ถ้าไม่ไปห้างสรรพสินค้า พวกเขาจะอยู่ที่ไหน

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 3 กรกฎาคม 2004

ความยากลำบากของวัยรุ่นคือ เขาไม่ใช่เด็ก แต่ก็ยังมีความเป็นเด็ก มีร่างกายที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่จิตใจยังเติบโตไม่ทัน พวกเขารู้เท่าไม่ถึงการณ์ในหลายเรื่องแต่คิดว่าตัวเองรู้  วัยรุ่นมีหน้าที่สำคัญต่อตนเอง คือการหาเอกลักษณ์ให้กับตนเอง และแสวงหาการยอมรับจากสังคมที่แวดล้อม เพื่อให้เขารู้ว่าเขาควรมีหรือควรยึดถืออัตลักษณ์ใดเพื่อบอกความเป็นตัวเองทั้งในเรื่องบุคลิกภาพต่างๆ เช่น การแต่งกาย การมีวัตถุสิ่งของในครอบครอง รูปแบบการใช้ชีวิต ตลอดจนระบบคุณค่า และค่านิยมเพื่อให้เขามีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้พวกเขามั่นใจว่าเขาจะได้รับการยอมรับ และรู้สึกภาคภูมิใจได้กับความเป็นตัวเขา

ขณะเดียวกัน ภาวะความเป็นวัยรุ่นทำให้พวกเขาต้องการเป็นบุคคลอิสระ แยกตัวออกจากพ่อแม่ ปัญหาคือ พื้นที่นอกบ้านนั้นปลอดภัยหรือ โชคร้ายสำหรับวัยรุ่นไทย (และรวมถึงสังคมไทย) ก็คือ พวกเขากำลังถูกโอบล้อมด้วยพื้นที่แห่งความชั่ว  งานวิจัยของศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แจกแจงลักษณะของพื้นที่แห่งความชั่วนี้ว่า วัยรุ่นไทยกำลังตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ ๑) รู้สึกเก็บกดจากภาวะครอบครัวที่แตกแยกมากขึ้น ๒) สถาบันศาสนาไม่สามารถเป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจได้เท่าที่ควร ๓) สื่อลามกทั้งจากเว็บไซต์ต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต สื่อการ์ตูน สื่อวีดีทัศน์ที่นำเสนอสาระความรุนแรงและกระตุ้นความต้องการทางเพศสามารถเข้าถึงได้ง่าย ๔) กระแสบริโภคนิยมที่เน้นความต้องการทางวัตถุเป็นใหญ่ ๕) การศึกษาที่เน้นการแข่งขัน มีผู้ชนะ-ผู้แพ้ ๖) การวิธีคิดที่สุดขั้ว “ถูก-ผิด ดำ-ขาว” และ ๗) การโอบล้อมด้วยสภาพแวดล้อมพื้นที่แห่งความชั่ว

วิจารณญาณที่ยังขาดความรอบคอบ สติปัญญาที่ยังไม่มากพอของวัยรุ่น รวมไปถึงการมุ่งแสวงหาการยอมรับและฟังเพื่อนมากกว่าใครอื่น ความต้องการเป็นอิสระจากพ่อแม่ ตลอดจนการเติบโตของสภาพร่างกายทำให้วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่อยู่ในภาวะความผันผวนทางอารมณ์ที่มีความรู้สึกรุนแรงทั้งกับภาวะสับสน ไม่เข้าใจตนเองและต้องการลองผิดลองถูก  ช่วงสำคัญเช่นนี้วัยรุ่นต้องการปัจจัยสนับสนุนต่างๆ มากมาย ดังเช่น โอกาสในการเรียนรู้ ความเข้าใจจากคนรอบข้าง แบบอย่างที่ดีงามของคนในครอบครัวและสังคมแวดล้อม รวมไปถึงสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมที่ไม่ก้าวร้าว เปิดโอกาสและยอมรับการแสดงออกของวัยรุ่น เพื่อให้วัยรุ่นสามารถหล่อหลอมและเติบโตเป็นบุคคลที่มีการเติบโตทางวุมิภาวะและมีจริยธรรมดีงาม

แต่จากงานวิจัยดังกล่าวและจากข่าวสารในชิวิตประจำวัน คงเห็นได้ว่าวัยรุ่นไทยกำลังถูกล้อมรอบด้วยสภาพปัจจัยทางสังคมที่คุกคามและทำร้ายพวกเขามากกว่า วัยรุ่นไทยก็ไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ พวกเขาเลือกที่จะไปอยู่ในสถานที่ที่พวกเขารู้สึกว่ามีความสุข ได้รับการยอมรับจากเพื่อน จากกลุ่มสังกัด และดังนั้นด้วยวิถีทางใดๆ ที่วัยรุ่นคิดว่าจะทำให้พวกเขาได้รับความสุข และการยอมรับ รวมไปถึงการตอบโต้ กำจัดความอึดอัดคับข้องในจิตใจจากภาวะความยากจน การขาดความอบอุ่นในครอบครัว และการเป็นผู้แพ้ในเวทีแข่งขัน วัยรุ่นก็ยินดีทำทุกๆ อย่างเพื่อให้ได้ความสุขและการยอมรับดังกล่าว

รวมไปถึงการขจัดความอึดอัดคับข้องในจิตใจจากสาเหตุใดก็ตาม ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งจากการใช้ยาเสพติด การหาความสุขจากเพศสัมพันธ์ การค้าประเวณี การแก้แค้นต่อสังคม การเสพสื่อลามก การพนัน รวมถึงบูชาการบริโภค  รายงานการวิจัยยังเสนอด้วยว่าในกลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้ โดยรวมร้อยละ ๖๐ ใช้ชีวิตตามห้างสรรพสินค้า ดูภาพยนตร์ มีมือถือในครอบครอง นิยมอาหารแดกด่วน และใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการพูดคุยและเล่มเกม  รวมไปถึงร้อยละ ๔๕ ไม่ไปทำบุญ ตักบาตร ร้อยละ ๖๕ ไม่เคยฟังพระเทศน์  การที่วัยรุ่นเลือกที่จะใช้ชิวิตอยู่ในห้างสรรพสินค้า กิน-ดื่ม-เที่ยวและเสพสิ่งบันเทิงต่างในห้างสรรพสินค้า มากกว่าไปวัดเพื่อทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ศึกษาธรรมะ ฯลฯ จึงมิใช่เรื่องไร้เหตุผลหรือเป็นความผิดพลาดโง่เง่าของวัยรุ่นแต่ฝ่ายเดียว ในเมื่อสภาพแวดล้อมสังคมหล่อหลอมให้วัยรุ่นสนใจและต้องการความสุขร้อนแรง รวดเร็วจากห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นแหล่งตอบสนองความสุขเหล่านี้

วัยรุ่นก็ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ พวกเขาเลือกที่จะไปอยู่ในสถานที่ที่พวกเขารู้สึกว่ามีความสุข และได้รับการยอมรับมากกว่า

ในส่วนสถาบันศาสนาทั้งวัดและพระสงฆ์ก็ไม่ได้เดือดร้อนเท่าใดหรือมีความจำเป็นต้องปรับตัวแต่อย่างใดหากวัยรุ่นไม่เข้าวัด หรือหากวัยรุ่นต้องเข้าวัดก็เป็นการบังคับกะเกณท์ตามนโยบายรัฐ ซึ่งก็ไม่เกิดประโยชน์มากนัก  และเมื่อวัดไม่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะที่วัยรุ่นอยากเข้าไปพักพิง พื้นที่สาธารณะอื่นๆ เช่น ห้องสมุด สนามกีฬา สวนสาธารณะ พิพิธภัณท์ ฯลฯ ซึ่งมีความหมายต่อการเติบโตของวัยรุ่นก็ไม่ได้มีมากพอ หรือคุณภาพเพียงพอต่อความต้องการของวัยรุ่น

เมื่อวัยรุ่นไทยมีลักษณะโดยรวมเช่นนี้ อนาคตของสังคมไทยคงไม่ใช่อนาคตที่สดใสนัก แต่คงเป็นอนาคตที่มีปัญหารุมเร้าและรุนแรง  ใครจะเป็นผู้ถอดสลักระเบิดเวลาเหล่านี้ หรือลดทอนผลกระทบความรุนแรงดังกล่าวได้บ้าง แน่นอนว่าหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่โดยตรงในกำจัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชน แต่ข้อจำกัดในบทบาทวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศที่ดูคล้ายเป็น “พ่อค้า” หรือ “ผู้ประกอบการ” มากกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหรือผู้บริหารประเทศ สภาพปัญหาวัยรุ่นจากงานวิจัยดังกล่าวคงยากที่จะได้รับการใส่ใจ ยกเว้นแต่ปัญหาวัยรุ่นจะสามารถสร้างภาพลักษณ์การตลาดที่ดีหรือมีนโยบายเอื้ออาทรสักอย่างที่ให้ประโยชน์ทางธุรกิจได้

ผู้เขียนเห็นว่าพวกเราคงต้องพยายามพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด และจุดเริ่มต้นก็คือ การแสวงหาความจริงเพื่อเป็นความรู้ ความเข้าใจให้เราได้เดินทางและลงมือกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งรวมถึงการเรียกร้องนโยบายรัฐให้ใส่ใจปัญหาสังคมมากกว่านี้  จุดเริ่มต้นคือ การทำบทบาทของพ่อแม่ที่ดี และเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคม ด้วยการประพฤติตัวเป็นแบบอย่าง ระลึกและย้ำเตือนตนเองเสมอว่า เด็กและเยาวชนพวกเขาเรียนรู้จากแบบอย่างในสังคม จากการกระทำของผู้ใหญ่ในสังคม รวมถึงจากนักร้อง นักแสดง ละครทีวี เกมส์โชว์ สื่อสารมวลชนที่โอบล้อมพวกเขาอยู่

สายใยที่จะยึดโยงและเป็นภูมิคุ้มกันให้กับวัยรุ่นไทย คือ การทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาเป็นบุคคลที่มีความหมายอย่างยิ่ง  ถ้าผู้ใหญ่ในสังคมมีทัศนะว่าวัยรุ่นที่ก่อปัญหากับสังคมเป็นเนื้อร้ายที่ต้องผ่าตัดต้องกำจัด วัยรุ่นเหล่านี้ก็ต้องตอบโต้ที่จะปกป้องตนเอง และต่อต้านกับสังคมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นรูปธรรมปัญหาต่างๆ ของวัยรุ่น เวทีของการแก้ไขปัญหาจึงไม่มีผู้ชนะ-ผู้แพ้ มีแต่เวทีของผู้แพ้-ผู้แพ้ หากเรายังยึดทัศนะข้างต้น  แต่หากเราปรับเปลี่ยนทัศนะเข้าใจวัยรุ่นและสร้างองค์ประกอบ สิ่งแวดล้อมที่ดีแก่พวกเขาได้ สังคมก็จะมีโอกาสมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาที่ทุกฝ่ายต่างเป็นผู้ชนะ-ผู้ชนะ  รักลูกตัวเองอย่างไร ก็ขอให้เผื่อแผ่รักลูกชาวบ้าน เช่นนั้นบ้าง สักน้อยนิดก็ยังดี


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน