เปลี่ยนศัตรูเป็นอาจารย์

พระไพศาล วิสาโล 17 มกราคม 2010

ทุกเช้าหลังจากการออกกำลังกาย อาจารย์จะชวนผู้ปฏิบัติธรรมออกไปเดินจงกรมรอบที่พัก โดยให้มีสติอยู่กับการเดิน คือรู้กายเมื่อเคลื่อนไหว และรู้ใจหากเผลอคิดฟุ้งซ่าน  อาจารย์จะให้สัญญาณหยุดเดินเป็นระยะๆ  ระหว่างที่ยืนนิ่งก็ให้ผู้ปฏิบัติหันมารับรู้ลมหายใจเข้าและออก และรู้ทุกอาการที่เกิดกับใจ  ส่วนอะไรที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็สักแต่ว่ารู้เฉยๆ

วันที่สองของการเดิน อาจารย์ชวนทุกคนถอดรองเท้า  หลายคนรู้รสชาติของความเจ็บปวดเมื่อหินและกรวดน้อยใหญ่ทิ่มฝ่าเท้าเกือบตลอดทาง  ยังไม่นับยุงที่รุมกัดทุกครั้งที่เดินผ่านสวน  ตลอด ๔๕ นาทีของการเดินจงกรมจึงกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ของผู้ปฏิบัติ

แต่นั่นยังเทียบไม่ได้กับประสบการณ์ในวันต่อๆ มาที่มีฝนตกพรำๆ ตั้งแต่เช้ามืด  ตามทางจะมีมดนับพันๆ เดินขวักไขว่เป็นแถวขวางทางเดินของผู้ปฏิบัติ  ไม่ว่าตั้งใจเดินเพียงใด ก็จะมีมดไต่ตอมขึ้นมาตามขาและกัดตามอำเภอใจ  บางคนหนักกว่านั้นเพราะมีสัญญาณให้หยุดเดินขณะที่เดินเฉียดรังมดพอดี  ดังนั้นเดินๆ ไปก็จะได้ยินเสียงคนกระทืบเท้าหลายครั้งติดๆ กันเพื่อสะบัดมดให้หลุดจากขา หรือมีเสียงปัดมดตามขากางเกงดังถนัดถนี่  ยากที่จะรักษาความสงบสำรวมไปได้ตลอดทาง

ไม่น่าแปลกใจที่หลายคนขยาดการเดินจงกรมตอนเช้า  อาจารย์จึงแนะนำให้ผู้ปฏิบัติสังเกตดูกายของตนว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อมดไต่ยุงตอม และให้ดูใจของตัวเองด้วย ว่ารู้สึกอย่างไร มีความกลัว ตื่นตระหนก โวยวาย ตีโพยตีพายอยู่ข้างในหรือไม่  โดยเฉพาะตอนที่ถูกกัด ใจมีอาการอย่างไร ดูเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรกับอาการเหล่านั้น  อาจารย์ย้ำกับผู้ปฏิบัติว่า จริงๆ แล้วกายของเราทนมดกัดได้ แต่ที่ทนไม่ได้คือใจต่างหาก  และที่เจ็บปวดจนอยู่เฉยไม่ได้นั้น เป็นเพราะใจไม่มีสติ จึงเผลอไปทุกข์กับกาย หรือเอาความทุกข์ของกายมาเป็นความทุกข์ของใจไปด้วย

ทุกข์กายนั้นแค่ ๑ ส่วน แต่อีก ๒-๓ ส่วนนั้นเป็นเพราะทุกข์ใจต่างหาก  แต่ถ้ามีสติ เห็นอารมณ์ที่ปรุงแต่งใจ อารมณ์นั้นก็จะหลุดไปจากใจ ใจก็จะกลับมาเป็นปกติ  ความทุกข์จะเบาบางลง คงมีแต่ความเจ็บปวดที่กายเท่านั้น  พูดอีกอย่างคือมีแต่ทุกขเวทนา (ทางกาย) แต่ไม่มีความทุกข์ทรมาน (ทางใจ)  อาจารย์ยังแนะอีกว่าหากจะมีสติดูความเจ็บปวดเลยก็ได้ แต่ถ้าสติไม่ฉับไวพอก็จะเผลอพลัดเข้าไปจมอยู่กับความเจ็บปวดได้ง่าย กลายเป็นปวดมากขึ้น

หลังจากเดินจงกรม (วิบาก) ไปได้ ๕ วัน  ผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่งได้ทดลองทำตามที่อาจารย์แนะนำ และได้เขียนเล่าประสบการณ์การปฏิบัติของตนไว้อย่างน่าสนใจ ว่า “เดินจงกรมตอนเช้า วางใจว่าจะดูความเจ็บ ได้หยุดบนรังมดสมใจ  สภาวะเกิดดังนี้-มองเห็นว่ามดทั้งรังไต่ขึ้นมา-จิตกลัว-รู้ว่ากลัว-ความกลัวดับไป-จิตบอกว่าให้วางใจสบายๆ เป็นไงเป็นกัน”

จากนั้นเธอก็มาดูความรู้สึกและอาการของกาย “รู้สึกถึงลักษณะความเจ็บ, แสบ, ร้อน, จี๊ดๆ เหมือนโดนธูปจี้เป็นจุดๆ บางจุดก็ตื้นลึกไม่เท่ากัน กว้างแคบ, เป็นระลอก  รู้สึกกล้ามเนื้อเกร็ง, หัวใจเต้นแรงเร็วขึ้น-กัดฟันเม้มปาก, กะพริบตา, ยืนนิ่ง”  ระหว่างนั้นเธอกลับมาดูจิต และพบว่า “เห็นใจกระสับกระส่าย-รู้-ดับ-นิ่ง สติเกิดความรู้สึกเมตตาสงสารมด  เขาคงโกรธ เขาจึงกัดเอา  ตอนนี้ใจสบายตั้งมั่น เรียกเขาว่าอาจารย์มด จะกัดก็กัดไป จะดูให้ชัด”

แล้วเธอก็สรุปตอนท้ายว่า “การเห็นความเจ็บ, ลมหายใจ, จิตที่สงบนิ่ง แยกกันเป็นคนละส่วนๆ เป็นเรื่องๆ แปลกดี”

ผู้ปฏิบัติท่านนี้ได้ประจักษ์ด้วยตนเองว่า แม้กายปวด แต่ใจสบายและสงบนิ่งได้  เมื่อกายทุกข์ ไม่ได้หมายความว่าใจจะต้องทุกข์ตามไปด้วย  คนส่วนใหญ่นั้นทันทีที่กายทุกข์ใจก็ทุกข์ไปด้วย  อันที่จริงทั้งๆ ที่กายยังไม่ทุกข์เลย แต่ใจก็ทุกข์ไปก่อนแล้ว  เช่น พอรู้ว่ามดไต่ขา ยังไม่ทันจะถูกกัด ใจก็กระสับกระส่าย ทุรนทุรายไปเสียแล้ว  ความทุกข์ใจนี้เองที่ทำให้ความเจ็บปวดเวลาถูกมดกัดเพิ่มเป็นทวีตรีคูณ

หลายคนเมื่อรู้ว่าความทุกข์ใจเป็นตัวปัญหา วิธีการที่นิยมทำคือพยายามกดข่มหรือขจัดมันให้หมดไป แต่ยิ่งทำเช่นนั้นมันก็ยิ่งผุดโผล่ ไม่ยอมหายไปง่ายๆ  ตรงข้ามกับผู้ปฏิบัติท่านนี้ ซึ่งไม่ได้ทำอะไรกับอารมณ์ดังกล่าว นอกจากรู้หรือดูมันเฉยๆ แล้วเธอก็พบว่า “จิตกลัว-รู้ว่ากลัว-ความกลัวดับไป…..เห็นใจกระสับกระส่าย-รู้-ดับ-นิ่ง”  รู้หรือดูในที่นี้หมายถึงมีสติ  เมื่อมีสติ การปรุงแต่งก็ดับไป ใจก็สงบ นิ่ง สบาย  แม้ความปวดหรือทุกขเวทนายังอยู่ แต่ก็เป็นส่วนกาย ไม่กระเทือนไปถึงใจได้  เรียกว่าอยู่กับทุกขเวทนาได้โดยไม่ทุกข์

ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์  สิ่งที่ทุกคนพยายามทำคือหนีทุกข์ หรือไม่ก็ขจัดทุกข์ให้หมดไป  ถ้าน้ำท่วม ก็หนีไปอยู่ที่ดอน หรือไม่ก็ปั้นฝายสร้างเขื่อน  ถ้าถูกคนกลั่นแกล้ง ก็พยายามอยู่ห่างเขาให้ไกลที่สุด หรือไม่ก็หาทางทำให้เขายุติพฤติกรรมดังกล่าว  แต่มีทุกข์หลายอย่างที่เราหนีไม่พ้นและขจัดไม่ได้ (หรือขจัดออกไปไม่ได้ทันที) เช่น  ตกงาน ล้มละลาย สูญเสียคนรัก รวมทั้งความเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ซึ่งไม่มียารักษาหรือแม้แต่จะบรรเทาความเจ็บปวด

ในสภาวะเช่นนี้เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์ให้ได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ เพราะหนีทุกข์มาตลอด หรือไม่ก็คิดแต่จะจัดการกับสิ่งนอกตัว โดยไม่คิดที่จะจัดการกับตัวเองโดยเฉพาะการทำใจ  เจ็บปวดก็กินยาระงับปวด แต่ถ้ายาหมดหรือไม่มียาใกล้ตัว ก็เหมือนตกนรก  ใครที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ ถ้าตีโพยตีพาย บ่นโวยวายมากเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น  หากไม่มีวิธีอื่นจะบรรเทาทุกข์ได้ ก็คงไม่มีอะไรดีกว่าการทำใจยอมรับมัน

คำถามคือจะทำใจยอมรับมันได้อย่างไร  หลายคนนึกไปถึงการอดทน นั่นคือกล้ำกลืนฝืนทนอยู่กับมันให้ได้  บางคนนึกไปถึงการ “ก้มหน้ารับกรรม” ถือเสียว่าเป็นการใช้หนี้กรรมที่เคยทำไว้แต่ปางก่อน  มีชาวพุทธเป็นอันมากที่คิดแบบนี้  เมื่อมีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้นกับตัวไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก เช่น เจ็บป่วยเป็นมะเร็ง หรือเงินหาย ก็ถือว่าเป็นการใช้กรรม โดยโยงไปถึง “เจ้ากรรมนายเวร” ซึ่งนับวันจะมีความหมายครอบจักรวาล คือเป็นสาเหตุของทุกเรื่องที่ไม่พึงประสงค์

เมื่อมีสติ การปรุงแต่งก็ดับลง ใจก็สงบ นิ่ง สบาย  แม้ความปวดหรือทุกขเวทนายังอยู่ แต่ก็เป็นส่วนกาย ไม่กระเทือนไปถึงใจ  เรียกว่าอยู่กับทุกข์ได้โดยไม่ทุกข์

เชื่อแน่ว่าตอนที่เจ็บปวดเพราะถูกมดกัดขณะที่เดินจงกรม ผู้ปฏิบัติธรรมหลายคนพยายามทำใจแบบนี้ คือถือว่าเป็นการใช้กรรมที่เคยทำกับมดเหล่านี้  วิธีคิดแบบนี้นอกจากช่วยให้อดทนและยอมรับความเจ็บปวดได้แล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนมุมมองต่อมดเหล่านี้  แทนที่จะเห็นเป็นศัตรูก็เห็นเป็นเจ้ากรรมนายเวรไปเสีย จึงช่วยลดความโกรธเกลียดหรือพยาบาทไปได้มาก

การมองแบบนี้แม้ช่วยให้ความทุกข์ลดลง แต่ก็ยังรู้สึกต้องฝืนทนอยู่ไม่น้อย เฝ้าแต่คอยว่าเมื่อไรมดจะหยุดกัด หรือใช้หนี้เสร็จเสียที  แต่ยังมีวิธีที่ดีกว่านั้น แทนที่จะใช้ความอดทน (ขันติ) หรือการใช้เหตุผลโน้มน้าวใจให้ยอมรับความทุกข์ ก็หันมาใช้สติ  การมีสติตามรู้กายและใจ (ความคิด อารมณ์ปรุงแต่ง) สามารถยกจิตให้อยู่เหนือทุกขเวทนาได้  คือเห็นว่ามันเป็นสภาวะอย่างหนึ่ง แต่ไม่ยึดติดถือมั่นว่าความเจ็บนั้นเป็นเราเป็นของเรา  พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เห็นความเจ็บ แต่ไม่มี “กูผู้เจ็บ”

เมื่อใดที่เรามีสติตามรู้กายและใจขณะที่ถูกมดกัด ก็จะเห็นเช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติธรรมที่เขียนเล่าว่า “ความเจ็บ, ลมหายใจ, จิตที่สงบนิ่ง แยกกันเป็นคนละส่วนๆ” ดังนั้นใจจึงสบายตั้งมั่น ไม่มีความจำเป็นต้องอดทน หรือคอยว่าเมื่อไรมดจะหยุดกัด “จะกัดก็กัดไป จะดูให้ชัด”

มดยิ่งกัดนานเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะจะได้เห็นธรรมปรากฏชัด เห็นทั้งศักยภาพของจิตที่สามารถเป็นอิสระจากทุกขเวทนา  รวมทั้งเห็นอานุภาพของสติที่ทำให้จิตเป็นอิสระได้  ถึงตอนนี้มดที่ดุดันน่ากลัวได้กลายเป็น “อาจารย์มด” ไปแล้ว หาได้เป็นศัตรูหรือเจ้ากรรมนายเวรอีกต่อไปไม่  ความรู้สึกที่ตามมาคือ ขอบคุณและเมตตาสงสารมด

ประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติธรรมท่านนี้ชี้ให้เห็นว่า เราสามารถพบธรรมได้จากความทุกข์  จะเรียกว่าในทุกข์มีธรรมก็ได้  ดังนั้นเราจึงไม่ควรหวาดกลัวความทุกข์ แต่ควรพร้อมต้อนรับความทุกข์เสมอ  การต้อนรับความทุกข์ด้วยสติ นอกจากจะทำให้ใจไม่ทุกข์แล้ว ยังเพิ่มพูนปัญญา  นั่นคือเกิด “กำไร” ซึ่งดีกว่าการอดทน กล้ำกลืนฝืนทน หรือก้มหน้ารับกรรม ซึ่งอย่างมากก็ทำให้แค่เสมอตัว คือไม่ทุกข์ แต่ปัญญาอาจไม่เกิด

เหตุร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเราก็เช่นกัน มันสามารถกลายเป็นดี หรือมีคุณแก่เราได้หากเปิดใจพร้อมรับด้วยสติ  แม้แต่คนที่ทำไม่ดีกับเรา แทนที่จะเป็นศัตรู หรือเจ้ากรรมนายเวร ก็กลับกลายเป็นอาจารย์ของเราได้  จากความโกรธ เกลียด พยาบาท ก็จะกลายเป็นความเมตตาสงสารและรู้สึกขอบคุณด้วยซ้ำไป

เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับเรา ไม่ควรมองว่าเรากำลังใช้กรรม ที่จริงนั่นคือโอกาสที่เราจะได้สร้างกรรมใหม่ที่ดีกว่าเดิม  ขอให้ตั้งสติและรู้จักใช้วิบากกรรมนั้นให้เป็นประโยชน์  อย่าลืมว่าเคราะห์สามารถเปลี่ยนเป็นโชคได้เสมอ เช่นเดียวกับทุกข์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นธรรมให้เราประจักษ์ได้ทุกขณะ


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา