การเติบโต: ความตระหนักรู้กับระบบตรวจสอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 13 มีนาคม 2016

น้ำดี (นามสมมุติ) เป็นลูกสาวคนที่สามของครอบครัวชนชั้นกลางในต่างจังหวัด  น้ำดีก็เหมือนวัยรุ่นทั่วๆ ไป ชอบที่จะสนุกสนาน ใช้เวลานอกบ้านเที่ยวสนุกกับเพื่อน เรียนหนังสือปานกลาง  พ่อแม่พยายามว่ากล่าวตักเตือน เธอก็เชื่อฟังบ้างไม่เชื่อฟังบ้าง  กระทั่งวันหนึ่งเธอบ่นปวดหัวอย่างรุนแรง หมอตรวจพบก้อนเนื้องอกในสมองและจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดด่วน ซึ่งก็มีความเสี่ยงสูงว่าจะเป็นเจ้าหญิงนิทรา แต่ถ้าไม่ผ่าตัด เนื้องอกก็จะกดทับระบบการทำงานของสมองและเสี่ยงที่จะเป็นเนื้อร้าย

เธอจำได้ว่าภาพที่เธอจำได้คือ พ่อกับแม่ร้องไห้ราวหัวใจจะขาด  น้ำดีไม่เข้าใจความหมายของเรื่องราวตอนนั้นนัก เธอจำได้เพียงว่าการผ่าตัดเป็นไปด้วยดี เธอสามารถกลับมาเรียนต่อและใช้ชีวิตตามปกติได้พอสมควร แม้ร่างกายจะไม่แข็งแรงแบบเดิม  การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี คือเธอตั้งใจเรียนมากขึ้น เธอเห็นความรัก ความใส่ใจที่พ่อแม่มีต่อเธอ  เธอสงสัยว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงนี้ เธออาจมองข้าม มองไม่เห็นความรักความใส่ใจที่พ่อแม่มีต่อเธอ แต่ตอนนั้นเธอทำไปโดยไม่ได้ตระหนักรู้อะไรมากนัก คงเพราะสามัญสำนึกมากกว่า

หลายปีผ่านไป น้ำดีมีชีวิตครอบครัวของเธอเอง เธอสูญเสียลูกคนแรกหลังการคลอดได้ไม่นาน ความทุกข์ความเจ็บปวดในจิตใจทำให้เธอเข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่มากขึ้น  สิ่งสำคัญคือ เธอตระหนักรู้มากขึ้นถึงการมีความหมาย มีคุณค่าในตนเอง ตระหนักรู้ว่าการมีอยู่ของตนเองมีความหมายต่อพ่อแม่เพียงใด เหมือนกับที่ลูกที่จากไปมีความหมายต่อเธอ  บทเรียนการสูญเสียลูกทำให้เธอตระหนักชัดขึ้นว่า การกระทำของเธอมันมีความหมายและผลกระทบต่อคนอื่นหรือคนรอบตัวมากมายเพียงใด

แต่ละคนต่างมีเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เหตุการณ์นั้นๆ เราอาจจะเรียกว่าเป็นปัญหา โอกาส ความเสี่ยง ภัยคุกคาม ฯลฯ เราอาจเรียกมันอย่างไรก็ได้ขึ้นกับมุมมอง การตีความ และการให้ความหมายต่อเรื่องราวเหตุการณ์นั้นๆ  หลายเรื่องราวผ่านเข้ามา และเราอาจพบว่ามันเป็นเหตุการณ์ซ้ำๆ นั่นเพราะความเป็นตัวเราที่ยังขาดความสามารถในการรับมือและก้าวข้ามโจทย์ชีวิตข้อนี้

การมีความตระหนักรู้ในตนเอง ในความสัมพันธ์และในบริบทชีวิต ช่วยให้เราตื่นรู้ สามารถทำความเข้าใจเรื่องราวจากมุมมองที่แตกต่าง และมองเห็นทางเลือกที่แตกต่างจากเดิม  ปราศจากความตระหนักรู้ สิ่งที่เราคิด เราเชื่อ เรายึดถือก็จะมีแต่ฐานประสบการณ์ความคุ้นเคยเดิมๆ ความเชื่อ ทัศนคติแบบเดิม  สิ่งเหล่านี้อาจมีความสามารถช่วยเรารับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต แต่เมื่อเวลาผ่านไป บริบทเรื่องราวแตกต่างออกไป เครื่องมือเดิมๆ อาจใช้ไม่ได้ผล  โจทย์ใหม่ที่เข้ามาต้องการแนวทางการรับมือแบบใหม่ ซึ่งนั่นหมายถึงการต้องอาศัย “ความตระหนักรู้”

น้ำดีมักคิดและเชื่อเองเสมอว่า “เธอไม่มีอะไร” เธอทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกันนัก  น้ำดีเป็นคนธรรมดา ด้วยอาชีพพยาบาลทำให้เธอมีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลคนเจ็บไข้ได้ป่วย บางครั้งเธอก็ทำงานด้วยความตั้งใจ แต่หลายครั้งเธอก็หงุดหงิด ก้าวร้าวกับคนไข้บางกลุ่ม  บางครั้งเธอทำงานดูแลคนไข้ด้วยอารมณ์ที่ขุ่นมัว แต่บ่อยครั้งเธอก็พยายามทำหน้าที่และมีเมตตาต่อคนไข้พอสมควร  ยามใดที่เธอมีสติ มีความตระหนักรู้ เข้าใจตนเองและคนรอบข้าง เธอก็ปกป้องตนเองจากนิสัยคุ้นเคยเชิงลบของตนเองได้ และสามารถทำงานด้วยความเมตตากรุณาต่อคนรอบตัวและตนเองได้

ชีวิตของหลายๆ คนก็ไม่แตกต่างจากน้ำดี สิ่งที่แตกต่างอาจจะเป็นบทบาทหน้าที่ ขอบเขตอำนาจ แวดวงเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และคนๆ นั้นควบคุมด้านที่ชั่วร้ายของตนเองได้หรือไม่

การมีอำนาจในมือจากบทบาทหน้าที่ เช่น ข้าราชการ ผู้พิพากษา ทหาร ตำรวจ หรือครูอาจารย์ แพทย์ พยาบาล หมายถึงการมีความสามารถในการเคลื่อนย้ายทรัพยากร  การทุจริตคอร์รัปชั่นโดยโยกย้ายทรัพยากรส่วนรวมมาเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตนเกิดขึ้นได้ง่ายด้วยอำนาจที่มีอยู่ในมือ พร้อมกับการสร้างผลกระทบต่อสังคมด้วยกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนตนก็ทำได้ด้วยการมีอำนาจในมือ

เมื่อมีสติ ตระหนักรู้ เข้าใจตนเองและคนรอบข้าง ก็สามารถปกป้องตนเองจากนิสัยเดิมๆ และสามารถทำงานด้วยความเมตตากรุณาได้

ปราศจากความตระหนักรู้ในชีวิต ในความสัมพันธ์ ในบริบทรอบตัว ความเชื่อเดิมๆ ก็จะพาไปสู่การรับมือแบบเดิมๆ  ยิ่งเรามีอำนาจมากเพียงใด ความจำเป็นในการมีสำนึกรู้ ตระหนักรู้ในตนเอง ถึงตนเองและผลกระทบจากการกระทำของตนยิ่งมีความสำคัญมากเท่านั้น  ยิ่งหากเราเป็นผู้นำของประเทศ มีอำนาจที่สร้างผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบกับผู้คนในสังคม การมีสำนึกและตระหนักรู้ในอำนาจ การมีสติปัญญา รวมถึงการมีจริยธรรมยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอำนาจชวนให้เราหลงทางเสมอๆ

และเพื่อที่จะปกป้องและควบคุมด้านของความหลงในอำนาจและความชั่วร้ายที่มีอยู่ในเราทุกคน การมีระบบตรวจสอบ การมีความโปร่งใส การเปิดโอกาสให้สำรวจตรวจสอบก็เพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือตัวเรา ให้สามารถควบคุมด้านที่ชั่วร้ายของตนเองที่มีอยู่และทำงานเงียบๆ ในตัวเรา จึงมีความจำเป็น

ระบบในที่ทำงานช่วยให้น้ำดีทำงานด้วยความรับผิดชอบ สำนึกและความตระหนักรู้ทำให้น้ำดีทำงานด้วยการเข้าใจตนเอง เข้าใจความหมายและคุณค่าการกระทำของตน  ผู้นำประเทศก็ต้องการระบบกลไกตรวจสอบ เพื่อปกป้องด้านที่ชั่วร้ายของตนไม่ให้มีโอกาสแสดงออก  และสำนึกรู้ ตระหนักรู้ ก็ช่วยให้ผู้นำประเทศเข้าใจได้ว่า เพราะอะไรจึงต้องมีระบบตรวจสอบ

ความตระหนักรู้ช่วยให้เราทำสิ่งที่ดี มีคุณค่าในตนเอง ในสัมพันธภาพและบริบท  พร้อมกับการมีระบบตรวจสอบก็เพื่อช่วยเราปกป้องความหลงในอำนาจ หลงในความเชื่อว่าเราทำดี  เพราะแท้จริง คนที่ทำดี คือคนที่ควบคุมดูแลด้านที่ชั่วร้ายของตนเองได้


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน