พรนั้นสำคัญไฉน

สมเกียรติ มีธรรม 19 มกราคม 2003

ในวันสำคัญของทุกปี ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ วันเกิด หรือวันสำคัญที่เราเริ่มทำอะไร คนไทยมักจะอวยพรให้กันและกันประสบกับความสุขความเจริญในชีวิตการงาน จนกลายเป็นธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติกันทั่วไปเสียแล้ว

การอวยพรให้กันนั้น ผมไม่รู้ว่าเริ่มมาตั้งแต่เมื่อใหร่ แต่ละคนแต่ละยุคสมัยก็มีเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป เว้นเสียแต่คำอวยพรของพระสงฆ์เท่านั้น ที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก อีกทั้งมีความงดงามทางภาษาและลึกซึ้งในเนื้อหาอีกด้วย

ความแตกต่างของคำอวยพร แท้จริงอยู่ที่เนื้อหาและเบื้องหลังความเชื่อนั้นๆ เป็นสำคัญ  ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง และสามารถที่จะดลบันดาลให้เราประสบสมหวังในชีวิตการงานได้ คำอวยพรนั้นก็จะมีเนื้อหาออกไปในลักษณะของการอ้อนวอนร้องขอ  ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่สามารถดลบันดาลให้ได้ ถ้าเราไม่ลงมือปฎิบัติ คำอวยพรนั้นก็ไม่เป็นไปในลักษณะของการอ้อนวอนร้องขอ

ในแวดวงพระสงฆ์ การให้พรหลังจากรับปัจจัยทานจากฆราวาสเป็นภาษาบาลี ไม่รู้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือว่าในสมัยสมเด็จพระสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสก็ไม่ทราบได้ ผมพลิกไปดูในพระไตรปิฎกก็ไม่เห็นมี  ทุกครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จไปฉันบ้านคนโน้นคนนี้ ก็มีแต่เทศนาพระธรรม พอฉันเสร็จก็กลับอารามโดยไม่ได้ให้พรเลย หรือว่าคำเทศนาที่พระพุทธองค์สั่งสอนนั้น คือคำอวยพรอันประเสริฐแล้วก็ไม่ทราบได้ ถ้าใช่ทำไมแตกต่างจากคำอวยพรในปัจจุบันมาก เรื่องนี้ต้องขอฝากผู้รู้ช่วยดูให้ด้วยนะครับ

ผมอยากกลับมาพูดถึงความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังของคำอวยพรนั้นๆ ที่ปรากฎออกมาดังเนื้อหาที่เราใช้กันในขณะนี้ ผมเองไม่มีข้อมูลที่นำมายืนยันให้ใครต่อใครเชื่ออย่างผมหรอกครับว่า ความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังคำอวยพรนั้นมาจากไหน เป็นของลัทธิใดบ้าง  แต่อยากจะชวนให้สังเกตคำอวยพร 2 แบบที่มีความแตกต่างกันคือคำหนึ่งบอกว่า “ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงดลบันดาลให้ประสบแต่ความสุขความเจริญ ด้วยอายุ วรรณ สุข พละ” และอีกคำหนึ่งบอกว่า “ขอให้ประสบแด่ความสุขความเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ” มีคำลงท้ายเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันมาก  เส้นแบ่งระหว่างสองคำนี้อยู่ที่นี่ครับ คำว่า “ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงดลบันดาล…” ซึ่งในที่นี้ไม่จำเป็นต้องอธิบายขยายความว่าหมายถึงอะไร ถ้าเรานำไปเทียบเคียงกับคำอวยพรอย่างหลัง ย่อมเห็นความแตกต่างชัดเจนอยู่แล้ว

โดยความเชื่ออย่างหลังนั้น ไม่ได้เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะดลบันดาลอะไรให้ได้หากไม่ลงมือกระทำ (แต่ก็ยังยอมรับว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอยู่จริง) ซึ่งก็ดันไปตรงกับเรื่องความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมในพระพุทธศาสนา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พรใดหากไม่ปฎิบัติก็ไม่อาจนำความสุขความเจริญในชีวิตได้  ถ้าคุณอยากมีความสุขความเจริญก็ให้ปฏิบัติตามหลักธรรม สร้างแต่กรรมดี ละเว้นกรรมชั่ว ถ้าทำเหตุปัจจัยดีแล้วผลก็ย่อมออกมาดี ถ้าเหตุปัจจัยชั่วผลก็ออกมาชั่ว ทำให้เราไม่มีความสุขความเจริญในชีวิตได้

ในแง่นี้หลายท่านอาจมองว่า แล้วทำไมพวกที่โกงกิน มีเงินมีทองมีอำนาจ มีคนนับหน้าถือตาในสังคม ทำไมคนเหล่านั้นจึงมีความสุขความเจริญได้ล่ะ  ในทัศนะผมคิดว่าบุคคลเหล่านั้นไม่มีความสุขความเจริญแท้จริงหรอกครับ ที่เราเห็นกันดาษดื่นนั้นมันของปลอม ความสุขความเจริญที่ละเอียดประณีตดังคำอวยพรนั้น ไม่ไช่ได้มาโดยการเบียดบังคนอื่นหรอกครับ แต่ความสุขความเจริญที่ละเอียดประณีตดังคำอวยพรนั้น จะได้มาโดยการให้ครับ ไม่ใช่การรับ

พอพูดเรื่องนี้ขึ้นมา ก็ทำให้คิดถึงปัญหาสังคมในปัจจุบันที่เราพร่ำบ่นกันว่า สังคมสมัยนี้มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุมาก แต่จิตใจกลับตกต่ำไม่พัฒนาตามไปเลย  ความโลภความหนี่ถี่เหนียว ฯลฯ มีในคนเหล่านี้ทั้งนั้นแหละครับ อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าได้พรตามความเชื่อในพระพุทธศาสนาดอกครับ

พระพุทธศาสนาไม่ได้เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะดลบันดาลอะไรให้ได้หากไม่ลงมือกระทำ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พรใดหากไม่ปฎิบัติก็ไม่อาจนำความสุขความเจริญในชีวิตได้

พรตามความเชื่อแบบพุทธนั้น เมื่อกระทำตามพรแล้วย่อมมาซึ่งความโปร่งโล่งสบาย เป็นอิสระจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง และการได้มาซึ่งความสุขความเจริญนั้น ก็ได้มาโดยสุจริต ไม่ไปเบียดบังฉ้อโกงเอาของคนอื่น จึงจะเข้าข่ายพรในความหมายของพระพุทธศาสนา  นอกจากนั้นการให้พรยังเป็นการเตือนให้เราระลึกถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ไม่ใช่เป็นเพียงแต่การแสดงความยินดีและความปรารถนาดีต่อกันเท่านั้น หากการให้พรเนื่องในโอกาสต่างๆ ของกัลยาณมิตร เป็นการสะกิดเราให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทอีกด้วย

หลักการพิจารณาดูว่าพรไหนสอดคล้องกับความเชื่อในพระพุทธศาสนา ผมคิดว่าน่าจะมีองค์ประกอบคล้ายๆ กับหลักการทำบุญ กล่าวคือในแง่ของผู้ให้และผู้รับก็ต้องพิจารณากันไปตามลำดับ นับตั้งแต่ก่อนให้พร ขณะให้พรและหลังให้พรว่า มีกายวาจาใจที่สุจริตหรือไม่ จากนั้นเมื่อผู้รับนำคำอวยพรไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง ก็ย่อมส่งผลแก่ผู้ปฏิบัติดังที่ผู้ให้และผู้รับปรารถนา  แต่ถ้าผู้ให้และผู้รับไม่มีกายวาจาใจที่สุจริต ทั้งก่อนให้ขณะให้และหลังให้พร ก็ย่อมไม่ทำให้ทั้งสองฝ่ายสมมาดปรารถนาได้ หรือว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่บริสุทธิ์ใจ ก็ทำให้พรไม่สัมฤทธิ์ผลโดยสมบูรณ์

ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ การอวยพรให้กันและกันควรตระหนักในคำอวยพรให้มาก  แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็สะท้อนให้เห็นความเชื่อของเราได้เป็นอย่างดีว่า เรามีพื้นฐานความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดวงชะตาราศี หรือว่าเชื่อกฎแห่งกรรม


ภาพประกอบ