาชน  การระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ อาจเป็นเงื่อนไขผูกมัดรัฐให้ทำการอุปถัมภ์พุทธศาสนาอย่างจริงจัง  แต่แทบจะไม่สามารถขับเคลื่อนคณะสงฆ์หรือประชาชนให้ทำอะไรเพื่อพุทธศาสนาได้เลย

มักมีความเข้าใจว่าการที่พุทธศาสนาตกต่ำในเวลานี้เป็นเพราะการปล่อยปละละเลยของรัฐบาล ดังนั้นถ้ารัฐให้การสนับสนุนมากกว่านี้ พุทธศาสนาจะเจริญมั่นคงยิ่งขึ้น ไม่อ่อนแอซวดเซอย่างทุกวันนี้  หลายคนเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหางบประมาณแก่สถาบันและกิจกรรมทางพุทธศาสนามากกว่านี้  คำถามก็คือทุกวันนี้วงการชาวพุทธขาดแคลนเงินทองจริงหรือ  คำตอบก็คือไม่ได้ขาดแคลนเลย  เงินทองที่สถาบันสงฆ์และวัดวาอารามได้รับจากประชาชนทั่วประเทศนั้นมีจำนวนมหาศาล  คำถามต่อไปก็คือ เงินเหล่านั้นถูกใช้ไปกับเรื่องอะไรบ้าง  คำตอบคือ ส่วนใหญ่หมดไปกับวัตถุโดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง ในขณะที่เงินนับร้อยหรือพันล้านถูกใช้ไปกับการสร้างโบสถ์อันงดงามตระการตา แต่การศึกษาสำหรับพระเณร รวมทั้งการอบรมจริยธรรมสำหรับเยาวชนกลับขาดแคลนเงินทุนสนับสนุน  แม้แต่อาหารสำหรับพระเณรในสำนักเรียนตามหัวเมืองก็ยังไม่เพียงพอ  ในขณะที่บางวัดมีเงินหลายพันล้านบาท แต่หลายวัดทั่วประเทศกลับยากจน (แม้กระนั้นหมู่บ้านที่รายล้อมวัดดังกล่าวกลับมีเงินสำหรับอบายมุขทั้งเหล้าและหวยปีละหลายแสนบาท)

ปัญหาสำคัญที่สุดจึงมิได้อยู่ที่การขาดเงินหรือการปล่อยปละละเลยจากรัฐ  แต่เป็นเพราะวงการชาวพุทธในทุกระดับไม่ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับพุทธศาสนาต่างหาก อีกทั้งยังขาดความร่วมมือในการฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นมาในใจของผู้คน  ลองคิดดูว่าพุทธศาสนาจะเจริญมากกว่านี้สักเพียงใด หากวัดวาอารามที่ร่ำรวยมีความเอื้ออาทรต่อวัดที่ยากจน  เช่น ให้เงินสนับสนุนการศึกษาสำหรับพระเณรในชนบท หรือจัดส่งบุคลากรไปช่วยสอน  ส่วนประชาชนก็เห็นคุณค่าของการศึกษาของพระเณร แทนที่จะปล่อยปละละเลยหรือสนใจสร้างวัตถุมากกว่าเพราะหวังโชคลาภ

จริงอยู่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความใส่ใจเท่าที่ควรในเรื่องการพระศาสนา  แม้กระนั้นสถานการณ์พุทธศาสนาจะไม่ซวดเซเท่านี้ หากพุทธบริษัททุกฝ่ายตื่นตัวในหน้าที่ของตน เริ่มตั้งแต่มหาเถรสมาคมลงมา  ตัวอย่างเช่น การศึกษาของสงฆ์ ซึ่งกำลังอยู่ในสภาพที่วิกฤต  ทุกวันนี้คณะสงฆ์ยังไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้พระเณรได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง  กลับปล่อยให้วัดต่างๆ ดูแลกันเอง คณะสงฆ์เพียงแต่จัดให้มีการสอบเท่านั้น  แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษาของสงฆ์ แต่ก็ไม่เคยมีการดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่มหาเถรสมาคมมีความรับผิดชอบโดยตรง

ในสภาพเช่นนี้ แม้รัฐจะใส่ใจเพียงใด ก็ยากที่จะทำให้การศึกษาของสงฆ์กระเตื้องขึ้นได้  ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงการปฏิรูปการปกครองสงฆ์ ซึ่งแม้รัฐบาลจะตราร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ออกมาแล้ว แต่ก็ค้างคามาจนทุกวันนี้ เพียงเพราะความขัดแย้งในคณะสงฆ์เอง โดยมหาเถรสมาคมลอยตัวเหนือปัญหา

ในขณะที่เงินนับร้อยหรือพันล้านถูกใช้ไปกับการสร้างโบสถ์อันงดงามตระการตา แต่การศึกษาสำหรับพระเณรกลับขาดแคลนเงินทุนสนับสนุน

การพยายามผลักดันให้มีการตราในรัฐธรรมนูญว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มีพื้นฐานมาจากความคิดที่ว่า พุทธศาสนาจะเจริญมั่นคงหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐเป็นสำคัญ  แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐเป็นแค่ปัจจัยสนับสนุนเท่านั้น  ปัจจัยหลักอยู่ที่คณะสงฆ์และประชาชน  ถ้าปัจจัยหลักไม่ขยับ รัฐก็ทำอะไรได้น้อยมาก ดังกรณีการปฏิรูปการศึกษาสงฆ์  ยิ่งในบางเรื่องด้วยแล้ว รัฐแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย โดยเฉพาะเรื่องพื้นฐาน  เช่น การทำให้วัดเป็นเขตปลอดเหล้า ทั้งๆ ที่เหล้ากับพุทธศาสนานั้นเป็นปฏิปักษ์กันโดยตรง แต่ปัจจุบันการกินเหล้าในวัดโดยเฉพาะเมื่อมีงานผ้าป่า งานกฐิน งานวัด หรืองานศพ เป็นเรื่องธรรมดามากในหลายวัดทั่วประเทศ  ปัญหาอย่างนี้ มีแต่พระสงฆ์กับชาวบ้านเท่านั้นที่จะแก้ได้  แต่หลายวัดก็ทำไม่ได้  สาเหตุสำคัญอยู่ที่วัดอ่อนแอ ส่วนชาวบ้านก็ไม่ใส่ใจ  คำถามก็คือ หากพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญแล้ว เหล้าจะหมดไปจากวัดหรือไม่?

ที่กล่าวมานี้ว่าเฉพาะปัญหาของพระสงฆ์อย่างเดียว  ปัญหาของพุทธศาสนายังครอบคลุมไปถึงปัญหาความเสื่อมทางด้านศีลธรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชน  รัฐไม่ว่าจะทรงอำนาจเพียงใดก็ไม่สามารถทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำใจของประชาชนได้  ทำได้อย่างมากก็เพียงแค่บังคับให้คนเรียนวิชาศีลธรรมมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ทำให้คนมีศีลธรรมมากขึ้นเลย  แต่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐนั้นไร้น้ำยาหรือไร้ประโยชน์  ยังมีบทบาทหลายอย่างที่รัฐทำได้ แต่แทนที่จะคิดถึงการทำให้คนเรียนศีลธรรมหรือฟังเทศน์มากขึ้น ควรนึกไปถึงการทำให้ครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง  ครอบครัวและชุมชนนั้นเป็นสถาบันทางศีลธรรมที่เคยมีความสำคัญมากในอดีต แต่ทุกวันนี้อ่อนแอลงไปมากจนไม่อาจทำงานได้เหมือนเก่า  การสร้างกลไกทางสถาบันและกฎหมายที่ส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนเข็มแข็งขึ้น (เช่น ช่วยให้พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น) เป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างศีลธรรมของผู้คนได้เป็นอย่างดี  การปฏิรูปสื่อมวลชนให้ปลอดพ้นจากอิทธิพลของบริโภคนิยม ก็เป็นหนึ่งในอีกหลายมาตรการที่รัฐควรทำ  แต่มาตรการเหล่านี้เราสามารถผลักให้เกิดขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการตราในรัฐธรรมนูญว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

การบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ  นอกจากจะไม่สามารถทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำใจได้แล้ว  ยังทำให้ปัญหาต่างๆ ในแวดวงพุทธศาสนาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะเป็นการฝากความหวังไว้กับรัฐมากเกินไป  จนกลายเป็นการพึ่งพารัฐและเรียกร้องจากรัฐแต่ฝ่ายเดียว แทนที่จะหันมาร่วมมือกันในหมู่พระสงฆ์กับประชาชน (โดยมีรัฐเป็นฝ่ายสนับสนุน)

การบัญญัติว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ นอกจากจะไม่ช่วยให้เกิดผลดีที่ตั้งใจแล้ว  ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา  ความแตกแยกระหว่างศาสนาเป็นประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงมาก  ปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเลย หากศาสนิกทั้งหลายนับถือศาสนาด้วยความใจกว้าง  แต่สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ไม่อาจทำให้เรากล่าวเช่นนั้นได้เต็มปาก เพราะการติดยึดกับความเห็นของตนจนไม่ยอมรับทัศนะที่ต่างไปจากตนนั้น ปรากฏอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะเมื่อมีอิทธิพลของชาตินิยมเข้าไปเกี่ยวข้อง  การประกาศสาปแช่งหรือถึงขั้นขู่ทำร้ายคนที่มีความเห็นว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ มิใช่เป็นผลงานของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็ดี  หรือเห็นว่าคุณหญิงโมมิได้ทำวีรกรรมอย่างที่เชื่อกันก็ดี  หรือเห็นว่าไม่ควรกีดกันผู้หญิงให้เข้าไปบริเวณชั้นในของพระเจดีย์ที่มีพระธาตุอยู่ข้างในก็ดี (ข้อกล่าวหาอย่างหนึ่งที่นิยมใช้กันก็คือ คนเหล่านี้ “ไม่ใช่คนไทย”) ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งมากจนทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับขันติธรรมของคนไทยจำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน

ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังกล่าวถึงก็เพราะว่า หากพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ก็ง่ายที่จะนำไปสู่ความคิดว่าเป็นไทยก็ต้องเป็นพุทธ  และเมื่อยึดติดกับความคิดดังกล่าวอย่างขาดขันติธรรม ก็อาจปลุกเร้าให้เกิดความขัดแย้งกับคนที่ต่างศาสนา (หรือแม้แต่กับคนศาสนาเดียวกันที่คิดต่างกัน) เช่นการกล่าวหาว่าเขาไม่ใช่ไทย  หรือเรียกร้องให้รัฐมีมาตรการที่เป็นบวกกับพุทธศาสนาแต่ส่งผลลบต่ออีกศาสนาหนึ่งโดยอ้างความเป็นไทย  ปฏิเสธไม่ได้ว่าความยึดติดศาสนาอย่างขาดขันติธรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับบางส่วนที่ถือตนว่าเป็นชาวพุทธเท่านั้น หากยังเกิดกับบางส่วนที่เรียกตนว่าเป็นชาวมุสลิม  แม้คนเหล่านี้จะเป็นคนส่วนน้อย แต่ก็สามารถสร้างปัญหาร้ายแรงให้กับคนส่วนใหญ่ได้อย่างนึกไม่ถึง  ดังที่กำลังเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ไม่ว่าจะเห็นต่างกันอย่างไร  ขันติธรรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง  ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับการทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ก็ควรหลีกเลี่ยงการกล่าวหาหรือประณามกัน  โดยเฉพาะหากทั้งสองฝ่ายยังถือตัวว่าเป็นชาวพุทธ อย่างน้อยไม่ควรโกรธเกลียดกัน  เพราะนี้คือสิ่งที่ชี้ว่าเรามีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำใจหรือไม่


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา