ปราการต้านภัยบริโภคนิยม

พระไพศาล วิสาโล 19 พฤศจิกายน 2006

ลัทธิบริโภคนิยมให้สัญญาแก่เราว่า ยิ่งมีสิ่งเสพสิ่งบริโภคมากเท่าไร ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น  แต่หลายคนพบว่าแม้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นเลย  ตรงกันข้ามกลับมีความทุกข์เท่าเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม  ที่น่าสนใจก็คือทั้งๆ ที่เป็นเช่นนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังหลงใหลในบริโภคนิยมอยู่นั่นเอง  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

กล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือ มนุษย์นั้นมีสัญชาตญาณที่ปรารถนาความสุข  หากเราไม่สามารถได้รับความสุขจากภายใน ก็ย่อมโหยหาความสุขจากภายนอก  วัตถุหรือกามดึงดูดใจผู้คนได้ก็เพราะเหตุนี้ คนจำนวนไม่น้อยเข้าหายาเสพติดก็เพราะเหตุผลเดียวกัน  แต่หากเราสามารถเข้าถึงความสุขภายใน วัตถุหรือกามก็จะมีเสน่ห์น้อยลง

ความสุขภายในนั้นเกิดขึ้นได้เมื่อใจสงบ ปราศจากความเร่าร้อน วิตกกังวล หรือแรงกระตุ้นจากตัณหา  ความรู้จักพอ รู้จักประมาณ หรือยินดีในสิ่งที่ตนมีตนเป็น ที่เรียกว่าสันโดษนั้น เป็นธรรมช่วยน้อมใจให้สงบได้ในเบื้องต้น  ความสงบที่ยิ่งกว่านั้นเกิดขึ้นได้ก็เพราะอำนาจของสมาธิ  สมาธิภาวนาจึงมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยให้จิตมีภูมิคุ้มกันต่อบริโภคนิยม  อย่างไรก็ตามสมาธิภาวนามิได้หมายถึงการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ปิดใจไม่รับรู้สิ่งอื่น  หากยังหมายถึงการทำให้สติมั่นคงงอกงาม  สติช่วยรักษาใจให้เป็นปกติ ไม่กระเพื่อมหรือหวั่นไหวเมื่อถูกกระตุ้นเร้า  เมื่อเกิดความสบายหรือไม่สบาย ก็ตระหนักรู้ ไม่หลงเพลินจนมัวเมาหรือเผลอใจจนเป็นทุกข์

บริโภคนิยมประสบความสำเร็จได้ก็เพราะสามารถกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความอยาก (วัตถุ) ควบคู่กับความไม่พอใจ (ตัวเอง)  เครื่องมือสำคัญในการนี้ก็คือโฆษณา  โฆษณาในปัจจุบันพยายามทำให้คน “คิด” น้อยที่สุด แต่ให้ “รู้สึก” มากที่สุด  เพราะความรู้สึกมีผลต่อการตัดสินใจในการซื้อและเสพสิ่งต่างๆ มากกว่าความคิดด้วยซ้ำ  ดังนั้นโฆษณาในปัจจุบันจึงพุ่งเป้าไปที่อารมณ์ความรู้สึกของผู้คน โดยใช้ภาพเป็นอุปกรณ์สำคัญ  เพราะภาพมีอิทธิพลอย่างมากต่อจิตใจของคน ชนิดที่อาจส่งผลไปถึงจิตไร้สำนึก (โฆษณาในปัจจุบันจึงเน้นภาพมากกว่าตัวหนังสือ)  ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผู้คนเกิดความอยากซื้อสินค้าโดยไม่ต้องคิดหรือโดยไม่รู้ตัว กล่าวอีกนัยหนึ่งคือทำให้ผู้คนใช้ปัญญาหรือมีสติให้น้อยที่สุด

สติจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยรักษาใจไม่ให้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของโฆษณาและบริโภคนิยม  สตินอกจากจะช่วยกำกับใจไม่ให้หลงเพลินไปกับคำโฆษณา หรือไหลไปกับความรู้สึกดีๆ ที่ผูกติดกับผลิตภัณฑ์  หากยังช่วยให้ปัญญาหรือวิจารณญาณกลับคืนมา เพื่อเห็นอีกด้านหนึ่งของคำโฆษณา หรือเห็นความจริงของผลิตภัณฑ์อย่างรอบด้าน ว่า  มีข้อจำกัดอย่างไร มีคุณดังว่าจริงหรือ และก่อให้เกิดภาระอย่างไรบ้างหากจะซื้อหามาบริโภค

สติยังมีบทบาทสำคัญในการเตือนใจให้มีความรู้จักประมาณในการบริโภค ไม่เพลินในรสอร่อยหรือความสบายจากสิ่งเสพ  อีกทั้งยังช่วยรักษาใจให้มีความยินดีในสิ่งที่ตนมีหรือได้มา  คนเราไม่ว่าจะได้เงินหรือวัตถุมามากเท่าไร ก็ยากที่จะพอใจหากเห็นคนอื่นได้มากกว่า  ชาวบ้านได้รับแจกผ้าห่ม ๑ ผืน ทีแรกก็ดีใจแต่กลับไม่พอใจทันทีที่รู้ว่าบ้านอื่นได้ ๒ ผืน  ในทำนองเดียวกัน พนักงานได้โบนัส ๕๐,๐๐๐ บาท ก็ดีใจได้ไม่นาน หากรู้ว่าเพื่อนได้ ๑ แสนบาท  การปล่อยใจให้ไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ย่อมทำให้ยากที่จะพอใจในสิ่งที่ตนมีหรือได้  ต่อเมื่อมีสติ รู้ทันจิตที่ชอบเปรียบเทียบ ไม่เผลอจดจ่อกับสิ่งที่คนอื่นมี ความพอใจในสิ่งที่ตนได้ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยาก  ยิ่งรู้จักมีมุทิตาจิตต่อผู้อื่นที่ได้มากกว่าเรา จิตใจก็จะอิจฉาหรือทุกข์น้อยลง

การรักษาใจให้ปกติ และฝึกฝนตนจนเข้าถึงความสุขจากภายในแล้ว เปรียบได้กับการสร้างภูมิคุ้มกันต่อบริโภคนิยม  อย่างไรก็ตามเราจำเป็นต้องรู้จักกำกับพฤติกรรมของตนให้เกี่ยวข้องกับวัตถุสิ่งเสพอย่างถูกต้องด้วย จึงจะเรียกได้ว่ามีปราการป้องกันภัยจากบริโภคนิยมได้อีกชั้นหนึ่ง

พฤติกรรมนั้นเป็นเรื่องของศีล  เห็นได้จากศีลห้าซึ่งเป็นการควบคุมพฤติกรรมไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น  ส่วนอีก ๓ ข้อที่เพิ่มมาในศีลแปดเป็นการฝึกตนให้มีชีวิตที่เรียบง่าย บริโภคหรือใช้สอยเท่าที่จำเป็น  มิใช่เพื่อปรนเปรอตนหรือเพื่อความเพลิดเพลินทางประสาททั้งห้า

อย่างไรก็ตามการรักษาตนท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม ลำพังศีลแปดย่อมไม่เพียงพอ และอาจไม่เหมาะกับคนทั่วไป  จึงควรมีการคิดค้นศีลหรือข้อปฏิบัติที่เหมาะสมเฉพาะตน  อาทิเช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการบริโภค “ข้อมูล” โดยเฉพาะทางโทรทัศน์  ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโทรทัศน์เป็นเสมือนหน้าต่างสู่โลกแห่งบริโภคนิยม  นอกจากจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการสิ่งเสพสิ่งบริโภคมากมาย ยังแย่งเวลาไปจากกิจกรรมที่มีสารประโยชน์  นับเป็นการสิ้นเปลืองเวลาอย่างมาก  โดยเฉพาะเด็กๆ ทุกวันนี้เฉลี่ยดูโทรทัศน์ถึงวันละ ๕ ชั่วโมง  บางครอบครัวถึงกับปฏิเสธที่จะนำโทรทัศน์เข้าบ้าน  ซึ่งมีผลดีเพิ่มขึ้นมาคือ คนในบ้านมีเวลาปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น แทนที่จะต่างคนต่างดูโทรทัศน์ (ซึ่งอาจมีกันคนละห้อง) และลูกมีเวลาทำการบ้านมากขึ้น  หากจะมีโทรทัศน์ในบ้าน ก็ควรมีข้อกำหนดว่าจะดูรายการอะไรบ้าง วันละกี่ชั่วโมง ตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง  นอกจากโทรทัศน์แล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ ก็สามารถก่อพิษภัยแก่จิตใจได้ เช่น คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เกมออนไลน์ โทรศัพท์มือถือ  ก็ควรมีข้อกำหนดเช่นกันว่า จะใช้ทำอะไรบ้าง นานเท่าไร และใช้อย่างไร

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอย ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน  ทุกวันนี้ผู้คนใช้เงินจับจ่ายและบริโภคโดยใช้ความรู้สึกเป็นหลัก  ดังเห็นได้จากผู้ที่ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า ส่วนใหญ่มิได้คิดมาก่อนว่าจะซื้ออะไรบ้าง  แต่ก็ลงเอยด้วยการซื้อสิ่งต่างๆ มากมาย เพราะตามห้างมีวิธีการสารพัดที่กระตุ้นให้ผู้คนอยากได้อยากซื้อทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น  เช่น การลด แลก แจก แถม รวมทั้งเพิ่มเติมกลิ่นให้เพลินใจ  การมีข้อกำหนดบางอย่างย่อมช่วยให้ไม่เผลอใจซื้อสิ่งของที่ไม่ได้ต้องการมาก่อน  เช่น จัดทำรายการของที่จะซื้อก่อนเข้าห้างทุกครั้ง และไม่ซื้อของที่ไม่ได้อยู่ในรายการดังกล่าว  คนที่ชอบเข้าห้างควรมีข้อกำหนดให้ตัวเองว่า จะเข้าห้างได้ไม่เกินเดือนละกี่ครั้ง  ส่วนคนที่มักห้ามใจไม่อยู่เวลาเข้าห้าง ควรมีวิธีป้องกันตัวเองเช่น ไม่พกเครดิตการ์ดเวลาไปเที่ยวห้าง หรือพกเงินไปไม่มาก  รวมทั้งมีวินัยให้ตัวเองว่าจะไม่ยืมเงินใคร จะซื้อของเท่าที่มีเงิน เป็นต้น

บริโภคนิยมประสบความสำเร็จได้ก็เพราะสามารถกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความอยาก (วัตถุ) ควบคู่กับความไม่พอใจ (ตัวเอง)

ในพุทธศาสนามีศีลประเภทหนึ่ง เรียกว่าปัจจัยสันนิสิตศีล หรือการพิจารณาก่อนบริโภคปัจจัยสี่ว่าบริโภคตรงตามจุดมุ่งหมายของสิ่งนั้นหรือไม่  เช่น ก่อนบริโภคอาหาร ก็พิจารณาว่าพึงบริโภคเพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ มีสุขภาพดีเพื่อประกอบกิจการงานต่างๆ ได้ มิใช่เพื่อความเอร็ดอร่อย หรือเพื่อความโก้เก๋ทันสมัย  แต่ปัจจุบันเรามีสิ่งเสพสิ่งบริโภคมากมายนอกเหนือปัจจัยสี่ จึงควรนำศีลข้อนี้ไปใช้กับการบริโภคใช้สอยสิ่งอื่นด้วย เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ดีวีดี อินเทอร์เน็ต  กล่าวคือ พิจารณาก่อนใช้เพื่อเตือนตนให้ใช้ในทางที่เป็นคุณประโยชน์ มิใช่ก่อโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

ในทำนองเดียวกัน ก่อนจะซื้ออะไรก็ควรพิจารณาก่อนว่า ซื้อเพื่ออะไร  เอาความถูกใจเป็นหลัก หรือคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมด้วย  ถ้าให้ดีควรถามต่อไปด้วยว่า เป็นสิ่งเราต้องการจริงๆ หรือไม่  จะมีโอกาสใช้มันได้มากน้อยเพียงใด  ใช้ทนหรือไม่  มีอยู่กี่ชิ้นแล้วที่บ้าน และมีสิ่งอื่นที่จะใช้แทนได้หรือไม่  นอกจากประโยชน์แล้ว ก็ควรคำนึงถึงภาระหรือผลเสียที่จะตามมา เช่น จะต้องเสียเวลาและเงินทองในการดูแลรักษามากน้อยเพียงใด  เมื่อใช้เสร็จแล้วหรือหมดอายุแล้ว จะทิ้งอย่างไร เป็นปัญหาแก่สิ่งแวดล้อมหรือไม่

การตั้งข้อกำหนดดังกล่าว จะช่วยให้เรามีสติและเกิดปัญญามากขึ้นในการบริโภคใช้สอยสิ่งต่างๆ  ทำให้การบริโภคเป็นประโยชน์แก่เรา  ไม่ตกเป็นเหยื่อของบริโภคนิยมได้ง่ายๆ


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา