ฤาศาสนาคู่กับสงคราม?

พระไพศาล วิสาโล 19 มีนาคม 2006

ในสำนึกของคนทั่วไป ศาสนากับสงครามเป็นสิ่งตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เพราะศาสนานั้นสอนสันติภาพและถือว่าชีวิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง ศาสนากับสงครามมีความเกี่ยวพันกันอย่างมากจนไม่อาจแยกออกเป็นขั้วตรงข้ามอย่างที่เข้าใจกัน

มองในแง่ประวัติศาสตร์  มนุษยชาติได้เผชิญกับสงครามศาสนามานับไม่ถ้วน  มิใช่แค่สงครามครูเสดเมื่อพันปีที่แล้วเท่านั้น ในทุกมุมโลกมีการต่อสู้ระหว่างชนต่างศาสนาหรือต่างนิกายมาโดยตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน  สงครามระหว่างบุชกับบินลาเดนแม้มิได้ประกาศเป็นสงครามศาสนา แต่ทั้งสองฝ่ายก็ล้วนมีพระเจ้าเป็นแรงดลใจหรืออ้างว่าพระเจ้าอยู่ข้างตนทั้งสิ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สัญลักษณ์ทางศาสนาได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสงคราม เช่น การปักรูปเคารพทางศาสนาบนธงศึก  การพกพาไม้กางเขน พระเครื่อง หรือข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอานติดตัวเมื่อเข้าสมรภูมิ  ตลอดจนการทำพิธีทางศาสนาและสวดมนต์ก่อนออกศึก  บางครั้งก็เปล่งพระนามของพระเจ้าหรือนักบุญขณะประจัญบาน  ในยุคกลางของยุโรป ก่อนที่จะปะทะกัน ทหารอังกฤษจะตะโกนประกาศนามนักบุญจอร์จ ขณะที่ทหารฝรั่งเศสประกาศนามนักบุญเดอนีส์ ซึ่งต่างเป็นนักบุญในศาสนาเดียวกัน

บทบาทของศาสนาในสนามรบได้กลายเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งในฐานะสิ่งให้ความชอบธรรมแก่การทำสงคราม และในฐานะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจปัดเป่าภยันตรายและเป็นที่พึ่งทางใจได้  ในยามนี้ใครที่พูดถึงบัญญัติทางศาสนาที่ห้ามฆ่าหรือยกคำสอนของศาสดาที่ให้มนุษย์มีเมตตาต่อกัน  นอกจากเขาจะถูกประณามหรือคัดค้านจากผู้นำทางศาสนาแล้ว ยังอาจถูกลงโทษถึงชีวิต

อย่างไรก็ตาม ศาสนากับสงครามและความรุนแรงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนานกว่านั้น  เมื่อมองย้อนหลังไปยังจุดกำเนิดของศาสนาในยุคแรกๆ ของมนุษย์ เราจะพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งซึ่งนำศาสนาไปสู่การประหัตประหารครั้งแล้วครั้งเล่า  ข้อเท็จจริงนั้นก็คือการบูชายัญมนุษย์  หลักฐานทางโบราณคดีในรอบหลายปีที่ผ่านมายืนยันว่า ในอดีตการบูชายัญมนุษย์ได้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมต่างๆ ของมนุษย์ทุกมุมโลก  ตั้งแต่ระดับชนเผ่าที่อยู่ป่าไปจนถึงระดับอาณาจักรที่มีอารยธรรมสูง เช่น มายา หรือแอซเต็ค

ศาสนาโบราณไม่ว่าของชาวกรีก ฮีบรู และฮินดู ล้วนมีเรื่องราวเกี่ยวกับการบูชายัญมนุษย์  ในมหากาพย์อีเลียดได้พูดถึงการบูชายัญชาวทรอยในพิธีศพของนักรบกรีก  มีเทพปกรณัมกรีกจำนวนมากที่กล่าวถึงการบูชายัญมนุษย์เพื่อบวงสรวงเทพเจ้า  ในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเก่ามีหลายตอนที่กล่าวถึงการบูชายัญมนุษย์เพื่อสักการะพระเจ้า  ในศาสนาฮินดู การบูชายัญมนุษย์มีปรากฏในคัมภีร์พระเวท  นอกจากนั้นการบูชายัญโดยให้ภรรยาโดดเข้าไปในกองเพลิงในพิธีศพของสามียังดำเนินมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ โดยที่ปัจจุบันการจับหญิงพรหมจรรย์มาสังเวยเจ้าแม่กาลีก็ยังมีอยู่ในอินเดีย  เทวสถานบางแห่งในเขมรและลาว เช่น ปราสาทวัดภู ยังมีแท่นหินที่เชื่อว่าใช้ในพิธีบูชายัญมนุษย์

ในหลายวัฒนธรรม ความจำเป็นต้องหามนุษย์มาบูชายัญถวายเทพเจ้า เป็นแรงผลักดันให้ต้องรบพุ่งทำสงครามกัน  ตัวอย่างที่เด่นชัดคือชาวแอซเต็ค  มีหลักฐานในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ว่าได้มีการบูชายัญมนุษย์นับหมื่นคนในพิธีเปิดมหาวิหารทีน็อคทิทลาน  ชาวแอซเต็คเชื่อว่าการบูชายัญมนุษย์จะทำให้จักรวาลดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ  หากไม่มีเลือดมนุษย์ ดวงอาทิตย์จะแห้งผากและโลกจะมืดมิด  แต่จะหามนุษย์จำนวนนับหมื่นมาบูชายัญได้อย่างไร คำตอบคือทำสงครามแย่งชิงเชลยศึกมาถวายเทพเจ้า  จวบจนคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ยังมีผู้พบเห็นชาวดาโฮเมในอาฟริกาทำสงครามเพื่อหามนุษย์มาบูชายัญ

คำถามที่น่าคิดก็คือ ประเพณีบูชายัญมนุษย์เพื่อเทพเจ้าเกิดขึ้นได้อย่างไร  ประเด็นนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเชื่อมโยงกับประเพณีสละชีวิตมนุษย์ให้แก่สัตว์ที่ดุร้าย  ในเทพปกรณัมของกรีกมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการสละมนุษย์ให้เป็นอาหารแก่สัตว์ร้ายเพื่อคนที่เหลือจะได้อยู่อย่างปลอดภัย  เรื่องทำนองนี้มีอยู่ในนิทานทั่วโลก  แต่นอกจากนิทานแล้ว ยังมีบันทึกมากมายที่สอดคล้องกัน  เช่น ในอินเดียชนเผ่าคนท์ (Kondh) จะนำคนที่จับมาได้ (หรือเลี้ยงดูให้โตเพื่อการนี้) มาสังหารเพื่อมอบให้เป็นอาหารแก่เทพทุรคา (ซึ่งขี่เสือ) เพื่อให้หมู่บ้านมีอาหารอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งไม่มีเสือและงูมารังควาน

ศาสนากับสงครามมีความเกี่ยวพันกันอย่างมาก จนไม่อาจแยกออกเป็นขั้วตรงข้ามอย่างที่เข้าใจกัน

น่าสังเกตว่าในศาสนาดั้งเดิมของมนุษย์ยุคบุพกาลนั้น สัตว์ที่ดุร้ายจะเป็นที่เคารพบูชา  เช่น สถานที่บางแห่งในอียิปต์โบราณมีการสักการะสิงโต  ส่วนเสือจากัวร์ได้รับการบูชาในอเมริกากลางและใต้  ชาวฮาวายโบราณบูชาปลาฉลาม  สัตว์ร้ายเหล่านี้จะได้รับเครื่องเซ่นอยู่เป็นนิจ และบางครั้งเครื่องเซ่นก็เป็นมนุษย์  มิชชันนารีชาวโปรตุเกสกล่าวถึงพิธีเซ่นสรวงปลาฉลามที่ปากแม่น้ำฮูกลีของอินเดียในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ โดยเล่าว่าทั้งหญิงและชายจำนวนหนึ่งเดินลงน้ำเพื่อเป็นอาหารของเทพปลาฉลามอย่างสมัครใจ

จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นไปได้หรือไม่ที่ศาสนาของมนุษย์แต่ดั้งเดิมนั้นเกิดจากความกลัวสัตว์ร้ายในป่า  มนุษย์ในเวลานั้นยังไม่มีความรู้และเทคโนโลยีพอที่จะป้องกันตัวจากสัตว์ร้ายที่มีพละกำลังเหนือกว่ามนุษย์มาก  รอบตัวของมนุษย์เต็มไปด้วยอันตรายจากสัตว์ร้ายนานาชนิด  ด้วยความกลัวจึงมีการเซ่นสรวงสัตว์ร้ายเหล่านี้ โดยการหาอาหารมาให้เพื่อมันจะได้ไม่มารบกวนมนุษย์  อาหารเหล่านี้เดิมอาจเป็นซากสัตว์ที่หามาได้  แต่ในยามที่สัตว์หายาก ก็จำต้องใช้มนุษย์มาเป็นเครื่องเซ่นแทน  โดยอาจเป็นเชลยต่างเผ่าหรือคนที่ถูกชุมชนปฏิเสธ

ความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งก็คือ มนุษย์ในสมัยที่ยังไม่มีเทคนิคและเครื่องมือล่าสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพนั้น  อาหารส่วนหนึ่งได้มาจากซากสัตว์ที่สัตว์ร้ายเหล่านั้นเหลือทิ้งเอาไว้ (บางครั้งอาจต้องแย่งชิงเอาด้วยซ้ำ) ดังนั้นจึงอยู่ในสถานะที่ต้องพึ่งพาสัตว์ร้ายเหล่านั้นด้วย  ในบางสถานการณ์อาจจำเป็นต้องเอาอาหารมาให้สัตว์เหล่านั้นกินเพื่อมันจะได้ไม่หนีไปถิ่นอื่น  จากจุดนี้เองจึงพัฒนาไปสู่ประเพณีบูชายัญด้วยสัตว์หรือมนุษย์ในเวลาต่อมา

จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม  สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เทพเจ้ายุคแรกๆ ที่มนุษย์บูชานั้น มักได้แก่เทพที่เป็นสัตว์ร้าย  เช่น เสือจากัวร์ได้รับการนับถือว่าเป็นเทพชั้นสูงของเผ่ามายา (การสังหารมนุษย์ในพิธีบูชายัญจะใช้ของมีคมรูปร่างคล้ายกรงเล็บจากัวร์)  กล่าวอีกนัยหนึ่งสัตว์ร้ายได้รับการยกสถานะเป็นเทพ  และแม้ในเวลาต่อมาเทพจะวิวัฒน์ไปทางมนุษย์มากขึ้น แต่ก็ยังมีลักษณะดุร้าย มีพละกำลังมาก และที่ขาดไม่ได้คือนิยมกินเนื้อ  แต่ศาสนาไม่ได้ยุติเพียงเท่านั้น  เมื่อมนุษย์เจริญในทางสติปัญญามากขึ้น สิ่งสูงสุดอันเป็นที่เคารพสักการะก็ได้วิวัฒน์พัฒนาตามขึ้นไปด้วย  จากเทพเจ้าที่ดุร้ายก็เปลี่ยนมาเป็นเทพที่มีกิเลสอย่างมนุษย์ (ดังเทพเจ้าของกรีก) และพัฒนามาเป็นพระเจ้าที่เปี่ยมด้วยเมตตา  ในขณะที่บางศาสนา (เช่นพุทธศาสนา) เทพที่มีกิเลสทั้งหลายก็เปลี่ยนมาเทพที่ทรงคุณธรรม มีหน้าที่พิทักษ์คนดี (เช่นพระอินทร์) และเปลี่ยนจากผู้ที่อยู่เหนือมนุษย์ มาเป็นเพื่อนร่วมวัฏสงสาร โดยหน้าที่ของมนุษย์ก็คือไปพ้นจากวัฏสงสาร และเป็นอิสระจากการพึ่งพาใดๆ

แม้ว่าศาสนาจะพัฒนาไปมากแล้ว แต่รากเหง้าความเป็นมาที่ผูกพันกับความรุนแรงและสงคราม ก็เป็นความจริงอย่างหนึ่งของศาสนาที่ไม่อาจปฏิเสธได้  ใช่หรือไม่ว่ารากเหง้าความเป็นมาดังกล่าวสะท้อนถึงธรรมชาติพื้นฐานบางอย่างของมนุษย์ ได้แก่ ความกลัว ความโกรธ ความหลง และความเห็นแก่ตัว  ธรรมชาติเหล่านี้เองที่ยังมีอิทธิพลต่อมนุษย์และวิธีการนับถือศาสนาในปัจจุบัน  จริงอยู่เรายังมีธรรมชาติส่วนที่ดีงามด้วย  แต่ถ้าศาสนา (หรือการนับถือศาสนาของเรา) ยังไม่สามารถพัฒนาธรรมชาติส่วนนี้ได้  สงครามและความรุนแรงในนามของศาสนาหรือโดยศาสนิกย่อมไม่มีวันยุติ

นั่นหมายความว่าการบูชายัญมนุษย์เพื่อพระเจ้าของตัวยังคงดำเนินต่อไปไม่ต่างจากยุคดึกดำบรรพ์  เป็นแต่ว่าอาวุธที่ใช้สังเวยเพื่อนมนุษย์เท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา