เมื่อมองความสัมพันธ์ระหว่างพุทธบริษัททั้งสี่ สิ่งหนึ่งซึ่งแลเห็นได้ไม่ยาก คือความไม่สมดุลในความสัมพันธ์ ด้านหนึ่งคือการให้น้ำหนักแก่พระสงฆ์มากกว่าฆราวาส อีกด้านหนึ่งคือการให้น้ำหนักแก่ชายมากกว่าหญิง ความไม่สมดุลประการแรกนั้นทำให้พุทธศาสนาไทยตลอดจนพุทธศาสนาแบบเถรวาทโดยรวมถูกเรียกว่า Monastic Buddhism หรือพุทธศาสนาแบบที่มีวัดหรือพระเป็นศูนย์กลาง การให้น้ำหนักหรือบทบาทสำคัญแก่พระ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าธรรมะเป็นเรื่องของพระสงฆ์ จะปฏิบัติธรรมก็ต้องเข้าวัด ส่วนฆราวาสเพียงแค่ทำบุญ (ถวายพระ) ก็พอ ไปๆ มาๆ ก็เข้าใจว่าพุทธศาสนานั้นเป็นของพระสงฆ์หรือเป็นหน้าที่ที่พระสงฆ์ต้องดูแลรักษา หาใช่หน้าที่ของฆราวาสไม่
ส่วนการให้น้ำหนักแก่ชายมากกว่าหญิงนั้น เห็นได้ชัดจากประเพณีที่กำหนดให้ผู้หญิงมีโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างจำกัด จริงอยู่การปฏิบัติธรรมในขั้นทานนั้น ผู้หญิงสามารถทำได้มาก อีกทั้งสังคมก็เปิดกว้างให้ผู้หญิงมีบทบาทอย่างสูง จนได้รับมอบหมายให้เป็น “แม่งาน” ในงานบุญต่างๆ มากมาย รวมทั้งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการอุปถัมภ์บำรุงพระเณรให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยดี จนกล่าวได้ว่าหากผู้หญิงไม่เอาใจใส่ในการทำบุญ เช่น เลิกใส่บาตร วัดวาอารามต่างๆ จะร้างพระเณรยิ่งกว่านี้มาก
แต่เมื่อมาถึงการปฏิบัติธรรมในขั้นศีลและภาวนา โอกาสของผู้หญิงก็ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้หญิงสามารถถือได้อย่างมากเพียงศีล ๑๐ (มากกว่านั้นก็ไม่เกินคิหิวินัย) เนื่องจากมีเพียงสถานภาพหรือการครองชีวิตแบบแม่ชีเท่านั้นที่เป็นเครื่องรองรับสนับสนุน สังคมไม่อนุญาตให้มีมากกว่านั้น ในขณะที่สนับสนุนผู้ชายให้มีโอกาสฝึกฝนด้วยศีล ๒๒๗ แต่หากผู้หญิงปรารถนาจะทำเช่นนั้นบ้าง หรือแม้แต่จะถือศีลน้อยกว่านั้นก็ไม่วายที่จะถูกสังคมต่อต้าน ในขั้นภาวนาก็เช่นกัน ผู้หญิงมีโอกาสจำกัดมาก เป็นที่รู้กันว่าแม่ชีนั้นถูกคาดหมายให้ต้องดูแลรับใช้พระ มีหน้าที่ต้องทำกิจต่างๆ ในวัด จนมักไม่มีเวลาหลีกเร้นบำเพ็ญสมาธิภาวนาเช่นเดียวกับพระ ครั้นจะแยกออกมาตั้งชุมชนหรือสำนักของตนเองเพื่อจะได้มีเวลาศึกษาปฏิบัติธรรมมากขึ้น ก็ไม่ค่อยได้รับความสนับสนุนจากผู้คน สังคมพร้อมจะเลี้ยงดูผู้ชายให้มีชีวิตอย่างนักบวชเต็มที่ แต่ไม่เปิดโอกาสเช่นนั้นแก่ผู้หญิง
เพื่อความเป็นธรรม ควรกล่าวด้วยว่า แม้ผู้หญิงมีโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างจำกัด แต่สังคมไทยในอดีตก็เปิดช่องให้ผู้หญิงสามารถยกสถานภาพของตนขึ้นได้ ทั้งนี้โดยการมีบทบาทสำคัญในระบบความเชื่อเกี่ยวกับผี ในภาคอีสาน ผีฟ้าซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้านล้วนเป็นผู้หญิง ผู้ประทับทรงเจ้าส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง ยังไม่ต้องพูดถึงผู้สืบสายผีบรรพบุรุษในภาคเหนือและภาคอีสานซึ่งก็ได้แก่ผู้หญิงเช่นกัน กระทั่งในปัจจุบันร่างทรงส่วนใหญ่ก็เป็นหญิง
การที่พุทธศาสนาและวัดไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญมากนัก น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไปมีบทบาทการนำในระบบความเชื่อเกี่ยวกับผีแทน อย่างไรก็ตาม แม้ระบบความเชื่อดังกล่าวจะอยู่นอกวัดแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไทยในอดีต รวมทั้งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบศาสนาของไทย (ซึ่งรวมพุทธและผีให้ดำรงอยู่คู่กัน) จึงช่วยปรับบทบาทและความสัมพันธ์ของชายและหญิงให้สมดุลพอสมควร แต่ปัจจุบันระบบความเชื่อดังกล่าวถูกกีดกันไม่ให้อยู่ร่วมกับพุทธศาสนาแบบทางการ ผู้หญิงจึงถูกลดความสำคัญลง เว้นแต่จะไปออกตามสำนักทรงต่างๆ ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของพุทธศาสนาแบบทางการ
ความไม่สมดุลในความสัมพันธ์ะหว่างพุทธบริษัททั้งสี่ ด้านหนึ่งคือการให้น้ำหนักแก่พระสงฆ์มากกว่าฆราวาส อีกด้านหนึ่งคือการให้น้ำหนักแก่ชายมากกว่าหญิง
การมีโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างจำกัดของผู้หญิงอาจไม่เป็นปัญหาเท่าไรนักในสมัยก่อน แต่กำลังจะเป็นประเด็นสำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากระยะหลังผู้หญิงไม่ได้สนใจแค่การทำบุญให้ทานเท่านั้น หากยังสนใจการปฏิบัติธรรมในขั้นที่สูงไปกว่านั้นด้วย รวมทั้งเห็นคุณค่าของการนำธรรมมาใช้แก้ปัญหาชีวิต การที่ผู้หญิงโดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองมีโอกาสได้ศึกษาพุทธศาสนามากขึ้น ประกอบกับฐานะทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้ปลีกตัวจากการทำมาหากินและภาระในครอบครัวได้ (รวมทั้งความทุกข์ความเครียดที่รุมเร้ามากขึ้น) เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผู้หญิงสนใจศึกษาปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น ในชั่วเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาจึงมีสำนักและหลักสูตรปฏิบัติธรรมสำหรับผู้หญิงเกิดขึ้นมาก ส่วนในวัดก็มีผู้หญิงมาเข้าวัดปฏิบัติธรรมมากขึ้น
เมื่อผู้หญิงตื่นตัวในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น โอกาสอันจำกัดในการปฏิบัติธรรมจึงกลายเป็นตัวบีบรัดหรือเป็นอุปสรรคต่อการฝึกฝนพัฒนาตนของผู้หญิง จริงอยู่การปฏิบัติธรรมนั้นจะอยู่ที่ใดหรือในสถานะใดก็ทำได้ทั้งนั้น แต่พระพุทธองค์ทรงตระหนักดีว่าการฝึกฝนพัฒนาตนนั้น ลำพังปัจจัยภายใน (เช่นความตั้งใจ) อย่างเดียวยังไม่พอ คนทั่วไปนั้นจำต้องมีปัจจัยภายนอกหรือสภาพแวดล้อมมาช่วยสนับสนุนด้วย (ดังทรงแนะให้ผู้ใฝ่ธรรมหาอาวาสสัปปายะคือที่อยู่อาศัยที่เกื้อกูล โคจรสัปปายะคือไม่ใกล้ไม่ไกลจากชุมชนที่มีอาหารบริบูรณ์ รวมทั้งอุตุสัปปายะคือดินฟ้าอากาศธรรมชาติแวดล้อมที่เหมาะกันเป็นต้น) รวมทั้งการมีวิถีชีวิตที่เหมาะสม (เช่น วิถีชีวิตอย่างนักบวช) ทั้งนี้เพื่อให้ศักยภาพในทางธรรมได้พัฒนาอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขยายโอกาสและเงื่อนไขทางสังคมที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรมของผู้หญิงให้มากขึ้น
ทางออกทางหนึ่งคือการสนับสนุนแม่ชีให้มีโอกาสปฏิบัติธรรมได้มากขึ้น จะทำเช่นนั้นได้ต้องทำให้สถานภาพของแม่ชีมีความแจ่มชัดเป็นที่ยอมรับร่วมกัน พูดอีกนัยหนึ่ง ต้องยกแม่ชีให้มีสถานะนักบวช สถานะดังกล่าวจะเอื้อให้แม่ชีได้รับความอุปถัมภ์บำรุงจากสังคมตามประเพณีที่นิยมเจือจุนนักบวช อันจะช่วยให้แม่ชีมีเวลาศึกษาปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องพึ่งพระด้วยการรับใช้เป็นการตอบแทน และไม่ต้องขวนขวายหาเงินเลี้ยงตัวอย่างฆราวาสทั่วไป สถานะดังกล่าวไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมายมากเท่ากับความเห็นร่วมกันของสังคม ทั้งนี้คณะสงฆ์ควรเป็นผู้นำในการสร้างความเห็นร่วม ซึ่งก็จะทำให้รัฐยอมรับไปด้วยอันจะนำไปสู่การตรากฎหมายรับรอง
อันที่จริง คำว่า “บวชชี” ก็บ่งบอกอยู่ในตัวเเล้วว่า แม่ชีนั้นเป็นนักบวช อีกทั้งคำว่า “ชี” แต่ก่อนก็หมายถึงนักบวช รวมทั้งพระสงฆ์ การที่สถานะของแม่ชีมีความคลุมเครือในทุกวันนี้ หรือถูกกันไม่ให้อยู่ในฝ่ายฆราวาส น่าจะเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยหลัง โดยที่รัฐเองก็มีส่วนไม่น้อยในการทำให้เรื่องนี้สับสนมากขึ้น กล่าวคือขณะที่กระทรวงมหาดไทยไม่ให้สิทธิแก่แม่ชีในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพราะถือว่าเป็นนักบวช กระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุขกลับถือว่าแม่ชีมิใช่นักบวช จึงไม่ได้รับการลดหย่อนค่าโดยสาร หรือค่ารักษาพยาบาล ทั้งๆ ที่คณะกรรมการกฤษฎีการะบุไว้ชัดเจนว่า “ชี” ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีความหมายอยู่ในคำว่า “นักบวช” ด้วย” (กกต.ก็ถือตามมตินี้ จึงถือว่าแม่ชีไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียง)
พร้อมไปกับการรับรองสถานภาพนักบวชของแม่ชีให้ชัดเจน ควรมีมาตรการสนับสนุนการศึกษาของแม่ชีด้วย เพราะการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการปฏิบัติธรรม (ที่จริงเป็นสิ่งเดียวกัน) การศึกษาทั้งในทางปริยัติและปฏิบัติ ทั้งทางธรรมและทางโลก นอกจากจะช่วยให้แม่ชีประพฤติปฏิบัติตนสมกับสถานะแล้ว ยังเอื้อให้มีบทบาทสร้างสรรค์ต่อสังคม ทั้งในด้านการเผยแผ่ธรรมและการสงเคราะห์ชุมชน อันจะนำไปสู่การเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น