ฤามิได้รู้ตัวว่า กำลังแสดงละคร

สวร ฤทัย 23 ตุลาคม 2011

เพลง “โลกนี้คือละคร” ที่ขับร้องโดย ปรีชา บุณยเกียรติ ซึ่งครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งขึ้นในขณะที่มีอายุเพียง 30 ปี ทว่า กลับถ่ายทอดเนื้อร้องออกมาราวกับคนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชนนั้น ไม่ได้เป็นที่ประหลาดใจเท่าไรนัก หากผู้คนในสมัยนั้นจะบอกว่านี่คือเพลงที่โดนเหมือนอย่างที่คนสมัยนี้เขาร้องเล่นกัน เพราะมันสามารถเข้าถึงจิตใจคนทั่วไปได้ไม่ยากเย็น กระทั่งกลายเป็น “เพลงยอดนิยม” นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นต้นมา

ในเนื้อเพลงโลกนี้คือละครได้แสดงทัศนะอย่างตรงไปตรงมา กล่าวถึงความเป็นจริงของผู้คนในสังคม แบบที่เรียกได้ว่าเป็นสัจธรรมของละครชีวิตกันเลยทีเดียว

“โลกนี้นี่ดูยิ่งดูยอกย้อน เปรียบเหมือนละคร ถึงบทเมื่อตอนเร้าใจ บทบาทลีลาแตกต่างกันไป

ถึงสูงเพียงใด ต่างจบลงไปเหมือนกัน เกิดมาต้องตาย ร่างกายผุพัง ผู้คนเขาชัง คิดยิ่งระวังไหวหวั่น

ต่างเกิดกันมาร่วมโลกเดียวกัน ถือผิวชังพรรณ บ้างเหยียดหยันกัน เหลือเกิน

ถึงแม้ว่า ชีวิตผู้คนในโลกใบนี้จะเป็นเช่นที่ว่าไว้ในบทเพลงจริงๆ ก็ตามที แต่กระนั้นชีวิตมนุษย์เรา ฤๅจะเป็นอยู่เหมือนเดิมตายตัวก็หามิได้ จะมีที่ดีบ้างแย่บ้างคละเคล้ากันไป ตามวาระตามเหตุปัจจัย ตามผลลัพธ์จากการกระทำของแต่ละคน  และที่ปราศจากอุปสรรคกีดขวางใดๆ หนทางราบเรียบดำเนินไปเรื่อยๆ ย่อมมีได้เช่นกัน สุดแล้วแต่กรรมจะอำนวยผล เพราะกรรมนี้ให้ผลยุติธรรมเสมอ

เหตุที่เราไม่ค่อยจะรู้สึกเลยว่ากำลังแสดงละครอยู่นั้น อาจเนื่องมาจากการยึดถือเป็นจริงเป็นจังต่อเรื่องราวทั้งหลายเหล่านั้น เสียจนไม่เผื่อใจให้กลับมาสังเกตดูพฤติกรรมขณะกำลังสื่อสารเรื่องนั้นๆ อยู่แม้แต่น้อย ทั้งจากภาษากายที่เราแสดงออก ทั้งจากคำพูดที่กล่าวบอกไป โดยเฉพาะส่วนที่สำคัญก็คือ ใจเราเองที่ไปรู้สึกรักรู้สึกชัง รู้สึกมีรู้สึกเป็นต่อสิ่งต่างๆ  นี่แหละ!! เหตุที่มาของสภาวะอารมณ์อันผันผวนปรวนแปรเอาแน่เอานอนไม่ได้ ซึ่งเราแต่ละคนกำลังแสดงอย่างสมจริง

ในคนที่มีวุฒิภาวะมากหน่อย ดูจะเข้าใจและควบคุมตนเองได้ดี ไม่แสดงตัวแสดงตนไปตามอารมณ์รักอารมณ์ชังอย่างโลกๆ  ต่างกับคนที่รู้จักโลกเป็นอย่างดีแล้ว ไม่ต้องควบคุมบังคับอะไรเลย ปล่อยให้มันเกิดขึ้นและเป็นไปตามสมมติของโลก เดี๋ยวก็จบเองตามเรื่องของมัน  อีกจำนวนหนึ่งที่มีประสบการณ์ชีวิตผ่านมาอย่างอ่อนด้อย คือไม่ได้เรียนรู้เข้าใจโลก เข้าใจความเป็นคนสักเท่าไหร่ พวกนี้จะรู้สึกประหนึ่งว่ากำลังเล่นละครบนเวทีเดียวกันอยู่ร่ำไป รู้สึกเป็นเรื่องเป็นราวไปกับสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่  ทั้งที่จริงแล้วหากดูมันแสดงอย่างสมบทบาทจริงๆ ล่ะก็ ตัวละครได้ถูกแบ่งแยกออกจากกันไปตามบทแต่ละตอนตามองก์ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยนับตั้งแต่แรกแล้ว

แม้ในขณะซ้อมในขณะแสดงยังถูกแบ่งเป็นส่วนๆ  กระทั่งถ่ายทำจริง หรือเล่นจริงตามบทนั้นยังแสดงอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ดังใจเรา ไม่ได้เหมือนอย่างที่ตั้งใจจะให้เป็น  มันยากเพราะว่าสภาวะแต่ละขณะมันยุติลงในที จึงเริ่มขึ้นและจบลงเดี๋ยวนั้น ใจเราเองต่างหากที่พยายามยื้อยุดเอามันมาสานต่อเป็นเรื่องราว เหมือนกับกระบวนการตัดต่อละครทีวี ตัดต่อภาพยนตร์ที่เอามาไล่เรียงลำดับประกอบกันเป็นเนื้อเรื่องแต่ละฉากแต่ละตอน  เราเห็นรึเปล่าว่า อันที่จริงอารมณ์ความรู้สึกดีชั่วรักชอบชิงชังในการแสดงนี้ มันจบเป็นครั้งๆ ไป แล้วคั่นด้วยโฆษณาหรือการสลับฉากเปลี่ยนสถานที่บ้าง ตัวละครเปลี่ยนบทเปลี่ยน

เพียงเท่านี้ก็ไม่มีความต่อเนื่องแล้ว ใครเล่าจะมี ใครฤาจะเป็นไปตามอารมณ์เดิมๆ อยู่อย่างนั้นได้  เรามองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสรับรู้ทางกายและใจอย่างที่เป็น  ต่างคนก็ต่างใจ ทั้งยังต่างกรรมต่างวาระอีกด้วย  ความรู้สึกความเข้าใจที่เกิดขึ้นและจบลงในแต่ละขณะปัจจุบัน ทำให้เราต่างก็อยู่กันคนละโลก มีใจหนึ่งดูอีกใจหนึ่งแสดงไปตามบทละครที่กำลังเล่นอยู่ ได้ทำให้ตัวละครมีชีวิตแต่ละขณะแตกต่างกันอย่างที่กล่าวมา เราจึงเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างต่อการให้ค่า ประเมินค่า และการเปรียบเทียบคุณค่าเป็นปริมาณเปอร์เซ็นต์มากน้อยไม่เท่ากัน หรือในระดับดีกรีความรู้สึกที่เทียบกันไม่ได้จริงๆ

กระทั่งในบทบาทที่เรารับทำ (ความมีความเป็น) ตามสถานะหน้าที่ อย่างที่แอ็คติ้งโค้ช (Acting Coach) มีหน้าที่ชี้แนะ บอกสอนนักแสดงทำไม้ทำมือแสดงท่าทางต่างๆ ไปตามบท กับนักแสดงที่ต้องทำหน้าที่แสดงเอง เล่นสื่อออกไปจริงๆ ให้ความรู้สึกผิดแผกต่างกันฉันใด  การเข้าถึงบทแต่ละตอนที่คาดหมายเอาไว้ของผู้กำกับ ก็คงไม่ได้รู้สึกเสมอเหมือนกันกับความรู้สึกของผู้แสดงที่รู้สึกเป็นไปกับตัวละครฉันนั้น  ทั้งหมดทั้งมวลมันขึ้นกับสมมติที่เราไปทึกทักเอาจริงกับมัน อันนี้ต่างหากที่มีผลต่อตัวเรา ยิ่งเป็นจริงเป็นจังกับมันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะแสดงความเป็นตัวเป็นตนมากเท่านั้น  บางเวลาตัวละครบนเวทีที่ทำงานจึงออกมาโลดแล่นบนเวทีที่บ้าน ในสนามเด็กเล่นบ้างล่ะ กระทั่งในห้างสรรพสินค้า ร้านโชว์ห่วย บนรถเมล์ หรือไม่ก็เวทีสาธารณะในที่ที่มีคนมารวมกันมากๆ  เมื่อไหร่ที่รู้สึกยึดมั่นถือมั่น “เป็นเรื่องจริงจัง” มากๆ นักแสดงตัวข้างในจะขึ้นโรง ออกงิ้ววาดมือเท้าอยู่บนเวที เป็นดาราที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังแสดง แถมยังไม่รู้ว่าใครเชิญอีกแน่ะ

เหตุที่เราไม่ค่อยจะรู้สึกเลยว่ากำลังแสดงละครอยู่นั้น อาจเนื่องมาจากการยึดถือเป็นจริงเป็นจังต่อเรื่องราวทั้งหลายจนไม่ได้กลับมาสังเกตดูตัวเอง

ยายคนหนึ่งชื่อหมา ถูกเรียกว่า “อีหมา” บ้างล่ะ “นังหมา” ก็มี หรือเวลาผู้ใหญ่ที่เอ็นดูแกมากหน่อยก็เรียก “หมาเอ๊ย หมา มานี่หน่อยซิ” ได้ยินมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย โตขึ้นมาแต่งงานออกเรือนไปแล้ว แก่เป็นยายเฒ่าเป็นย่า เขาเรียกแกเป็นการเป็นงานว่า “นางหมา” ได้ยินสมญานามจนชิน  วันหนึ่งพิธีกรบนเวทีจัดประชุมกรรมการอะไรสักอย่าง ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ามารับของบริจาค ไม่รู้เหมือนกันว่าพิธีกรบนเวทีนึกยังไงขึ้นมา ถึงได้เรียกยายแกว่า “นางสุนัข”  ทีแรกยายก็ไม่รู้หรอกว่าเขาเรียกแก เรียกตั้งหลายครั้งหลายหนก็ไม่มีนางสุนัขตนใดออกมารับของ ลูกหลานแกเดาเก่งรู้ทัน บุ้ยใบ้บอกให้ยายนั่นแหละ ออกไปรับ

ในเวลานั้นเอง พิธีกรเกิดนึกรู้ขึ้นมาได้ เอ…รายชื่อเขาเขียนว่า “นางหมา” นี่น่า เราดันสอใส่เกือกคิดเอาเองว่าที่ถูกแล้ว ต้องเป็น “นางสุนัข” แกเลยขอโทษขออภัย เรียกชื่อใหม่ “นางหมา นางหมา….ครับ”  พอชาวบ้านเขาได้คิด อ๋อ!!…อีหมานั่นเอง ก็เลยหัวเราะกันใหญ่  ยายหมาแกโกรธหน้าดำหน้าแดงกันล่ะทีนี้ นี่ถ้าไม่ได้ยินมาก่อนว่าพิธีกรเขาเรียกแกว่านางสุนัข ก็คงไม่เป็นไร  พอชาวบ้านเขาหัวเราะกันเท่านั้นแหละ แกคิดตาม สุนัขหมายถึงอะไร? หืม!! ไอ้นี่!! ไอ้คุณพิธีการรู้มาก คุณพิธีกรอวดรู้ มันน่าโกรธไหมล่ะ?  เอาเข้าจริงๆ แล้ว ถึงจะรู้ว่าสุนัขแปลว่าหมา ถ้ายายแกไม่ไปคิดไม่ได้ใส่ใจตามสุนัขหมาที่เขาเห่าๆ กัน มันจะโกรธรึ หยั่งงี้..แล้วไอ้ที่โกรธอยู่นั่น ทั้งหมดหมายความว่าแกคิดไปเองล่ะสิ ว่า ตัวเป็นหมา ทีนี้ก็เป็นหมาอย่างสมบทบาทแล้วล่ะ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เจ้าตัวยังไม่รู้เรื่องอะไรกับเขาเลย

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เคยแสดงธรรมเรื่องวัฎสังขาร พิจารณาชีวิตสัตว์อย่างหมานี่แหละ ท่านว่าหมามันมีความดีประจำตัวถึง ๒๐ อย่างที่คนเราทำไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เดินกลางคืนไม่ต้องจุดไฟ เข้าป่าหนามไม่ตำตีน จมูกเป็นทิพย์ กินอาหารไม่เลือก เป็นต้น  อย่างที่หลวงปู่ท่านเทศน์บอกมันดีนะยาย คนนี่ยังไงๆ มันก็ไม่เหมือนหมาแน่ๆ ต่างกันตั้ง ๒๐ อย่างแน่ะ เขาแค่คิดว่าชื่อหมามันไม่สุภาพเท่านั้น เขาไม่ได้เห็นยายเป็นหมาจริงๆ สักหน่อย ที่โกรธเพราะเขาหัวเราะเยาะไม่ให้เกียรติใช่ไหม? มันจะเป็นไรไป ก็แค่สมมติชื่อหมา ไม่ได้ทำตัวให้เหมือนหมาสักนิด ต่อให้หน้าเหมือนหมาที่บ้านหรือแสดงเป็นหมาก็เถอะ ยังไงก็ไม่เหมือน เว้นแต่ว่าทำตัวหยั่งกะหมาซะเอง นั่นล่ะเขาเห็นเป็นหมา…จริงๆ แน่


ภาพประกอบ