“ก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน”
เป็นวลีที่หลายคนใช้ตอบ เมื่อถูกถามว่ามีหลักในการดำเนินชีวิตอย่างไร หลังจากนั้นเราก็มักได้ยินเสียงซุบซิบถึงความเรียบง่ายของเขาคนนั้นในทำนองที่ว่า อย่างนี้หรือที่เรียกว่าเรียบง่าย
ความเรียบง่ายของคนหนึ่ง อาจมองได้ว่าเป็นความหรูหราฟุ่มเฟือยในสายตาของอีกคนหนึ่ง แต่ในขณะที่ความเรียบง่ายของอีกคนหนึ่งกลับถูกมองว่าเคร่งครัด หรือ ‘ตึง’ จนเกินไปในสายตาของอีกคนหนึ่ง
หากจะยกตัวอย่างการซื้อรถมาขับสักคันหนึ่งว่าเป็นการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายหรือเปล่า คงพอจะเห็นได้ว่าเป็นประเด็นที่ถกเถียงหาคำตอบได้มากมาย
ฝ่ายที่ว่าการมีรถไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือยก็ยกถึงความจำเป็นในชีวิต จำเป็นต่อครอบครัวที่ต้องไปรับส่งสมาชิกตัวน้อย ต่อความปลอดภัยที่อาจต้องกลับดึกๆ ดื่นๆ
อาจต้องแยกแยะต่อไปอีกว่า ถ้ามีรถเพียงคันเดียวก็ยังถือว่าเรียบง่าย แต่ถ้ามากว่านั้นต้องถือว่าเป็นความฟุ่มเฟือย บ้างก็ว่าถ้าเป็นรถญี่ปุ่นก็ถือว่าเรียบง่าย แต่ถ้าเป็นรถยุโรปละก็ต้องถือว่าฟุ่มเฟือย ว่าแล้วก็หาข้อโต้แย้งกันต่อไปได้ไม่สิ้นสุด
ความเรียบง่ายของชีวิต ดูเหมือนว่าจะเรื่องที่ยุ่งยากวุ่นวาย ไม่ได้เรียบง่ายสมชื่อเสียแล้ว
มองในอีกแง่หนึ่ง ปัญหาเรื่องความชัดเจนของความเรียบง่ายนี้ อาจจะเป็นปัญหาร่วมของคนยุคนี้เท่านั้น ที่เราเคยชินและต้องการความชัดเจนตายตัวไปเสียทุกเรื่อง
ความเรียบง่ายของคนหนึ่ง อาจมองได้ว่าเป็นความหรูหราฟุ่มเฟือยในสายตาของอีกคนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็อาจเป็นความเคร่งครัดจนเกินไปในสายตาของอีกคนหนึ่ง
ทุกวันนี้เราถูกยัดเยียดแนวคิดเรื่องความชัดเจนกันจนทำให้รู้สึกทนไม่ได้กับความจริงที่หลากหลาย หรือเรื่องอะไรที่ดูคลุมเครือ ทุกอย่างดูเหมือนจะต้องมีมาตรฐาน มีกฎ มีเกณฑ์ที่ชัดเจนในการวัด ตัดสิน หรือต้องมีคำตอบสำเร็จรูปที่พร้อมสำหรับการปฏิบัติ
ความชัดเจนแม้จะมีประโยชน์มาก แต่ก็ทำลายคุณค่าของความหลากหลาย ทำลายสุนทรียภาพของความพร่ามัว และยังทำให้ละเลยมิติทางอารมณ์หรือจิตใจที่ยากจะวัดออกมาให้เห็นชัดๆ ไปด้วย
พุทธศาสนาได้ให้ความสำคัญกับความชัดเจนอยู่ไม่น้อย แต่เป็นความชัดเจนในเจตนาของผู้กระทำ ไม่ได้เน้นความชัดเจนทางกายภาพที่แสดงออกมาทางการกระทำแต่เพียงอย่างเดียว
ในพระไตรปิฎกมีเรื่องที่กล่าวถึงพระภิกษุที่ออกไปอาศัยอยู่ในป่าเหมือนๆ กัน แต่พระพุทธองค์ทรงจำแนกภิกษุเหล่านี้ออกได้ถึง ๕ ประเภท คือ พวกที่เป็นผู้โง่เขลางมงายก็มี เป็นผู้ที่มีความปรารถนาลามกก็มี เป็นพวกที่ไปอยู่เพราะจิตฟุ้งซ่านก็มี เป็นเพราะเห็นว่าพระพุทธะทั้งหลายสรรเสริญก็มี หรือเป็นเพราะความมักน้อย ความสันโดษ ใฝ่สงัดก็มี ซึ่งพระองค์สรรเสริญเฉพาะภิกษุที่มีเจตนาอยู่ป่าในประเภทหลังนี้เท่านั้น
เช่นเดียวกับการใช้ทรัพย์สินเงินทองหรือการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายสำหรับพุทธศาสนิกชน ท่านไม่ได้มีเกณฑ์ที่ตายตัวว่าจะต้องใช้จ่ายอย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นผู้มีชีวิตที่เรียบง่าย แต่จะมีหลักในการหาและใช้จ่ายทรัพย์ไว้ให้พิจารณา
โดยต้องตั้งต้นที่การแสวงหาทรัพย์สินมาอย่างชอบธรรมก่อน คือต้องไม่ได้มาด้วยการคดโกงเอาเปรียบใคร และเมื่อได้มาแล้วก็ต้องใช้เลี้ยงตน เลี้ยงครอบครัวให้มีความสุข จากนั้นจึงให้รู้จักเผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์นั้นทำความดีต่อไป
หลักสำคัญในการครอบครองทรัพย์สินในทัศนะแบบพุทธก็คือ ต้องไม่ลุ่มหลงยึดติดอยู่ในทรัพย์ที่มี รู้จักกินและใช้ทรัพย์อย่างรู้เท่าทัน เห็นทั้งด้านดีและด้านเสียของมัน และต้องเรียนรู้ที่จะทำตนให้เป็นอิสระ เป็นนายเหนือทรัพย์สินเหล่านั้นให้ได้ จึงจะถือว่าใช้ชีวิตอย่างน่าชมเชย
นั่นคือต้องกลับเข้าไปสำรวจในจิตใจหรือดูที่เจตนาของตนเองว่า การซื้อรถของเรานั้นจริงๆ แล้วทำเพื่ออะไรกันแน่ เราตระหนักถึงข้อดีข้อเสียในการที่จะซื้ออย่างถี่ถ้วนแล้วหรือยัง เราใช้รถอย่างเป็นนายมัน หรือให้ทรัพย์สินเหล่านั้นมาเป็นเจ้านายเรา จนต้องทุ่มเททั้งชีวิต จิตใจ และวิญญาณ เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาครอบครองตอบสนองความอยาก เพิ่มความยึดมั่นในตัวตน และเกียรติยศศักดิ์ศรีของเรา
เมื่อมองอย่างพุทธ ความเรียบง่ายของการใช้ชีวิต จึงไม่ได้ตัดสินกันที่พฤติกรรมหรือทรัพย์สินสิ่งของที่ใช้เท่านั้น แต่ดูที่เจตนาในใจของผู้นั้นเป็นหลัก
วิถีชีวิตภายนอกที่ดูเรียบง่ายเหมือนๆ กัน เมื่อมองเข้าไปในจิตใจแล้วอาจพบความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็ได้ ขณะเดียวกันการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จริงๆ แล้วภายในใจเขาอาจเรียบง่ายไม่ต่างกันเลยก็เป็นได้ เพราะตัวตัดสินอยู่ที่ทัศนะในใจของคนผู้นั้นต่อทรัพย์สินและการใช้ทรัพย์สินนั้นเป็นสำคัญ
ความเรียบง่ายแบบนี้จึงเป็นความเรียบง่ายที่หลากหลาย เป็นความเรียบง่ายที่แตกต่าง และเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข เพราะแม้แต่ความคิดที่จะเอาตนเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น เพื่อตัดสินว่าชีวิตฉันเรียบง่ายกว่าเขาหรือเปล่า ก็ยังไม่มี
แล้วความเรียบง่ายของความเรียบง่าย ก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก