ปัญญาพาสุข

พระไพศาล วิสาโล 18 พฤษภาคม 2008

เมื่อพูดถึงสุขภาวะหรือความปกติสุข คนทั่วไปมักนึกว่าเป็นเรื่องทางกายเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง สุขภาวะทางกายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสุขภาวะทั้งหมดของมนุษย์  มนุษย์นั้นมีทั้งกายและใจ นอกจากนั้นเราแต่ละคนยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้คน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ส่งผลถึงสุขภาวะของเราทุกคน

ด้วยเหตุนี้สุขภาวะจึงมีอย่างน้อย ๓ ด้านคือ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางใจ และสุขภาวะทางสังคม  อย่างไรก็ตามเนื่องจาก “ใจ” นั้นยังสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน คือ จิต และปัญญา  จิตนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก ส่วนปัญญาเกี่ยวข้องกับความรู้และความคิด  ดังนั้นสุขภาวะทางใจนั้นจึงสามารถจำแนกได้เป็น สุขภาวะทางจิต และสุขภาวะทางปัญญา

สุขภาวะทางปัญญา หมายถึงความสุขที่เกิดจากการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา  ปัญญาในที่นี้นอกจากหมายถึงความรู้แล้ว ยังครอบคลุมถึงความคิดความเชื่อ และความเห็นที่ก่อประโยชน์เกื้อกูล ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น ๓ ด้านคือ คิดดี คิดเป็น และเห็นตรง

๑. คิดดี หมายถึง การมีความคิดความเชื่อและความเห็นที่ถูกต้องดีงามหรือมีเหตุผล เช่น เห็นว่าการทำความดีเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น หรือเห็นว่าคุณค่าของชีวิตอยู่ที่การทำความดี มิใช่การสะสมวัตถุ ชื่อเสียง หรืออำนาจ

๒. คิดเป็น หมายถึง รู้จักคิดหรือพิจารณา ทำให้เห็นความจริง สามารถแก้ปัญหาหรือทำกิจต่างๆ ให้สำเร็จได้ เช่น คิดเป็นเหตุเป็นผล สามารถสืบสาวหาสาเหตุ และมองเชื่อมโยงถึงผลที่อาจเกิดขึ้น ไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ หลงตามสิ่งเย้ายวน หรือเอนเอียงตามอคติ

๓. เห็นตรง หมายถึง มีความเห็นที่ตรงตามความเป็นจริง ทำให้วางใจได้อย่างถูกต้อง ไม่ก่อหรือซ้ำเติมให้เกิดทุกข์ เช่น มองเห็นว่ามีความสุขอย่างอื่นที่ลึกซึ้งกว่าความสุขทางวัตถุ หรือเห็นว่าสุขหรือทุกข์ที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของตน มิได้ขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอก และมองเห็นสิ่งทั้งหลายว่าแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีความเที่ยงแท้ยั่งยืน และไม่ขึ้นอยู่กับความปรารถนาของเรา

ในปัจจุบัน “คิดดี คิดเป็น และเห็นตรง” กำลังกลายเป็น “ต้นทุน” ที่ขาดแคลนอย่างยิ่งในทุกระดับตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงสังคม  นำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย อาทิ คอร์รัปชั่นแพร่ระบาด อาชญากรรมเกลื่อนเมือง อบายมุขทุกมุมเมือง สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ครอบครัวหย่าร้าง วัยรุ่นเสียคน โรคเครียดลุกลาม

ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยหลายประการ รวมทั้งปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ  แต่หากกล่าวจำเพาะปัจจัยทางด้านทัศนคติหรือความคิดความเชื่อของผู้คนแล้ว จะพบว่ามีทัศนคติสำคัญ ๔ ประการที่นำไปสู่ปัญหาดังกล่าว ได้แก่

๑. การคิดถึงแต่ตนเองเป็นสำคัญ  คือถือเอาความต้องการและความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ โดยไม่เปิดใจรับฟังความเห็นที่ต่างไปจากตน และไม่สนใจว่าการกระทำของตนจะก่อผลกระทบต่อผู้อื่นหรือส่วนรวมอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท เบียนเบียน และเอารัดเอาเปรียบกันได้ง่าย  นอกจากนั้นทัศนคติดังกล่าวยังถือว่า “ความถูกใจ” สำคัญกว่า “ความถูกต้อง” จึงนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เพียงก่อปัญหาแก่ผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังเป็นโทษต่อตัวเองด้วย เช่น เอาแต่เที่ยวเตร่ จนไม่เป็นอันเรียนหนังสือ หรือเล่นการพนันจนเป็นหนี้สินมากมาย

๒. การยึดติดกับความสุขทางวัตถุ  คือถือว่าความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเสพและครอบครองวัตถุเท่านั้น จึงหมกมุ่นกับการแสวงหา ครอบครอง และเสพวัตถุ  แม้ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ เพราะคิดว่ายิ่งมีมากเสพมาก ก็ยิ่งเป็นสุขมาก  ทัศนคติดังกล่าวทำให้เห็นว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต  นอกจากนำไปสู่การแย่งชิงและเอาเปรียบกันแล้ว ยังก่อให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัวและความทุกข์ในตนเอง เนื่องจากไม่มีเวลาให้แก่กันและกัน อีกทั้งไม่สนใจที่จะแสวงหาความสุขสงบในจิตใจ หรือความสุขที่ประณีต

๓. การหวังลาภลอยคอยโชคและมุ่งทางลัด  คือความปรารถนาที่จะบรรลุความสำเร็จโดยไม่ต้องเพียรพยายาม แต่อาศัยการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโชควาสนา  เมื่อไม่เห็นว่าความเพียรของตนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการกำหนดชีวิตของตน จึงมีความคิดที่พร้อมจะใช้วิธีการใดๆ ก็ตามที่ลัดสั้น แม้เป็นวิธีการที่มิชอบ เพียงเพื่อให้บรรลุความต้องการโดยเฉพาะความมั่งคั่งร่ำรวย  ผลก็คือไม่เพียงไสยศาสตร์เฟื่องฟูและการพนันแพร่ระบาด หากยังเกิดการคอร์รัปชั่นในทุกวงการ รวมไปถึงการทุจริตในการสอบ การกระทำใดที่ใช้ความเพียรหรือน้ำพักน้ำแรงของตนอย่างถูกต้องชอบธรรมถูกมองว่าเป็นวิธีการที่ไม่ฉลาดและพึงหลีกเลี่ยง

๔. การคิดอย่างไม่ถูกวิธี  คือการไม่สามารถคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลหรือวิเคราะห์วิจัยเพื่อเข้าใจความจริงทุกแง่มุม แต่มองแบบเหมารวมตีขลุม ลัดขั้นตอน หรือตัดสินไปตามความชอบความชัง จึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของอารมณ์และอคติ  นอกจากทำให้มองความเป็นจริงอย่างคลาดเคลื่อนแล้ว ยังทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่างๆ ได้สำเร็จ หรือแก้ปัญหาของตนให้ลุล่วงไปได้  กลับทำให้ปัญหาลุกลามขยายตัว เพราะคิดแต่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปเป็นคราวๆ เท่านั้น

นอกจากหมายถึงความรู้แล้ว ‘ปัญญา’ ยังครอบคลุมถึงความคิดความเชื่อ และความเห็นที่ก่อประโยชน์เกื้อกูล

การขจัดทุกข์ และสร้างสุขจะเกิดขึ้นได้ในสังคมก็ต่อเมื่อมีทัศนคติ ๔ ประการมาแทนที่ ได้แก่

๑. การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง

การคิดถึงแต่ตนเอง ทำให้จิตใจคับแคบ อัตตาหรือตัวตนใหญ่ขึ้น ทำให้ถูกกระทบหรือเป็นทุกข์ได้ง่าย ขณะเดียวกันก็เป็นคนสุขยากเพราะได้เท่าไรก็ไม่พอใจเสียที  ในทางตรงข้ามการคิดถึงผู้อื่นช่วยให้ตัวตนเล็กลง เห็นความทุกข์ของตนเองเป็นเรื่องเล็กน้อย ยิ่งช่วยผู้อื่นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขเพราะได้เห็นผู้อื่นมีความสุขด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งความสุขของเราย่อมไม่แยกจากความสุขของผู้อื่น

๒. การไม่พึ่งพิงความสุขทางวัตถุอย่างเดียว

วัตถุนั้นให้ความสุขเพียงชั่วคราว แต่ก่อให้เกิดภาระทางจิตใจต่างๆ มากมาย การยึดติดความสุขทางวัตถุทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์  แท้จริงที่มาแห่งความสุขนั้นมีอยู่มากมาย และสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องใช้เงิน เช่นความสุขจากมิตรภาพ จากความสัมพันธ์ที่ดีงามกับผู้อื่น จากการทำงาน จากการทำความดี และจากสมาธิภาวนา เป็นต้น  การตระหนักว่าความสุขมีหลายมิติและสามารถเข้าถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ จะช่วยให้มีสุขได้ง่ายขึ้นและเป็นสุขที่ยั่งยืน

๓. การเชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอย คอยโชค

การหวังลาภลอย คอยโชค หรือการหวังความสำเร็จโดยไม่ต้องเหนื่อย เป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งในระดับบุคคลและสังคม  การหันมาตระหนักว่าความสุขเกิดขึ้นได้จากความเพียรพยายามของตน ทำให้ความสุขอยู่ในอำนาจของเราเอง และทำให้เราสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่หวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โชควาสนา หรือหันเข้าหาวิธีการที่เป็นโทษ เช่น อบายมุข การพนัน และการฉ้อโกง

๔. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล

แม้คนทุกวันนี้จะคิดเก่ง แต่ก็มักเอาอารมณ์เข้ามาเจือปน ทำให้มองคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และโน้มเอียงไปในทางเข้าข้างตนเอง  การพิจารณาสิ่งต่างๆ โดยคำนึงถึงเหตุผล ยิ่งกว่าอารมณ์ จะช่วยให้มองสิ่งต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน สามารถแยกแยะถึงความแตกต่างระหว่าง “ถูกใจ” กับ “ถูกต้อง” ได้ ซึ่งช่วยให้สามารถคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อส่วนรวม อีกทั้งยังสามารถลดทอนอคติ นำไปสู่การเป็นอยู่ด้วยปัญญา และสามารถแก้ทุกข์ได้ด้วยตนเอง

ทัศนคติทั้ง ๔ ประการเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งปลูกเร่งสร้างในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงสังคม  มิใช่ด้วยการเทศนาสั่งสอนหรือรณรงค์เท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองให้เกื้อกูลด้วย อย่างน้อยก็ต้องเร่งปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม รวมทั้งสื่อมวลชนให้ดีขึ้นกว่านี้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา