ในอดีตวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิชาทางโลกแทบทุกแขนงเท่าที่ชุมชนต้องการ ซึ่งรวมไปถึงวิชาช่างและศิลปะพื้นบ้าน อาทิปี่พาทย์ราดตะโพน แม้ในปัจจุบันศูนย์กลางการศึกษาวิชาการทางโลกได้เคลื่อนย้ายออกจากวัดไปแล้ว แต่วิชาการทางโลกก็ยังเป็นสิ่งที่ประชาชนโดยเฉพาะที่ยากจนในชนบทยังคาดหวังจากวัด อีกทั้งวัดก็ยังมีบทบาททางการศึกษาที่จะทำได้อีกมากเพื่อช่วยให้ชุมชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในฐานะที่วัดเป็นสถาบันสำคัญในชุมชน
แต่ความรู้ทางโลกนั้นหาได้มีคุณค่าต่อประชาชนเท่านั้นไม่ หากยังมีประโยชน์สำหรับพระในการบำเพ็ญศาสนกิจให้ได้ผลดียิ่งขึ้นด้วย ดังพระราชวรมุนี้ได้ชี้ว่า ความรู้ทางโลกเป็นฐานและทางเดินให้แก่ความรู้ทางธรรม กล่าวคือมองอะไรได้กว้างขึ้น และสามารถใช้ความรู้ทางธรรมนั้นเพื่อช่วยให้เกิดประโยชน์สุขได้อย่างหนักแน่นมั่นคงและกว้างขวางขึ้น นอกจากนั้นความรู้ทางโลก ตลอดจนประสบการณ์ชีวิตในโลกยังเป็นทุนอุดหนุนเกื้อกูลแก่การรู้ธรรมอีกด้วย
ในโลกที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความรู้ทางโลกเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับพระสงฆ์ในการประกาศศาสนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงตระหนักเป็นอย่างดีถึงกระแสอัสดงคตานุวัตรที่ไหลบ่ามากระทบสังคมไทยอย่างหนักในยุคของท่าน ด้วยเหตุนี้จึงทรงส่งเสริมให้พระโดยเฉพาะฝ่ายธรรมยุตเรียนรู้วิชาสมัยใหม่ ปัจจุบันสังคมไทยก็กำลังประสบกับกระแสที่รุนแรงไม่แพ้กันคือกระแสโลกาภิวัตน์ การที่พระสงฆ์จะสามารถชี้แนะให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของธรรมและสามารถนำธรรมะมาใช้ให้เหมาะกับชีวิตและสังคมได้ จำเป็นที่ท่านจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับสภาพสังคมและปัจจัยที่มากระทบ ไม่ว่าค่านิยม โลกทัศน์ หรือระบบต่างๆ ที่มีผลต่อวิถีชีวิตและความนึกคิดของผู้คน ลำพังความรู้เดิมๆ จากประสบการณ์ในหมู่บ้านหรือจากการสังเกตสภาพความเป็นไปในสังคม ไม่น่าจะเพียงพอที่จะช่วยให้ท่านทำงานเผยแผ่อย่างได้ผล หากมีความจำเป็นที่ท่านจะต้องศึกษาหาความรู้ทางโลกเพิ่มเติมควบคู่กับการศึกษาวิชาการสมัยใหม่ ทั้งนี้มิใช่เพราะวิชาการเหล่านั้นเป็นสัจธรรม หากเพื่อให้เข้าใจทั้งประโยชน์และข้อจำกัดของมัน ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งหรือรังเกียจภูมิปัญญาดั้งเดิมอย่างที่เคยมีความผิดพลาดมาแล้วในสมัยพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ในโลกที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความรู้ทางโลกเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับพระสงฆ์ในการประกาศศาสนา
ความเข้าใจผิดประการหนึ่งเกี่ยวกับการเรียนวิชาการทางโลกก็คือ จะทำให้พระสึกเร็วเข้า ความคิดเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งมีในสมัยนี้ หากมีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว อันที่จริงก็มีเหตุให้ชวนคิดไปได้เช่นนั้น เพราะไม่กี่ปีหลังจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยปฏิรูปหลักสูตรใหม่ให้พระเณรได้เรียนวิชาเลขและภาษาอังกฤษด้วย ปรากฏว่าพระเณรที่บวชใหม่ของวัดบวรนิเวศวรวิหารพากันสึกกันมาก ดังมีสถิติว่าพระเณรที่บวชใน พ.ศ.๒๔๔๒ จำนวน ๖๐ เศษ เมื่อออกพรรษาแล้วสึกเกือบหมดเหลือเพียง ๓ รูป เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการสมัยนั้นถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษาปริยัติธรรมแบบใหม่นั้น ทำให้พระเณร “ไม่ใคร่จะบวชอยู่ทนเหมือนดังเช่นผู้ที่เรียนอย่างเก่าด้วยปาก” อย่างไรก็ตาม การที่พระเณรสึกมากเช่นนี้ ไม่น่าจะเป็นเพราะว่าหลักสูตรใหม่ที่มีการศึกษาทางโลกนั้นเปลี่ยนความตั้งใจของพระให้สึกเร็วขึ้น แต่น่าจะเป็นเพราะปริยัติธรรมแบบใหม่นั้นสามารถดึงฆราวาสที่อยากรู้วิชาทางโลกให้เข้ามาบวชกันมากขึ้นต่างหาก (และเมื่อเรียนจบแล้วก็เป็นธรรมดาที่ย่อมสึกออกไป)
พูดอีกอย่างคือ ปริยัติธรรมแบบใหม่นี้สามารถดึงพระเณรที่ตั้งใจบวชชั่วคราวให้เข้ามาเรียนกันมากเนื่องจากมีการสอนวิชาทางโลกด้วย ในขณะที่ปริยัติศึกษาแบบเก่ามีแต่วิชาทางพระล้วนๆ จึงไม่สามารถดึงพระเณรกลุ่มนี้มาได้มากนัก (พระกลุ่มนี้ถึงแม้ไม่ได้เล่าเรียนวิชาสมัยใหม่ ก็คงหันไปเรียนวิชาทางโลกแบบดั้งเดิมซึ่งมีสอนอยู่แล้วในวัด มากกว่าที่จะเรียนบาลีซึ่งใช้เวลานานหลายปีกว่าจะสำเร็จ) ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่พระเณรซึ่งเรียนปริยัติธรรมแบบใหม่จะมีการสึกในสัดส่วนที่มากกว่าระบบเดิม โดยที่พระซึ่งสึกหาลาเพศไปนั้นก็คิดจะสึกอยู่ก่อนแล้ว ความคิดที่ว่าการศึกษาวิชาทางโลกจะทำให้พระสึกมากกว่าการศึกษาปริยัติธรรมล้วนๆ นั้นเป็นการเข้าใจไปเองมากกว่า ดังพระธรรมปิฎกได้ชี้ไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ ว่า เมื่อเปรียบเทียบผู้จบมหาวิทยาลัยสงฆ์กับผู้สำเร็จการศึกษาปริยัติธรรมสายบาลีแล้ว สัดส่วนผู้ที่สึกหาลาเพศไปไม่ได้แตกต่างกันเลย
ควรกล่าวย้ำว่า ความรู้หรือวิชาการทางโลกนั้นไม่ได้หมายจำเพาะวิชาที่ใช้ประกอบอาชีพได้เท่านั้น หากหมายถึงความรู้เกี่ยวกับสภาพและปัญหาของสังคมและโลกสมัยใหม่ รวมไปถึงสถานการณ์ปัจจุบันของพุทธศาสนาทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งควรที่พระสงฆ์จะต้องเข้าใจและรู้เท่าทัน เพื่อปฏิบัติตนได้ถูกต้องและพร้อมสร้างสรรค์ให้เกิดความเจริญแก่สังคมและพระศาสนา