เมื่อเรา “ปักธง” มั่ว

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 3 พฤษภาคม 2009

ขอผู้อ่านพิจารณาเรื่องนี้ให้ดีๆ  “นาย ก. กับ นาง ข. เป็นคู่รักที่สัญญาว่าจะแต่งงานกันหลังจากที่นาย ก. กลับจากสงคราม  หลายปีผ่านไป นาง ข. ไม่ทราบข่าวจากนาย ก. เลย จึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากเพื่อนรักของนาย ก. คือ นาย ค. แต่ก็พบเงื่อนไขเลวร้ายคือ นาง ข. ต้องยอมหลับนอนกับนาย ค. เป็นค่าตอบแทน  นาง ข. ตัดสินใจไม่ได้ จึงปรึกษานาง ง. เพื่อนรักของตน แต่ก็ไม่ได้คำตอบใดๆ เพราะนาง ง. อ้างว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ นาง ข. ต้องตัดสินใจและรับผิดชอบเอง  นาง ข. หมดหนทาง ตัดสินใจยอมหลับนอนกับนาย ค. จากนั้นเมื่อกลับบ้านจึงพบ นาย ก. รอคอยอยู่  นาย ก. รู้ความจริงก็ไม่สามารถยอมรับนาง ข. ได้ ขอยกเลิกความสัมพันธ์  จากนั้นไม่นาน นาย ก. ก็ไปแต่งงานกับนาง ง. ทำให้นาง ข. เสียใจมากกับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เธอตัดสินใจฆ่าตัวตาย”

อยากให้ผู้อ่านลองนำเรื่องราวดังกล่าวไปหารือกับเพื่อนๆ สักกลุ่มหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ช่วยกันพิจารณาและหาข้อสรุปร่วมกันว่า ใครคือคนที่ควรถูกประณามมากที่สุด และน้อยที่สุด โดยข้อสรุปต้องเป็นมติเอกฉันท์  ประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยประสบก็คือ การอภิปรายที่ค่อยๆ ดำเนินไป น้ำเสียงจากที่เคยเบาก็เริ่มเข้มข้นและดังขึ้น มุ่งเอาชนะกันมากขึ้น น้ำเสียงเริ่มเจือด้วยอารมณ์ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม  ในที่สุดเมื่อใกล้หมดเวลา บางกลุ่มหาข้อสรุปที่เป็นมติเอกฉันท์ไม่ได้ ขณะที่บางกลุ่มหาข้อสรุปได้โดยที่บางคนในกลุ่มไม่ยินยอมพร้อมใจดีนัก แต่ก็จำยอมอย่างเสียไม่ได้

เราจะหาข้อสรุปจากเรื่องนี้อย่างไรดี จะใช้เหตุผลอะไรและอย่างไรเพื่อหักล้างเหตุผลของอีกฝ่าย  แน่นอนแต่ละคนต่างยึดถือเหตุผลของตนเพื่อเข้าปะทะ ต่อสู้กับความเห็นที่แตกต่าง  หากบางคนเลือกที่จะรับฟังความเห็นที่ต่างออกไป ไม่ยึดมั่นแต่กับความคิดเห็นของตน การร่วมประสานหรือสมานฉันท์ก็พอเป็นไปได้  แต่หากไม่รับฟัง ยึดแต่กับสิ่งที่ต้องการ ผลที่เกิดขึ้นคือ ความแตกร้าว

บ่อยครั้งเรามักมุ่งไปที่เป้าหมาย มุ่งเป้าไปที่สิ่งปรารถนา แต่เราหลงลืมไปว่า กระบวนการหรือเส้นทางที่ไปสู่เป้าหมายก็มีความสำคัญ การหาฉันทามติร่วมมีแนวทางที่จะเกิดขึ้นได้ ด้วยการหาหลักการเบื้องต้นที่ทุกคนตกลงยอมรับร่วมกัน เช่น หลักกฎหมาย หลักรัฐศาสตร์ หลักมนุษยธรรม หลักศีลธรรม หลักค่านิยม หลักผลประโยชน์ หรือแม้แต่หลักพวกพ้อง บุญคุณ ฯลฯ  แต่ละหลักการต่างมีมุมมองและให้คุณค่าที่แตกต่างกัน การได้รับรู้ว่าเรามีมุมมองที่ต่างกัน หลักการที่ต่างกัน จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราได้รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน

ไม่แปลกที่สังคมจะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ความแตกต่างหลากหลายเป็นรากฐานของความเข้มแข็งในสังคม แต่สิ่งนี้กลายเป็นสิ่งเปราะบางเมื่อแต่ละฝ่ายต่างยึดถือว่า ความคิดเห็นของฝ่ายตนคือความถูกต้อง ความเห็นต่างคือสิ่งที่ต้องทำลายล้าง  และเรื่องยิ่งเลวร้าย เมื่อความคิดเห็นหรือข้อมูลมีการผสมความหลอกลวงด้วย  และความเลวร้ายก็ยิ่งทับทวี เมื่อฝ่ายหนึ่งก้าวล้ำเส้นหลักศีลธรรมด้วยการเบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สิน และความปลอดภัยของอีกฝ่ายหนึ่ง  เมื่อใดที่มีการใช้กำลังเข้าตัดสินปัญหา มีการใช้ความรุนแรงจนเกิดการทำลายชีวิต ทรัพย์สิน และสวัสดิภาพของอีกฝ่าย ความชอบธรรมก็สูญสลายทันที

สำหรับความเป็นมนุษย์และสังคมมนุษย์ เมื่อใดที่หลักศีลธรรมถูกทำลาย ถูกละเมิด นั่นหมายถึงความเสื่อมสลายของสังคมมนุษย์ เพราะแม้ในนามของหลักประชาธิปไตยก็ไม่อาจละเมิดหลักศีลธรรม  สำหรับผู้เขียนและอาจรวมถึงหลายท่านรู้สึกยากลำบากใจกับหลักประชาธิปไตยที่ละเมิดหลักศีลธรรม และขมขื่นกับนักผลประโยชน์หลายท่านที่ยอมกอดคอกับคนทำผิดศีลธรรมเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ขมขื่นและเสียใจเพราะเสียดายคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ถูกทำลายไป

ไม่ว่าฝ่ายเสื้อแดงจะมีเหตุผลอะไร อย่างไร หรือถือหลักความชอบธรรมว่าฝ่ายเสื้อเหลืองทำได้ ฝ่ายตนก็ย่อมทำได้  จะถือหลักนี้หรือไม่ก็ตาม ภาพของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บุกเข้าสถานที่ประชุมอาเซียน พัทยา จนเป็นที่ตื่นตระหนกของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ภาพของกลุ่มคนที่รุมทำร้ายรถและคนขับรถของนายกรัฐมนตรี เนื้อหาถ้อยคำที่แฝงความเท็จของอดีตนายกรัฐมนตรีผ่านวิดีโอลิงค์ การใช้รถแก๊สปิดทางถนนบริเวณแฟลตดินแดง ก็คือตัวอย่างหลักฐานที่แสดงถึงการล้วงล้ำหลักศีลธรรม จากการชุมนุมประท้วงกลับกลายเป็นการก่อจลาจล และเมื่อนั้นความชอบธรรมก็สูญสลายไป

เมื่อใดที่หลักศีลธรรมถูกทำลาย ถูกละเมิด นั่นหมายถึงความเสื่อมสลายของสังคมมนุษย์

ในยามวิกฤติของชีวิต เราทุกคนต่างมีทางเลือกที่แตกต่างกันไป เราอาจเลือกตอบโต้ตามสัญชาตญาณ สู้หรือหนี เราอาจคร่ำครวญ เสียใจ หรือเลือกที่จะแก้แค้น ปล่อยผ่าน หรือเลือกที่จะยิ้มรับ กล้าเผชิญต่อวิกฤตการณ์นั้นเท่าที่สติปัญญาและกำลังจะนำพาไป  วิกฤตการเมืองไทยในช่วง ๑๐ -๑๔ เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้นำประเทศ คือนายกรัฐมนตรี ภายใต้ความร่วมมือของเหล่าผู้นำทหารที่ได้แสดงบทบาทหน้าที่ที่ควรค่าแก่ความภาคภูมิ ไม่ว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือเสียงสรรเสริญเยินยอจะเป็นเช่นใด วิญญูชนย่อมรู้แก่ใจ เพราะความสุจริต คือ เกราะป้องกันภัยที่ดีที่สุด

นายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสูงสุดของผู้นำประเทศ บทบาทสำคัญอันถือเป็นหลักการสำคัญของผู้ดำรงตำแหน่งบทบาทนี้คือ การนำพาสังคมประเทศไปสู่สังคมที่มีความสงบ สันติสุข มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีสวัสดิภาพอันสมควรแก่ฐานะของสมาชิกในสังคม  สังคมมอบอำนาจทางกฎหมาย กำลังพลทั้งตำรวจและทหาร รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมาย และอาจรวมถึงการใช้ความรุนแรงเมื่อถึงเหตุสุดวิสัย หากการไม่ใช้ความรุนแรงจะเป็นสาเหตุของความรุนแรงและความเลวร้ายอื่นๆ  นี่คือหลักการเบื้องต้นที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ แน่นอนรายละเอียดและนิยามความหมายอาจมีความแตกต่างกันไป ซึ่งปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่นายกรัฐมนตรีและผู้นำประเทศฝ่ายทหาร ตำรวจ เลือกที่จะใช้แนวทางที่ลดการทำร้ายชีวิต จนนำไปสู่ความสงบของสังคมในที่สุด

สิ่งที่น่าชื่นชมคือ ในความเป็นมนุษย์นั้น ภายใต้ยามวิกฤติ ปฏิกิริยาของคนเราที่มักเกิดขึ้นคือ ความตื่นกลัว ขุ่นเคือง โกรธแค้น ลิงโลด ท้อแท้ เบื่อหน่าย ฯลฯ ปฎิกิริยาเช่นนี้พร้อมที่จะนำไปสู่การกระทำที่รุนแรง การกระทำที่ขาดการพินิจพิจารณา ขาดการยั้งคิด  คงยากที่จะรับรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างภายใต้ช่วงเวลาวิกฤติเช่นนั้น แต่การที่ฝ่ายทหารและตำรวจสามารถจัดการสลายฝูงชนและคืนสู่ความสงบสุขของสังคมบ้านเมือง ย่อมถือเป็นสิ่งที่พึงน่าชื่นชมและยินดี  และแน่นอนว่าฝ่ายตรวจสอบรัฐบาล เช่น ฝ่ายค้าน ฝ่ายสิทธิมนุษยชน ฯลน ก็สามารถมีสิทธิตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบผลการดำเนินงานของรัฐบาลได้ ภายใต้หลักการสำคัญคือ หลักศีลธรรม ซึ่งหมายถึงจะต้องไม่มีการหลอกลวงโกหกจากฝ่ายใด

หลักศีลธรรม จึงเป็น “ธงชัย” ที่ต้องยึดถือ  เพราะแม้แต่หลักประชาธิปไตยหรือหลักสันติวิธีก็คงจะไร้ความหมาย หากไร้ซึ่งหลักศีลธรรมเบื้องต้น


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน