คนต่างชาติที่ได้ยินกิตติศัพท์คนไทยว่ามีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และขี้เกรงใจ พอได้มาเมืองไทยจริงๆ หลายคนอดประหลาดใจไม่ได้ที่เห็นคนไทยแย่งกันขึ้นรถเมล์โดยไม่สนใจเด็กหรือคนแก่เลย ตามท้องถนนคนขับรถก็ไม่ค่อยมีน้ำใจหยุดรถให้คนเดินข้าม เวลาเข้าแถวซื้อตั๋วหรือจ่ายเงินก็มักมีการแซงคิวอยู่เป็นประจำ กระทั่งในมหาวิทยาลัยบางแห่งถึงกับรณรงค์เรียกร้องให้นักศึกษาต่อคิวเวลาจะใช้ลิฟท์ ขณะเดียวกันการเอาขยะไปทิ้งไว้หน้าบ้านคนอื่นก็เป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้วตามหมู่บ้านต่างๆ ในเมือง ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องอาชญากรรม ปัญหาโสเภณี เด็กเร่ร่อน ฯลฯ
ที่จริงคนไทยนั้นยังมีน้ำใจอยู่เต็มเปี่ยม แถมขี้เกรงใจอีกต่างหาก แต่น้ำใจและความเกรงใจของคนไทยนั้นส่วนใหญ่มีไว้ให้กับคนที่รู้จักกันมากกว่า ลงได้เป็นเพื่อนกันแล้ว จะให้ช่วยอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าไม่รู้จักกันแล้ว ก็แทบจะเมินหน้าเลย มีท่านผู้หนึ่งเล่าว่า คนงานก่อสร้างข้างบ้านชอบทิ้งขยะลงมาบริเวณบ้านของท่านอยู่เนื่องๆ ท่านขอร้องก็แล้ว ว่ากล่าวก็แล้ว คนงานคนนั้นก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม จนภายหลังท่านก็หันมามาผูกมิตรกับคนงานคนนั้น หมั่นชักชวนพูดคุย และเอาของมาให้ พอคุ้นเคยกันแล้ว ท่านก็ขอร้องคนงานคนนั้นว่าอย่าทิ้งขยะลงมาข้างบ้านได้ไหม ปรากฏว่าฝ่ายหลังให้ความร่วมมืออย่างดี ก็เพื่อนขอร้องแล้วนี่ จะปฏิเสธ ก็ใจดำเกินไป
นอกจากเพื่อนและญาติพี่น้องแล้ว อาคันตุกะก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่คนไทยพร้อมจะแสดงน้ำใจให้ แต่นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว ท่าทีก็จะเปลี่ยนไป กลายเป็นคนไร้น้ำใจ ไม่สุภาพ อาจถึงขั้นกลายเป็นคนเห็นแก่ได้ไปเลย ท่าทีเช่นนี้มิได้มีเฉพาะกับคนแปลกหน้าเท่านั้น กับสังคมส่วนรวมก็มีท่าทีทำนองเดียวกันด้วย ดังเห็นได้ว่าอะไรที่เป็นทรัพย์สินส่วนรวม เราไม่ค่อยดูแลรักษาเท่าไร ไม่ว่า แม่น้ำลำคลอง ป่าไม้ โทรศัพท์สาธารณะ หรือของหลวง ล้วนอยู่ในสภาพเสื่อมทรุด
นอกจากจะไม่ดูแลรักษาแล้ว บางทีถึงกับเป็นตัวการทำให้มันวิบัติเร็วเข้า พฤติกรรมอย่างหนึ่งที่พบได้ในคนจำนวนไม่น้อยก็คือ ถ้าเป็นของหลวง ก็จะแย่งกันเอา (เหตุผลก็คือ “ถึงฉันไม่เอา คนอื่นก็เอาอยู่ดี”) แต่เวลาอยู่ในหมู่เพื่อน กลับแย่งกันจ่าย หรือแย่งกันเป็นเจ้ามือ ความไม่รู้สึกผูกพันกับสังคมส่วนรวมนี้ เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การคอร์รัปชั่นแพร่ระบาดในเมืองไทย ไม่ใช่เพียงเพราะว่าต้องการช่วยเพื่อนพ้องเท่านั้น หากยังเพราะผู้คนเป็นอันมากไม่รู้สึกเดือดร้อนที่ใครเขาจะคอร์รัปชั่นกัน แพทย์ชนบทคนหนึ่งซึ่งเป็นแกนนำในการต่อต้านการทุจริตยา ๑,๔๐๐ ล้านบาทเมื่อ ๓ ปีก่อนเล่าว่า มีเพื่อนและผู้ใหญ่หลายคนมาตักเตือนและตำหนิเขาว่า “ไปยุ่งกับเขาทำไม เงินพวกนี้เป็นเงินของคุณเสียเมื่อไหร่”
คงจะมีคนจำนวนไม่น้อยสรุปว่า เป็นเพราะการสอนศีลธรรมยังไม่มากเท่าที่ควร ผู้คนจึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้ทางออกก็คือต้องเพิ่มชั่วโมงศีลธรรมในโรงเรียนให้มากขึ้น และนิมนต์พระมาเทศน์ตามสถานที่ต่างๆ ให้มากขึ้น อีกทั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์ควรมีรายการธรรมะมากขึ้นด้วย
แต่จะมีใครนึกบ้างไหมว่า การที่พฤติกรรมดังกล่าวแพร่หลายในสังคมไทย หาได้เป็นเพราะผู้คนห่างเหินจากการสอนศีลธรรมไม่ ตรงกันข้าม เป็นเพราะศีลธรรมที่สอนกันในเวลานี้แพร่หลายทั่วถึงไปทุกหมู่เหล่าต่างหาก ผู้คนจึงเป็นอย่างที่เห็นๆ กัน
ศีลธรรมที่สอนกันอยู่เวลานี้เป็นอย่างไร จึงทำให้คุณธรรมหรือน้ำใจของผู้คนจำกัดอยู่ในแวดวงแคบๆ เช่น ญาติมิตรและคนรู้จักเท่านั้น? คำตอบส่วนหนึ่งก็คือ ศีลธรรมที่สอนกันเวลานี้แทบไม่ให้ความสำคัญกับคุณธรรมหรือหน้าที่ที่พึงมีต่อส่วนรวม แม้ว่าพุทธศาสนาจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ดังได้สอนว่าการบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นบุญอย่างหนึ่ง (ไวยาวัจจมัย) แต่หลักธรรมข้อนี้ก็แทบจะถูกลืมไปแล้ว การทำบุญจึงกร่อนเหลือเพียงแค่การให้ทาน และก็เน้นเฉพาะการให้ทานกับพระเท่านั้น ผลก็คือชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเอื้อเฟื้อกับพระ แต่ไร้น้ำใจกับผู้คน (เช่นเอาเปรียบคนงาน)
คนไทยนั้นยังมีน้ำใจอยู่เต็มเปี่ยม แถมขี้เกรงใจอีกต่างหาก แต่น้ำใจและความเกรงใจของคนไทยนั้นส่วนใหญ่มีไว้ให้กับคนที่รู้จักกันมากกว่า
อุเบกขาเป็นธรรมอีกข้อหนึ่งซึ่งมีไว้เพื่อให้คนเคารพธรรมและหลักการของสังคม หาไม่แล้วผู้คนอาจเมตตาและกรุณาเลยเถิด คือช่วยอย่างไม่มีขอบเขตจนเสียหายต่อส่วนรวม (เช่นปกป้องลูกเวลาทำผิด หรือเอาเงินของส่วนรวมไปช่วยเพื่อน) แต่ปรากฏว่าปัจจุบันอุเบกขากลับถูกละเลย พ่อแม่และครูสอนแต่เรื่องเมตตากรุณา โดยที่เมตตากรุณานั้นไปๆ มาๆ ก็จำกัดวงเฉพาะกับคนรู้จักเท่านั้น
ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งคือศีล ๕ มักสอนกันว่าการละเมิดศีล ๕ นั้น ก่อผลเสียต่อผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ผลเสียต่อส่วนรวม (เช่นทำให้ชุมชนวุ่นวายไร้ความสงบ) มักจะไม่ค่อยมีการพูดถึง ศีล ๕ จึงกลายเป็นเรื่องระหว่างบุคคลต่อบุคคลล้วนๆ
เห็นได้ว่าศีลธรรมที่สอนกันทุกวันนี้ มักเน้นแต่เรื่องความประพฤติระหว่างบุคคลต่อบุคคล แต่ข้อปฏิบัติที่บุคคลพึงมีต่อสังคม แทบไม่มีการสอนกันเลย (เดี๋ยวนี้มีใครรู้จัก “อปริหานิยธรรม” บ้าง) ศีลธรรมแบบนี้อาจเหมาะกับชุมชนเล็กๆ เช่นหมู่บ้าน เพราะทุกคนรู้จักกันหมด เพียงแค่ปฏิบัติตามหลักทิศ ๖ (ความสัมพันธ์ระหว่างคน ๖ คู่ เช่นสามีกับภรรยา ครูกับศิษย์) หมู่บ้านก็สงบสุขได้ แต่สังคมปัจจุบัน เต็มไปด้วยคนที่เราไม่รู้จักอีกมากมาย คนเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบจากการกระทำของเรา โดยที่เรานึกไม่ถึง (เช่น ใช้ไฟเปลืองก็ทำให้คนอีกมากต้องอพยพเพราะการสร้างเขื่อน) คนเหล่านี้ที่เราไม่รู้จักและไม่เคยเห็นหน้านี้แหละที่เรียกว่า “สังคม” ซึ่งเราควรคำนึงถึงอยู่เสมอ
ศีลธรรมที่สอนกันทุกวันนี้ มักเน้นแต่เรื่องความประพฤติระหว่างบุคคลต่อบุคคล แต่ข้อปฏิบัติที่บุคคลพึงมีต่อสังคม แทบไม่มีการสอนกันเลย
พุทธศาสนานั้นให้ความสำคัญกับเรืองสังคมมาก เพราะถ้าสังคมดีมีความสงบสุข ชีวิตก็เจริญงอกงาม ด้วยเหตุนี้จึงมีหลักธรรมหลายข้อเกี่ยวกับการจัดสรรสภาพแวดล้อมที่ดีและเกื้อกูล (เช่นจักรวรรดิวัตร) และดังนั้นเราจึงมีหน้าที่รักษาสังคมหรือสภาพแวดล้อมให้ดีด้วย ด้วยเหตุผลเดียวกันจึงทรงจัดตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา แทนที่จะปล่อยให้ภิกษุต่างคนต่างอยู่ ก็มารวมกันเป็นชุมชน ใช่แต่เท่านั้นยังทรงบัญญัติ “วินัย” เพื่อจัดระเบียบชุมชนสงฆ์ให้เป็นไปด้วยดี แต่เดี๋ยวนี้วินัยมีความหมายเหลือเพียงแค่ข้อปฏิบัติส่วนบุคคล หรือข้อปฏิบัติระหว่างบุคคลต่อบุคคลเท่านั้น ซึ่งเป็นความหมายที่แคบมาก การที่อีกความหมายหนึ่งของวินัยคือ “ระบบสังคม” ถูกละเลยไป ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าทุกวันนี้เราสอนพุทธศาสนากันแต่พียงครึ่งเดียว คือข้อปฏิบัติส่วนบุคคลเท่านั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่พบว่านักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก เอาแต่นั่งภาวนา โดยไม่ใส่ใจดูแลแม้กระทั่งวัดที่ตนอาศัยอยู่ จะกล่าวไปไยถึงสังคมวงกว้างหรือวงการพุทธศาสนาที่กำลังเผชิญกับวิกฤต
พุทธศาสนาจะเจริญงอกงามได้ ก็ต่อเมื่อเราสอนและปฏิบัติพุทธศาสนาอย่างครบถ้วน นั่นคือปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมส่วนรวม ในทางตรงข้าม ถ้าสอนพุทธศาสนาเพียงครึ่งเดียว ถึงแม้จะสอนกันเท่าไร แทนที่จะเกิดผลดี ก็อาจกลายเป็นโทษได้