เรือล่มเพราะต้นหน

พระไพศาล วิสาโล 9 มิถุนายน 2002

เวลามีทุกข์ เรามักโทษปัจจัยภายนอกว่าเป็นสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นคนรอบตัว ดินฟ้าอากาศ หรือจราจรบนท้องถนน  แต่เรากลับไม่มองมาที่ตัวเอง  ถึงใครจะด่า แต่ถ้าเราไม่เอาคำพูดของเขามาเป็นอารมณ์  ถึงแดดจะร้อน แต่ใจไม่ไปเดือดร้อนด้วย  เราจะทุกข์ได้อย่างไร  พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า มือที่ไม่เป็นแผลย่อมจับต้องยาพิษได้โดยไม่เป็นอันตราย

เป็นเพราะเรามีแผลที่ใจใช่ไหม ยาพิษคือความทุกข์จึงเข้าไปทำร้ายเราได้

พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับเรื่องปัจจัยภายในมาก  แม้ปัจจัยภายนอกจะมีบทบาทสำคัญ แต่ก็ไม่มากเท่ากับปัจจัยภายใน  ไม่เฉพาะสุขทุกข์ในชีวิตเท่านั้น  ความเจริญและความเสื่อมของสังคมหรือสถาบันต่างๆ รวมทั้งพุทธศาสนาเอง ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในเป็นหลัก ส่วนปัจจัยภายนอกนั้นเป็นรอง  พระพุทธองค์ได้เคยตรัสถึงพุทธศาสนาโดยเปรียบเทียบกับเรือว่า “เรือจะอับปาง ก็เพราะต้นหนเท่านั้น (หาใช่เพราะลมพายุไม่)”

แต่ชาวพุทธส่วนใหญ่ดูเหมือนจะลืมคำสอนดังกล่าวเกือบสิ้นเชิง  เวลาเกิดเหตุเพทภัยกับพุทธศาสนา จึงมักโทษคนนอก เช่น โทษกองทัพมุสลิมว่าเป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมของพุทธศาสนาในอินเดีย โดยไม่ได้มองว่ารากเหง้าแห่งความวิบัตินั้นเกิดจากชาวพุทธเอง  พุทธศาสนาในอินเดียนั้นตกอยู่ในความเสื่อมมานานก่อนที่กองทัพมุสลิมจะบุกทำลายเสียอีก แม้ว่าดูเผินๆ พุทธศาสนากำลังรุ่งเรือง มีมหาวิทยาลัยที่เลื่องลือไปทั่วภาคพื้นทวีป คือมหาวิทยาลัยนาลันทา  แต่เมื่อมองให้ลึกลงไป มหาวิทยาลัยนาลันทานั้นเองเป็นปัจจัยสำคัญแห่งความอ่อนแอของพุทธศาสนา เพราะทำให้พระสงฆ์ห่างเหินจากชาวบ้านมาก เนื่องจากพากันกระจุกอยู่ในที่เดียวคือในมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งสามารถรับพระได้นับหมื่นๆ รูป ทำให้วัดวาอารามในท้องถิ่นต่างๆ หดหายไปเป็นอันมาก  โดยที่มหาวิทยาลัยนาลันทาเองก็ไม่ได้สัมพันธ์กับชุมชน เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐเป็นสำคัญ

นอกจากนั้นพระยังมุ่งการศึกษาทางโลก หรือเน้นปริยัติศึกษามากเกินไป จนละเลยการปฏิบัติ เกิดความวิปลาสคลาดเคลื่อนในข้อวัตร  ขณะเดียวกันการศึกษาที่เน้นการกะเก็งในเชิงอภิปรัชญา ก็ก่อให้เกิดลัทธิใหม่คือตันตระ โดยดึงเอาคำสอนของฮินดูเข้ามาปะปน  ทำให้เกิดทฤษฎีและพิธีกรรมอันซับซ้อนเกินกว่าที่ชาวบ้านจะเข้าใจได้ และในที่สุดก็กลายเป็นความลุ่มหลงในเวทมนตร์คาถา  พระจึงกลายเป็นพราหมณ์ พุทธศาสนาก็เลยยิ่งห่างจากชาวบ้านออกไปทุกที  ยิ่งพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์เห็นว่าการดูแลรับผิดชอบพุทธศาสนาเป็นเรื่องของพระ เอาการพระศาสนาฝากไว้ที่พระฝ่ายเดียว พุทธศาสนาก็ยิ่งอ่อนแอ  ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อกองทัพมุสลิมบุกทำลายมหาวิทยาลัยนาลันทาและวัดสำคัญ พุทธศาสนาในอินเดียก็ถึงแก่กาลวิบัติ ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาอยู่ในสภาพเดิมได้อีกเลย

ที่น่าคิดก็คือ ศาสนาฮินดูก็ถูกกองทัพมุสลิมทำลายย่อยยับเช่นเดียวกัน แต่เหตุใดจึงไม่สูญหายไปจากอินเดีย หากสามารถฟื้นตัวขึ้นมาจนแพร่หลายกระทั่งทุกวันนี้ได้  ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาฮินดู บ่งชี้ว่า การรุกรานของกองทัพมุสลิมมิใช่สาเหตุหลักแห่งความเสื่อมของพุทธศาสนาในอินเดีย หากอยู่ที่ปัจจัยภายในของพุทธศาสนาเป็นสำคัญ

พระพุทธองค์ได้เคยตรัสถึงพุทธศาสนาโดยเปรียบเทียบกับเรือว่า “เรือจะอับปาง ก็เพราะต้นหนเท่านั้น (หาใช่เพราะลมพายุไม่)”

มิใช่แต่เหตุเภทภัยในอดีตเท่านั้น  ความเสื่อมทรุดของพุทธศาสนาในปัจจุบัน เราก็มักมองโดยใช้สูตรเดียวกัน  นั่นคือมองว่าปัจจัยภายนอกเป็นตัวการสำคัญ  ปัจจัยภายนอกที่ว่านี้ได้แก่อะไร คำตอบหนึ่งที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ การพัฒนา  “ยิ่งพัฒนา ศาสนาก็ยิ่งเสื่อม”  ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระแสการพัฒนาในปัจจุบันนั้นสวนทางกับพุทธศาสนาทั้งในแง่แนวคิด วิธีการและจุดมุ่งหมาย  จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ต้อง “ขอร้อง” ให้พระสงฆ์อย่าสอนเรื่องสันโดษ เพราะกลัวว่าจะทำให้ประเทศไม่พัฒนา  แต่การพัฒนาก็ไม่สามารถทำให้พุทธศาสนาทรุดโทรมได้ถึงเพียงนี้ หากชาวพุทธมีความเข้มแข็งและรู้เท่าทันการพัฒนา  ไม่เพียงปกป้องตนเองได้เท่านั้น หากยังสามารถเข้าไปกำกับปรับเปลี่ยนการพัฒนาให้เป็นไปในทางที่ดีงาม กลายเป็น “สัมมาพัฒนา”  ในทางตรงข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือแวดวงชาวพุทธส่วนใหญ่กลับโอนอ่อนผ่อนตามกระแสการพัฒนา รวมทั้งยอมรับคุณค่าแบบวัตถุนิยมและบริโภคนิยมอย่างง่ายดาย

การที่ชาวพุทธยอมรับค่านิยมดังกล่าวอย่างง่ายดาย เราอาจโทษว่าเป็นเพราะถูกโฆษณาชวนเชื่อโดยสื่อต่างๆ ที่มาพร้อมกับระบบทุนนิยม  แต่ที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือชาวพุทธเองมีความเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้มีท่าที่หรือพี้นจิตที่พร้อมจะยอมรับอุดมการณ์หรือค่านิยมดังกล่าวได้โดยไม่รู้สึกขัดแย้งกัน  เช่น การเข้าใจธรรมะไปในแง่ที่มุ่งจะได้จะเอาโดยไม่กระทำ  ตัวอย่างได้แก่ คำว่าอธิษฐาน ซึ่งเดิมหมายถึงความตั้งใจมั่นที่จะทำเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของตน แต่คนทั่วไปกลับเข้าใจว่าหมายถึงความตั้งจิตปรารถนาหรือการนึกถึงสิ่งที่อยากได้ ซึ่งกลายเป็นการอ้อนวอนขออำนาจดลบันดาล แทนที่จะลงมือกระทำด้วยความเด็ดเดี่ยว

คำว่า สัปปายะ (หรือสบาย) สันโดษ สุข ก็เช่นกัน  ความหมายเดิมของ สัปปายะ คือสภาพที่เอื้อต่อการที่จะปฏิบัติให้ได้ผลดี (เช่น อาวาสสัปปายะ หรืออาวาสสบาย ช่วยให้การเล่าเรียนเป็นไปด้วยดี)  แต่สำหรับคนไทยคำว่าสบายชวนให้นึกถึงการพักผ่อนนอนเล่นหรือการอยู่เฉยๆ  สันโดษ ก็มีจุดมุ่งหมายในทำนองเดียวกัน กล่าวคือเมื่อมีความสันโดษพอใจในวัตถุสิ่งเสพที่หามาได้โดยชอบธรรมแล้ว ก็จะมีเวลา แรงงาน และความคิดสำหรับทำสิ่งดีงามต่อไป เช่นการฝึกฝนพัฒนาตนหรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น  ส่วน สุข ซึ่งภาษาบาลีแปลว่าสะดวก คล่อง ก็มีจุดหมายเพื่อการทำสมาธิ (สุขเป็นปัจจัยต่อสมาธิ) แต่คนไทยถ้าหากสุขแล้วก็หยุดนิ่งเลย

อีกตัวอย่างก็ได้แก่ความเข้าใจเรื่องการทำบุญ  บุญ นั้นแปลว่าเครื่องชำระ จุดมุ่งหมายที่แท้ของการทำบุญก็คือเพื่อละ แต่คนทั่วไปกลับทำบุญเพื่อหวังจะได้ให้มากขึ้น  ความเข้าใจศัพท์ธรรมะไปในแง่ที่สนองความอยากหรือตัณหานี้ เชื่อว่าเป็นความคลาดเคลื่อนที่มีมานานแล้ว  เมื่อชาวพุทธไทยมีความเข้าใจดังกล่าวเป็นพื้นอยู่แล้ว จึงง่ายที่จะโน้มเข้าหาลัทธิบริโภคนิยมซึ่งเป็นความเชื่อที่มุ่งสนองตัณหาเป็นหลัก  กล่าวอีกนัยหนึ่งวัตถุนิยมและบริโภคนิยมแพร่หลายงอกงามในสังคมไทยได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะชาวพุทธนอกจากจะไม่มีภูมิต้านทานที่เข้มแข็งแล้ว หากยังเป็นพื้นภูมิที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของบริโภคนิยมอีกด้วย

เชื้อโรคไม่เคยทำให้ใครเจ็บป่วย จนกว่าภูมิต้านทานของบุคคลนั้นจะยอนจำนนต่อเชื้อโรค

บางครั้งภูมิต้านทานของเราเองนั้นแหละที่ตื่นตัวเกินเหตุจนทำให้เราล้มเจ็บ หาใช่เพราะเชื้อโรคโดยตรงไม่  ฉันใดก็ฉันนั้น  พุทธศาสนาจะเสื่อมทรุดก็เพราะความอ่อนแอภายใน หาใช่เป็นเพราะลัทธิอุดมการณ์ใดๆ จากภายนอกไม่  ด้วยเหตุนี้เราจึงน่าที่จะพิทักษ์และฟื้นฟูพุทธศาสนาด้วยการหันมาปรับปรุงชาวพุทธเองให้เข้มแข็ง ทั้งในแง่สติปัญญาและคุณธรรมภายใน ทั้งในระดับบุคคลและสถาบัน ดีกว่าที่จะโจมตีกล่าวโทษศาสนาอื่นไม่หยุดหย่อน


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา