ด้วยใจใฝ่บุญอยากสร้างกุศลให้ส่วนรวม สอน กล้าศึก จึงขยันถางหญ้าให้วัดในหมู่บ้านที่จังหวัดชัยภูมิ แต่ทำมาได้ ๖ ปี ก็พบว่าถ้าจะให้เกิดกุศลที่ยั่งยืนจริงๆ ควรจะปลูกป่า เพราะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่สัตว์และมนุษย์ ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ “ป่าเป็นอาจารย์ของพระพุทธเจ้า” ลุงสอนปลูกป่าจนเต็มลานวัด จากนั้นก็ขยับไปปลูกป่ารอบหนองน้ำสาธารณะเนื้อที่ ๒๕๐ ไร่ แม้จะมีคนเยาะเย้ยถากถาง ลุงสอนก็ไม่ท้อถอยเพราะถือว่า “การสร้างป่าเป็นการปฏิบัติธรรม เราต้องอดทน ถ้ามีความโกรธ จะทำงานไม่สำเร็จ”
ผ่านไปแล้ว ๒๕ ปี ลุงสอนยังปลูกป่าไม่หยุด โดยไม่ได้รบกวนเงินของส่วนรวมเลย เรื่องราวปลูกป่าของลุงสอน เป็นที่กล่าวขานและชื่นชม และลุงสอนได้รับ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๒
ทุกคืนหลังจากทำการบ้านเสร็จ แก้วใจ เหล่านิพนธ์ เด็กหญิงวัย ๑๔ จะออกรถไปกับพ่อแม่ เพื่อตระเวนไปตามจุดที่ประสบอุบัติเหตุ หน้าที่หลักของเธอคือ คอยช่วยส่งของให้พ่อแม่ และจดรายละเอียดต่างๆ ของผู้ประสบเหตุ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เลขทะเบียนรถ นอกจากนั้นยังช่วยยกคนเจ็บ เช็ดเลือด หรือแม้กระทั่งโบกรถ แก้วใจเป็นอาสาสมัครอายุน้อยที่สุดของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เธอเล่าว่า
ตอนเริ่มทำงานครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๑ ปีนั้นรู้สึกกลัวมาก แต่ตอนหลังรู้สึกดีใจที่ได้ช่วยคน หลายคนแล้วที่เธอมีส่วนช่วยชีวิต เพราะสามารถนำไปส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที
เป็นเวลานานกว่า ๓๐ ปี ณรงค์ สุทธิกุลพานิช ได้บำเพ็ญทานด้วยการเพาะหญ้าปักกิ่งแจกผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากจะให้เปล่าแล้ว ลุงณรงค์ยังไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วย เพื่อไปให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาและรับฟังความทุกข์ของเขา ความเป็นมิตรและความเมตตาของลุงณรงค์ ตลอดจนคำพูดเตือนสติที่มาพร้อมกับหญ้าปักกิ่ง ได้ช่วยให้ผู้ป่วยหลายคนมีอาการดีขึ้น บางคนถึงกับหายป่วย ต่อมาลุงณรงค์ได้ร่วมกับเพื่อนๆ ก่อตั้งชมรมหญ้าปักกิ่งต้านมะเร็ง เพื่อจะได้บำเพ็ญกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ได้ต่อเนื่อง
นับจากปี ๒๕๒๕ จนถึงวันนี้ “แม่ติ๋ม” เป็นแม่ให้กับเด็กๆ ถึง ๑๓ คนแล้ว ส่วน “แม่ตุ๊ก” ก็ไม่น้อยหน้าพี่สาว เลี้ยงดูเด็กมาแล้ว ๑๐ คน เด็กเหล่านี้ไม่ใช่ลูกหรือหลานของเธอเลยสักคน แต่เป็นเด็กกำพร้าหรือถูกทอดทิ้ง แม่ติ๋มและแม่ตุ๊กเป็นอาสาสมัครรับดูแลเด็กเหล่านี้จากสหทัยมูลนิธิ จนกว่าจะมีครอบครัวใดรับไปเลี้ยงถาวร ระยะหลังทั้งสองยังรับเด็กที่แม่ติดเชื้อ HIV มาอุปการะด้วย โดยไม่รู้สึกรังเกียจเลย แม่ติ๋มและแม่ตุ๊กตั้งใจว่าจะเป็นแม่อุปการะต่อไปจนกว่าจะทำไม่ไหว ทั้งนี้ก็เพราะรู้สึกเสมอว่า “ทำบุญกับเด็กเป็นความสุขทางใจ”
เมื่อพบว่า ลูกพี่ลูกน้องวัย ๑๐ ขวบป่วยเป็นมะเร็งสมอง มีโอกาสรอดเพียง ๕๐% แทนที่ ด.ญ.ดวงหทัย โสตถิตเสาวภาคย์ ซึ่งอายุมากกว่าเพียง ๒ ปี จะท้อแท้หรือจมอยู่กับความเศร้าโศก เธอลงมือเขียนการ์ตูนขึ้นมาเล่มหนึ่ง เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่น้องที่ป่วย และเพื่อนำไปจำหน่ายหาทุนเป็นค่ารักษาโรค ความรัก และความจริงใจที่เธอใส่ลงไปในการ์ตูนสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านจำนวนไม่น้อย ไม่นานเงินบริจาคก็หลั่งไหลมาช่วยน้องบอลล์ของเธอ วันนี้น้องบอลล์เกือบจะหายจากมะเร็งแล้ว ความภูมิใจอย่างใหม่ของ ด.ญ.ดวงหทัย ในวันนี้คือ เขียนการ์ตูนเพื่อหาทุนช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส และเป็นค่าอาหารให้หมีแพนด้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่
ไม่ว่า จ.ส.อ.ทวี บูรณเขตต์ เดินทางไปไหนเป็นต้องหาซื้อสิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้านกลับมา บางทีก็ขนมาเป็นคันรถ เป็นเวลาหลายสิบปีที่เขาซื้อของมาสะสมจนล้นบ้าน ใครๆ ก็หาว่าเขาเป็นโรคประสาท บ้าสมบัติ เพราะไม่มีใครหรอกที่จะเก็บสุ่ม ไห ไซ โอ่ง กัน แล้ววันหนึ่งในปี ๒๕๒๖ เขาก็ตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นเป็นแห่งแรกและ แห่งเดียวในพิษณุโลก
จ่าทวีอยากให้คนไทยรู้จักที่มาของตัวเองและภูมิใจในวัฒนธรรมของตน พิพิธภัณฑ์ของจ่าทวีเปิดให้เข้าชมโดยไม่เก็บเงิน โดยจ่าทวีและลูกๆ เป็นคนบรรยายเอง แม้ของที่จ่าทวีสะสมหลายชิ้นจะมีราคาสูงมากในปัจจุบัน แต่ไม่มีความหมายสำหรับจ่าทวีเลย สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือคุณค่าทางจิตวิญญาณ เพราะสิ่งเหล่านี้คือประวัติศาสตร์ของชาติ
จันทร์แรม ศิริคำฟู เป็นเด็กยากจน เรียนจบแค่ ป.๔ แต่เมื่อเธออายุเพียง ๑๔ ปี ก็เปิดโรงเรียนวันละบาทขึ้นในบริเวณบ้าน เพื่อให้ความรู้แก่เด็กด้อยโอกาส ซึ่งล้วนเป็นเด็กไม่มีสัญชาติและยากจน เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นเธอได้จัดตั้งโครงการฝึกอาชีพให้แก่เด็กหญิงที่จบ ป.๖ เพื่อมิให้พลัดสู่อาชีพโสเภณี เด็กหลายสิบคนที่มาอยู่กินนอนกับเธอ ได้มีโอกาสเรียนต่อจนจบมัธยมและมหาวิทยาลัย
แม้ว่าประสบอุปสรรคมากมาย เช่น ถูกกล่าวหาว่าตั้งโรงเรียนเถื่อน แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ เพราะมีความสุขกับการช่วยเด็กๆ ที่ยากลำบาก หลังจากทำงานคนเดียวมากว่า ๑๐ ปี ก็มีการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสนับสนุนการทำงานของเธอ
เมื่อเรียนจบใหม่ๆ นพ.ปิโยรส ปรียานนท์ เคยวิ่งรอกผ่าตัดตามโรงพยาบาลจนมีรายได้เดือนหนึ่งราว ๕ แสนบาท แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็เริ่มถามตัวเองถึงความหมายของชีวิต นับแต่นั้นเขาได้หันมาให้เวลากับการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือเด็กชนบทที่มีปัญหาปากแหว่ง เพดานโหว่ ภายหลังเขาได้ตั้งมูลนิธิดวงแก้ว โดยทุนส่วนใหญ่มาจากคลินิกศัลยกรรมของเขาที่เปิดเพียงสัปดาห์ละวัน แม้เงินเดือนจะลดลงอย่างฮวบฮาบจนเหลือแค่ไม่กี่หมื่น แต่ผลที่ได้รับคือความสุขใจ สิ่งที่หมอปิโยรสหวังก็คือเมล็ดพันธุ์แห่งไมตรีที่เขาได้บ่มเพาะจะงอกงามในใจคน และบันดาลให้ผู้คนอยากช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส
ทุกวัน ก่อนและหลังเลิกเวลางาน นายดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ จะขี่มอเตอร์ไซค์ขนกล้าไม้ไปปลูกตามข้างถนน ลานวัด ป่าช้า และที่สาธารณะ ๑๕ ปีเต็มที่เขาทำเช่นนี้เป็นกิจวัตร ผลก็คือต้นไม้ร่วม ๒ ล้านต้นที่เขาปลูกได้เปลี่ยนอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ จากที่เคยเป็นดินแดนแห้งแล้งกันดาร ให้กลับกลายเป็นอำเภอที่เขียวขจีด้วยต้นไม้นานาชนิด โดยเฉพาะต้นตาลและต้นขี้เหล็ก
แรกๆ ชาวบ้านก็หัวเราะเยาะ หาว่าเขาสิ้นคิด แต่เดี๋ยวนี้ ชาวบ้านได้เก็บกินดอกผลที่เขาทำเอาไว้ นายดาบวิชัยไม่ได้หวังอะไรมากไปกว่าการทำบุญเพื่อส่วนรวม ในทัศนะของเขา “การปลูกต้นไม้เป็นการทำบุญที่ถูกต้องที่สุด มันยั่งยืนกว่า และช่วยเหลือทุกคนได้ชั่วลูกชั่วหลาน” นายดาบวิชัยได้รับการยกย่องเชิดชูและกำลังเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๕