คืนวัดให้ชุมชน

พระไพศาล วิสาโล 4 สิงหาคม 2002

พุทธศาสนาเจริญมั่นคงได้ในอดีต ส่วนหนึ่งก็เพราะวัดเป็นของชุมชน ชุมชนจึงร่วมกันทำนุบำรุงวัดและดูแลพระสงฆ์ให้มั่นคงในพระธรรมวินัย  แต่กฎหมายคณะสงฆ์ในปัจจุบันได้ทำให้วัดกลายเป็นของคณะสงฆ์ ในการควบคุมของรัฐ

เวลานี้วัดที่ชาวบ้านสร้างขึ้นนั้น ตามกฎหมายแล้วไม่สามารถจะเรียกว่าเป็นวัดหรือแม้แต่สำนักสงฆ์ได้เลย จนกว่าจะได้รับอนุมัติจากรัฐโดยความเห็นชอบของคณะสงฆ์

ในทำนองเดียวกัน การแต่งตั้งเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์ ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นพ้องต้องกันของชาวบ้านอีกต่อไป หากกลายเป็นเรื่องภายในของคณะสงฆ์ล้วนๆ โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพระสังฆาธิการเพียงไม่กี่รูป  และเมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว เจ้าอาวาสก็มีอำนาจเด็ดขาดภายในวัด ประหนึ่งว่าวัดเป็นสมบัติของเจ้าอาวาส ทั้งๆ ที่ตามประเพณีเดิมเจ้าอาวาสเป็นเพียงผู้ดูแลวัดแทนชาวบ้าน หรือจะเรียกว่าเป็นผู้อาศัยวัดของชาวบ้านอยู่ก็ไม่ผิด (ในชนบทหลายแห่งยังมีประเพณีที่ชาวบ้านอาราธนาเจ้าอาวาสและพระรูปอื่นๆ ให้อยู่วัดต่อหลังจากออกพรรษาแล้ว)

แม้ว่าระเบียบและข้อกฎหมายดังกล่าวจะมีเหตุผลและเป็นประโยชน์ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ประชาชนมีสำนึกในความเป็นเจ้าของวัดน้อยลง และเหินห่างจากวัดมากขึ้น  แทนที่จะช่วยอุปถัมภ์บำรุงวัด กลับจะหาประโยชน์จากวัดด้วยซ้ำ

ดังนั้นทางออกคือการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของวัดมากขึ้น

ไม่ใช่เพียงแค่จัดหาปัจจัย ๔ มาอุปถัมภ์บำรุงวัดเท่านั้น หากยังมีส่วนในการกำหนดความเป็นไปของวัดโดยจัดให้มีการบริหารวัดในรูปคณะกรรมการและมีผู้แทนชุมชนเข้าร่วมด้วย  คณะกรรมการบริหารวัดนี้ควรมีหน้าที่ในการบริหารกิจการต่างๆ ของวัด ทั้งด้านการศึกษา สาธารณูปการ การเผยแผ่ ไม่ว่าภายในวัดหรือนอกวัด  ที่ขาดไม่ได้คือการรับผิดชอบการเงินของวัด ซึ่งปัจจุบันยังเป็นปัญหาของวัดเป็นอันมาก เนื่องจากปล่อยให้การเงินอยู่ในความดูแลของบุคคลเพียง ๑-๒ คนเท่านั้น คือเจ้าอาวาสและหรือไวยาวัจกร

ความไม่โปร่งใสนั้นมักเป็นที่มาแห่งความทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเฉพาะในระยะหลังข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับพระมักมีเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยที่พระซึ่งประพฤตินอกรีตจำนวนไม่น้อยก็เป็นเจ้าอาวาสเสียเอง  ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าเงินจำนวนมากที่ใช้ประกอบทุราจารนั้นได้มาจากไหน เป็นเงินวัดใช่หรือไม่  ด้วยเหตุนี้หน้าที่ประการหนึ่งของคณะกรรมการบริหารวัดคือการทำให้การเงินการบัญชีของวัดมีความโปร่งใส คือเปิดเผยและตรวจสอบได้ ไม่เฉพาะแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น หากยังพร้อมให้ประชาชนทั่วไปดูบัญชีได้ด้วย  ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนไม่น้อยมีหน้าที่ที่จะต้องเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะ จะเป็นการดีไม่น้อยหากวัดซึ่งควรเป็นแบบอย่างแห่งคุณธรรมของสังคมมีความโปร่งใสด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการส่งตัวแทนไปบริหารวัดร่วมกับพระสงฆ์แล้ว ประชาชนควรมีส่วนร่วมโดยตรงด้วยอย่างน้อยก็ในด้านการให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะ  เช่น มีการจัดประชุมศรัทธาญาติโยมเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งในวัดเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับกิจการของวัด รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพของพระเณรและแม่ชี และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในวัด เป็นต้น  ควรใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างพระสงฆ์กับชาวบ้านให้แน่นแฟ้นขึ้น เช่นร่วมกันหามาตรการกลั่นกรองผู้บวช โดยอาจมีข้อตกลงร่วมกันว่า ลูกหลานชาวบ้านที่จะมาบวชต้องอยู่วัดสักระยะหนึ่งก่อนเพื่อเตรียมความพร้อม หรือกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการบวช แทนที่จะมาบวชกี่วันก็ได้  ยิ่งไปกว่านั้นคณะสงฆ์ยังสามารถใช้ที่ประชุมชาวบ้านดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเลือกสรรและแต่งตั้งเจ้าอาวาสด้วย  มีกิจกรรมอีกมากมายหลายอย่างของทางวัดที่สามารถใช้เวทีดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของวัดมากขึ้น

พุทธศาสนาเจริญมั่นคงได้ในอดีต ส่วนหนึ่งก็เพราะวัดเป็นของชุมชน ชุมชนจึงร่วมกันทำนุบำรุงวัดและดูแลพระสงฆ์ให้มั่นคงในพระธรรมวินัย แต่กฎหมายคณะสงฆ์ในปัจจุบันได้ทำให้วัดกลายเป็นของคณะสงฆ์ ในการควบคุมของรัฐ

ข้อที่พึงตระหนักก็คือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของวัดนั้นไม่ได้เกิดจากการที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในกิจการของวัดเท่านั้น หากยังเกิดจากการที่วัดมีส่วนร่วมในกิจการของชุมชนจนกลายเป็นส่วนที่แยกไม่ขาดจากชุมชน  วัดในสมัยก่อนกลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนได้ก็เพราะเหตุนี้  ในปัจจุบันวัดสามารถฟื้นสถานะดังกล่าวให้กลับมาได้ส่วนหนึ่งโดยการเป็นผู้นำในการกระตุ้นชาวบ้านให้มาร่วมแก้ปัญหาชุมชนของตน  ดังนั้นการจัดประชุมชาวบ้านจึงไม่ควรจำกัดขอบเขตเพียงแค่การช่วยเหลือกิจการของวัดเท่านั้น หากควรรวมไปถึงการพัฒนาชุมชนด้วย  เช่น ปรึกษาหารือเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน การพัฒนาจริยธรรมของเยาวชน การอนุรักษ์แหล่งน้ำและป่าของชุมชน การแก้ปัญหาหนี้สินของชาวบ้าน ฯลฯ  มีหลายวัดในชนบทที่เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เช่น วัดตะโหมด ในจังหวัดพัทลุง ได้ใช้ลานวัดในการจัดประชุมชาวบ้านอย่างสม่ำเสมอ จนเกิดเป็น “สภาลานวัด” ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการแก้ปัญหาของท้องถิ่น เช่น ขยายบริการสาธารณูปโภค จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ อนุรักษ์วัฒนธรรม รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะแก่ อบต. และตรวจสอบการทำงานของ อบต.ไปพร้อมกัน

ปัจจุบันสภาลานวัดตะโหมดได้พัฒนาจนมีโครงสร้างการบริหารงานที่เป็นระบบ คือมีสมาชิกสภาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนชาวบ้าน ๑๒๐ คน คณะกรรมการบริหารซึ่งคัดเลือกจากสมาชิกสภา โดยมีรองเจ้าอาวาสเป็นประธาน และมีฝ่ายที่ปรึกษาซึ่งเป็นตัวแทนของทางราชการ

การมีส่วนร่วมในกิจการของชุมชนยังทำได้อีกหลายรูปแบบ เช่นให้ความสนับสนุนกลุ่มและองค์กรต่างๆ ของชาวบ้าน โดยกระตุ้นให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกัน เป็นที่ปรึกษาในด้านธรรมะและทักษะ ตลอดจนช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์และสถานที่

วิธีเหล่านี้ทางวัดสามารถทำได้โดยไม่จำต้องเป็นผู้นำหรือลงมือทำงานชุมชนด้วยตนเอง นอกจากจะเป็นการเอื้อเฟื้อต่อสมณสารูปแล้ว ยังช่วยสนับสนุนให้เกิดผู้นำที่เป็นชาวบ้านเอง

หากวัดใส่ใจชุมชนอย่างจริงจังจนชาวบ้านรู้สึกว่าวัดเป็นของชุมชนหรือเป็นของพวกเขาแล้ว แน่ใจได้ว่าชาวบ้านก็จะใส่ใจวัดเช่นกัน ปัญหาที่ว่าชาวบ้านจะไม่สนใจมาช่วยเหลืองานของวัดย่อมไม่เกิดขึ้น  การจัดประชุมชาวบ้านเพื่อมีส่วนร่วมในกิจการของวัดอย่างสม่ำเสมอ จะไม่ใช่แค่ความฝันที่สวยหรู หากสามารถเป็นจริงได้  ข้อที่วิตกกันว่าผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจะถูกเลือกมาเป็นกรรมการบริหารวัดและหาประโยชน์จากวัด ย่อมเกิดขึ้นได้ยากตราบใดที่ชาวบ้านทั้งชุมชนขวนขวายเอาใจใส่วัด

ในทางตรงกันข้าม หากชาวบ้านไม่ได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมในกิจการของวัด อีกทั้งวัดก็ไม่มีส่วนร่วมในกิจการของชุมชน ในที่สุดวัดก็จะกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ของคนกลุ่มเล็กๆ ทั้งที่ครองและไม่ได้ครองผ้าเหลือง ดังเกิดขึ้นทั่วไปในเวลานี้แล้ว


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา