ในจูฬโคสิงคสาลสูตร (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๒) เล่าไว้ว่า คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยมเยียนพระเถระ ๓ ท่านคือ พระอนุรุทธะ พระนันทิยะ และพระกิมิละ ณ ป่าโคสิงคสาลวัน พระองค์ทรงตรัสถามทั้ง ๓ ท่านว่า “อยู่เป็นสุขสบายดีหรือ มีความพร้อมเพรียงและชื่นชมต่อกันดีอยู่หรือ” ทั้ง ๓ ท่านทูลตอบว่า “อยู่สบายดี และยังมีความชื่นชมต่อกัน เข้ากันได้ดังน้ำกับนม” พระพุทธองค์ทรงถามต่อว่า “ที่เป็นเช่นนั้น เพราะได้อาศัยคุณธรรมอะไรหรือ” ทั้ง ๓ ท่านทูลตอบว่า “เพราะมีเมตตาต่อกันทั้งกาย วาจาและใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง นอกจากนี้ในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติประจำวันก็ถือเอาภารกิจส่วนรวมเป็นเรื่องส่วนตัวไปด้วย ดังเช่นการดูแลเรื่องบิณฑบาตร การเตรียมอาสนะ น้ำฉันน้ำใช้ การล้างทำความสะอาดหลังฉัน เป็นต้นนี้ พวกข้าพระองค์ทั้ง ๓ ก็จะร่วมรับผิดชอบดูแล มิได้คิดว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์ตนส่วนเดียว แต่กลับเป็นประโยชน์ที่เกิดร่วมกับสหพรหมจรรย์ เมื่อเป็นดังนี้ พวกข้าพระองค์จึงรู้สึกว่า นับเป็นลาภอันประเสริฐแท้ๆ ที่ได้อยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์ที่ดีงามเช่นนี้”
เรื่องที่กล่าวมานี้ สะท้อนบรรยากาศการเป็นอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลเป็นสุขสงบ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ทำให้สมาชิกกลุ่มขวนขวายปฏิบัติกิจการงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ไม่ติดขัดด้วยเรื่องขัดแย้งนานาประการ เรื่องที่งดงามนี้ ฟังแล้วรู้สึกแช่มชื่นเบิกบานใจ แต่กลับเป็นสิ่งที่หาได้ยากในเวลานี้ เพราะเมื่อเราหันกลับมาดูบรรยากาศการเป็นอยู่ร่วมกันของคนในกลุ่มองค์กร ชุมชนและสังคมในปัจจุบันนี้ กลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แก่งแย่งแข่งขัน ทะเลาะกันจนแบ่งแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า แต่ละคนคิดถึงแต่ผลประโยชน์ที่ตนจะได้ จิตใจไม่รู้สึกยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นสุขและกำลังก้าวหน้า เป็นต้น
ที่เป็นดังนี้ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็เพราะหลายคนเชื่อว่า หากเราได้ครอบครองประโยชน์ทั้งหลายทั้งปวงไว้สมบูรณ์พร้อม โดยไม่จำต้องใส่ใจว่าผู้อื่นจะเป็นอย่างไรนั้น จะทำให้เราประสบกับความสุข เพราะสามารถใช้จ่ายทรัพย์สินเพื่อหาความสุข หรือใช้อำนาจจากตำแหน่งหรือยศศักดิ์เพื่อบังคับบ่งการให้คนอื่นต้องปฏิบัติตามที่ตนต้องการ ซึ่งอาจจะจริงในบางด้าน แต่เรามักจะลืมหรือมองข้ามความจริงไปว่า มนุษย์เราดำรงอยู่อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แต่ละคนหากทำอะไรไม่ว่าดีหรือร้ายย่อมส่งผลถึงคนอื่น กับสิ่งแวดล้อม และย่อมต้องย้อนกลับมากระทบถึงตนเองไม่มากก็น้อย ดังเช่น หากเราคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว พยายามกอบโกยทรัพย์สินและตำแหน่งไว้เองเกือบทั้งหมด คนที่ขาดแคลนหรือตกต่ำก็ย่อมหาทางแก่งแย่งแข่งขัน จ้องทำลายให้ร้ายกัน ในใจของเราเองก็คงเฝ้าระแวงระวังกลัวคนอื่นจะเข้ามาแย่งชิง ทนไม่ได้ที่เขาแซงหน้าเราไป รวมทั้งคิดจ้องที่จะกอบโกยอยู่ตลอดเวลา จิตใจและบรรยากาศเช่นนี้เราจะเป็นอยู่สุขท่ามกลางความพร้อมสมบูรณ์ของทรัพย์สินและยศตำแหน่งได้จริงหรือ
จิตใจที่คิดจะเอาฝ่ายเดียวนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญที่หล่อเลี้ยงให้มันงอกงามแผ่ไปไกล ก็คือโครงสร้างของกลุ่มองค์กร ชุมชนและสังคมที่ส่งเสริมให้คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน เน้นบรรยากาศแบบต่างคนต่างทำ ต่างไต่เต้าเอาดีกัน ไม่ใส่ใจการทำงานแบบรับผิดชอบร่วมกัน สนใจเพียงแต่สิ่งที่ตนเองจะทำและเน้นทำให้เจ้านายหรือผู้ให้คุณให้โทษมองเห็นเท่านั้น จากนั้นก็เฝ้ารอว่าตนจะได้อะไรเป็นเครื่องตอบแทน หากผลงานสำเร็จก็ขอภูมิใจอยู่คนเดียว และหากผิดพลาดล้มเหลวก็หาทางกล่าวเพ่งโทษคนอื่นเสมอ โครงสร้างเช่นนี้เป็นโครงสร้างที่ลดทอนและทำลายจิตใจที่เมตตาของมนุษย์ไปเกือบสิ้นเชิง
เรามักจะลืมหรือมองข้ามความจริงไปว่า มนุษย์เราดำรงอยู่อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แต่ละคนหากทำอะไรไม่ว่าดีหรือร้ายย่อมส่งผลถึงคนอื่น และย่อมต้องย้อนกลับมากระทบถึงตนเองไม่มากก็น้อย
เรื่องเล่าจากพระสูตรข้างต้น มีข้อคิดที่น่าใคร่ครวญก็คือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้เราคิดและแสดงออกต่อกันด้วยจิตใจที่มีเมตตาเป็นที่ตั้ง พร้อมกับเกิดสำนึกที่จะคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมอย่างสมดุลกับประโยชน์ส่วนตน แต่จิตใจที่เมตตานี้มิได้เกิดขึ้นได้ง่ายในสังคมสมัยใหม่ ดังนั้น เราอาจต้องหมั่นฝึกฝนที่จะคิดพิจารณาอย่างแยบคาย ดังเช่น
๑) คิดและสัมผัสรับรู้อยู่เนืองๆ ว่า การที่เราคิดและแสดงออกด้วยใจที่ตั้งอยู่บนความมุ่งหวังให้คนอื่นเป็นสุขนั้น สิ่งแรกที่ได้รับทันทีเลยคือ ความอิ่มเอมใจ เพราะใจที่ไม่คิดจ้องแต่จะกอบโกย ไม่รู้สึกระแวงหรือจ้องให้ร้ายคนอื่น เราย่อมเป็นสุขได้ทันที ฝึกตระหนักในใจต่อไปว่า หากเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้รับทรัพย์สินและความก้าวหน้าอย่างเพียงพอแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ต่างฝ่ายต่างเริ่มเกื้อกูลกัน นอกจากนั้นเราควรร่วมกันหาอุบายวิธีที่เหมาะสม หากมีบางคนมุ่งคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน พร้อมกับร่วมกันส่งเสริมบรรยากาศที่เน้นประโยชน์ส่วนรวม ด้วยการชื่นชมยินดีต่อผู้ที่คิดและทำเพื่อส่วนรวม
๒) ตรึกคิดในใจอยู่เสมอว่า การคิดและแสดงออกต่อผู้อื่นด้วยใจที่เป็นกุศลย่อมส่งผลในทางที่ดีกับผู้อื่น และย่อมจะย้อนกลับมาที่เราในที่สุด ในทางตรงกันข้าม หากเราคิดและแสดงออกด้วยใจที่เป็นอกุศล ที่สุดแล้วผลร้ายก็ย่อมส่งผลกระทบมาที่เราไม่มากก็น้อย
๓) หากเราคิดและแสดงออกกับผู้อื่นด้วยใจที่มีเมตตาแล้ว ผู้นั้นยังคงเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากหรือตอบกลับด้วยใจที่มุ่งร้าย เราก็พึงพิจารณาและวางใจว่า การเปลี่ยนแปลงภายในของคนย่อมต้องใช้เวลา และคงมีเหตุปัจจัยอีกมากที่ยังหนุนเสริมให้เขาคิดและทำเช่นนั้นอีก หากเราฝึกฝนวางใจได้เช่นนี้แล้ว เราก็จะไม่ถดท้อได้ง่าย และยังอาจช่วยให้เราเพียรพยายามค้นคิดวิธีการที่เหมาะสม หรือสร้างเหตุปัจจัยที่ทำให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย
๔) ฝึกสังเกตและรับรู้ผลอันงอกงามที่เกิดขึ้นภายในใจเรา ทุกครั้งที่เราได้คิดและแสดงออกด้วยจิตใจดังกล่าวข้างต้น พร้อมกับตระหนักรู้ความรู้สึกภายในของเราเวลาเห็นคนอื่นกำลังเป็นสุข
๕) นอกเหนือจากการฝึกฝนการคิดและแสดงออกกับผู้อื่นด้วยจิตใจที่เมตตาแล้ว เรากับเพื่อนร่วมกลุ่มองค์กรควรแสวงหาวิธีการหรือสร้างปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกลุ่มองค์กรที่ส่งเสริมให้คนได้ตระหนักถึงประโยชน์ร่วมของทุกฝ่าย อย่างสมดุลกับประโยชน์ส่วนตน และเป็นโครงสร้างที่เกื้อหนุนให้คนได้คิดและแสดงออกด้วยจิตใจที่เป็นกุศล โครงสร้างกลุ่มองค์กรดังกล่าวนี้อาจหมายถึง ระบบระเบียบ ข้อปฏิบัติของกลุ่มองค์กร อำนาจการตัดสินใจ การจัดความสัมพันธ์ของคนภายในกลุ่มองค์กร เป็นต้น ที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจ มุ่งเน้นให้คนมีส่วนร่วมในการคิดและแลกเปลี่ยน ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ
๖) ที่สำคัญคือ ร่วมรับผิดชอบไม่ว่าผลจะออกมาดีหรือผิดพลาดล้มเหลว ดังเรื่องการให้รางวัลตอบแทนพิเศษก็ควรตกรางวัลแก่คนทั้งกลุ่มทั้งองค์กร แทนที่จะให้รางวัลแบบเจาะจงเป็นรายบุคคล โครงสร้างลักษณะนี้ย่อมนำไปสู่ความรู้สึกภูมิอกภูมิใจร่วมกัน แม้ช่วงที่เกิดปัญหาอุปสรรคก็รู้สึกร่วมที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกัน เป็นสภาพที่ต่างคนต่างรู้สึกดีต่อกัน
ด้วยเหตุนี้โครงสร้างกลุ่มองค์กรที่ดีจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่คอยหล่อเลี้ยงให้คนได้ฝึกฝนที่จะคิดและแสดงออกต่อกันด้วยใจที่มีเมตตาเป็นพื้นฐาน