อารามที่น่ารื่นรมย์

เชาวลิต บุณยภูษิต 29 เมษายน 2018

เราชนะแล้ว!

แม้จะไม่มีข้อบังคับกำหนดไว้ แต่ผมตั้งปณิธานไว้เองว่าช่วงที่เข้าอบรมธรรมะ ตามโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการปฏิบัติธรรม เพื่อพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติงานของกระทรวงการคลัง ที่ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ขอปิดโทรศัพท์มือถือ งดการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกชั่วคราว อยากลองดูว่าจะทำได้ไหม

ก่อนจะปิดโทรศัพท์มือถือก็เตรียมการสิ่งที่ต้องทำไว้ครบแล้ว เช่น มอบหมายงานที่คาดว่าจะมีมาในช่วงเวลาที่ไม่อยู่ไว้กับเพื่อนร่วมงาน ตั้งระบบการจ่ายบัตรเครดิตอัตโนมัติไว้ เป็นต้น ใช้เวลา 4-5 วันที่ไปอยู่ในวัดวะภูแก้วตักตวงผลประโยชน์ที่จะเกิดจากที่นั้นให้เต็มที่

ช่วงอยู่ที่วัดตื่นตั้งแต่ตี 4 นอน 4 ทุ่ม กิจกรรมที่ทำระหว่างเวลาตี 4 ถึง 4 ทุ่ม คือสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ฟังบรรยาย อ่านหนังสือธรรมะ ลดการพูดจาเฮฮาลง พูดเฉพาะที่จำเป็นต้องสื่อสาร กินอาหาร 3 มื้อตามปกติเพียงแต่กินแค่พออิ่มจะได้ไม่ง่วง (แต่ก็ง่วงอยู่ดี!)

การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติป่าเขา ในบริเวณวัดที่มีแมกไม้เขียวร่มรื่นรมณีย์ ลมพัดเย็นสบาย เพลินฟังเสียงนกร้อง เสียงจักจั่นในหน้าร้อน ชมกระรอกสีขาวนวลที่วิ่งเล่นบนต้นไม้ เปิดรับความรู้ ฝึกฝนอบรมธรรมะ เจริญกรรมฐาน เพิ่มพลังจิต พลังปัญญา ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ต้นจนจบการอบรม เมื่อจิตไม่ส่งออกนอกวัด จิตใจที่อยู่กับกุศลล้วนก็รู้สึกโปร่ง โล่ง เบา สบาย ไร้กังวล

หลักสูตรที่อาจารย์ ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม เป็นผู้อำนวยการก็มีส่วนผสมของทฤษฎีและปฏิบัติที่ลงตัว กลมกล่อม ให้ประโยชน์สูงสุดตามความเหมาะสมของระยะเวลา

โดยส่วนตัวเอง ภายหลังได้บรรพชาอุปสมบทเมื่อพรรษาปี 2550 แล้วก็เป็นศิษย์วัดญาณเวศกวันวัดใกล้บ้าน ได้เข้าวัดสวดมนต์ ช่วยกิจการเล็กๆ น้อยๆ ของวัดในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เพิ่งจะมีโอกาสได้ไปศึกษาอบรมธรรมะในระยะเวลาที่ติดต่อกันหลายวันที่วัดวะภูแก้ว ทำให้รู้สึกได้ว่าได้เพิ่มพลังชีวิตให้สมบูรณ์ขึ้นหลังจากห่างหายไปเสียนาน

พอวันสุดท้ายของการอบรม ผมก็บอกตัวเองได้ว่า ผมได้รับประสบการณ์เพิ่มพลังชีวิต ณ วัดวะภูแก้วเต็มที่ เต็มพลังตามความเหมาะควรแก่วันเวลาที่ได้ฝึกฝนอบรมเพื่อพัฒนาชีวิตตนเอง สุดท้ายก็ทำได้! เราชนะแล้ว! ชนะใจตนเองได้ที่งดการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกชั่วคราว และเพิ่งทำได้ในรอบนานนับ 10 ปี !

ก่อนปิดการอบรม อาจารย์ ดร.ดาราวรรณก็ให้คติว่า การฝึกอบรมธรรมะที่วัดวะภูแก้วจบลง แต่การศึกษาและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันต้องดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ชีวิตงาม สังคมดี ธรรมชาติเป็นรมณีย์

ทุกวันนี้เวลาเข้าวัดหรือนึกถึงวัด โดยทั่วไปภาพที่ปรากฏชินตาคือ สถานที่ที่เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง มีรั้วยาว มีซุ้มประตูใหญ่โต พอเดินผ่านซุ้มประตูก็เจอตู้รับบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์นานาประการ มีเต็นท์หรือซุ้มดอกไม้ธูปเทียนให้บริจาคตามกำลังศรัทธา มีพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดให้หยอดเหรียญ มีถังเหลืองขาย  ฯลฯ

หลายวัดไปไกลถึงขนาดสร้างเทวรูปนอกพระพุทธศาสนาให้ชาวพุทธเคารพบูชาอีกต่างหาก! บางวัดถึงกับทำป้ายโฆษณาว่าเทพเจ้าในวัดนั้นองค์ใหญ่ที่สุด เชิญชวนให้คนไปเคารพสักการะกัน (วัดใดที่ทำเช่นว่านั้นขอให้รับรู้วัดนั้นมีส่วนทำให้พุทธศาสนิกชนไทยไขว้เขวออกนอกพระพุทธศาสนา พานทำให้คนจำนวนมากเข้าใจว่ารูปเคารพเหล่านั้นเป็นเทพในพระพุทธศาสนา เนื่องจากเห็นอยู่ในวัดจนชินตาและไปกราบไหว้อ้อนวอนกัน)

คนที่เห็นภาพข้างต้นไม่น้อยจึงไม่เข้าวัดเพื่อไปเจอกับภาพไม่เจริญหูเจริญตา จะว่าไปแล้ว ภาพวัดต่างๆ ที่กล่าวมาในปัจจุบันส่วนมากไม่โน้มน้อมใจไปในทางที่ดีงาม ในเชิงเร้ากุศล ขาดความรื่นรมย์ (รมณีย์) และความน่าเลื่อมใส (ปสาทนีย์)

ทุกวันนี้เวลานึกถึงวัด ภาพที่ปรากฏชินตาคือ สถานที่ที่เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างใหญ่โต และตู้รับบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์นานาประการ

วัดที่ดีควรเป็นทัศนีย์ และรื่นร่มรมณีย์ เป็นที่ยินดี ทำให้จิตใจสบาย ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของอารามในยุคพุทธกาล และเป็นความสุขขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ดังที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) นิพนธ์ไว้ในหนังสือ “บทนำสู่พุทธธรรม ชีวิตงาม สังคมดี ธรรมชาติเป็นรมณีย์” ว่า “จึงควรให้มนุษย์มีความสุขอยู่ที่ธรรมชาติในสภาพรมณีย์ โดยมีดิน ที่ปรากฏตัวของป่า ภูเขา ต้นไม้ เขียวขจี มีดอกหลากสี นานาพันธุ์ มีน้ำ ในแม่น้ำ และบรรดาชลาลัย ที่ใส สะอาด งดงาม ชื่นกายชื่นใจ และมีแสงแดด สายลม อากาศ ใต้ท้องฟ้าที่อำไพ”

introduction to Buddhadhamma

เมื่อสภาพแวดล้อมในวัดวาอารามเป็นรมณียสถาน มีต้นไม้มีธรรมชาติที่สดชื่นสวยงามน่าดูน่าชม โน้มนำจิตใจไปสู่ความสงบ ความสดชื่นเบิกบานใจแล้ว ก็เป็นสภาพเอื้อต่อการเจริญกุศล โน้มชักนำต่อไปสู่ธรรมะ  ถ้ามีการสดับตรับฟัง และศึกษาอบรมปฏิบัติธรรมต่อไป ก็ทำให้ได้ผลดีด้วย เพราะบรรยากาศเกื้อกูล มีกิจกรรมที่สนับสนุนให้ผู้เข้าวัดก้าวไปในกุศล เช่น มีธรรมเทศนาจากพระภิกษุ มีการสนทนาธรรมตามหัวข้อตามสมัย มีแหล่งหนังสือและสื่อธรรมะให้ศึกษาค้นคว้า มีสถานที่ที่เหมาะแก่การเจริญกรรมฐาน มีกิจกรรมที่มุ่งจะสร้างประโยชน์สำหรับคนในวัยต่างๆ มีกิจกรรมอาสาสมัคร กิจกรรมสาธารณะประโยชน์ ฯลฯ

หากเป็นได้ดังว่านี้แล้ว นับว่าวัดก็ได้ทำหน้าที่ให้ธรรมะตอบแทนแก่ชาวบ้านที่สนับสนุนด้านวัตถุแก่พระภิกษุ ต่างฝ่ายต่างก็เอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่กันและกัน เพื่อให้ต่างก็ก้าวไปในกุศล