ชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาคือ “ธรรมวินัย” ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักใหญ่ 2 ประการของศาสนา หลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง และวินัยที่ทรงบัญญัติไว้นั้น คงอยู่เป็นศาสดาแทนพระองค์หลังการปรินิพพานเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ดังพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตร
“ธรรมและวินัยใด ที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราล่วงลับไป” (พระไตรปิฎกเล่ม 10)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายไว้ในหนังสือ “วินัย: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด” ว่า ธรรมะที่พระพุทธเจ้านำมาแสดงนั้น คือหลักความจริง กฎธรรมชาติ ความเป็นธรรมดาที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ว่าพระองค์จะอุบัติขึ้นหรือไม่ธรรมะก็มีอยู่อย่างนั้น พระองค์ทรงค้นพบแล้วนำมาสั่งสอน นำมาแสดงให้ชาวโลกได้เห็นตาม ข้อสังเกตคือพระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า “แสดง” กับธรรมะ
ส่วนวินัย เป็นกฎเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นภายหลังพระองค์ตรัสรู้ธรรมแล้ว ทรงจัดตั้งวางระบบขึ้นมารองรับเพื่อให้ธรรมะเอื้อประโยชน์ เกิดผลดีในทางปฏิบัติ ทรงนำหลักความจริงในธรรมชาติมาวางเป็นกฎเกณฑ์ในหมู่มนุษย์ พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า “บัญญัติ” กับวินัย
ทั้งธรรมและวินัยนี้สัมพันธ์และเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน กล่าวคือ 1. วินัยต้องมีความจริงในธรรมชาติเป็นพื้นฐาน 2. การตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาก็เพื่อธรรม เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาติ
ตัวอย่างที่พระพรหมคุณาภรณ์ยกขึ้นประกอบให้เข้าใจตามได้ง่ายคือ การจ้างคนทำสวน กฎธรรมชาติคือ การดูแลบำรุงรักษาสวนให้สวยงามร่มรื่น การดูแลเป็นเหตุ ความสวยงามร่มรื่นเป็นผล (อันแท้จริงตามธรรมดา)
เมื่อมนุษย์ฉลาด จึงตั้งกฎมนุษย์ กำหนดหรือตกลงให้เงินเดือนหรือค่าตอบแทนแก่คนสวนขึ้นจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เขาสามารถเลี้ยงชีวิตอยู่ได้จากการทำสวน ไม่ต้องไปดิ้นรนทำมาหากินอย่างอื่นอีก การทำสวนเป็นเหตุ ค่าตอบแทนเป็นผล (ที่มนุษย์จัดตั้งหรือวางขึ้นมา)
แต่ในสังคมเรา คนที่ไม่สามารถเชื่อมโยงระหว่างกฎธรรมชาติและกฎมนุษย์เข้าด้วยกัน ทำให้เป็นอยู่อย่างเคว้งคว้างและเลื่อนลอยจากพื้นฐานความเป็นจริงในธรรมชาติ เช่น คนสวนไม่อยากบำรุงดูแลรักษาสวน แต่อยากได้ค่าตอบแทน การทำสวนเป็นเพียงเงื่อนไขที่ทำให้ได้ค่าตอบแทน ขาดความพึงพอใจในการทำสวน งานก็อาจไม่ได้ผลเต็มที่ ทำให้ขาดความสุขในการทำงาน จึงทำด้วยความฝืนใจ พยายามหลีกเลี่ยงหน้าที่ อาจจะหาช่องทางทุจริต จึงต้องตั้งคนคอยควบคุมตรวจสอบ
ส่วนคนที่เข้าใจในกฎเกณฑ์ธรรมชาติและกฎเกณฑ์มนุษย์ และสามารถเชื่อมโยงเข้ากันได้ ตั้งใจทำงานด้วยความรู้และเข้าใจว่าทำสวนเพื่อดูแลรักษา มองเห็นคุณค่าความร่มรื่นสวยงามของต้นไม้อันเกิดจากหน้าที่ของตน เกิดความพึงพอใจในผลงานที่เกิดขึ้น รู้ว่าเงินค่าตอบแทนเป็นผลจากการทำสวน เกิดความสุขในการทำงาน ไม่ต้องมีใครมาควบคุมก็ทำงานให้ได้ผลดีได้
จากเรื่อง “ธรรม” และ “วินัย” ในภาพใหญ่ ขอแวะมาที่วินัยการจราจรในกรุงเทพมหานคร ถ้าสังเกตจะเห็นป้ายข้อความรณรงค์เรื่องระเบียบการจราจร “วินัยจราจร สะท้อนวินัยชาติ” ตามป้อมตำรวจจราจรมาระยะหนึ่งแล้ว หาก “วินัยจราจร สะท้อนวินัยชาติ” ตามใจความที่กระตุกเตือนสติจริง วินัยการจราจรในเมืองกรุงสะท้อนวินัยของสังคมไทยว่าเป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งสะท้อนถึงอะไรบ้าง
สิ่งที่เห็นเสมอทุกเมื่อเชื่อวันในกรุงเทพมหานครคือ ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยกวดขันอยู่ เราจะเห็นการฝ่าฝืนกฎจราจรในลักษณะต่างๆ เช่น จอดรถในที่ห้ามจอด ขับผ่าไฟแดง ขับรถย้อนศร แซงโดยไม่ดูเส้นประหรือเส้นทึบกลางถนน ทางออก (ห้ามเข้า)/ทางเข้า (ห้ามออก) ของทางคู่ขนานแต่คนขับขี่ทำตรงกันข้ามกับกฎ เลี้ยวโดยไม่ให้สัญญาณไฟ บนทางด่วนทางยกระดับหรือช่องทางที่ห้ามมอเตอร์ไซค์วิ่งแต่ตำรวจนอกสถานีที่รับผิดชอบ (บางทีก็คนขี่ใส่ชุดสีขี้ม้า) ขี่มอเตอร์ไซค์เฉย ฯลฯ
นักปราชญ์ท่านบอกไว้ว่าวินัย กฎเกณฑ์ ระเบียบ กฎหมาย เป็นการจัดสรรโอกาส ทำให้สังคมมีระเบียบและเป็นโอกาสให้ทำสิ่งต่างๆ ได้คล่องตัว ดำเนินชีวิตและกิจการได้สะดวก แต่ถ้าชีวิตและสังคมไร้ระเบียบ ขาดระบบก็จะสูญเสียโอกาสในการดำเนินชีวิตและทำกิจการของสังคมให้เป็นไปด้วยดี
วินัยเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ที่ตัวเราเอง เป็นต้นว่า การจัดที่อยู่อาศัยให้เป็นระเบียบ จัดวางสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นระบบว่าสิ่งไหนจัดไว้ที่ไหน เมื่อจะใช้ก็สะดวกในการนำมาใช้ ไม่ต้องเสียเวลาหาแล้วหาอีก บางครั้งถ้าหาไม่เจอก็ทำให้เสียประโยชน์เสียเวลา แทนที่จะได้ใช้สิ่งที่ต้องการใช้ก็กลับไม่ได้ใช้เพราะขาดการจัดระเบียบเอง
จากภาพเล็กๆ ที่ตัวเราก็ขยายสู่สังคม ถ้าเรายังฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อความมีระเบียบความดีงามของสังคม ก็เท่ากับทำลายโอกาสของคนอื่นๆ เช่น การจอดรถในที่ห้ามจอดก็เท่ากับปิดกั้นการไหลเวียนของการจราจร ทำให้เกิดการติดขัดคับข้อง การแซงในเขตเส้นทึบกลางถนนก็เพิ่มโอกาสการเกิดอุบัติเหตุโดยไม่รับรู้สัญญาณเตือนภัยที่บอกไว้ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็ทำให้เสียเวลาเสียโอกาสในการทำภารกิจที่คาดหมายไว้ ทั้งของตัวเองและคู่กรณี ฯลฯ
ถ้าชีวิตและสังคมไร้ระเบียบ ขาดระบบ ก็จะสูญเสียโอกาสในการดำเนินชีวิตและทำกิจการของสังคมให้เป็นไปด้วยดี
ในแง่ผู้บัญญัติกฎเกณฑ์ ก็ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ปฏิบัติตามเข้าใจเหตุผลแห่งการบัญญัติให้ได้ ไม่ปล่อยให้เขามองว่าวินัยเป็นเครื่องบังคับควบคุม เกิดความรู้สึกว่าจำต้องปฏิบัติตามด้วยความฝืนใจ เป็นผลให้ขาดความสุขในการปฏิบัติตาม คอยหาทางละเมิด รวมทั้งบัญญัติเพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมเป็นจุดมุ่งหมาย และไม่เปิดโอกาสให้ผู้ควบคุมกฎเกณฑ์จ้องหาผลประโยชน์แอบแฝงจากกฎเกณฑ์ที่บัญญัติขึ้น
ตัวอย่าง คนขับขี่มอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อคเมื่อมีตำรวจกวดขัน แต่พอไม่มีตำรวจก็เลี่ยงไม่สวมเสีย แทนที่จะมองว่าสาเหตุที่สวมหมวกกันน็อคไม่ใช่เพราะกลัวตำรวจจะจับปรับ แต่เพื่อความปลอดภัยของตัวคนขับขี่เอง กรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นหมวกกันน็อคก็จะช่วยลดความเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ศีรษะซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากได้ หากเกิดความรู้ความเข้าใจว่าสวมเพื่อจุดมุ่งหมายใด เขาก็อาจพร้อมจะปฏิบัติตามโดยดี ไม่ได้รู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำ
นอกจากนี้ ท่าทีต่อวินัยยังบ่งบอกถึงระดับการพัฒนาของคนอีกด้วย ดังที่พระพรหมคุณาภรณ์จัดระดับการพัฒนาของคนตามความเข้าใจวินัย กฎเกณฑ์ กฎหมาย กติกา ออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. คนที่ไม่มีความพร้อม มองว่าวินัยเป็นเครื่องบีบบังคับ กีดกั้นขัดขวางไม่ให้ทำตามชอบใจ จิตใจไม่เป็นสุขเพราะฝืนใจทำตามกติกา คนที่มองอย่างนี้ คือคนที่ยังขาดความเข้าใจเหตุผล
2. แต่เมื่อเริ่มพัฒนาตน ก็จะมองว่าวินัยคือ เครื่องฝึกฝนมนุษย์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายโดยความสะดวก คนที่มีความเข้าใจเหตุผลและคุณค่าของกฎกติกา จิตใจก็ไม่เป็นทุกข์เพราะยอมรับและเต็มใจปฏิบัติตาม ไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างการกระทำกับกฎกติกา
3. เมื่อพัฒนาตนสูงสุดแล้ว วินัยเป็นเพียงสิ่งหมายรู้ร่วมกัน เพื่อจะปฏิบัติได้ถูกต้องในการดำเนินชีวิตในการอยู่ร่วมกัน ไม่รู้สึกว่าเป็นเครื่องบังคับ ไม่ต้องฝืนใจ เต็มใจปฏิบัติตาม จิตใจผ่องใส พฤติกรรมก็สงบรื่น เพราะเข้าใจเหตุผลและจุดมุ่งหมายของกติกาเป็นอย่างดี
ท่านยกตัวอย่างว่า แม้พระอรหันต์ผู้ฝึกฝนตนเองจนขัดเกลากิเลสหมดสิ้นแล้ว เมื่ออยู่ร่วมกันในวัดก็ต้องอยู่ภายใต้วินัย เพราะกระจายตามที่อยู่ต่างๆ ในบริเวณวัด จะทำกิจวัตร จะฉัน จะประชุมเมื่อไหร่ จะนั่งเรียงลำดับกันอย่างไร ก็ต้องวางกติกา เพื่อให้หมายรู้ร่วมกัน จัดสรรความเป็นอยู่และกิจการให้ดำเนินไปอย่างดีงามและคล่องตัว
เมื่อพิจารณาประโยคข้างต้น “วินัยจราจร สะท้อนวินัยชาติ” กับสภาพความเป็นระเบียบของการจราจรที่เห็นในกรุงเทพฯ สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่สะท้อนว่าคนในสังคมเรามองกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา ว่าคืออะไร แล้วยังบ่งชัดว่าคนในสังคมเราอยู่ในระดับใดใน 3 ระดับข้างต้น…ลองชั่งตวงวัดตัวเองดูด้วยนะครับว่าเราอยู่ในระดับไหน?