ในการบรรยายคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าได้รับคำถามจากแพทย์หญิงท่านหนึ่งว่า หากผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต เธอควรทำอย่างไร เนื่องจากมีผู้เตือนว่า หากเธอช่วยเหลือเขา จะเป็นการแทรกแซงกรรมของเขา การกระทำของเธอนั้นแม้เป็นบุญ ก็เป็น “บุญสีดำ” ซึ่งจะเป็นผลร้ายต่อเธอ
แม้ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเรื่อง “บุญสีดำ” มาก่อน (คุ้นแต่คำว่า กรรมดำ กรรมขาว) แต่ไม่รู้สึกแปลกใจกับความเห็นดังกล่าว เนื่องจากระยะหลังได้ยินบ่อยขึ้น ก่อนหน้านี้ก็ได้ยินอาจารย์พยาบาลท่านหนึ่งพูดว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้นอาจทำให้ “เจ้ากรรมนายเวร” ของเขาไม่พอใจ และมาทำร้ายเราได้ เธอมีความเห็นว่า คนใกล้ตายนั้นกำลังชดใช้กรรม ดังนั้นจึงควรปล่อยให้เขารับกรรมไป เธอคงหมายความต่อไปว่า หากเขายังไม่หมดบุญหมดกรรม ก็คงยังไม่ตายง่ายๆ
ความคิดที่ว่า คนใกล้ตายนั้นกำลังชดใช้กรรม ดังนั้นเราจึงควรปล่อยเขาไป (ตามบุญตามกรรม) ไม่ควรยื่นมือไปช่วยเหลือเขา เป็นความคิดที่อันตรายมาก เพราะถ้าเห็นด้วยกับความคิดนี้ ต่อไปเมื่อเห็นใครกำลังจมน้ำตาย เราก็ไม่ควรไปช่วยเขา เห็นคนประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน นอนรอความตาย ก็ไม่ควรพาเขาส่งโรงพยาบาล เห็นใครที่กำลังตายเพราะน้ำท่วมไฟไหม้ ก็ต้องปล่อยเขาไป ถือเสียว่าเป็นกรรมของสัตว์
ถ้าคิดต่อไปตามตรรกะของความเชื่อดังกล่าว ก็หมายความว่า ใครที่กำลังประสบความทุกข์ยากเดือดร้อนแม้จะยังไม่ใกล้ตาย เราก็ไม่ควรช่วยเขา เพราะเขากำลังใช้กรรม (ที่อาจทำไว้ในอดีตชาติ) หากเห็นผู้หญิงกำลังถูกฉุดคร่าอนาจารหรือกระทำชำเรา ก็ควรนิ่งเฉยหรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เห็นคนหิวโหยหรือประสบภัยพิบัติ ก็ต้องปล่อยเขาให้เขาเผชิญทุกข์ตามลำพัง ความคิดดังกล่าวถ้ามองให้สุดสาย ก็เห็นได้ไม่ยากว่า ถ้าคนไทยคิดแบบนี้กันหมด เมืองไทยก็เป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นดินแดนอนารยะสมบูรณ์แบบ เพราะผู้คนอยู่อย่างตัวใครตัวมัน ไม่มีความเมตตาปรานีต่อกันเลย
แม้จะไม่มีความรู้ทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะเรื่องกฎแห่งกรรมเลย ก็น่าจะเห็นได้ไม่ยากว่าความคิดดังกล่าวมีจุดอ่อนอย่างมาก ใครก็ตามที่มีความคิดดังกล่าว ลองนึกภาพว่าหากลูกสาว หรือน้องสาวของตน ถูกฉุดคร่าอนาจารหรือทำร้าย ถ้ามีคนเห็นเหตุการณ์ต่อหน้าต่อตา คุณอยากให้คนเหล่านั้นนิ่งเฉยหรือไม่ และหากเขานิ่งดูดาย โดยให้เหตุผลว่า ลูกสาวหรือน้องสาวของคุณกำลังใช้กรรม จึงไม่อยากแทรกแซงกรรม คุณจะรู้สึกกับคนเหล่านั้นอย่างไร จะว่าไปแล้วไม่ต้องคิดให้ไกลตัว คนที่มีความคิดดังกล่าว หากเห็นลูกของตนกำลังถูกทำร้ายอยู่ต่อหน้า คุณจะอยู่นิ่งเฉยเพราะเห็นว่าลูกกำลังชดใช้กรรมหรือไม่
ถ้าคุณไม่ยอมนิ่งเฉย อีกทั้งไม่อยากให้ใครนิ่งเฉยปล่อยให้ลูกของคุณถูกทำร้ายด้วยเหตุผลดังกล่าว ควรหรือไม่ที่คุณจะนิ่งเฉยเวลาเห็นลูกของคนอื่นเดือดร้อนหรือกำลังจะตายด้วยเหตุผลเดียวกัน
ความคิดดังกล่าวนอกจากจะทำให้ผู้คนไม่อยากเป็นพลเมืองดีแล้ว ยังทำให้คนไทยไม่อยากทำหน้าที่ของตนให้ถึงที่สุดด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่ช่วยชีวิตผู้อื่น เช่น หมอ พยาบาล ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากความคิดเช่นนี้แพร่หลายในหมู่หมอและพยาบาล อะไรจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย (ที่จริงอาจต้องถามต่อไปว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับอาชีพหมอและพยาบาล เพราะในเมื่อเป็นอาชีพที่ต้อง “เสี่ยง” กับการถูกเจ้ากรรมนายเวรหรือ “บุญสีดำ” เล่นงาน จะมีอาชีพนี้ทำไม สู้ไปเป็นวิศวกร ทนายความ หรือนักร้องนักแสดงไม่ดีกว่าหรือ)
ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความคิดดังกล่าวถูกขยายความให้ครอบคลุมไปถึงความพยายามทุกอย่างที่เป็นการช่วยชีวิตผู้คน แม้จะไม่ใช่การลงมือช่วยด้วยตัวเอง แต่เป็นการช่วยในเชิงนโยบาย ก็ถือว่าเป็นการแทรกแซงกรรมที่ส่งผลให้ผู้ช่วยเหลือเดือดร้อนด้วย เมื่อสามปีที่แล้ว แพทย์ใหญ่ท่านหนึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ก็มีการพูดกันในหมู่แพทย์จำนวนหนึ่งว่าเป็นเพราะท่านผลักดันนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรคจนสำเร็จ ทำให้ผู้คนจำนวนมากรอดตาย เจ้ากรรมนายเวรของคนเหล่านั้นจึงหันมาทำร้ายท่านแทน
ความคิดที่ว่า คนใกล้ตายกำลังชดใช้กรรม ดังนั้นเราจึงควรปล่อยเขาไป (ตามบุญตามกรรม) ไม่ควรยื่นมือไปช่วยเหลือเขา เป็นความคิดที่อันตรายมาก
ทุกวันนี้ “เจ้ากรรมนายเวร” เป็นสิ่งที่คนไทยสะพรึงกลัวกันมาก และถูกมองว่าเป็นต้นเหตุแห่งความวิบัตินานาประการของผู้คน แต่ไม่เคยมียุคใดที่ฤทธานุภาพของเจ้ากรรมนายเวรจะขยายขอบเขตกว้างขวางอย่างทุกวันนี้ จนสามารถทำร้ายคนดีที่ช่วยเหลือผู้อื่น โดยมีพฤติกรรมไม่ต่างจากเจ้าพ่อหรือนักเลงที่หากแก้แค้นศัตรูของตนไม่ได้ ก็หันมาเล่นงานคนที่ช่วยเหลือศัตรูของตน
ความคิดแบบนี้จัดว่าเป็นของใหม่ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง และไม่สอดคล้องกับหลักการของพุทธศาสนา จริงอยู่พุทธศาสนาสอนว่า ความชั่วเมื่อได้ทำลงไป ย่อมส่งผลให้ประสบความทุกข์ร้อน หากทำร้ายใครก็ย่อมประสบผลร้ายในเวลาต่อมา ในชาดกมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับผู้เคยมีเวรมีกรรมหรือถูกกระทำในชาติก่อน แล้วมาแก้แค้นกันในชาติถัดมา นั่นคือที่มาของคำว่า เจ้ากรรมนายเวร แต่เจ้ากรรมนายเวรในแง่นี้มิใช่อำนาจมืดที่ทรงฤทธานุภาพและเต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยว พร้อมจะทำร้ายใครก็ตามที่ขัดขวางการแก้แค้นของตนอย่างที่เข้าใจในคนบางกลุ่มเวลานี้
แนวคิดเรื่องเจ้ากรรมนายเวร หากเชื่อแล้วทำให้คนกลัวบาป ไม่กล้าเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเชื่อแล้วทำให้นิ่งดูดาย หรือไม่กล้าช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ ย่อมเป็นอันตรายอย่างยิ่ง อีกทั้งยังขัดกับคำสอนทางพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องเมตตากรุณา และการทำความดี เพราะ “ทำดีย่อมได้ดี” หากทำความดี อุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว ได้รับผลตอบแทนคือประสบเคราะห์จากกรรมนั้น ก็เท่ากับขัดแย้งกับพุทธพจน์ที่ว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
การช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบความทุกข์ยากนั้น หาใช่การแทรกแซงกรรมหรือกฎแห่งกรรมไม่ เพราะถึงอย่างไรกฎแห่งกรรมก็ไม่มีใครสามารถแทรกแซงหรือขัดขวางได้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นกฎธรรมชาติที่แน่นอนตายตัว จริงอยู่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุปัจจัย แต่ก็ไม่สมควรที่เราจะเหมารวมว่า ใครก็ตามที่ประสบความทุกข์ร้อน นั่นเป็นเพราะเขาเคยทำความไม่ดีในอดีตชาติ ดังนั้นจึงต้องปล่อยให้เขารับกรรมไป ใครที่มีความเชื่อเช่นนั้น ก็แสดงว่ากำลังสมาทานลัทธินอกพุทธศาสนาที่ชื่อ “ลัทธิกรรมเก่า” (คือความเชื่อที่ว่า สิ่งใดก็ตามที่ประสบ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ล้วนเป็นเพราะกรรมที่ได้ทำไว้ในปางก่อน)
คนไทยจำนวนมากสมาทานลัทธิกรรมเก่า (ปุพเพกตเหตุวาท) โดยสำคัญผิดว่าเป็นคำสอนทางพุทธศาสนา ดังหลายคนเชื่อว่าความเจ็บป่วยนั้นเป็นผลแห่งกรรมในอดีตชาติ (ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าคนเราเจ็บป่วยด้วยหลายสาเหตุ ไม่ใช่เพราะกรรมอย่างเดียว) แต่น่าแปลกก็ตรงที่ว่าคนที่มีความเชื่อแบบนี้ เวลาล้มป่วยแทนที่จะอยู่นิ่งเฉย กลับแสวงหาการรักษาพยาบาล หรือไม่ก็พยายามเยียวยาตนเอง โดยไม่คิดว่าเป็นการแทรกแซงกรรมแม้แต่น้อย แต่เหตุใดเวลาคนอื่นประสบความทุกข์ยาก จึงกลับวางเฉย ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการแทรกแซงกรรมของเขา
เมื่อเห็นคนประสบความทุกข์ยาก ปุถุชนอย่างเราย่อมไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเขากำลังรับผลกรรมจากอดีตชาติหรือไม่ แต่ถึงรู้ก็สมควรที่เราจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือ เพราะนั่นเป็นคุณธรรมและหน้าที่ที่มนุษย์พึงมีต่อกัน มองอย่างเห็นแก่ตัว หากเราไม่ทำ นั่นก็แสดงว่าเรากำลังสร้างกรรมใหม่ที่เป็นอกุศลกรรมให้แก่ตนเอง ใครจะไปรู้ว่าในวันหน้าหากเราประสบเหตุร้ายแบบเดียวกัน คนอื่นอาจเมินเฉยอย่างเดียวกับที่เราเคยทำกับผู้อื่น หากเราไม่ปรารถนาให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับเรา ก็ไม่ควรทำสิ่งเดียวกันนี้กับผู้อื่น
จริงอยู่ผู้ประสบเภทภัยหรือผู้ป่วยใกล้ตาย อาจกำลังรับผลแห่งกรรมหนักที่เคยทำไว้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราควรจะนิ่งดูดาย แต่หากทำเต็มที่แล้ว ไม่สามารถเยียวยารักษาหรือช่วยเหลือได้ ก็ต้องทำใจปล่อยวาง ถึงตอนนั้นจะบอกว่าเป็นกรรมของเขา เราไม่อาจฝืนกรรมของเขาได้ ก็มิใช่เรื่องเสียหาย ดีกว่าที่จะวางเฉยแต่แรกโดยอ้างว่าเป็นกรรมของสัตว์
แนวคิดเรื่องเจ้ากรรมนายเวร หากเชื่อแล้วทำให้คนกลัวบาป ไม่กล้าเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเชื่อแล้วทำให้นิ่งดูดาย หรือไม่กล้าช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ ย่อมเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเมตตากรุณา กฎแห่งกรรมคือความจริงที่พระพุทธองค์นำมาสอนเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนทำความดี หนีความชั่ว หมั่นสร้างบุญกุศล และเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น รวมทั้งฝึกฝนจิตใจเพื่อให้ลดละความเห็นแก่ตัว จนหลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในตัวตน ทำให้มีเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์อย่างไม่มีประมาณ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ นับวันกฎแห่งกรรมถูกใช้เพื่อส่งเสริมความเห็นแก่ตัว อยู่อย่างตัวใครตัวมัน ไร้น้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ขณะที่บุญกุศลถูกตีความเพื่อส่งเสริมความโลภ (เช่น ทำบุญเพื่อให้ถูกหวยรวยพนัน หรือถวาย ๑๐๐ บาทแต่หวังรวยเป็นล้าน) มุ่งเอาเข้าตัวยิ่งกว่าจะเผื่อแผ่ผู้อื่น
ทัศนคติดังกล่าวลุกลามไปจนถึงขั้นมีความเชื่อในคนบางกลุ่มว่า เราไม่ควรแผ่ส่วนบุญให้ใครมากนัก เพราะจะทำให้บุญของเราเหลือน้อยลง (คนที่คิดเช่นนี้ไม่เข้าใจแม้กระทั่งคำสอนพื้นฐานเรื่องบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ปัตติทานมัย หรือการทำบุญด้วยการการแผ่ส่วนบุญให้ผู้อื่น ซึ่งหมายความว่ายิ่งแผ่ส่วนบุญให้ผู้อื่น เราก็ยิ่งได้บุญมากขึ้น)
สัตว์ที่กำลังรอถูกเชือด หากเราช่วยไถ่ชีวิตเขาออกมาได้ ย่อมถือว่าเป็นบุญฉันใด การช่วยเหลือผู้ใกล้ตายให้มีชีวิตรอด หรือจากไปอย่างสงบ ก็ถือว่าเป็นกุศลฉันนั้น ชาวพุทธไม่มีความคิดว่าการไถ่ชีวิตสัตว์เป็นการแทรกแซงกรรมฉันใด ก็ไม่ควรมองว่าการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์เป็นการขัดขวางกฎแห่งกรรมฉันนั้น