สิ่งที่ควรรู้จักก่อนสิ่งใดในชีวิตประจำวัน

คะทาวุธ แวงชัยภูมิ 12 สิงหาคม 2012

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเดินทางของคณะอาจารย์ ลูกศิษย์ ในวรรณกรรมเรื่องไซอิ๋ว ตอนหนึ่งเล่าไว้ว่า

ขณะที่พระถังซัมจั๋ง (อาจารย์) กับซึงหงอคง ตือโป้ยก่าย และซัวเจ๋ง (ลูกศิษย์) เดินทางไปค้นหาและอาราธนาพระไตรปิฎก จากชมพูทวีป (ประเทศอินเดีย) เพื่อนำกลับมาถวายพระเจ้าแผ่นดินจีนสมัยนั้น การเดินทางต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานามากมายที่คอยขัดขวางระหว่างทาง แต่ด้วยความมุ่งมั่น ศรัทธา คณะศิษย์อาจารย์จึงรอดพ้นมาได้และยังคงมุ่งหน้าไปให้ถึงจุดหมาย  มีเรื่องราวอยู่ตอนหนึ่งที่คณะของพระถังซัมจั๋งเดินทางมาถึงภูเขาลูกหนึ่ง ที่นั่นเป็นที่ตั้งของสำนักชื่อถ้ำดอกบัว ซึ่งเป็นที่อาศัยของจอมปีศาจสองพี่น้อง

ปีศาจทั้งสองเมื่อได้ทราบว่าคณะศิษย์อาจารย์จะมาทางสำนักของตน ทั้งยังทราบอีกด้วยว่า พระถังซัมจั๋ง เป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ มีบุญบารมีและมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ จึงมีความอยากที่จะกินเนื้อของพระถังซัมจั๋งให้จงได้  คิดดั่งนั้น จึงให้ปีศาจผู้เป็นน้องแปลงกายเป็นเฒ่าชราทำท่าขาพิการขอขึ้นขี่คอหงอคง  พอปีศาจขึ้นขี่หลัง ซึงหงอคงก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือปีศาจ และปีศาจก็รู้เช่นกันว่าหงอคงรู้ จึงเสกให้ภูเขาสามลูกทับร่างของหงอคงเอาไว้  ส่วนปีศาจผู้พี่ก็ได้ทำการจับตัวตือโป๊ยก่ายและซัวเจ๋งไปขังไว้ พร้อมกับดลบันดาลให้ลมพัดพระถึงซัมจั๋งไปตกอยู่ในถ้ำ หวังที่จะต้มกินเนื้อเสียให้เอร็ดอร่อย

ซึงหงอคงสามารถหลุดออกมาจากภูเขาทั้งสามลูกได้และกำลังจะตามไปช่วยอาจารย์ แต่ก็โดนสมุนสองตนของจอมปีศาจดักรอเล่นงานอยู่ระหว่างทาง  แต่ด้วยความฉลาดของซึงหงอคงจึงหลอกเอาอาวุธของศัตรูมาไว้ได้และจัดการกับสมุนปีศาจทั้งสองเสีย

เมื่อทราบเรื่อง ปีศาจทั้งสองจึงโกรธมาก ส่งปีศาจน้อยออกไปจัดการกับหงอคงอีก แต่ก็พ่ายแพ้ต่อปฏิภาณไหวพริบของเจ้าลิงหงอคงอีก ยิ่งทำให้ปีศาจโกรธมากยิ่งขึ้น จึงต้องออกโรงด้วยตัวเอง สุดท้ายปีศาจทั้งสองก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับซึงหงอคงด้วยอาวุธของตนเองนั่นเอง

ในตอนท้ายก่อนที่คณะของพระถังซัมจั๋งจะเดินทางต่อไปนั้น พรหมท้ายเสียงเล่ากุน (อุเบกขา-ความวางใจเฉย ไม่ยินดียินร้าย) ผู้คอยช่วยเหลือซึงหงอคงและคณะมาตลอดได้กล่าวกับศิษย์ อาจารย์ ว่า

“แม้นคณะไปชมพูทวีป ไม่ผ่านการปราบปรามปีศาจนี้แล้ว ไหนจะบรรลุมรรคผลได้เล่า….”

ท่านที่เคยอ่านหรือได้ฟังเรื่องไซอิ๋วมาแล้ว จะเห็นว่านอกจากจะได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว เรื่องราวของไซอิ๋วยังแฝงไปด้วยปริศนาธรรมต่างๆ ให้เราได้ค้นหา  อย่างตอนที่ได้เล่าไปข้างต้นแล้วนั้น มีท่านผู้รู้ได้ทำการตีปริศนาออกมาเป็นข้อธรรมะว่า ปีศาจทั้งหลายที่คอยเป็นอุปสรรค ขัดขวางการเดินทางไปสู่จุดหมายในครั้งนี้ คือ นิวรณ์ ทั้ง ๕ นั่นเอง  ซึ่งจุดหมายหรือเป้าหมายนั้น ถ้าหากเปรียบในชีวิตประจำวันก็อาจจะเป็นเรื่องของการพัฒนาชีวิต การทำความดีต่างๆ หรืออาจจะเป็นเป้าหมายอันสูงสุดนั่นคือไปสู่พระนิพพาน ซึ่งถ้าหากไม่กำจัดนิวรณ์เหล่านั้นเสีย ก็ยากที่จะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายต่างๆ ได้

โดยทั่วไปเรามักจะรู้จักกับนิวรณ์ ๕ ในฐานะสิ่งที่ทำให้กรรมฐานไม่สำเร็จหรือขัดขวางการฝึกสมาธิภาวนา

ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยได้พูดถึงเรื่องนิวรณ์ นี้ไว้ว่า

“นิวรณ์ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเองหรือเกิดอยู่เองตามสัญชาตญาณและเป็นพื้นฐานของชีวิตฝ่ายมืด (อวิชชา) ซึ่งสัญชาตญาณของสิ่งที่มีชีวิต ก็คือสัญชาตญาณที่จะรู้สึก มีตัวกู มีของกู ไม่ว่าจะแสวงหาอาหาร การต่อสู้ การสืบพันธุ์ คือจะทำทุกอย่างตามที่มันจะรู้สึกได้เองของสัญชาตญาณอันลึกลับของธรรมชาติ

ทีนี้นิวรณ์มันก็พลอยติดมาจากสัญชาตญาณเหล่านั้น”  ซึ่งได้แก่

กามฉันทะ

คือ ความติดในรสอร่อยจากการสัมผัสกับอารมณ์น่าใคร่ น่าพอใจ อย่างขาดความรู้เท่าทัน  โดยทั่วไปแล้ว ความอยากได้รับอารมณ์ที่น่ายินดี น่าพอใจนี้ เป็นความอยากที่ตามสนองอย่างไรก็ไม่รู้จักจบสิ้น

พยาบาท

คือ ความเกลียด ความเคียดแค้น คิดร้าย  แม้การเผชิญหน้าโดยตรงกับอารมณ์นั้นจะผ่านไปแล้ว เหตุการณ์นั้นยังปรากฏขึ้นมารบกวนใจให้ขุ่นได้อยู่เสมอ

ถีนมิทธะ

คือ จิตมีปัจจัยให้ปรุงแต่ง  เมื่อปัจจัยไม่ถูกต้องมันก็เกิดความหดหู่ ห่อเหี่ยว ท้อแท้ใจ เหงาหงอยละเหี่ยใจ เบื่อหน่าย ขาดกำลังใจ ขาดแรงจูงใจ หรืออาการทางกาย คือ ความง่วงซึมหาวนอน อาการมึนตื้อ เฉื่อยช้า

อุทธัจจกุกกุจจะ  

เมื่อปัจจัยเกินพอดีมันก็ฟุ้งซ่าน จนไม่เป็นกำลัง ประหม่า กระวนกระวาย วิตกกังวล คิดเรื่องหนึ่งแล้วก็โดดไปอีกเรื่องหนึ่งหรือคิดเรื่องนั้นวนไปวนมา

วิจิกิจฉา

นิวรณ์ข้อสุดท้ายรบกวนจิตได้มาก ก็คือ ผลของความไม่รู้อย่างแจ่มแจ้ง ความลังเลใจ ความไม่กล้าตัดสินใจ สัญชาตญาณของความไม่รู้

“หากไม่ผ่านการปราบปรามปีศาจนี้แล้ว ไหนจะบรรลุมรรคผลได้เล่า”

ท่านว่าถ้าเรารู้จักนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ให้ดีว่ามันเกิดอยู่เองตามสัญชาตญาณ เกิดมาพร้อมกับชีวิตของเรา และจะนำชีวิตไปสู่ฝ่ายมืด ท่านให้ดูว่านิวรณ์นี้ มันเกิดขึ้นเมื่อไร มีผลกับชีวิตอย่างไร จะหาทางแก้ได้อย่างไร  ซึ่งรายละเอียดส่วนนี้ผู้เขียนจะขอยกเอาประสบการณ์การเรียนรู้ของเยาวชนในโครงการศิลปะเพื่อชีวิตและอิสรภาพของคนรุ่นใหม่ (ป่วน) ของเครือข่ายพุทธิกาฯ มาเล่าสู่กันฟังในครั้งต่อไป

สรุปสุดท้ายสำหรับปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปแล้ว นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ จะต้องมีอยู่ในระดับใดระดับหนึ่งเสมอ  ถ้ามีน้อย คนทั่วไปก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหามากนัก แต่ในยุคสมัยนี้ที่มีความสับสนทางคุณค่ามากและกิเลสของผู้คนถูกปลุกเร้าด้วยสินค้า โฆษณา วัตถุบริโภคต่างๆ ตลอดเวลา เราจึงถูกนิวรณ์รบกวนในระดับที่น่าเป็นห่วง  ยกตัวอย่างรูปธรรมอย่างหนึ่งคือ แม้แต่ตอนเขียนบทความอยู่นี้ ผู้เขียนก็เกิดความอยากโน่นทำนี่แทรกเข้ามา เกิดความคิดลังเลไม่มั่นใจว่าจะเขียนเรื่องนี้อย่างไรดี หรือแม้แต่ตอนนี้ที่ความง่วงเหงาหาวนอนกำลังทำงาน จึงขอจบไว้แค่นี้ก่อนนะครับ เพราะผู้เขียนเองก็กำลังเรียนรู้กับนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ อยู่นั่นเอง


ภาพประกอบ

คะทาวุธ แวงชัยภูมิ

ผู้เขียน: คะทาวุธ แวงชัยภูมิ

การเขียนหนังสือทำให้ผมอยากอ่านหนังสือ แต่ในที่สุดผมก็ได้อ่านมากกว่าได้เขียน อ่านเพื่อจะเขียนให้ได้มากกว่านี้