ที่ประเทศจีนเมื่อหลายร้อยปีก่อน ชายตาบอดคนหนึ่งไปเยี่ยมเพื่อนที่บ้าน หลังจากพูดคุยกันจนค่ำเขาก็ขอตัวกลับบ้าน เพื่อนจึงยื่นโคมให้ชายตาบอด ชายตาบอดแปลกใจ บอกว่าเขาไม่จำเป็นต้องใช้มันเพราะตาบอด เพื่อนตอบว่า “ถึงคุณตาบอดก็จริง แต่คนอื่นยังตาดี ถ้าคุณถือโคมนี้เอาไว้ เขาก็จะไม่มาเดินชนคุณ” ชายตาบอดจึงรับไป แต่ระหว่างทางปรากฏว่ามีคนมาเดินชนคนตาบอดจนล้ม เขาโกรธมาก ต่อว่าคนที่เดินมาชน ว่า “ตาบอดหรือไง ไม่เห็นหรือว่าฉันถือโคมอยู่” ชายผู้นั้นก็ขอโทษขอโพย และกล่าวว่า “สงสัยโคมที่คุณถือมันดับไปนานแล้ว” เรื่องก็จบเท่านี้ เป็นนิทานสั้นๆ แต่ก็สอนใจให้ดีทีเดียว
นิทานเรื่องนี้สอนเราว่า อย่านึกถึงประโยชน์ของตนเพียงอย่างเดียว ให้นึกถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย ขณะเดียวกันเวลามีปัญหาอะไรก็อย่ามัวโทษคนอื่นอย่างเดียว ให้ย้อนกลับมาดูตัวเองด้วย ชายตาบอดไม่จำเป็นต้องใช้โคมก็จริง แต่มันเป็นประโยชน์ช่วยให้คนอื่นมองเห็นทาง จะได้ไม่เดินชนชายตาบอด บางสิ่งบางอย่างอาจไม่จำเป็นสำหรับเรา แต่มันอาจเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น อย่างคนบางคนอาจจะอยู่กับความอึกทึกครึกโครมได้ แต่ก็ไม่ควรไปสร้างความอึกทึกให้กับใคร คนอื่นเขาอาจจะต้องการความสงบก็ได้ อันนี้เป็นคุณธรรมพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคม คือรู้จักเผื่อแผ่ถึงคนอื่น หรือมองในมุมของคนอื่นบ้าง แต่ขณะเดียวกันเวลามีปัญหา เราก็อย่ามองไปที่คนอื่นอย่างเดียว ให้ย้อนกลับมามองที่ตัวเองด้วย เพราะสาเหตุอาจเกิดที่ตัวเราเองก็ได้ อย่างชายตาบอด โทษคนที่มาเดินชนเขา แต่ที่จริงเป็นเพราะโคมของเขามันดับไปนานแล้วต่างหาก
คนที่ชอบโทษคนอื่นโดยไม่หันกลับมาดูตัวเองก็ไม่ต่างจากคนตาบอด เวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ผู้คนมักจะโทษว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นต้นเหตุ ไม่ได้กลับมามองว่าตัวเองมีส่วนทำให้เกิดปัญหาหรือเปล่า อันนี้รวมถึงคนที่เอาแต่มองนอกตัว แต่ไม่เห็นตัวเอง ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง เวลาโกรธใครก็ใช้อารมณ์เข้าใส่ มองไม่เห็นอารมณ์ความโกรธที่เกิดขึ้น คนที่ไม่เห็นความโกรธที่เกิดขึ้นในใจนั้นไม่ต่างจากคนตาบอดเลย ในที่นี้หมายถึงตาในที่สามารถเห็นความรู้สึกนึกคิดภายใน
นิทานเรื่องนี้บอกให้เราเห็นถึงนิสัยใจคอของคนส่วนใหญ่ คือเห็นแต่ความผิดของคนอื่น แต่ไม่เห็นความผิดพลาดของตัวเอง ขณะเดียวกันก็เห็นแต่ประโยชน์ของตัวเอง ลืมนึกถึงประโยชน์ของผู้อื่น ตรงข้ามกับคนดีมีธรรมะ เขาจะไม่ได้มองเพียงแค่ประโยชน์ของตัว แต่จะคำนึงถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย ส่วนเวลามีปัญหาก็จะไม่มัวโทษคนอื่นอย่างเดียว แต่จะย้อนกลับมาดูตัวเองด้วย นี้เป็นคุณธรรมพื้นฐานของคนดี
จะว่าไปแล้วการคำนึงถึงประโยชน์ของคนอื่นนั้น ก็ส่งผลดีต่อตัวเราเองด้วย เช่น คนตาบอดถือโคมไฟส่องทางให้คนอื่นมองเห็น ก็ช่วยให้เขาไม่เดินชนคนตาบอด ขณะเดียวกันการหันมามองตนเองอยู่เสมอก็มีประโยชน์กับตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะคนเราจะทุกข์ หรือไม่ทุกข์ อยู่ที่ใจของเราเองเป็นประการสำคัญ มีหลายคนที่สูญเสียทรัพย์สินเงินทอง แต่เขาก็ไม่มีความทุกข์ ยังยิ้มได้ แม้เขาจะเจ็บป่วย เขาก็ไม่ร้อนใจอะไร เมื่อถูกตำหนิ ใจของเขาก็ยังเป็นปกติ งานการไม่สำเร็จก็ยังกินได้นอนหลับ ก็เพราะว่าใจเขามีคุณภาพ เป็นใจที่มีธรรมะเป็นเครื่องรักษา เหตุการณ์เหล่านี้จึงไม่สามารถกระทบใจเขาจนเป็นทุกข์ได้ แม้มีปัจจัยภายนอกมากระทบ ถ้าปัจจัยภายในไม่เอาด้วย ก็ไม่เป็นทุกข์ เหมือนกับตบมือข้างเดียวย่อมไม่มีเสียงดัง
ใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าวางใจเป็น ถึงแม้จะเสียทรัพย์ ประสบเคราะห์ เราก็ยังยิ้มได้ อะไรเกิดขึ้นกับเราก็ไม่สำคัญเท่าเราวางใจอย่างไร รู้สึกกับสิ่งนั้นอย่างไร ถ้าวางใจให้เป็น ความทุกข์ก็ไม่อาจเข้ามารบกวนจิตใจได้ เหมือนกับศัตรูมาอยู่รอบเมืองแล้ว แต่ถ้าเมืองมีทหารยามที่เข้มแข็ง ศัตรูก็เข้ามาก่อกวนหรือก่อวินาศกรรมในเมืองไม่ได้ แต่ถ้าทหารยามไม่เข้มแข็ง ไม่ซื่อสัตย์ ศัตรูก็เข้ามายึดเมืองได้
ในประเทศอินเดียมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งตั้งอยู่บนภูเขาสูง สร้างป้อมปราการไว้แข็งแรงกำแพงแน่นหนา เป็นการยากมากที่จะเข้ามาถึงเมืองนี้ได้ เพราะต้องปีนเขา กว่าจะไปถึงกำแพงเมืองก็อาจถูกยิงหรือโยนทรายร้อนใส่ก็ได้ นอกจากนี้เส้นทางเข้าออกสู่วังหลวงก็ซับซ้อนมาก แต่สุดท้ายศัตรูก็สามารถยึดเมืองนี้ได้ ไม่ใช่เพราะมีแสนยานุภาพเกรียงไกร แต่เพราะเขาติดสินบนทหารที่เฝ้าประตู เมื่อเขาให้สัญญาณ ทหารก็ยอมเปิดประตูและบอกทางเข้าวังหลวง ในที่สุดก็ต้องเสียเมืองให้กับศัตรู
เมืองก็เปรียบเหมือนจิตใจของเรา ถ้าใจเรามีความโลภ ก็เปิดช่องให้ความทุกข์มาครองใจเราได้ ถ้าไม่มีสติ ลืมตัว ความทุกข์ก็เข้ามารบกวนจิตใจเราได้เช่นกัน ทำให้เกิดความโกรธ ความเศร้า ความน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ถ้ามีสติรักษาใจ ก็สามารถป้องกันมิให้อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ ทำให้ใจสงบเป็นปกติ แต่ส่วนใหญ่คนเราจะมีชีวิตที่ผาสุกได้ ก็ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมิตรสหายแวดล้อมที่เรียกว่า กัลยาณมิตร บางคนมัวเมาลุ่มหลงติดเพลินในความสุขหรืออบายมุข ต้องมีเพื่อนมาเตือนถึงก็จะรู้ตัว หันมาใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง บางคนเศร้าโศกเสียใจเพราะอกหัก แต่พอเพื่อนมาเตือนก็ได้สติขึ้นมา สามารถปล่อยวางอารมณ์นั้นลงได้ บางคนโกรธแค้น อยากทำร้ายคนอื่น แต่พอมีคนมาเตือน ก็ได้สติ หยุดทำชั่วทันที
คนเราจะทุกข์หรือไม่ทุกข์ อยู่ที่ใจของเราเองเป็นประการสำคัญ ถ้าวางใจให้เป็น ความทุกข์ก็ไม่อาจเข้ามารบกวนจิตใจได้
มีโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ คนมีฐานะนิยมส่งลูกหลานมาเรียนกันมากมาย ปัญหาที่ตามมาคือหาที่จอดรถลำบาก การหาที่จอดรถเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับพ่อแม่ที่มารับส่งลูก โรงเรียนก็พยายามจัดระเบียบ คือให้ขับรถทางเดียวกัน การจราจรก็สะดวกขึ้น แต่มีวันหนึ่งขณะที่รถติดกันเป็นแพตรงประตูเข้า มีรถอีกคันหนึ่งแล่นมาทางประตูออก จึงวิ่งเข้ามาได้สะดวก และได้ที่จอดรถอย่างง่ายดาย เผอิญเป็นที่จอดรถเดียวที่เหลืออยู่ ผู้ปกครองที่ถูกแย่งที่จอดรถไปต่อหน้าต่อตา จึงเดินมาต่อว่าคนที่ขับรถย้อนศร ชายคนที่ถูกต่อว่า ไม่พอใจมาก จึงพูดขึ้นว่า “คุณไม่รู้หรือว่าผมเป็นใคร” อีกฝ่ายตอบ “ผมไม่สนใจว่าคุณเป็นใครแต่คุณทำผิดกฎ” แล้วก็หันหลังจะกลับไปขึ้นรถ คนที่ถูกต่อว่านั้นเป็นทหารยศนายพล โกรธมากจึงเข้าไปในรถและคว้าปืนออกมาแล้วเดินตาม หมายจะยิงคนที่ต่อว่าตน
บังเอิญคนขับรถของโรงเรียนอยู่ในเหตุการณ์ พอเห็นนายทหารกำลังจะยิง ก็เดินเข้าไปจับมือเขาไว้แล้วพูดว่า “ท่านจะมารับลูกไม่ใช่หรือครับ” พอได้ยินคนทักเช่นนี้นายทหารคนนั้นก็ได้สติทันที แทนที่จะเดินไปยิงเขา ก็เอาปืนไปเก็บที่รถแล้วเดินไปรับลูก เหตุการณ์นี้จบลงโดยไม่มีใครเป็นอะไร
นายทหารคนนี้ได้สติเมื่อมีคนมาทักท้วง ทำให้เขาได้คิดว่าถ้ายิงคนตาย ลูกของตัวจะเดือดร้อนไปด้วย พอคิดได้ความโกรธก็วูบหายไป โดยไม่จำเป็นต้องข่มใจ สติมีพลังที่สามารถทำให้ความโกรธหายไปได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถมีสติได้ด้วยตัวเองเพราะว่าอารมณ์รุนแรงมาก ต้องอาศัยคนภายนอกช่วยเตือนช่วยบอก แต่ถ้าเตือนไม่เป็นอาจทำให้อีกฝ่ายขัดใจและยิ่งทวีความโกรธ จนอาจทำร้ายคนที่เตือนก็ได้
อย่างไรก็ตาม เราจะรอให้คนมาช่วยเตือนสติอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เราต้องรู้จักสร้างสติขึ้นมาเอง เพราะทุกคนมีสติกันทุกคน แต่เป็นสติที่ถูกปล่อยทอดทิ้ง เหมือนกับต้นไม้ที่ไม่ค่อยได้รับการรดน้ำพรวนดินเท่าที่ควร การหมั่นฝึกสติทำให้สติของเราว่องไวปราดเปรียว รู้ใจได้ทันท่วงที เช่น รู้ว่าใจกำลังฟุ้ง กำลังโกรธ อันนี้เป็นหน้าที่ของสติ ถ้ามีสติไว ใจก็จะไม่แล่นไปตามอารมณ์ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของความรู้สึกนึกคิด หรือทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” หมายความว่า กล่าวติเตียนผู้อื่นแต่ตัวเองกลับทำเสียเอง นั่นเป็นเพราะไม่มีสติ เราไม่ชอบคนนินทา แต่พอเห็นเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งชอบนินทา เราทนไม่ได้ ก็เลยแอบนินทาเพื่อนคนนี้ให้คนอื่นฟัง เราเคยเป็นอย่างนี้บ้างไหม นั่นเป็นเพราะไม่มีสติ จึงเผลอทำสิ่งนั้นด้วยความไม่ชอบขี้หน้าเขา ความโกรธหรือต้องการตอบโต้ก็สามารถทำให้เราทำตัวอย่างเดียวกับคนที่เราไม่ชอบได้เหมือนกัน
ท่านอาจารย์พุทธทาส เล่าว่าที่สวนโมกข์สมัยก่อนเมื่อหน่อไม้ภายในวัดเริ่มโต ชาวบ้านจากหมู่บ้านรอบวัดก็มาเก็บหน่อไม้ แต่ยังไม่ทันที่หน่อไม้จะโตเต็มที่ชาวบ้านก็แย่งกันตัด แม่ชีในวัดบอกชาวบ้านว่าให้หน่อไม้โตได้ที่ค่อยตัด แต่ก็ไม่มีใครฟัง แม่ชีจึงไม่พอใจมาก วันหนึ่งเห็นหน่อไม้ที่เพิ่งขึ้น ยังโตไม่ได้ที่ แม่ชีกลับตัดเสียเอง ทำไมแม่ชีถึงทำเช่นนั้นทั้งๆ ที่ห้ามคนไม่ให้ตัด นั่นก็เพราะต้องการสกัดไม่ให้ชาวบ้านตัดหน่อไม้ อันนี้ก็เข้าทำนอง “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” เช่นกัน
คนเรามักเป็นแบบนี้ นั่นเป็นเพราะความไม่รู้ตัว เราไม่ชอบให้คนอื่นทำอะไรก็ตาม แต่เราก็กลับสิ่งนั้นเสียเอง ถ้าเรารู้ตัว นอกจากตัวเองจะไม่เป็นทุกข์แล้ว ยังสามารถทำสิ่งที่ควรทำ เพื่อประโยชน์ทั้งของตนเองและผู้อื่นด้วย