เคยไหม ขณะนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อทำงานชิ้นหนึ่ง คุณกลับนึกถึงดินแดนที่อยากไปอันไกลโพ้นและแสนแพง จากนั้นก็เริ่มจินตนาการถึงความสุขที่จะเกิดขึ้นจากการเดินทางครั้งนั้น บางครั้งถึงขนาดลงทุนสำรวจช่วงเวลาที่สวยที่สุดของสถานที่นั้นและตั๋วราคาถูกไว้เสร็จสรรพ แต่สุดท้ายกลับต้องผิดหวังและเศร้าใจเมื่อพบว่าไม่มีทั้งเงินและวันลาเหลือเลย มิหนำซ้ำงานด่วนตรงหน้าก็ไม่เสร็จเสียด้วย
อาการแบบนี้ภาษาพระเขาเรียกว่า “จิตแส่ส่าย”
ในเชิงพุทธประจักษ์ว่าจิตแส่ส่ายคือจุดเริ่มต้นของความทุกข์ ส่วนการมีสติหรือการอยู่กับปัจจุบันขณะคือหนทางพ้นทุกข์ แต่ดูเหมือนการได้ยินบ่อยๆ ทำให้เคยชินและปล่อยผ่านหูไป เราจึงมักปล่อยใจให้ล่องลอยตามสิ่งที่มากระทบประสาทสัมผัสต่างๆ อยู่บ่อยๆ ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียเช่นนี้ มีคนไม่น้อยที่เพลิดเพลินกับการติดตามเรื่องราวในเฟสบุคได้ทั้งวัน โดยหารู้ไม่ว่าการวิ่งตามเรื่องราวเหล่านั้นทำให้จิตใจเศร้าหมอง
พระไพศาล วิสาโล เคยกล่าวไว้ว่า “คนเราทุกข์เพราะจิตแส่ส่าย เนื่องจากต้องการความสุข แล้วคิดว่าความสุขอยู่ข้างนอก แต่จริงๆ แล้วความสุขอยู่ข้างใน พบได้เมื่อใจสงบ สงบจากความอยาก ความว้าวุ่น ขุ่นเคืองรำคาญใจ ก็ช่วยให้เกิดความสงบที่ลุ่มลึกขึ้น แม้ยังไม่ได้ทำสมาธิภาวนาแบบเข้าถึงฌานสุขเลยก็ตาม”
คำกล่าวที่เป็นดุจเรื่องนามธรรมข้างต้นมีผลวิจัยรองรับ เมื่อเร็วๆ นี้นักวิจัยด้านความสุขชื่อแมตต์ คิลลิงสเวิร์ธ (Matt Killingsworth) ออกแบบแอพพลิชั่นในสมาร์ทโฟนชื่อ “track your happiness” เพื่อติดตามห้วงเวลาแห่งความสุขของผู้คนทั่วโลก โดยตั้งคำถามง่ายๆ ว่า “ตอนนี้คุณกำลังทำอะไรอยู่” “คุณกำลังคิดสิ่งอื่นอยู่หรือไม่” “คิดเรื่องดี เรื่องกลางๆ หรือเรื่องร้าย” และ “คุณรู้สึกอย่างไร”
หลังจากมีผู้ร่วมตอบคำถาม 650,000 ครั้ง จาก 15,000 คนใน 80 ประเทศ โดยมีความหลากหลายทั้งเพศ อายุ การศึกษา และอาชีพ จากการประมวลผลข้อมูลสรุปได้ว่าคนที่จิตแส่ส่ายแล้วรู้สึกมีความสุขมีเพียง 58 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่ให้ความสนใจกับเรื่องตรงหน้าแล้วรู้สึกมีความสุขมีถึง 66 เปอร์เซ็นต์
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีคุณสมบัติพิเศษในการคิดเรื่องอื่นขณะทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนั้นในการทดลองนี้จึงมีคนเกือบครึ่ง ( 47 เปอร์เซ็นต์) ที่จิตใจแส่ส่าย และคนเหล่านี้จะรู้สึกมีความสุขน้อยกว่า ไม่ว่าเรื่องที่เขาคิดจะเป็นเรื่องบวกหรือลบ หรือว่าเขากำลังทำกิจกรรมอะไรอยู่ก็ตาม ทั้งนี้ผลสำรวจพบว่ากิจกรรมที่ทำให้จิตแส่ส่ายมากที่สุดในจำนวน 22 กิจกรรมที่กำหนดให้คือการอาบน้ำ ส่วนกิจกรรมที่จิตแส่ส่ายน้อยที่สุดคือการมีเพศสัมพันธ์
นักวิจัยสรุปว่าจิตที่แส่ส่ายคือตัวขโมยความสุข กล่าวคือยิ่งจิตใจแส่ส่ายมากเพียงใด ความสุขก็ลดน้อยลงเท่านั้น
ลองสำรวจตัวเองว่าคุณจัดอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มใด ด้วยการดูว่าขณะอ่านบทความชิ้นนี้ คุณกำลังคิดเรื่องอื่นอยู่หรือไม่
อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง