เมื่อคุณเจอกระเป๋าสตางค์ตก

พระไพศาล วิสาโล 25 เมษายน 2004

คนไทยมีความซื่อสัตย์แค่ไหน?

เมื่อเร็วๆ นี้นิตยสารรีดเดอร์ไดเจสท์ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวเอเชียจำนวน ๑,๖๐๐ คน จาก ๙ ประเทศ ได้ข้อสรุปว่าคนไทยมีความซื่อสัตย์สูงเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย

อ่านข่าวแล้วก็น่าดีใจไม่น้อย  แต่ถ้าอ่านให้ละเอียดจะพบว่าข้อสรุปนี้ได้จากการสอบถามความคิดเห็น เช่น ถามว่าถ้าเก็บกระเป๋าสตางค์ได้ ในนั้นมีเงินสด ๒,๐๐๐ บาท คุณจะทำอย่างไร?  ปรากฏว่าคนไทยที่ตอบแบบสอบถาม ๙๖% ตอบว่าจะเอากระเป๋า (พร้อมเงิน) ไปคืนเจ้าของ

การตอบแบบสอบถามกับการกระทำจริงๆ นั้นเป็นคนละเรื่องกัน  ในสถานการณ์สมมติ ใครๆ ก็ตอบได้ไม่ยากว่าจะเอาเงินไปคืน  แต่ถ้าเดินไปเจอกระเป๋าสตางค์ตกอยู่จริงๆ จะทำอย่างไร?

น่าสนใจที่นิตยสารฉบับเดียวกันเคยลองสำรวจพฤติกรรมของคนไทยด้วยวิธีนี้มาแล้วเมื่อ ๗ ปีก่อน  โดยเอากระเป๋าสตางค์พร้อมเงินสด ๔๔๐ บาท รวมทั้งที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าของ ไปวางทิ้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ รวม ๒๐ ใบ  ปรากฏว่าได้รับคืนเพียง ๑๑ ใบ หรือ ๕๕% เท่านั้น ห่างไกลจากตัวเลขที่ได้จากแบบสอบถามปีนี้ถึง ๔๐%

เวลาห่างกันเพียงแค่ ๗ ปีไม่น่าจะทำให้ความซื่อสัตย์ของคนไทยพุ่งพรวดจาก ๕๕% เป็น ๙๖% ไปได้  น่าสงสัยว่าหากนิตยสารฉบับเดียวกันนี้เอาวิธีการอย่าง ๗ ปีก่อนมาใช้กับปีนี้อีก เปอร์เซ็นต์ของกระเป๋าที่ได้รับคืนจะมากขึ้น เท่าเดิม หรือน้อยลง?

เป็นที่รู้กันในหมู่คนไทยว่าหากลืมกระเป๋าสตางค์ทิ้งไว้ ก็ต้องทำใจได้เลยว่าโอกาสจะได้เงินคืนมีน้อยมาก  อย่างดีก็ได้แค่ตัวกระเป๋าและบัตรประชาชนกลับคืน  ด้วยเหตุนี้คนอย่างสมพงษ์ เลือดทหาร (ยังจำเขาได้ไหม?) จึงกลายเป็นวีรบุรุษของคนไทยไปในชั่วข้ามคืน เพราะคนอย่างนี้หายากจริงๆ  แต่ก็ฮือฮากันได้ไม่กี่วันเท่านั้น ในที่สุดคนทั้งประเทศก็พบว่าเขากุเรื่องขึ้นมาทั้งหมด ไม่มีการเอาเงินล้านไปคืนใครทั้งสิ้น

ใครๆ ก็รู้ว่าการเอากระเป๋าสตางค์ที่เก็บได้ไปคืนเจ้าของเป็นเรื่องดี เป็นสิ่งถูกต้อง  แต่เวลาเจอกระเป๋าสตางค์เข้าจริงๆ ใครบ้างที่จะยอมเสียเวลาไปตามหาหรือติดต่อเจ้าของ  หลายคนอ้างว่าไม่มีเวลา ไม่อยากเหนื่อย  บางคนให้เหตุผลว่า ทีกระเป๋าสตางค์ของฉันหาย ไม่เห็นมีใครมาคืน แล้วเรื่องอะไรฉันไปจะคืนให้คนอื่น  แต่ละคนมีเหตุผลต่างๆ กัน แต่ที่เหมือนกันก็คือ ไม่ยอมคืน  เงินก็ไม่ได้ไปไหนหากเอามาใช้เอง แต่จะมีใครคิดบ้างว่าการทำเช่นนั้นเป็นการผิดศีลและถือเป็นบาป

ศีลข้อ ๒ อทินนาทานนั้น เรามักเข้าใจว่าหมายถึงการลักขโมย  หลายคนให้เหตุผลว่า ก็เงินนี้ฉันเก็บได้ ไม่ได้ไปลักขโมยใคร ฉันจะผิดศีลข้อนี้ได้อย่างไร  แต่เราลืมไปแล้วหรือว่า อทินนาทานนั้นแปลว่า “ถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้”  ไม่ว่าจะได้มาอย่างไร หากเจ้าของไม่ได้ให้ ถ้าตั้งใจเก็บไว้ก็ถือว่าละเมิดศีลข้อ ๒ ทั้งนั้น

น่าแปลกที่ว่าในประเทศที่ถือพุทธศาสนาอย่างประเทศไทย การ “อม” เงินที่เก็บได้กลายเป็นเรื่องธรรมดา  อีกทั้งจำนวนไม่น้อย (หรือส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ) ถือว่าไม่ผิดศีลหรือเป็นบาปด้วยซ้ำ  แต่ในประเทศที่ขึ้นชื่อในด้านวัตถุนิยมอย่างญี่ปุ่น ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ไม่เคยสมาทานศีล ๕ กลับปรากฏว่า ของที่ทำหาย กลับมีเปอร์เซ็นต์การได้คืนสูงมาก จนเป็นที่พิศวงของคนต่างชาติ  อย่าว่าแต่เงินหรือโทรศัพท์มือถือเลย แม้แต่ของพื้นๆ เช่น กุญแจ แว่นตา หรือร่ม เจ้าของก็ยังมีโอกาสได้คืน

อทินนาทานนั้นแปลว่า “ถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้”  ไม่ว่าจะได้มาอย่างไร หากเจ้าของไม่ได้ให้ ถ้าตั้งใจเก็บไว้ก็ถือว่าละเมิดศีลข้อ ๒ ทั้งนั้น

สถาบันครอบครัวมีส่วนอย่างมากในการปลูกฝังความซื่อสัตย์ให้แก่คนญี่ปุ่น  ผู้คนถูกสอนตั้งแต่เล็กว่า หากเจอของตกหล่นให้เอาไปมอบแก่ตำรวจในละแวกบ้าน  แต่การสั่งสอนอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ กฎหมายหรือจารีตประเพณีก็มีส่วนอย่างมาก  ญี่ปุ่นมีกฎหมายมาเกือบ ๑,๓๐๐ ปีแล้วว่า ถ้าใครเจอสิ่งของหรือสัตว์ที่ตกหล่นพลัดหลง จะต้องเอาไปคืนแก่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองภายใน ๕ วัน ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษ  ภายใต้กฎหมายนี้แม้แต่ซุงที่ลอยมากับน้ำหลาก ก็เอามาเป็นเจ้าของไม่ได้  แต่กฎหมายนี้ไม่ได้มีบทลงโทษอย่างเดียว  แม้กฎหมายดังกล่าวจะเปลี่ยนไปในปัจจุบัน แต่ที่ยังไม่เปลี่ยน คือการตกรางวัลให้แก่ผู้ที่เก็บของได้  ในปัจจุบันหากไม่มีใครมารับเงินคืนภายในเวลา ๖ เดือน เงินนั้นจะตกเป็นของผู้ที่เก็บได้  แต่ถ้ามีคนมารับ จะต้องแบ่งให้แก่ผู้ที่เก็บได้ ๕ – ๒๐% ของจำนวนเงินนั้นๆ

แต่นอกจากกฎหมายและการปลูกฝังสำนึกทางศีลธรรมแล้ว  อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นไม่มีนิสัยชอบ “อม” ก็คือ การมีหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พลเมืองดี ได้แก่ศูนย์รับของหาย ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ  ศูนย์นี้ไม่เพียงรับของหายเท่านั้น  หากยังจัดระเบียบของหาย ง่ายแก่การค้นหาเวลาเจ้าของมาตามหา  ศูนย์นี้ช่วยให้พลเมืองดีไม่ต้องเหนื่อยยากในการตามหาเจ้าของ  เพียงแค่มามอบให้แก่ศูนย์ ก็เบาใจได้แล้วว่าเจ้าของจะมีโอกาสได้คืน

แน่นอนว่าระบบแบบนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อประชาชนมีความไว้วางใจเจ้าหน้าที่ว่าจะไม่ “อม” ของที่เขาเอามามอบให้  นั่นหมายความว่ากรมตำรวจซึ่งดูแลศูนย์ดังกล่าวต้องมีประสิทธิภาพในการจัดการกับเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต จนประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่าความตั้งใจดีของตัวจะไม่สูญเปล่า  ข้อเท็จจริงดูจะยืนยันเช่นนั้นด้วย สิ่งของที่ผู้คนมาฝากไว้กับศูนย์นั้นมากกว่า ๗๐% กลับคืนสู่เจ้าของ

ประสบการณ์ของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ชี้ว่า คุณธรรมเช่นความซื่อสัตย์นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสั่งสอน (หรือการเทศน์) อย่างเดียวเท่านั้น  หากยังต้องอาศัยปัจจัยเสริมอีกมาก เช่น กฎหมายและระบบการให้คุณให้โทษที่เชื่อมั่นได้  และที่ขาดไม่ได้คือปัจจัยภายนอกที่ช่วยให้ทำความดีได้สะดวก  ในเมืองไทยเรามักพูดเรื่องการทำความดี แต่ขาดปัจจัยสนับสนุน ทำให้การทำความดีกลายเป็นเรื่องยาก ขณะที่การทำชั่วกลับเป็นเรื่องง่าย  ไม่ต้องดูอื่นไกล เพียงแค่สถานที่ที่จะให้เยาวชนทำความดี เช่น สนามกีฬา ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ มีน้อยมาก  ตรงกันข้ามสถานที่ที่ชวนเยาวชนให้ทำชั่วได้ง่าย เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด กลับมีเกลื่อนเมือง

ทั้งหมดที่พูดมานี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการโกงข้อสอบที่ระบาดไปทั่วเมือง ขอให้พิจารณาเอาเอง


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา