ฟื้นฟูขันติธรรมและเมตตาธรรม

พระไพศาล วิสาโล 7 พฤศจิกายน 2004

หมอบรัดเลย์เป็นมิชชันนารีชาวอเมริกันที่มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเมืองไทยเมื่อ ๑๕๐ ปีก่อน  มีเรื่องเล่าว่าคราวหนึ่งหมอบรัดเลย์ไปยืนประกาศศาสนาหน้าร้านขายพระพุทธรูปแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ  ระหว่างนั้นได้พูดโจมตีการนับถือรูปเคารพไปด้วย  หมอบรัดเลย์พูดจนเหนื่อยเนื่องจากอากาศร้อน  เจ้าของร้านซึ่งนั่งฟังอยู่อย่างสงบมาตลอด รู้สึกสงสารจึงเชิญหมอบรัดเลย์มานั่งพักในร้านและสอบถามว่าเหตุใดเขาจึงทำอย่างนั้น

เราคงเดาได้ไม่ยากว่า ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเมืองไทยทุกวันนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับหมอสอนศาสนาผู้นั้น  เพราะอย่าว่าแต่การพูดโจมตีพระพุทธรูปเลย  เพียงแค่เห็นว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ มิได้ทำโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้หญิงถูกห้ามมิให้เข้าไปในบริเวณชั้นในของพระเจดีย์ที่มีพระธาตุอยู่ข้างใต้  คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ถึงกับเป็นเดือดเป็นแค้น พากันประกาศเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งผู้ที่แสดงความเห็นดังกล่าว  แต่นั่นก็ยังนับว่าเบาเมื่อเทียบกับกลุ่มลูกศิษย์ของพระเถระชื่อดังภาคอีสาน ซึ่งถึงขั้นทำพิธีตัดคอหุ่นของรองนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่ง เนื่องจากไม่พอใจในกรณีแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างท่าทีของเจ้าของร้านขายพระพุทธรูปผู้นั้น กับปฏิกิริยาของคนไทยในกรณีต่างๆ ที่กล่าวมาในย่อหน้าข้างต้น  จะเห็นได้ชัดว่าคนไทยทุกวันนี้มีขันติธรรมและเมตตาธรรมน้อยลงมาก  ขันติธรรมในที่นี้มิได้หมายถึงการอยู่เฉยหรืออดทนต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้อง  แต่หมายถึงการอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ของตนโดยเฉพาะความโกรธเกลียด ไม่บันดาลโทสะออกไปง่ายๆ เมื่อพบเห็นสิ่งที่ไม่ถูกใจหรือไม่ถูกต้อง  เจ้าของร้านขายพระพุทธรูปผู้นั้นมิได้อยู่เฉยเมื่อเห็นหมอบรัดเลย์พูดโจมตีพระพุทธรูป  แต่แทนที่จะไล่ตะเพิดหรือด่ากลับไป กลับเชื้อเชิญให้เขามานั่งในร้านและถามเหตุผลว่าทำไมถึงทำเช่นนั้น  สิ่งที่ช่วยให้เจ้าของร้านผู้นั้นมีขันติธรรม ก็คือเมตตาธรรมนั่นเอง

น่าแปลกที่ว่าการเคลื่อนไหวของชาวพุทธหรือการกระทำที่อ้างว่าเพื่อปกป้องพุทธศาสนา บ่อยครั้งไม่มีท่าทีแห่งขันติธรรมและเมตตาธรรมเลย  ทั้งๆ ขันติธรรมและเมตตาธรรมเป็นหลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนา  ดูเหมือนว่า “แรงมาก็แรงไป” หรือ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” จะกลายเป็นหลักธรรมประจำใจของชาวพุทธไทยจำนวนไม่น้อยไปแล้ว

อย่าว่าแต่ความเห็นที่ต่างกันเลย  แม้ถูกประทุษร้าย หลักธรรมที่ชาวพุทธควรยึดถือก็คือการให้อภัยและมีเมตตาต่อผู้ประทุษร้าย  ในชาดกจะมีเรื่องราวที่เน้นหลักธรรมดังกล่าวมาก  อาทิ ขันติวาทีชาดก ซึ่งเป็นเรื่องของดาบสชื่อขันติวาทีซึ่งถูกพระราชาทำทารุณกรรม  พระราชานั้นไม่พอใจที่นางสนมพากันไปสนทนากับดาบสในอุทยาน จึงต้องการทดสอบว่าดาบสผู้นี้จะมีขันติสมชื่อหรือไม่  สิ่งที่พระราชาทำกับดาบสผู้นี้ก็คือ ตัดมือ เท้า ใบหู และจมูก  แต่ไม่ว่าจะเจ็บปวดเพียงใด ขันติวาทีมิได้โกรธแค้นหรือมีจิตประทุษร้ายพระราชาแม้แต่น้อย  กลับให้อภัยและอวยพรพระราชาว่า “พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือ เท้า ใบหู และจมูกของข้าพเจ้า ขอให้พระราชาพระองค์นั้นจงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน  บัณฑิตทั้งหลายเช่นอาตมาไม่โกรธเคืองเลย”

ชาดกอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือมหากปิชาดก ซึ่งเป็นเรื่องของพญาวานรที่ช่วยพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งหลงป่าและพลัดตกไปในซอกเขา  พญาวานรนั้นได้ไต่ไถวัลย์ลงไปช่วยพาพราหมณ์ผู้นั้นขึ้นมาจากซอกเขา ใช่แต่เท่านั้นยังรับอาสาพาพราหมณ์ออกจากป่า  แต่ระหว่างทางได้ขอนอนพักเอาแรง  ปรากฏว่าพราหมณ์มีจิตคิดร้าย ต้องการฆ่าพญาวานรเพื่อเอาเนื้อมากินเป็นอาหารและเป็นเสบียงสำหรับเดินทาง  พราหมณ์ได้เอาหินทุ่มที่กระหม่อมของพญาวานร  แต่พญาวานรไม่ตาย ลุกขึ้นมาด้วยความเสียใจ และขอร้องด้วยน้ำตานองหน้าว่า “ท่านอย่าทำข้าพเจ้าเลย ขอท่านจงมีความเจริญ”  นอกจากจะไม่โกรธแล้ว พญาวานรยังเป็นห่วงและมีเมตตาจิตต่อพราหมณ์ผู้นั้น โดยกล่าวว่า “ขอท่านอย่าประสบเวทนาอันเผ็ดร้อนเลย ขอบาปธรรมอย่าได้ฆ่าท่านเหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่เลย”

ทั้งๆ ที่เกือบถูกฆ่าตาย แต่พญาวานรซึ่งตัวอาบไปด้วยเลือดยังทำตามที่ตั้งใจไว้ คือพาพราหมณ์ผู้นั้นเดินออกจากป่าจนถึงถิ่นมนุษย์  แต่ก็ไม่ลืมที่จะขอให้พราหมณ์เดินตามหลังห่างๆ เพราะไม่ไว้ใจพราหมณ์ผู้นั้นเสียแล้ว

เรื่องราวในชาดกเหล่านี้จะจริงหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับการตอกย้ำว่าขันติธรรมและเมตตาธรรมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวพุทธ

น่าแปลกที่ว่าการเคลื่อนไหวของชาวพุทธหรือการกระทำที่อ้างว่าเพื่อปกป้องพุทธศาสนา บ่อยครั้งไม่มีท่าทีแห่งขันติธรรมและเมตตาธรรมเลย

คนไทยสมัยก่อนแม้จะไม่มีความรู้มากในทางพุทธศาสนา (แม้แต่ศีล ๕ ก็ยังไล่เรียงไม่ถูกด้วยซ้ำ ดังรัชกาลที่ ๕ ได้เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้)  แต่การสอนพุทธศาสนาโดยอาศัยเรื่องราวในชาดกเป็นหลัก น่าจะมีส่วนไม่น้อยในการกล่อมเกลาให้ชาวพุทธมีขันติธรรมและเมตตาธรรมดังที่เจ้าของร้านขายพระพุทธรูปได้แสดงต่อหมอบรัดเลย์  น่าเสียดายที่การปฏิรูปการศึกษาทางพุทธศาสนาซึ่งเริ่มมาแต่พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งเป็นวชิรญาณภิกขุในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ลดความสำคัญของชาดก โดยเน้นการคิดในเชิงเหตุผลแทน  แม้จะมีข้อดีอยู่มาก เช่น ทำให้พุทธศาสนาดูเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น  แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้สิ่งที่จะเป็นแรงบันดาลใจหรือกล่อมเกลาอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนลดน้อยลงไป  ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เรื่องราว” นั้นสามารถตราตรึงหรือหยั่งลงในจิตใจได้ดีกว่าคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผล  ด้วยเหตุนี้นิทานอีสปจึงมีอิทธิพลทุกยุคทุกสมัย  และด้วยเหตุผลเดียวกัน โฆษณาสินค้าที่ “โดนใจ” ผู้คนจึงมักถ่ายทอดในรูปเรื่องราว (โดยมีตัวเอกเป็นผู้ดำเนินเรื่อง) มากกว่าการพรรณนาสรรพคุณของสินค้าโดยตรง

หันมาดู “เรื่องราว” ที่กล่อมเกลาจิตใจคนสมัยนี้ จะพบว่ามักเป็นเรื่องของการแก้แค้นตอบโต้ หรือการเอาความเห็นของตนเป็นใหญ่  ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ทุกวันนี้มีน้อยมากที่พูดถึงขันติธรรม เมตตาธรรม และการให้อภัย  ในขณะที่ข่าวสารตามสื่อต่างๆ ก็เน้นแต่เหตุการณ์ที่ใช้ความรุนแรง หรือการโจมตีกล่าวร้ายกัน  ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ในทางสันติวิธีและการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลก็มี แต่ถูกมองข้ามไปเพราะ “ขาย” ไม่ได้

พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าจะให้รื้อฟื้นชาดกขึ้นมาสอนหรือเทศน์กันใหม่  เราจำต้องมีเรื่องราวที่สอนขันติธรรมและเมตตาธรรมอย่างสมสมัย ทั้งที่เป็นเรื่องแต่งและเรื่องจริง ซึ่งมีอยู่ไม่น้อย  สิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยให้ชาวพุทธไทยนิยมความรุนแรงน้อยลง อดกลั้นมากขึ้น และหันมาใช้สันติวิธีอย่างน้อยก็ในทางกายและวาจากันยิ่งกว่านี้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา