ทางลัดสู่หายนะ

พระไพศาล วิสาโล 16 สิงหาคม 2009

มีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งจากเกาหลีใต้เมื่อต้นปีนี้ หากจะมีใครสนใจก็เพราะเป็นเรื่องแปลก  นั่นคือ ข่าวหญิงชราผู้หนึ่งสอบใบขับขี่มาแล้วถึง ๗๗๑ ครั้ง แต่ไม่เคยสอบได้เลย  ตัวเลขดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างปี ๒๕๔๘ จนถึงต้นปีนี้เท่านั้น แสดงว่าคุณยายเข้าสอบเฉลี่ย ๒ วันครั้งเลยทีเดียว  แม้จะสอบตกทุกครั้ง แต่ก็ไม่ละความพยายาม  ผ่านมาแล้วหลายเดือนจนถึงปัจจุบัน ไม่ทราบว่าคุณยายสอบได้แล้วหรือยัง แต่ก็เป็นไปได้ว่าคุณยายอาจสอบตกอีกนับสิบครั้งแล้วก็ได้  เจ้าหน้าที่จราจรที่คุมการสอบทั้งเห็นใจทั้งชื่นชมคุณยาย ถึงกับเอ่ยปากว่าหากคุณยายสอบได้เขาจะทำโล่เกียรติคุณให้เลย

ข่าวนี้มองให้ดีนับว่าน่าสนใจมาก เพราะไม่ได้บอกถึงความอุตสาหะอย่างยิ่งยวดของคุณยายเท่านั้น แต่ยังสะท้อนสังคมเกาหลีใต้ในบางแง่ได้อย่างชัดเจนมาก เช่น ความเคร่งครัดและเข้มงวดในกฎเกณฑ์และกติกา  แม้เจ้าหน้าที่จราจรจะเห็นใจคุณยายเพียงใด ก็ไม่ยอมอะลุ้มอล่วยหรือโอนอ่อนให้ง่ายๆ ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก  คุณยายซึ่งคงมีปัญหาบางอย่างในการขับขี่ จึงไม่เคยสอบผ่านเลยสักครั้ง  นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็คงมีความซื่อตรงชนิดที่เงินซื้อไม่ได้ด้วย  เพราะหากเป็นที่เมืองไทย ลูกหลานของคุณยายหรือเพื่อนๆ ของลูกหลานที่เห็นใจคุณยาย คงหาทางวิ่งเต้นหรือ “ยัด” เงินให้เจ้าหน้าที่ที่คุมการสอบไปแล้ว  ใครๆ ก็รู้ว่าเรื่องแบบนี้ไม่ยากเลย ใช้เงินไม่ถึงพันบาทก็สำเร็จแล้ว ไม่จำต้องที่คุณยายต้องมาเหนื่อยยากขนาดนี้ สอบตกอย่างมากแค่ ๕-๖ ครั้ง ก็ได้ใบขับขี่สมใจแล้ว

น่าคิดต่อไปว่าไม่ใช่แต่เจ้าหน้าที่เกาหลีเท่านั้นที่ซื่อตรง และต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎเกณฑ์  คนเกาหลีก็ดูเหมือนจะซื่อตรงด้วย หรืออย่างน้อยก็เห็นว่าที่เจ้าหน้าที่ทำกับคุณยายนั้นถูกต้องแล้ว  ไม่เช่นนั้นก็คงกดดันเจ้าหน้าที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือผ่านผู้บังคับบัญชาจนเจ้าหน้าที่ต้องยอมปล่อยให้คุณยายสอบผ่าน  แต่ฟังจากคำพูดของเจ้าหน้าที่ เขาไม่มีทีท่าว่ารู้สึกถูกกดดันเลย  ถ้าเป็นที่เมืองไทย แค่ทำให้คุณยายสอบตกถึง ๕๐ ครั้งก็มากพอแล้วที่เจ้าหน้าที่จะถูกผู้คน (มิใช่แค่ญาติพี่น้องเท่านั้นแต่อาจรวมถึงสื่อมวลชนด้วย) รุมประณามว่าไร้เมตตาต่อคนแก่  แค่ใบขับขี่ใบเดียว จะเอาอะไรกันนักกันหนา

สรุปก็คือข่าวแบบนี้ไม่มีวันเกิดขึ้นในเมืองไทยยุคนี้ได้อย่างแน่นอน  ไม่ใช่เพราะว่าเมืองไทยไม่มีเจ้าหน้าที่แบบนั้น หากยังเป็นเพราะคนที่จะเพียรสอบร่วมพันครั้งอย่างคุณยาย ก็ไม่มีด้วยเช่นกัน  พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าคนไทยไร้ความอุตสาหะ แต่เป็นเพราะเรารู้ดีว่าเรื่องแบบนี้ไม่จำต้องเพียรพยายามถึงขนาดนั้นก็ได้  ใครๆ ก็รู้ว่ามี “ทางลัด” ที่ง่ายและเร็วกว่านั้น นั่นคือ จ่ายเงินเป็นสินน้ำใจ หรือยื่นนามบัตรของใครบางคนให้กับเจ้าหน้าที่ (หรือผู้บังคับบัญชาของเขา) พร้อมกับขอให้ช่วย “ดูแล” คุณยายให้ด้วย  ถ้าไม่มีทั้งเงินและ “เส้น” ก็ยังมีอีกวิธีคือ เจรจาขอความกรุณาจากเจ้าหน้าที่

ที่จริงไม่ใช่แค่สอบใบขับขี่  แทบทุกเรื่องใครๆ ก็รู้ว่ามีทางลัด และนิยมใช้ทางลัดทั้งนั้น  ตั้งแต่เด็กเราก็รู้แล้วว่าหากจะทำการบ้านส่งครู ก็ไม่จำเป็นต้องทำเองให้เหนื่อยยาก  ก็แค่ลอกการบ้านจากเพื่อน หรือไม่ก็ตัดแปะจากเว็บไซต์ต่างๆ  อยากได้เกรดสูงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องขยันเรียน  แค่หาเวลาติวก่อนสอบไม่กี่วัน  ใครที่ใจกล้ากว่านั้นก็แอบดูเพื่อนในห้องสอบ หรือทุจริตด้วยวิธีซับซ้อนกว่านั้น  หาไม่ก็บากหน้าไปขอเกรดครู  เดี๋ยวนี้นักเรียนมัธยมกล้าถามครูแล้วว่าครูอยากได้อะไร เขาจะหามาให้ ขอเพียงให้เกรดดีๆ แก่เขา  หากขาดเรียนเป็นนิจ ไม่เชื่อฟังครู จนถูกครูดุด่าว่ากล่าวหรือลงโทษ  แทนที่จะทำตัวให้ดี วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายกว่านั้นก็คือ ไปฟ้องพ่อแม่เพื่อให้พ่อแม่ไปร้องเรียนกับผู้อำนวยการหรือโทรศัพท์ไปข่มขู่ครู

จบแล้วอยากได้งานดีๆ ก็ไม่ต้องเตรียมตัวสอบให้เหนื่อย แค่ใช้ “เส้น” ของพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ก็พอแล้ว  ทำงานแล้วอยากได้ตำแหน่งดีๆ ไม่ต้องขยันทำงานก็ได้  แค่หมั่นวิ่งเต้นหรือประจบประแจงเจ้านายก็พอ  ถ้าเป็นนักธุรกิจ อยากขายของให้ได้เยอะๆ ก็ไม่จำต้องพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ  แค่จ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้สัมปทานหรือชนะการประมูล ก็สำเร็จแล้ว

ถ้าอยากรวย ไม่ต้องขยันทำงานหรือหมั่นอดออมก็ได้ เพราะมีทางลัดคือ เล่นหวย เล่นหุ้น เล่นการพนัน  หนักกว่านั้นก็คือโกง คอร์รัปชั่น หรือลักขโมย  การเติบใหญ่ขยายตัวของการพนันและอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินบ่งชี้ว่า คนไทยนิยมรวยทางลัดมากขึ้น  แต่สำหรับคนที่ยังเกรงกลัวกฎหมาย ทางลัดที่นิยมกันมากก็คือ ไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเครื่องรางของขลัง  ดังสมัยหนึ่งใครๆ ก็อยากได้จตุคามรามเทพไว้บูชาเพราะเชื่อว่าจะทำให้รวยได้ “โดยไม่มีเหตุผล”  แม้จตุคามฯ จะตกกระแสไปแล้ว แต่เครื่องรางของขลังและสิ่งศักดิ์สิทธิ์นานาชนิดก็ยังเป็นความหวังของผู้คนจำนวนมากที่อยากรวยและมีโชคลาภโดยไม่ต้องขยัน

น่าแปลกที่เราชอบอ้างว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แต่แก่นแท้ของพุทธศาสนาที่เน้นความเพียรและการพึ่งตนนั้น คนไทยเป็นอันมาก (หรือส่วนใหญ่ก็ว่าได้) กลับไม่สนใจเอาเลย  จริงอยู่เราชอบทำบุญกันเป็นชีวิตจิตใจ แต่นั่นเป็นเพราะเราเชื่อว่าถ้าสะสม “บุญ” ได้มากพอ ก็จะบันดาลให้เรามั่งมีศรีสุขและได้รับโชคลาภ (เช่น ถูกหวยหรือถูกลอตเตอรี่)  กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในทัศนะของชาวพุทธไทย การทำบุญก็คือทางลัดสู่ความร่ำรวยนั่นเอง ดังนั้นจึงขวนขวายทำบุญมากกว่าขยันทำมาหากิน

คนไทยทุกวันนี้พึ่งโชคมากกว่าพึ่งความเพียร เพราะเราเชื่อว่าโชคจะทำให้เราได้รับความสำเร็จโดยไม่ต้องเหนื่อย  คนไทยเมื่อจะล่ำลากันจึงมักให้พรว่า “ขอให้โชคดี”  ซึ่งตรงข้ามกับคนญี่ปุ่น คำอวยพรของพ่อแม่ที่ให้แก่ลูก ครูให้แก่ศิษย์ ก็คือ “ขอให้เพียรพยายาม” หรือ “อย่ายอมแพ้”  ทั้งๆ ที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่รู้สึกห่างไกลจากพุทธศาสนา แต่คำอวยพรและพฤติกรรมของเขานั้นใกล้เคียงกับแก่นของพุทธศาสนามากกว่าคนไทยเสียอีก

การนิยมทางลัดของคนไทยนั้นก่อปัญหาแก่สังคมไทยในทุกด้านก็ว่าได้  อาทิ คุณภาพการศึกษาตกต่ำ สินค้าไม่ได้มาตรฐาน แข่งสู้ตลาดโลกไม่ได้ ข้าราชการไร้ประสิทธิภาพ คอร์รัปชั่นแพร่ระบาด อาชญากรรมเกลื่อนเมือง สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม อุบัติเหตุจราจรเพิ่มสูงขึ้น ฯลฯ  เป็นเพราะค่านิยมและพฤติกรรมดังกล่าว การขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีมาตรฐานสูงขึ้นไม่ว่าด้านใดจึงเป็นเรื่องยากมาก  อาทิ การผลักดันให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ  รัฐบาลจะกระตุ้นให้คนไทยขยันอ่านหนังสือได้อย่างไร ในเมื่อใครๆ ก็รู้ว่าไม่ต้องขยันเรียนก็สอบได้แถมได้เกรดสูงด้วย  นอกจากนั้นถึงอ่านช้าก็ดูหนังต่างประเทศได้เพราะพากย์ไทยกันทั้งนั้น (ว่ากันว่าตามต่างจังหวัด ภาพยนตร์ที่ไม่พากย์ไทยแม้จะมีคำบรรยายภาษาไทย มักจะขายตั๋วไม่ค่อยได้  แม้ในกรุงเทพฯ เองซีดีหรือดีวีดีหนังต่างประเทศที่ไม่พากย์ไทยก็ขายได้น้อย)

น่าแปลกที่เราชอบอ้างว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แต่แก่นแท้ของพุทธศาสนาที่เน้นความเพียรและการพึ่งตนนั้น คนไทยจำนวนมากกลับไม่สนใจเอาเลย

อย่างไรก็ตาม การนิยมทางลัดมิใช่เป็นเรื่องของค่านิยม ทัศนคติ หรือวัฒนธรรมเท่านั้น หากยังสัมพันธ์กับบริบททางสังคมด้วย  การที่คนไทยนิยมทางลัดกันจนเป็นวิถีชีวิตก็เพราะระบบต่างๆ ในสังคมเอื้อหรือผลักดันด้วย  ขอให้ย้อนกลับไปกรณีคุณยายเกาหลีที่สอบตกถึง ๗๗๑ ครั้ง  การที่คุณยายต้องพากเพียรพยายามขนาดนั้น เพราะระบบการสอบไม่เอื้อให้คุณยาย (หรือลูกหลานเพื่อนพ้อง) ใช้ทางลัดได้ ไม่ว่าจะยัดเงินใต้โต๊ะ ใช้เส้น หรือวิงวอนขอความกรุณา  นี้ตรงข้ามกับระบบการสอบใบขับขี่รวมทั้งระบบอื่นๆ ของไทย ตั้งแต่ระบบการศึกษา ระบบราชการ ไปจนถึงระบบการเมือง ซึ่งทั้งอนุญาตทั้งเอื้อให้มีการติดสินบนและใช้เส้นได้ตั้งแต่บนลงมาข้างล่าง

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำตอบส่วนหนึ่ง คือ ระบบเหล่านี้ไม่โปร่งใส ปราศจากการตรวจสอบที่มีคุณภาพ จึงเอื้อให้เจ้าหน้าที่ทุจริตหรือปล่อยปละละเลยได้ง่าย  ถึงนาย ก. จะขับรถไม่เป็น แต่เจ้าหน้าที่ผ่อนผันให้ใบขับขี่ไป (จะเพราะสงสารหรือเพราะรับเงินเขามาก็แล้วแต่)  แม้นาย ก. จะขับรถชนคนตายในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะไม่มีใครจะมาตามเอาผิดเขาอยู่แล้ว

ความไม่โปร่งใสเมื่อผนวกกับระบบอำนาจนิยม ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วทั้งสังคม ยังเอื้อให้เกิดการใช้เส้นสายกันในทุกเรื่องทุกระดับจนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว  ใครก็ตามที่มีสายสัมพันธ์กับ “ผู้ใหญ่” จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ (ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความเพียรทั้งสิ้น) อยากได้อะไรก็เพียงแต่ใช้แรงบีบของผู้ใหญ่เพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างยินยอม  ใช่ว่าคนไทยจะไม่มีครูหรือเจ้าหน้าที่ที่ซื่อสัตย์  แต่เมื่อระบบนั้นให้อำนาจแก่ผู้บังคับบัญชามาก สามารถให้คุณให้โทษแก่ครูหรือเจ้าหน้าที่ได้ง่าย  ฝ่ายหลังก็จำต้องยอมตามบัญชาของผู้ใหญ่ ซึ่งหมายถึงทำผิดให้เป็นถูกได้  กฎหมายและกฎเกณฑ์จึงไม่ศักดิ์สิทธิ์ในเมืองไทย  อย่าว่าแต่ขับรถผิดกฎจราจรเลย แม้แต่ฆ่าคนตายก็ยังสามารถใช้เส้นสายที่มีอยู่ “เป่าคดี” จนพ้นผิดได้  จึงไม่น่าแปลกใจว่าการลอบฆ่าคนกลางเมืองจึงเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน

ระบบแบบนี้เองที่ทั้งส่งเสริมทั้งผลักดันผู้คนให้ขวนขวายหาเส้นสายเพื่อเชื่อมโยงไปถึง “ผู้ใหญ่” หรือผู้มีอำนาจ  แต่ก่อนก็มักได้แก่ข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะตำรวจและทหาร  ปัจจุบันก็รวมถึงนักธุรกิจ เศรษฐี และที่ขาดไม่ได้คือนักการเมืองโดยเฉพาะซีกรัฐบาล  ใครที่เป็นพ่อแม่ก็ต้องหาทางส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนดังที่อุดมด้วยลูกท่านหลานเธอ  ใครที่เป็นข้าราชการก็ต้องประจบผู้บังคับบัญชา ฝากตัวเป็นเครือข่ายของเจ้านาย หาไม่ก็ต้องมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองที่มีอำนาจ  ส่วนนักธุรกิจก็ต้องผูกมิตรกับข้าราชการระดับสูงหรือ ส.ส. และรัฐมนตรี

ในอดีตการใช้เงินและเส้นสายเป็นทางลัดสู่ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ดูเหมือนจะเป็นอภิสิทธิของคนชั้นกลางที่มีการศึกษาหรือสถานภาพเท่านั้น  ดังนั้นจึงทำให้คนชั้นกลางสามารถถีบตัวได้รวดเร็ว เพราะมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะได้มากกว่าชาวบ้าน  ไม่ว่าสถาบันการศึกษาของรัฐ งบประมาณแผ่นดิน ป่า แหล่งน้ำ รวมทั้งอำนาจในการจัดสรรผลประโยชน์  แต่ในปัจจุบันชาวบ้านก็เริ่มมีช่องทางในการเข้าถึงเส้นสายที่สำคัญได้  จากเดิมที่หวังได้อย่างมากก็แค่ส่งลูกเรียนสูงๆ จะได้เป็นข้าราชการ หรือ “เจ้าคนนายคน”  หาไม่ก็เข้าสู่เครือข่ายเจ้าพ่อท้องถิ่น เพื่อปกป้องมิให้ข้าราชการมาเอาเปรียบ  ปัจจุบันชาวบ้านพบว่าการมีเส้นสายกับ ส.ส. โดยเฉพาะพรรครัฐบาลนั้น ก็สามารถทำให้ตัวเอง “เบ่ง” กับข้าราชการได้  แค่เป็นหัวคะแนนให้ ส.ส.พรรครัฐบาล ก็ทำให้นายอำเภอเกรงใจแล้ว

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่ชาวบ้านทุกวันนี้พร้อมจะเป็นหัวคะแนนให้แก่นักการเมือง ซึ่งหมายถึงการช่วยแจกเงินซื้อเสียงในหมู่บ้าน และทำให้เจ้าพ่อท้องถิ่นได้กลายเป็น ส.ส. ก่อนจะเป็นรัฐมนตรี  หลายคนส่ายหัวกับพฤติกรรมแบบนี้ แต่เราก็ต้องยอมรับว่านี้คือทางออกของชาวบ้านในยามที่หวังพึ่งข้าราชการไม่ได้  ในเมื่อข้าราชการ พ่อค้านักธุรกิจและชนชั้นกลางใช้เส้นสายกันทั้งนั้น ทำไมตนจะมีเส้นสายกับเขาไม่ได้บ้าง  เส้นสายที่ว่านอกจากช่วยปกป้องตนเองจากข้าราชการที่ชอบใช้อำนาจแล้ว ยังช่วยดึงงบประมาณของรัฐตกมาถึงชาวบ้านได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย (นอกเหนือจากผ่าน อบต.แล้ว)

นี้อาจเป็นคำตอบด้วยว่า ทำไมพรรคไทยรักไทยจึงได้รับความนิยมอย่างมากในภาคเหนือและภาคอีสานซึ่งยากจนที่สุด  เป็นเพราะในสมัยรัฐบาลทักษิณ พรรคนี้ได้ลดบทบาทของราชการเป็นอันมาก และพยายามลงไปสัมพันธ์กับชาวบ้านโดยตรง โดยผ่าน ส.ส.ของพรรค  นอกจากจะให้ผลประโยชน์แก่ชาวบ้านโดยตรง โดยไม่ผ่านระบบราชการแล้ว พรรคนี้ยังมีอำนาจเหนือราชการ  จึงทำให้ชาวบ้านที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคนี้รู้สึก “ยืดอก” ต่อหน้าข้าราชการได้มากขึ้น  และดังนั้นจึงร่ำร้องเรียกหาพรรคนี้รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณจนทุกวันนี้

ปัจจุบันชาวบ้านพบว่าการมีเส้นสายกับ ส.ส. โดยเฉพาะพรรครัฐบาลก็ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเกรงใจได้แล้ว  การใช้ทางลัดจึงไม่ได้เป็นอภิสิทธิที่มีให้เฉพาะคนชั้นกลางที่มีการศึกษาอีกต่อไป

มองให้ลึกลงไป การวิ่งเต้นหาเส้นสายกันขวักไขว่ มิใช่เป็นแค่ผลพวงของระบบอำนาจนิยมที่รวมศูนย์อยู่กับตัวบุคคล และมุ่งสนองผลประโยชน์ส่วนบุคคล โดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์และความถูกต้องเท่านั้น (กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นระบบแบบอัตตาธิปไตย มิใช่ธรรมาธิปไตย)  แต่ยังเป็นภาพสะท้อนของสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ทั้งในทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางอำนาจ  ในด้านหนึ่งประชาชนระดับล่างไม่สามารถตรวจสอบทัดทานผู้ที่มีอำนาจได้ ฝ่ายหลังจึงใช้อำนาจตามอำเภอใจผ่านระบบเส้นสาย  ในอีกด้านหนึ่งความยากไร้ทำให้ประชาชนต้องพึ่งพิงหรือรับใช้ผู้มีอำนาจ เพื่อความอยู่รอดของตน  ผลก็คือผู้มีอำนาจ (เดิมคือเจ้าพ่อ ปัจจุบันคือนักการเมืองระดับชาติ) ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือตักตวงผลประโยชน์เข้าตัว  จนเกิดความขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจเดิมกระทั่งทุกวันนี้

การส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งความเพียรของตน ไม่นิยมทางลัด ควรเป็นวาระแห่งชาติ  แต่มิอาจทำได้ด้วยการรณรงค์ตามสื่อ หรือเทศนาสั่งสอน และสร้างคำขวัญกินใจเท่านั้น  หากต้องรวมไปถึงการปฏิรูประบบต่างๆ ในสังคมมิให้เอื้อต่อการใช้ทางลัด ไม่ว่าติดสินบนหรือใช้เส้นสาย รวมไปถึงการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้น้อยลงด้วย  หาไม่แล้วทางลัดที่ผู้คนคิดค้นและใช้กันจนขวักไขว่นั้นแหละจะกลายเป็นทางลัดพาสังคมไทยสู่ความหายนะในเร็ววัน


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา