คือข้อความที่คุณเปิ้น-วิลาสินี ชัฎอนันต์ โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กเมื่อราวปลายเดือนเมษายน 2563 ในช่วงที่เมืองไทยต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 และมีประกาศมาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมโรค ผู้คนได้รับผลกระทบ มีทั้งคนตกงาน ขาดรายได้ หลายอาชีพที่ถูกยกเลิกการจ้างงาน หรือถูกพักงาน วิลาสินีจึงหาวิถีทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ บางคนไม่มีรายได้แม้แต่จะซื้ออาหารสักมื้อ ในที่สุดเธอก็เลือกแนวทางของโครงการปันกันอิ่ม พร้อมชวนกัลยาณมิตร คุณดาว-ชาวิณี วุฒิศาสตร์ ผู้ทำธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในตลาดอ่อนนุชมาร่วมโครงการ
“ส่วนตัวตอนแรกอยากเปิดโรงทานแจกอาหาร แต่มีเสียงทัดทานหลายเสียงว่าเสี่ยงต่อการติดโควิด มานั่งคิดดูบุญก็อยากทำแต่ก็กลัวน้องโควิดขึ้นสมอง จนมาเห็นโครงการปันกันอิ่มที่ให้คนอยากแบ่งปันซื้ออาหารฝากไว้ที่ร้านขายข้าว จะซื้อแค่ 1 จานหรือกี่จานก็ได้ ร้านจะมีคูปองให้ ถ้ามีคนที่หิวแต่ไม่พร้อมซื้อผ่านมาเค้าก็สามารถมารับอาหารปรุงสดใหม่ไปทานต่อชีวิตไปได้อีกหนึ่งมื้อได้”
การมอบสิ่งของ เงิน หรืออาหารให้กับผู้เดือดร้อนถือว่าเป็นการทำบุญ เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญทาน ภาษาบาลีเรียกว่า “ทานมัย” คือบุญที่เกิดจากการให้ทาน
ราวกลางปี พ.ศ. 2561 มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกาน้อมนำข้อธรรมคำสอนจากพระไพศาล วิสาโล (ประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา) มาทดลองและริเริ่ม “โครงการปันกันอิ่ม” ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ในการทำบุญ ในรูปแบบที่ง่าย สะดวก และทำได้ในชีวิตประจำวัน เหมาะกับยุคสมัย โดยมีร้านขายอาหารเป็น “สะพานบุญ” เชื่อมระหว่างผู้ให้และผู้รับ ผู้ให้สามารถฝากเงินจำนวน 20 หรือ 30 บาท หรือมากน้อยเท่าใดก็ได้ไว้กับร้านค้า เพื่อให้ผู้รับ ซึ่งเป็นใครก็ได้ มารับอาหารที่จ่ายฝากไว้ล่วงหน้าไปรับประทาน
ต้นแบบหนึ่งของโครงการปันกันอิ่ม มาจากร้านราเมงอะ Ramenga ร้านราเมงสูตรญี่ปุ่น เจ้าของเป็นคนไทยใจดี ที่ปันความอิ่มความอร่อยให้ใครก็ได้มากินราเมงฟรีที่ร้านวันละ 6 ชาม โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถร่วมแบ่งปันกับทางร้าน เป็นผู้ให้ได้โดยชำระค่าราเมงตามจำนวนที่ต้องการ แล้วก็นำกระดาษรูปชามราเมงพร้อมเขียนชื่อของเราตามจำนวนที่ซื้อไปแปะไว้บนบอร์ด เพื่อให้ผู้จะมากินหยิบชามกระดาษราเมงไปแลกเป็นราเมงอร่อยๆ ได้ทันที
เมื่อคุณเปิ้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำบุญในรูปแบบต่างๆ และมาเจอโครงการปันกันอิ่ม เธอก็นึกถึงร้านราเมงอะที่เคยไปกินเหมือนกัน ด้วยความที่เป็นคนชอบทำบุญ ทำทาน แต่ไม่ได้จำเพาะว่าต้องทำบุญที่วัด หรือกับพระเท่านั้น โครงการปันกันอิ่มจึงเป็นโครงการที่สอดคล้องกับแนวทาง เธอกับคุณดาวเพื่อนสนิทจึงเลือกนำไปดำเนินการ เพื่อให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ตลาดอ่อนนุช
หลังจากเข้าใจแนวคิดและวิธีการของโครงการปันกันอิ่มแล้ว คุณเปิ้นและคุณดาว ก็เชิญชวนพ่อค้าแม่ค้าทั้งขายอาหารและเครื่องดื่มในตลาดอ่อนนุชซึ่งมี 2 โซนคือ ศูนย์อาหารในตลาดโซนใต้ และศูนย์อาหารบีไฮ มาร่วมโครงการจำนวน 10 กว่าร้าน
เมื่อเริ่มต้นสิ่งที่ยากที่สุดคือ การทำความเข้าใจกับร้านค้าว่าโครงการปันกันอิ่มมีรูปแบบอย่างไร พ่อค้าแม่ค้าบางรายอาจรู้สึกว่ามีขั้นตอนการจัดการที่ยุ่งยาก เช่น ป้ายประชาสัมพันธ์โครงการที่เอามาติดจะบังพื้นที่ร้านไหม หรือจะมีวิธีจัดการกับคูปองอย่างไร แต่โชคดีอย่างหนึ่งที่พ่อค้าแม่ขายในตลาดอ่อนนุชส่วนใหญ่คือผู้สูงวัย ที่มีใจอยากทำบุญเป็นพื้นฐาน ทุกร้านอาหารในศูนย์อาหารจึงตัดสินใจร่วมโครงการ
การดำเนินการของสองสาวเพื่อนสนิท เริ่มจากเงินทุนตั้งต้นที่ตั้งใจทำบุญของพวกเธอเอง และจากเพื่อนฝูงคนรู้จักที่ร่วมสมทบทุนทำบุญเข้ามา พวกเธอจึงนำเงินจากการทำบุญมาทำคูปองอาหาร แจกให้ทุกร้านในศูนย์อาหารเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ร้านค้าเป็นจุดที่ส่งต่อคูปองให้คนเดือดร้อนมากินอาหารฟรี
“ช่วงแรกๆ ที่ล็อกดาวน์ คนไม่ค่อยออกมาซื้ออาหารนอกบ้าน พ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหารก็ลำบากเหมือนกัน รายได้ลดลง พอมีโครงการปันกันอิ่ม พ่อค้าแม่ค้าในศูนย์อาหารนอกจากได้เป็นสะพานบุญแล้ว ก็มีรายได้ด้วย จากที่เขารับคูปองจากเราไป พวกเขารู้เลยว่า โครงการนี้มีประโยชน์ทั้งกับเขาและกับคนข้างนอก เหมือนกับได้ทำบุญโดยที่ไม่ต้องออกเงิน เพียงแต่เขาต้องออกแรงอธิบายให้ลูกค้าฟัง”
วิธีการแบ่งปันของร้านค้าปันกันอิ่มในตลาดอ่อนนุช ช่วงแรกคือนำเงินที่ได้รับการบริจาคจากเพื่อนๆ มาจัดทำคูปองมูลค่าอิ่มละ 40 บาท เนื่องจากค่าเฉลี่ยราคาอาหารของร้านค้าที่นี่จานละประมาณ 40 บาท และเพื่ออำนวยความสะดวกกับร้านค้าในตลาด ที่คูปองจะมีชื่อร้านแต่ละร้านติดไว้ พร้อมเมนู ราคา โดยมีบรรทัดเว้นไว้ให้คนฝากเขียนชื่อ และให้คนที่มารับเขียนขอบคุณด้านหลัง มีกระดานขอบคุณตั้งไว้ให้ติดกระดาษที่ละ 1 จุด สมมติว่าวันนี้นำคูปองไปแจกให้แต่ละร้าน ร้านละ 10 ใบ คุณดาวกับคุณเปิ้นจะนำเงินให้ร้านละ 400 บาท เป็นค่าอาหารที่ฝากไว้ให้คนได้อิ่ม
นอกจากทุนตั้งต้นจากการร่วมทำบุญของเพื่อนๆ ก็ยังมีคนที่มากินอาหารในศูนย์อาหารแล้วเห็นป้ายประชาสัมพันธ์ เห็นคูปองปันกันอิ่มที่ติดไว้แต่ละร้าน ก็ร่วมฝากเงินเป็นค่าอาหารไว้ที่ร้าน เพื่อส่งต่อให้คนที่หิวแต่ยังไม่พร้อมซื้ออีกด้วย
ซึ่งรูปแบบของคูปองปันกันอิ่ม ที่มีทั้งคนโอนเงินมาร่วมสมทบด้วย และจากการฝากเงินไว้แต่ละร้านค้ายังคงใช้ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันในตลาดอ่อนนุช
“เราชอบทำบุญอยู่แล้ว ทำแล้วสบายใจ มีวันหนึ่งไปเที่ยววัด ซึ่งเป็นวัดที่เงียบสงบ ไม่ได้เป็นวัดดัง วันนั้นอากาศร้อน เดินๆ ไป เรากับเพื่อนๆ ก็หิวน้ำ แต่จุดที่ขายน้ำอยู่ไกลมาก ต้องเดินย้อนกลับไป อยู่ๆ เห็นคูลเลอร์น้ำเขียนว่า เป็นน้ำที่บริจาคโดยคุณคนหนึ่ง ปกติเราเป็นผู้ให้ แต่วันนั้นเป็นวันแรกที่ได้ดื่มน้ำจากเงินบริจาคของคนอื่น นี่เราแค่หิวน้ำนะ แต่ถ้าคนที่หิวข้าว แล้วได้กินข้าว ความรู้สึกที่เขาได้รับคงดีกว่าเราเยอะ ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าถ้าโครงการแบบปันกันอิ่มกระจายออกไปเยอะๆ คงได้ช่วยคนอีกมาก”
คุณเปิ้นเล่าถึงความรู้สึกเมื่อครั้งหนึ่งเธอเป็นผู้รับจากการแบ่งปันของผู้อื่น แม้ไม่รู้จักคนๆ นั้นมาก่อน แต่ความรู้สึกของการได้ดื่มน้ำในช่วงเวลากระหายที่สุด กลับอยู่ในความทรงจำ และจุดประกายให้อยากส่งต่อความดีนี้ออกไป
ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือนแรกที่เริ่มโครงการปันกันอิ่มในตลาดอ่อนนุช มีคนที่หิวแต่ยังไม่พร้อมซื้อมารับคูปองอาหารฟรีกว่า 2,000 ใบ คนที่มารับคูปองส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนละแวกอ่อนนุช ที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ บ้างเป็นคนไร้บ้าน บางคนถูกเลิกจ้าง ลดเงินเดือน เพราะผลกระทบจากโควิด 19 ก็มารับคูปองอาหาร
“ถ้ามีคนที่หิวแต่ไม่พร้อมซื้อผ่านมา เค้าก็สามารถรับอาหารปรุงสดใหม่ไปทาน เพื่อต่อชีวิตไปอีกหนึ่งมื้อได้”
“หลังจากทำโครงการปันกันอิ่ม เราพบว่ามีบางคนที่เขามีจิตสำนึกที่ดี แม้เขาลำบากแต่ยังพอมีเงินที่จะซื้ออาหาร ดังนั้นเขาจึงไม่คิดหยิบคูปองรับอาหารฟรี เลยคิดโครงการ ซุปเปอร์คุ้มขึ้นมา เป็นเมนูอาหารราคาถูกเริ่มต้น 20 บาท ปริมาณเท่าเดิม แต่แทนที่จะใส่เครื่องเยอะมาก ก็ลดปริมาณเครื่องบางอย่างลง เช่น ก๋วยจั๊บปกติ 35-40 แต่ราคา 20 ก็อาจไม่มีหมูกรอบ แต่มีไข่ให้มีเต้าหู้ มีเลือดให้ ในปริมาณที่อิ่ม หรือร้านก๋วยเตี๋ยวหลอดปกติใส่เครื่องเยอะ เราก็ขอให้ทำเป็นก๋วยเตี๋ยวหลอดโบราณได้ไหม ไม่เอาเครื่องเยอะ แต่ยังอยู่ในปริมาณที่อิ่ม”
การต่อยอดจากคูปองปันกันอิ่ม มาเป็นเมนูอาหาราคาประหยัดเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีงบน้อย ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดี พ่อค้าแม่ค้าเล่าให้ฟังว่า ลูกค้าหลายคนที่มากินอาหารที่ร้าน เลือกเมนูซุปเปอร์คุ้มแทนเมนูราคาปกติ และยังฝากเงินให้ทางร้านไว้อีก 20 บาทเพื่อซื้อคูปองซุปเปอร์คุ้มส่งต่อให้คนอื่นด้วย
เมื่อสำรวจร้านอาหารในตลาดอ่อนนุช เราพบว่ามีทั้งร้านขายข้าว ขายก๋วยเตี๋ยว ขายส้มตำ ไก่ย่าง รวมทั้งเครื่องดื่ม ที่มีทั้งน้ำสมุนไพร ชาเย็น กาแฟเย็น ฯลฯ ทุกร้านมีคูปองปันกันอิ่ม พร้อมป้ายเชิญชวนให้คนมาร่วมแบ่งปันความอิ่มให้คนที่ขัดสน มีเงินแค่ 10 บาทก็ร่วมทำบุญได้ เพราะในตลาดมีร้านน้ำร้านหนึ่งจัดเมนูน้ำเก๊กฮวย 10 บาทสำหรับคูปองปันกันอิ่ม
นอกจากพ่อค้าแม่ค้าที่ร่วมกันเป็นสะพานบุญแล้ว พนักงานในบริษัทของคุณดาว คืออีกหนึ่งแรงที่ร่วมเป็นสะพานบุญ พวกเขาช่วยกันคิดรูปแบบคูปองให้เหมาะกับบริบทของตลาด แต่ละวันก็ช่วยดูแลการแจกคูปองในกรณีที่มีผู้ร่วมโอนเงินสมทบทุนเข้ามา ทั้งยังช่วยประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแบบปากต่อปาก และการช่วยกันโพสต์เฟซบุ๊ก ช่วยกันแชร์เนื้อหาของตลาดที่เล่าถึงโครงการปันกันอิ่ม
คุณดาว ผู้ทำธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในตลาด ก็ลงทุนทำป้ายไวนิลผืนใหญ่ติดไว้หน้าตลาดเพื่อให้คนผ่านไปผ่านมารู้ว่า ศูนย์อาหารตลาดอ่อนนุชมีโครงการปันกันอิ่ม และยังทำป้ายประชาสัมพันธ์ติดไว้ที่รถสองแถวจำนวน 20 คันที่แล่นในซอย เพื่อกระจายข่าวสารไปยังชุมชนอื่น ทั้งยังเตรียมทำคลิปเสียงประชาสัมพันธ์ในรถสองแถว เพื่อบอกให้รู้ว่า “ถ้าใครหิว ขัดสน ไม่มีเงินซื้อ ขอให้แวะมาที่ตลาดอ่อนนุช”
“เราสองคนเคยคุยกันว่า หลังจากโควิดตั้งใจจะทำยังไงต่อ เปิ้นบอกว่าอยากทำไปตลอด เราก็ว่าดี พอคุยกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดว่า อยากทำปันกันอิ่มต่อไหม เขาก็โอเคพร้อมทำต่อ”
แม้การระบาดของโควิด-19จะหมดไปในวันในวันหนึ่ง แต่ทั้งสองคนยังเชื่อว่ากรุงเทพฯ ยังมีคนที่ยากลำบาก คนไร้บ้าน คนหาเช้ากินค่ำที่มีรายได้น้อย การหยิบยื่นน้ำใจ แบ่งปันความอิ่มให้พวกเขา แม้เพียงหนึ่งมื้อแต่หนึ่งมื้อนี้อาจเป็นพลังสำคัญที่ทำให้พวกเขามีเรี่ยวแรงทั้งกายและใจ เมื่อวันหนึ่งที่พวกเขาพอมีก็อาจส่งต่อความอิ่มให้คนอื่นต่อ
**สามารถติดต่อขอร่วมอิ่มใจได้ที่ฟู้ดเซ็นเตอร์ ในตลาดอ่อนนุชโซนใต้
และฟู้ดเซ็นเตอร์บีไฮ ตึกแถวหน้าถนนสุขุมวิท 77 ติดร้านปุราลัย
หรือสอบถามที่เฟซบุ๊ก ตลาดอ่อนนุช
**สนใจร่วมโครงการปันกันอิ่ม ติดต่อสอบถามได้ที่เฟซบุ๊ก พุทธิกา ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา