คนกับควาย (เซ็นเตอร์)

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 10 กุมภาพันธ์ 2002

มีสำนวนจีนบอกว่า “วัวม้านั้นแน่นอน แต่คนไม่แน่นอน” คือสัตว์ทั้งหลายนั้น ฝึกมันอย่างไรๆ ความสามารถสูงสุดของมันก็เป็นได้แค่ม้าแค่วัว คือสัตว์มีขีดจำกัดของการพัฒนา ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่นได้มากกว่าที่เราเห็น  แต่คนมิได้แน่นอนแบบนั้น ศักยภาพและความสามารถของมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จึงไม่ควรสบประมาท  เด็กบางคนที่ถูกมองว่าโง่อาจกลายเป็นคนฉลาดล้ำลึกในเวลาต่อมาได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ฝึกเข้าใจและเข้าถึงเด็กคนนั้นได้มากน้อยเพียงใด

มีเรื่องจริงของเด็กชาย 2 คน ทั้งคู่ถูกครูประเมินสติปัญญาในทำนองว่า โง่เป็นควาย  โดยคนแรกนั้นครูสอนคณิตศาสตร์ปรามาสว่า “เธอคงไม่มีวันหรอกที่จะคำนวณอะไรได้ถูกต้องเลย!”  ในขณะที่เด็กอีกคนหนึ่ง ก็ถูกครูของเขาส่ายหน้าออกปากบอกกับแม่ของเขาว่า “เด็กคนนี้ ไม่มีทางจะทำอะไรสำเร็จสักอย่าง!” (เชื่อเถอะ)  หากแม่และผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กเชื่อตามคำตัดสินของครู ในวันนี้โลกคงจะไม่ได้รู้จักยอดอัจฉริยะนามก้องโลก 2 คน เนื่องจากเด็กชายทั้งสองคนต่างไม่ผ่านเกณฑ์การวัดและประเมินผลของครูและระบบการศึกษาในลักษณะ “พิมพ์เขียว”  เด็กคนแรกที่ชอบเลขคณิตแบบคิดแปลกๆ จนครูรำคาญแล้วสรุปว่าโง่นั้น คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ยอดอัจฉริยะที่คนทั้งโลกรู้จัก  ในขณะที่เด็กคนหลังซึ่งครูบอกว่าไม่มีวันทำอะไรสำเร็จ ได้รับการดูแลอบรมจากแม่ของเขาเองที่บ้าน กระทั่งเติบโตเป็นนักประดิษฐ์ผู้นำแสงสว่างมาสู่โลกยามค่ำคืน เป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ในชื่อของเขามากกว่า 1 พันชิ้น  ใช่แล้ว โธมัส เอดิสัน นั่นเอง

ยังมีคนเก่งในด้านต่างๆ อีกมาก เช่น ไอแซค นิวตัน, ปิกัสโซ, วินสตัน เชอร์ชิล ฯลฯ ที่ต่างเป็นเด็กโง่ของครูหรือแม้แต่พ่อแม่ที่ปราศจากความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติของเด็กและกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ (“15 celebrated persons who had miserable report cards” in Book of Lists by Irving Wallace)  จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายและน่าใจหายไปพร้อมๆ กัน เมื่อคิดว่า ไม่รู้จะมีเด็กอีกมากเท่าไรที่ต้องสูญเสีย “ความเป็นอัจฉริยะตามธรรมชาติของมนุษย์” ไปให้กับกระบวนการอบรมเลี้ยงดูและการศึกษาในระบบโรงเรียนที่ผ่านมา

ตัวอย่างที่ยกมา แสดงว่ามิใช่เฉพาะบ้านเราที่ครูไม่เข้าใจ แม้แต่เมืองฝรั่งเองก็มีปัญหาเดียวกัน  เนื่องจากการจะอบรมบ่มเพาะให้ศักยภาพตามธรรมชาติของเด็กปรากฎเป็นความสามารถในด้านต่างๆ นั้น เงื่อนไขสำคัญและจำเป็นเบื้องแรกที่ผู้ใหญ่จะต้องมี คือทัศนะและความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์  พุทธศาสนามีฐานคิดในทางเดียวกับสำนวนจีนที่ยกมาตอนต้น คือ เชื่อมั่นในศักยภาพอันสูงส่งของมนุษย์  หากมิใช่เฉพาะในทางโลก ดังความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ ฯลฯ  แต่ที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น คือเชื่อในศักยภาพและความสามารถทางจิตวิญญาณ ว่ามนุษย์สามารถที่จะเรียนรู้จนกระทั่งเข้าถึงหรือหยั่งถึงความจริงหรือสภาวะอันเป็นไปของโลก จนกระทั่งนำความรู้นั้นมาพัฒนาและจัดระเบียบชีวิตของบุคคลแต่ละคนและของสังคมให้อยู่ร่วมกันกับสังคมอื่น และสรรพชีวิตอื่นในระบบนิเวศได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

เด็กบางคนที่ถูกมองว่าโง่อาจกลายเป็นคนฉลาดล้ำลึกในเวลาต่อมาได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ฝึกเข้าใจและเข้าถึงเด็กคนนั้นได้มากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ทัศนะ ความเชื่อดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาศักยภาพอันสูงสุดของมนุษย์ให้เกิดขึ้น หากขาดเสียซึ่งความรู้ความเข้าใจที่สำคัญมากที่สุดอีกประการหนึ่งคือ เข้าใจว่ามนุษย์มีความหลากหลายแตกต่างกันตามสภาพของธรรมชาติที่มีความหลากหลายเป็นลักษณะสำคัญพื้นฐาน (ที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือความหลากหลายของระบบนิเวศ)  มนุษย์แต่ละคนและแต่ละสังคม  จึงมีพื้นฐานทางกายภาพ (ร่างกาย สมอง ) และวัฒนธรรม ฯลฯ ที่แตกต่างกันมาก  ไม่สามารถอบรมขัดเกลาแบบช้างม้าวัวควาย คือทำเหมือนกันหมด และฝึกเท่าไรขีดจำกัดความสามารถของมันก็มีเพียงแค่นั้น

ระบบการศึกษาแบบเดิม ได้ละเลยข้อเท็จจริงประการนี้ไป เราจึงจัดการศึกษาแบบบังคับให้เด็กเหมือนกันหมดอันผิดธรรมชาติ  ไม่สนใจความถนัด ความชอบของเด็กที่แตกต่างกัน และช่วงการเรียนรู้ที่ไม่เท่ากัน (เด็กบางคนเรียนเลขเข้าใจใน 1 คาบ บางคนอาจต้อง 3 คาบ)  เราจึงมีเด็ก (ที่ถูกทำให้) โง่ในทุกชั้นเรียน หรือมีเด็กที่ถูกจัดให้เป็นหางกะทิ โดยตัดสินจากทัศนะมุมมองของผู้สอน และระบบการศึกษาที่จัดขึ้นที่เพ่งมองจากความเชื่อว่า เด็กเก่งเด็กฉลาดต้องเก่งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์  ต้องเชื่อครูมากกว่าถามครู ฯลฯ  ระบบการศึกษาแบบที่มีผู้สอนเป็นศูนย์กลาง จึงเป็นการศึกษาที่ละเลยความจริงของธรรมชาติ  โดยยังไม่ต้องพูดไปถึงว่า ระบบการศึกษาที่ให้โรงเรียน-มหาวิทยาลัย (หรืออินเทอร์เน็ต) เป็นศูนย์กลางผูกขาด “ความรู้” ก็เป็นระบบที่ผิดธรรมชาติเช่นกัน  เพราะปฏิเสธแหล่งความรู้ ผู้รู้ และความรู้ประเภทอื่นๆ ที่มีอยู่รอบตัวและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์  ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องปฏิรูปการศึกษากันใหม่ ให้มีระบบซึ่งยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ (child-centered) เพื่อตอบสนองต่อความหลากหลายแตกต่างกันของเด็ก  และต้องสร้างหลักสูตรการศึกษาท้องถิ่นขึ้น เพื่อให้มีความรู้ผู้รู้และการเรียนรู้ที่หลากหลาย สอดคล้องกับชีวิต-ชุมชนที่แตกต่างกัน

ดังนั้น ทั้ง child-centered และหลักสูตรท้องถิ่น จึงมีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความหลากหลายตามธรรมชาติของสรรพสิ่ง  มิใช่เป็นเพียงรูปแบบใหม่ที่ดำเนินการด้วยทัศนะ ความเชื่อ ค่านิยมแบบเก่า ไม่ว่าในด้านความเก่ง-ความฉลาด หรือความรู้-ผู้รู้แบบเดิมๆ  วลีว่า “ควายเซ็นเตอร์” ซึ่งเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งเรียกล้อเลียน ช่วยสะท้อนให้สังคมรู้ว่า มีคนอีกไม่น้อยยังเข้าใจระบบการเรียนดังกล่าวแต่เพียงรูปแบบสำเร็จรูป โดยจับสาระสำคัญทางความคิดไม่ได้  โดยเฉพาะครู (ซึ่งรายงานของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่าครูกว่า 60% ไม่เข้าใจ)  การอบรมให้ครูและผู้เกี่ยวข้องเข้าใจ จึงมิใช่เข้าใจรูปแบบ เทคนิค แต่ต้องเข้าใจไปถึงรากฐานแห่งความคิดใหม่นี้ การทำใหม่จึงจะเกิดอย่างมีคุณภาพได้

ช่วยกันจับตาการปฏิรูปฯ ก่อนที่ระบบการศึกษาจะสร้าง “เด็กโง่” ให้เราสูญเสียมากไปกว่านี้  และก่อนที่สังคมจะมีแต่คนอยากเป็นหมอ โปรแกรมเมอร์ วิศวกร  เพราะโลกยังต้องการจิตรกร แม่ครัว แม้แต่นักร้องเพลงเพราะๆ ฯลฯ  อย่าทำลายความหลากหลายของโลกและความสุขของเด็กด้วยการศึกษาอีกต่อไปเลย


ภาพประกอบ