จักรชัยมีภรรยาที่ขยันและใส่ใจในงานบ้าน เมื่อเขากลับจากที่ทำงานก็แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะภรรยาดูแลกิจธุระต่างๆ ในบ้านให้หมด แต่แล้ววันหนึ่งภรรยาได้ลมป่วยด้วยโรคมะเร็งขั้นสุดท้าย มิหนำซ้ำแม่ยายซึ่งเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็มีอาการรุนแรงขึ้น ทั้งสองคนช่วยตัวเองแทบไม่ได้เลย จักรชัยซึ่งเคยมีชีวิตที่สบาย ต้องหันมาดูแลทั้งภรรยาและแม่ยาย แม้จะจ้างคนมาช่วย แต่เมื่อเขากลับจากที่ทำงาน ก็ต้องมาช่วยป้อนข้าว อาบน้ำ เช็ดตัว เช็ดอุจจาระ ให้ผู้ป่วย
เพื่อนบ้านเห็นวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของจักรชัย ก็สรุปว่าเขากำลังใช้กรรม ชาติที่แล้วเขาคงจะทำอะไรไม่ดีกับภรรยาและแม่ยายเอาไว้ ชาตินี้จึงต้องมารับผลกรรมดังกล่าว
แต่จริงหรือที่จักรชัยกำลังชดใช้กรรมเก่า ที่จริงน่าจะมองว่าเขากำลังทำกรรมใหม่ที่ดีงาม เพราะแทนที่เขาจะทิ้งภรรยาหรือนิ่งดูดายกับอาการของแม่ยายอย่างที่ผู้ชายจำนวนมากนิยมทำ เขากลับช่วยพยาบาลบุคคลทั้งสองอย่างไม่มีความรังเกียจ นี้คือการกระทำที่เสียสละและเปี่ยมด้วยเมตตา เป็นการทำดีที่เขาเป็นฝ่ายเลือกเอง ทั้งๆ ที่มีทางเลี่ยง
พูดเช่นนี้ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องกรรมเก่า เป็นไปได้ว่าการที่ชีวิตครอบครัวของจักรชัยต้องมาประสบปัญหาเช่นนี้ อาจเป็นเพราะกรรมเก่าของเขาก็ได้ (ส่วนจะเก่าแค่ไหน ย้อนไปถึงชาติที่แล้วหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่การที่เขาตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องของกรรมเก่าอย่างแน่นอน เพราะเขาสามารถเลือกได้ว่าจะรับมือกับปัญหาหรือเพิกเฉยหลบหนี และเมื่อเขาตัดสินใจรับมือกับปัญหา ด้วยการดูแลรับผิดชอบกับภรรยาและแม่ยาย นั่นคือกรรมใหม่หรือกรรมปัจจุบันที่ดีงามอันสาธุรชนควรสรรเสริญและเอาเป็นเยี่ยงอย่าง หาควรไม่ที่จะซ้ำเติมด้วยการอ้างกฎแห่งกรรม ซึ่งทำให้ความดีของเขากลายเป็นสิ่งไร้ค่า มีสภาพไม่ต่างจากการใช้โทษอย่างสาสม
กฎแห่งกรรมนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เราตระหนักว่า ชีวิตของเรานั้นสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการกระทำของเราเอง มิใช่ด้วยการดลบันดาลของเทพยดาหรือพระเจ้า กล่าวอีกนัยหนึ่งกฎแห่งกรรมช่วยให้เราเห็นคุณค่าของความเพียร แต่ทุกวันนี้กฎแห่งกรรมถูกใช้เพื่อสะกดให้ผู้คนยอมจำนนกับปัญหา โดยไม่คิดที่จะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองหรือสถานการณ์
เมื่อภรรยาถูกสามีทุบตีหรือข่มเหงทั้งกายและใจ คำแนะนำที่มักจะให้แก่ฝ่ายหญิงก็คือให้ยอมทนไปเรื่อยๆ เพราะนี้เป็นผลของกรรมเก่า (หรือวิบาก) ที่ต้องชดใช้ นี้คือตัวอย่างการใช้กฎแห่งกรรมที่ทำให้ผู้คนยอมจำนนต่อปัญหา อีกทั้งยังเป็นการกล่าวโทษฝ่ายหญิงแต่ฝ่ายเดียว จริงอยู่การเลือกผู้ชายเช่นนี้มาเป็นสามีย่อมเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายหญิง ดังนั้นเมื่อถูกเขาข่มเหง จึงถือได้ว่าเป็นผลจากกรรมเก่าของเธอด้วยส่วนหนึ่ง แต่การทนให้เขาทำร้ายนั้น ไม่ใช่เรื่องของกรรมเก่าหรือการชดใช้กรรมแล้ว แต่เป็นการสร้างกรรมใหม่ และกรรมใหม่ที่ผู้หญิงเลือกที่จะทนให้ผู้ชายมากระทำย่ำยีนี้เองที่เป็นตัวการทำให้เธอต้องระทมทุกข์ พูดอีกอย่างก็คือ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายหญิงส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระทำในปัจจุบันของเธอเอง ไม่ใช่เป็นเพราะกรรมเก่าในอดีต (ไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติที่แล้ว)
กฎแห่งกรรมนั้นเน้นที่การสร้างกรรมใหม่หรือกรรมในปัจจุบัน เพราะกรรมใหม่อยู่ในวิสัยที่เราจะควบคุมได้ (แม้จะไม่ทั้งหมด เพราะการกระทำอะไรก็ตามย่อมอยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือเหตุปัจจัยที่จำกัดเสมอ) กรรมใหม่นั้นเราสามารถเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร ทั้งหมดนี้อยู่ที่การตัดสินใจของเรา ในขณะที่กรรมเก่านั้นเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เพราะกลายเป็นอดีตไปแล้ว การที่กฎแห่งกรรมพูดถึงกรรมเก่านั้นก็เพื่อให้เรารับผิดชอบกับการกระทำในอดีตของตนเอง จะได้ไม่โทษผู้อื่นหรือเทวดาฟ้าดินว่าเป็นตัวการทำให้เราทุกข์ แต่อีกด้านหนึ่งของกฎแห่งกรรมซึ่งเป็นจุดเน้นที่สำคัญของพุทธศาสนา ก็คือการสร้างกรรมใหม่ในปัจจุบันเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนให้เป็นไปในทางที่ดีงาม แต่ความเข้าใจในปัจจุบันกลับไปเน้นที่กรรมเก่าและการยอมจำนนต่อกรรมเก่า
ทุกวันนี้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยมีความเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของตนเองทั้งหมดล้วนเป็นเพราะกรรมเก่า ความคิดเช่นนี้แท้จริงแล้วขัดกับหลักการทางพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้เคยตรัสไว้ว่า ๑ ใน ๓ ของลัทธินอกพุทธศาสนาได้แก่ ลัทธิกรรมเก่า (ปุพเพกตเหตุวาท) คือความเชื่อที่ว่าสิ่งใดก็ตามที่ได้ประสบ จะเป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ตาม ล้วนเป็นเพราะกรรมที่ได้ทำไว้ในปางก่อน ใช่แต่เท่านั้นพระองค์ยังทรงเตือนว่า “เมื่อบุคคลมายึดเอากรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ก็ย่อมไม่มี”
จุดเน้นที่สำคัญของพุทธศาสนา คือการสร้างกรรมใหม่ในปัจจุบัน เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนให้เป็นไปในทางที่ดีงาม
อดีตกับปัจจุบันนั้นไม่อาจแยกขาดจากกันได้ฉันใด การกระทำในอดีตก็ย่อมส่งผลถึงปัจจุบันฉันนั้น แต่ปัจจุบันก็หาใช่เป็นทาสของอดีตไม่ เพราะเราสามารถเลือกได้ว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่สืบเนื่องจากอดีต รวมทั้งสามารถเอาผลจากกรรมเก่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่เราได้ด้วย เช่น ความเจ็บป่วย อันที่จริงเหตุปัจจัยแห่งความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นมีหลายอย่าง ไม่ได้เกิดจากกรรมเก่าเท่านั้น หากยังเป็นผลจากดินฟ้าอากาศ (อุตุนิยาม) หรือ กรรมพันธุ์ (พีชนิยาม) แต่ไม่ว่าจะเกิดจากอะไรก็ตาม ก็ใช่ว่าเราจะเป็นฝ่ายถูกความเจ็บป่วยมากระทำเท่านั้น หากเรายังสามารถใช้ความเจ็บป่วยให้เกิดประโยชน์ได้ด้วย ตรงนี้แหละเป็นเรื่องของการสร้างกรรมใหม่หรือกรรมในปัจจุบัน
มีคนจำนวนไม่น้อยเมื่อเจ็บป่วยแล้วแทนที่จะคร่ำครวญหรือเป็นทุกข์ กลับสามารถทำใจให้เป็นปกติได้ ยิ่งกว่านั้นก็คือกลับมีคุณภาพจิตที่ดีขึ้น เพราะได้อาศัยความเจ็บป่วยนั้นมาช่วยให้เกิดปัญญา จนแลเห็นความไม่เที่ยงของชีวิต ปล่อยวางจากทรัพย์สมบัติที่เคยยึดถือ และหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาจิตใจ ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจากล้มเจ็บทำให้หลายคนบอกว่า “โชคดีที่เป็นมะเร็ง”
แน่นอนว่านอกจากความเจ็บป่วยแล้ว ยังมีสิ่งไม่พึงประสงค์อีกมากมายที่อาจเกิดจากการกระทำในอดีต เช่น ความพลัดพรากสูญเสีย หรือการถูกประทุษร้าย แม้เราจะหลีกหนีมันไม่พ้น แต่เราก็สามารถที่จะเอามันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ พูดอีกอย่างคือ แทนที่เราจะถูกกรรมเก่ามากระทำย่ำยี เราสามารถใช้กรรมเก่านั้นให้เกิดประโยชน์ได้
พระนางสามาวดีซึ่งเป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องนี้ พระนางและบริวารเป็นผู้ใฝ่ในธรรมอย่างยิ่ง แต่กลับถูกไฟคลอกตายด้วยอุบายของมเหสีอีกองค์หนึ่งของพระเจ้าอุเทน ในคัมภีร์อรรถกถาอธิบายว่า พระนางสามาวดีและบริวารนั้นในอดีตชาติเคยทำกรรมหนักด้วยการจุดไฟคลอกและเผาทำลายสรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผลจากกรรมดังกล่าวทำให้พระนางและบริวารต้องมีอันเป็นไปในลักษณะเดียวกัน อย่างไรก็ตามเรื่องไม่ได้มีแค่นี้ เพราะในขณะที่ไฟกำลังลุกท่วมปราสาทนั้น พระนางสามาวดีมีสติมั่นคง หาได้ตื่นตกใจไม่ กลับแนะให้บริวารกำหนดจิตบำเพ็ญภาวนา โดยถือเอาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน บริวารทั้งหมดได้ทำตามคำแนะนำจนหมดลม ผลก็คือทั้งหมดได้บรรลุธรรม บ้างเป็นโสดาบัน บ้างเป็นสกทาคามี บ้างเป็นอนาคามี พระพุทธองค์ได้กล่าวถึงทั้งหมดในเวลาต่อมาว่า “อุบาสิกาเหล่านั้น ทำกาละ (ตาย) อย่างไม่ไร้ผล”
จากเนื้อเรื่องดังกล่าวจะเห็นได้ว่า พระนางสามาวดีและบริวารแม้จะหนีกรรมเก่าไม่พ้น แต่ก็ไม่ได้ปล่อยให้กรรมเก่ามากระทำฝ่ายเดียว หากยังใช้ประโยชน์จากกรรมเก่าด้วยการนำเหตุร้ายที่เกิดขึ้นมาเป็นอุปกรณ์ในการยกระดับจิต จนเข้าสู่อริยภูมิขั้นสูง ถ้าหากว่ากรณีดังกล่าวคือการใช้กรรม ก็เป็นการใช้กรรมที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ นั่นคือใช้กรรมเก่าให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาจิต มิใช่ยอมจำนนต่อกรรมเก่าอย่างคนจนตรอก
นี้คือท่าทีต่อกรรมเก่าที่ชาวพุทธควรใส่ใจให้มาก