คลายกังวลและใช้ชีวิตซะ

เครือข่ายพุทธิกา 1 ธันวาคม 2024

ความวิตกกังวลเป็นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คุณไม่จำเป็นต้องตกเป็นทาสของมัน การฝึกทักษะการรู้สึกตัวจะช่วยให้คุณเห็นกาย ใจ และความคิดของตัวเอง ช่วยเพิ่มมุมมอง และสร้างจุดยืนขึ้นมาใหม่ เมื่อความวิตกกังวลคุกคาม ลองทำดังนี้

• ช้าลงก่อน

เมื่อเราวิตกกังวล ทุกสิ่งเร่งเร้าให้เร็วไปหมด ความคิดวนๆ กระโดดไปมา หัวใจเต้นแรง การหายใจถี่ขึ้น ลองหายใจให้ช้าลง แล้วดูว่าคุณสามารถทำอะไรได้อีกบ้าง

• กลับมาที่ประสาทสัมผัส

ใช้เวลาสักครู่เพื่อเชื่อมต่อกับประสาทสัมผัส เพื่อนำคุณกลับมา “รู้สึกตัว” ลองฝึกแบบ 3×3 โดยรับรู้ประสาทสัมผัส 3 อย่าง และบอกชื่อสิ่งที่คุณสังเกตเห็นผ่านประสาทสัมผัสอย่างละ 3 อย่าง เช่น 3 สิ่งที่คุณเห็น ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส หรือได้ยิน การทำเช่นนี้จะช่วยขัดจังหวะความคิดอัตโนมัติที่กระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลได้

• รู้สึกตัวกับงานง่ายๆ

ชีวิตเราเต็มไปด้วยงานง่ายๆ เช่น การเดิน กิน ทำสวน ดื่มน้ำ ทำอาหาร เมื่อเรารู้สึกกังวลใจ รู้สึกควบคุมอะไรไม่ได้ การจดจ่อกับงานง่ายๆ จะช่วยเตือนว่าเราเป็นผู้ควบคุมตัวเลือกของเรา เลือกงานที่ต้องการฝึกและลองจินตนาการว่านี่เป็นครั้งแรกที่คุณทำงานนี้ ลองดื่มด่ำไปกับประสบการณ์นั้น

• หมั่นตรวจสอบความเป็นจริง

ความวิตกกังวลมักเกิดจากความกลัวต่อเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อมีความคิดร้ายๆ ให้ถามตัวเองว่า “ความคิดนี้เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า” เป็นไปได้ว่าความกลัวที่เลวร้ายที่สุดของคุณเป็นเพียงความกลัว ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความจริงที่เกิดขึ้น

• ขัดจังหวะเสียงวิจารณ์ตัวเอง

ลำพังความวิตกกังวลก็เจ็บปวดเพียงพอแล้ว แต่เรามักจะโดนเสียงวิจารณ์ตัวเองทำให้เจ็บปวดรอบสองอีกด้วย เมื่อสังเกตเห็นเสียงวิจารณ์ตัวเอง ลองขัดจังหวะมันด้วยการพูดกับตัวเองว่า “เมตตาตัวเองนะ…ขอให้ฉันเมตตากับตัวเองมากขึ้น”

• ถ่ายเทพลังงานลบๆ ด้วยการเคลื่อนไหว

หากคุณกังวลใจให้เคลื่อนไหว เช่น ออกไปเดินเล่น ทำความสะอาด ทำรายการสิ่งที่ต้องทำ หรือทำสวน

• นอนลงและแหงนหน้าขึ้นมองฟ้า

ลองปลุกความรู้สึกด้วยการแหงนมองดูท้องฟ้า ชมเมฆ หรือต้นไม้ สัมผัสธรรมชาติของการเกิดขึ้นและดับไปตามธรรมชาติ

• ตั้งใจฟังสรรพสิ่งรอบตัว

ลองใช้เวลาทั้งวันเพื่อตั้งใจที่จะฟัง ฟังเสียงใบไม้ในสายลม เสียงเด็กๆ เล่น หรือเสียงใครบางคนพูดกับคุณ เมื่อเราหยุดและฟัง เราจะได้สัมผัสกับความเรียบง่ายของชีวิตอีกครั้ง และความคิดกังวลก็เริ่มลงจางลง

• รู้ว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้น (triggers)

อะไรทำให้คุณวิตกกังวล เช่น การมาสาย, การแสดงต่อหน้าฝูงชน หากคุณรู้สิ่งกระตุ้นของคุณ คุณก็เตรียมรับมือได้ เมื่อจิตใจรู้สึกพร้อม ก็สบายใจมากขึ้น

• ฝึกฝนความอดทน

ความอดทนเป็นเส้นทางสู่อิสรภาพทางอารมณ์ หากอดทนได้จะรู้สึกสงบและผ่อนคลาย ส่วนการไม่อดทนคือความวิตกกังวลนั่นเอง ลองฝึกเป็นนายความอดทนด้วยการ “มองดู” เรื่องที่เหลืออดอย่างอยากรู้อยากเห็น เช่น มันอยู่ตรงจุดไหนในร่างกาย มันแสดงออกอย่างไร คุณปล่อยมันไปได้ไหม

• อยู่กับสิ่งที่มี (เป็น)

อยู่ที่นี่ รู้สึกตัวกับเหตุการณ์ที่ทั้งน่ายินดีและไม่พึงประสงค์ หากคุณสังเกตเห็นบางสิ่งที่น่าพึงพอใจ ให้รับรู้ถึงความรู้สึกนั้นในร่างกาย โดยไม่ต้องจับยึดเกินไป หรือไม่ต้องการอะไรมากกว่านี้ หากมีสิ่งใดที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจก็ให้ตระหนักรู้สิ่งนั้น โดยรู้ว่าสิ่งนั้นก็จะผ่านไปเช่นกัน


เรียบเรียงจาก:
99 ways to live a mindful live, Special Editor summer 2020, mindful.org