หลายมิติของสุขภาพ

พระไพศาล วิสาโล 30 เมษายน 2005

สุขภาพของคนเรานั้นมีหลายมิติ ชีวิตนั้นมีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะอธิบายด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนหรือเครื่องสแกนสมอง  ดังที่พอล ไวส์ นักชีววิทยาชาวอเมริกันได้กล่าวว่า “ไม่มีปรากฏการณ์ใดๆ ในระบบของสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถอธิบายได้ในระดับโมเลกุล แต่ก็ไม่มีปรากฏการณ์ใดเลยที่อธิบายได้เฉพาะในระดับโมเลกุล”

ความเครียด ความวิตกกังวล ความท้อแท้สิ้นหวัง ในทางพุทธศาสนาจัดว่าเป็นโรคอย่างหนึ่ง คือโรคทางใจ  และโรคทางใจนี้มีความหมายรวมไปถึง “ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่นท่าน ความเมา ความประมาท” (ขุ.จู.๓๐/๖๙๒)

สุขภาพที่เคยมีการนิยามว่าหมายถึงการปลอดโรค จะใช้ได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อขยายความหมายของ “โรค” ให้กว้างกว่าโรคทางกาย โดยให้คลุมไปถึงโรคทางใจ  ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางสมอง เช่น โรคประสาท โรคซึมเศร้า โรคอัลไซเมอร์  หากหมายถึงโรคที่เกิดจากการวางจิตใจไม่ถูกต้องทั้งๆ ที่มีสมองปกติ  ความเครียด ความวิตกกังวล ความท้อแท้สิ้นหวัง ตลอดจนอาการอีกมากมายที่กล่าวมาข้างต้น เป็นโรคทางใจในความหมายดังกล่าว  โรคทางใจเหล่านี้ถึงที่สุดแล้วเกิดจากความติดยึดที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ปรารถนาให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจตน เมื่อไม่ได้ดังใจ จึงเกิดโรคเหล่านี้ขึ้นมา  พูดอีกอย่างคือเป็นโรคที่เกิดจากความยึดมั่นในตัวตน  โรคทางใจเหล่านี้ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โรคทางวิญญาณ” เพื่อไม่ให้ซ้ำกับโรคจิตในความหมายของการแพทย์แผนใหม่ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางสมองหรือระบบประสาท อันท่านจัดว่าเป็นโรคทางกายอีกแบบหนึ่ง

ในการบำบัดโรคทางใจหรือโรคทางวิญญาณดังกล่าว การทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ ผ่อนคลาย สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง  แต่ถ้าจะให้ได้ผลอย่างแท้จริงและยั่งยืน ต้องอาศัยการเปลี่ยนทัศนคติเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องหรือสอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกว่าปัญญา  ปัญญานั้นมีหลายระดับ เริ่มจากการเห็นว่าความเจ็บป่วยนั้นเป็นธรรมดาของชีวิต ความเข้าใจดังกล่าวช่วยให้ยอมรับความเจ็บป่วยได้ โดยใจไม่ทุกข์ทรมานไปกับอาการดังกล่าวมากนัก หรือการเห็นว่าโรคใดๆ ก็ตามไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวต่อโรคนั้น

ความสำเร็จของการแพทย์ทางเลือกเช่นชีวจิต ส่วนหนึ่งนั้นอยู่ที่การทำให้ผู้ป่วยเห็นว่ามะเร็งไม่ใช่โรคร้ายที่น่าสะพรึงกลัว แม้จะเป็นมะเร็งหรือมีเซลมะเร็งอยู่ในร่างกาย เราก็สามารถมีความสุขได้ และอาจสุขยิ่งกว่าตอนก่อนป่วยด้วยซ้ำ  ปัญญาขั้นที่สูงไปกว่านั้นคือ การเห็นว่าไม่มีอะไรที่จะยึดมาเป็นตัวตนได้ แม้แต่ร่างกายก็ไม่ใช่ของเราจริงๆ  ปัญญาดังกล่าวช่วยให้ปล่อยวางในร่างกาย และไม่ยึดเอาทุกขเวทนาทางกายมาเป็นของตน  ดังนั้นแม้จะป่วยกาย แต่ก็ไม่ป่วยใจ  ปัญญาที่ละวางความยึดติดในตัวตนนี้ ช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและโปร่งเบา ปลอดพ้นจากความเครียด ความโกรธ ความริษยา ความแข่งดี ความถือตัว เป็นต้น  ปัญญาที่พัฒนาเต็มขั้นย่อมทำให้เป็นอิสระจากโรคทางใจได้อย่างสิ้นเชิง  สุขภาวะหรือสุขภาพที่เกิดจากปัญญาดังกล่าว อาจเรียกว่าสุขภาวะทางปัญญาก็ได้

การเปลี่ยนทัศนคติเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องหรือสอดคล้องกับความเป็นจริง ทางพุทธศาสนาเรียกว่าปัญญา

อย่างไรก็ตามสุขภาพของบุคคลมิได้ขึ้นอยู่กับความผาสุกทั้งทางกายและใจ (ซึ่งรวมถึงสุขภาวะทางปัญญา) เท่านั้น ยังมีอีกมิติหนึ่งที่เกี่ยวข้องอย่างมากกับสุขภาพของบุคคล นั่นคือมิติทางสังคม ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์กับผู้อื่นและการเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม

มนุษย์แต่ละคนนั้นมีอย่างน้อย ๒ สถานะ  สถานะแรกคือการเป็นปัจเจกบุคคล สถานะที่สองคือการเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม  ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล สุขภาพของแต่ละคนย่อมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของตนเอง  แต่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม สุขภาพของแต่ละคนย่อมต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมด้วย เช่น มีน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ และที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือ เงื่อนไขทางสังคม เช่น หลักประกันทางสุขภาพและสวัสดิการ รวมถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล และการจัดระเบียบสังคม

โรคเอดส์นั้นเป็นตัวอย่างของปัญหาสุขภาพที่มิได้เกิดจากความไม่รู้หรือประมาทของบุคคลเท่านั้น หากยังเป็นผลจากนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งหารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยการส่งเสริมหรือให้สัญญาณ “ไฟเขียว” แก่อุตสาหกรรมทางเพศ จนเป็นที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลก  ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความบกพร่องของสถาบันศาสนาและวัฒนธรรม ที่ไม่สามารถต้านทานลัทธิบริโภคนิยมทางเพศที่แพร่สะพัดไปทั้งประเทศ เช่นเดียวกับการที่มีหญิง (และเด็ก) ขายบริการหลายแสน ก็บ่งชี้ความไม่เป็นธรรมในทางเศรษฐกิจและความบกพร่องของระบบการศึกษา

อุบัติเหตุจราจรซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยไม่สวมหมวกนิรภัยและเมาเหล้า เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่นอกจากจะเป็นผลจากความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังสามารถสืบสาวไปถึงนโยบายทางด้านสุรา ซึ่งมีการโฆษณาและขายกันอย่างเสรี  การแก้ปัญหานี้นอกจากจะทำด้วยการออกกฎหมายบังคับสวมหมวกนิรภัย ตลอดจนการตรวจใบขับขี่และเคร่งครัดกฎจราจรแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการควบคุมการโฆษณาและขายสุรา

แต่เท่านั้นยังไม่พอ ควรมีการปรับปรุงนโยบายขนส่งมวลชนด้วย เพราะระบบขนส่งมวลชนที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยผลักดันให้คนจำนวนไม่น้อยหันไปหารถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ผลก็คือประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรถจักรยานยนต์มากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

การเสริมสร้างสุขภาพของประชาชน จึงไม่ได้หมายความเพียงแค่การสร้างโรงพยาบาลมากๆ สนับสนุนให้ประชาชนออกกำลังกายสม่ำเสมอ และกินอาหารปลอดสารพิษเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการดูแลรักษาจิตใจให้เป็นสุขและผ่อนคลาย  และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือการสร้างเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อชีวิตที่มีสุขภาวะด้วย


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา