ขยะนอก ขยะใน

พระวิชิต ธมฺมชิโต 9 มิถุนายน 2013

ความสะอาดเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต้องการ อาจต่างไปบ้างก็ตรงที่ว่าแค่ไหนหรืออย่างไรที่เรียกว่าสะอาด ส่วนเรื่องที่ว่าเราจะมีส่วนร่วมอย่างไรที่จะทำให้เกิดความสะอาดขึ้น ก็ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องพื้นฐานอีกเช่นกันที่คนส่วนใหญ่ “ขี้เกียจ” ทำ ในแทบทุกสังคมจึงต้องมีกระบวนการฝึกฝน อบรม สร้างวินัยให้คนในสังคมตนมีนิสัยรักความสะอาด มีระบบดูแลรักษาความสะอาดในที่สาธารณะ จนถึงกับต้องมีบทลงโทษผู้ที่ทำให้เกิดความสกปรกกันทีเดียว

หลายคนบอกว่าที่อินเดียสกปรกมาก ไม่ว่าบ้านเรือน อาหาร ถนนหนทาง ส้วม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายผู้คน หรืออาจเหมารวมว่าแทบทุกอย่างสกปรก ผู้เขียนก็เห็นด้วยในส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งต้องบอกว่าอาจไม่สกปรกขนาดที่เราคิด แต่ที่รู้สึกเช่นนั้นเพราะคนแต่ละที่มองความสะอาดของตนไม่เหมือนกัน

ชาวบ้านที่นั่นมองความสะอาดไม่เหมือนกับพวกเรา โดยเฉพาะคนที่มีความรู้หรือสนใจเรื่องสุขภาพมากหน่อย เพราะเมื่อพูดถึงความสะอาดเรามักจะนึกถึงการไม่มีเชื้อโรค แม้แต่เชื้อโรคที่ไม่ได้ให้โทษหรืออาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้วยซ้ำเราก็ยังไม่อยากให้มี มิเช่นนั้นสบู่ น้ำยาทำความสะอาดที่ผสมสารต้านเชื้อแบคทีเรียคงไม่แข่งกันผลิตออกมาขายมากมายอย่างที่เห็น

เมื่อเราเห็นคนอินเดียดื่มน้ำจากบ่อโยกริมถนน ตากส่าหรีบนกอหญ้าข้างทาง หรือนั่งคลุกเคล้าปั้นมูลวัวตากแห้งแปะไว้ข้างฝาบ้าน เราอาจร้องยี้! สกปรก ทั้งๆ ที่เชื้อโรคที่เขารับเข้าไปนี้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของเขาหลายด้าน การที่เราไม่ได้สัมผัสกับเชื้อโรคเหล่านี้เลยต่างหากที่เป็นเหตุให้เราท้องเสีย เจ็บคอได้ง่ายกว่าเขา

แม้ใครจะว่าเชื้อโรคไม่มีวิญญาณ ฆ่าไม่บาป แต่สำหรับผู้เขียนเห็นว่า การที่เรารู้ดีว่าเชื้อโรคมีชีวิตและเรามีเจตนากำจัดชีวิตเหล่านั้นได้อย่างไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจเลย มันก็บ่มเพาะนิสัยการมุ่งนึกถึงประโยชน์ของตนอย่างเดียว ละเลยความเดือดร้อนของผู้อื่น รวมทั้งเบียดเบียนชีวิตอื่นได้โดยไม่จำเป็น

ทุกวันนี้เมื่อมีโรคระบาด สิ่งแรกที่เรานึกถึงจึงเป็นการมองหายาฆ่าเชื้อมาขจัดเจ้าวายร้ายนั้น แต่เราแทบจะไม่ใส่ใจกับการออกกำลังกายหรือเลือกกินอาหารที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น หรือมาช่วยกันปรับปรุงสิ่งแวดล้อมหรือปรับปรุงบรรยากาศการทำงานกันใหม่ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่ามีผลดีตามมาอีกมากมายจากการทำเช่นนั้น เหตุเพราะมันเหนื่อยกว่าลำบากกว่าก็เลยไม่สนใจทำ

การที่เราเชื่อมั่นในเทคโนโลยีและความทันสมัยว่า จะมาช่วยให้เรามีชีวิตที่สะดวกสบายและปลอดภัยขึ้นโดยไม่ต้องเหนื่อยยากลำบากกาย ทำให้เราละเลยการมองไปถึงผลกระทบต่อผู้อื่น ชีวิตอื่น และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมโดยรวม

ความสกปรกในอีกด้านหนึ่งที่นอกเหนือไปจากเชื้อโรคคือขยะมูลฝอย ที่มาพร้อมความทันสมัยแต่ขาดความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

คนในชนบทอินเดียเลือกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถ้วย/กล่องโฟมหรือพลาสติกแทนถ้วยดิน ภาชนะทองเหลือง หรือใบไม้ที่ใช้ห่อของกันมากขึ้น เพราะสะดวกและถูกกว่า ส่วนถุงขนม ซองหมากสำเร็จรูป และสารพัดสินค้าที่ผลิตส่งตรงมาจากโรงงานมาอย่างไรก็ต้องใช้แบบนั้น

แต่นิสัยและความคุ้นเคยในการทิ้งใบไม้ห่อของตรงไหนก็ได้ เพราะเดี๋ยวก็สลายเป็นปุ๋ยไปตามธรรมชาติ เมื่อใช้วัสดุสมัยใหม่ที่ย่อยสลายยาก กับทั้งไม่ได้นึกถึงผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมา ความใส่ใจที่จะลงทุนลงแรงที่จะจัดการกับวัสดุเหลือใช้เหล่านั้นจึงไม่มี ทุกวันนี้จึงเห็นขยะถุงพลาสติก โฟม ถุงขนม ทิ้งเกลื่อนกลาดไปทุกหนแห่ง

หลายท่านที่ไปแสวงบุญที่แดนพุทธภูมิถึงกับส่ายหัว เพราะรวบรวมขยะใส่ถุงไว้อย่างดีแต่หาที่ทิ้งไม่ได้ หรือรู้ภายหลังว่าที่เด็กรถเก็บกวาดให้จนรถสะอาดนั้น จริงๆ เขาก็โกยไปทิ้งไว้ข้างทางที่เราเห็นขยะเกลื่อนนั่นแหละ

ธรรมะก็คล้ายๆ เรื่องความสะอาด ใครๆ ก็ชอบคนใจดีมีธรรมะ เมืองไหนคนมีศีลธรรมก็จะปลอดภัย ใครก็อยากอยู่อยากไปเยี่ยมเยือน แต่การจะเป็นคนดีเสียเองกลับเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยอยากทำ สังคมจึงต้องสร้างกฎระเบียบจัดการฝึกฝนกล่อมเกลาผู้คนของตนให้เป็นคนดี

แม้ธรรมะจะไม่ล้าสมัย แต่ระบบศีลธรรมที่เราเคยใช้กันแต่เดิมก็คล้ายกับวิธีกำจัดขยะแบบโบราณ ที่อาจไม่เพียงพอต่อการจัดการกับปัญหาใหม่ๆ ที่ติดตามมาพร้อมกับเทคโนโลยี ทำให้เกิดขยะทางศีลธรรมกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ส่งผลกระทบทั้งต่อเราเองและสร้างความลำบากเดือดร้อนให้ผู้อื่น

แค่ความก้าวหน้าของโทรศัพท์มือถือที่พัฒนากันจนกลายเป็นสมาร์ทโฟน รองรับการเติบโตของเครือข่ายทางสังคมในโลกออนไลน์ ที่ดูคล้ายกับไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยกับใคร แถมยังสร้างความอบอุ่นใกล้ชิดโยงใยผู้คนเข้าหากันง่ายขึ้น แต่ผลของมันกลับทำให้คนว้าเหว่มากขึ้น อยู่คนเดียวโดยไม่ติดต่อกับใครไม่ได้  เขาอาจมีเพื่อนออนไลน์มากมายแต่ไม่ได้คุยหรือคุยกับคนรอบข้างไม่ได้ ความสุขที่เราควรหาได้เองก็ต้องไปขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่กด like เข้ามา

คนถือกล้องจำนวนมากแทบไม่รู้ตัวว่าเป็น “มาร” ขัดขวางการปฏิบัติธรรม เพราะพยายามเข้าไปหา “มุมกล้องดีๆ” แต่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว หรืออาจส่งเสียงรบกวนความสงบของผู้อื่น ยิ่งไปกว่านั้นการต้องการ “สร้างภาพ” ให้ได้ภาพสวยๆ ไปอวดใครๆ ในหลายสถานการณ์อาจเบียดบังสิ่งดีๆ ที่ควรเกิดไม่ให้เกิดขึ้นด้วย

ความหลงใหลในชีวิตที่สะดวกสบาย ทำให้เราละเลยผลกระทบต่อสังคมโดยรวม

ความสกปรกที่หรือขยะที่อยู่ภายนอกนั้นเราเห็นได้ไม่ยาก แต่ขยะที่มาพร้อมกับความทันสมัยหรูหราแต่ค่อยๆ ทิ้งสิ่งเศร้าหมองเล็กๆ น้อยๆ ไว้ในใจเรานั้นเห็นยากและขจัดยากกว่าหลายเท่า เราต้องช่วยกันหาเครื่องมือทางศีลธรรมมาขยายให้เห็นคราบความสกปรกเหล่านี้ แล้วก็ช่วยกันจำกัดควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ไม่แน่ว่าความไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของพวกเรา รวมถึงการหักห้ามใจตนเองไม่ได้ การไม่มีสมาธิ ขาดสตินั้น ก็เป็นผลจากพิษร้ายจากขยะในใจที่เราเองขวนขวายเติมเข้าไปนั่นเอง


ภาพประกอบ