การปฏิวัติยังไม่สิ้นสุด

พระไพศาล วิสาโล 12 กันยายน 2003

เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็น “การปฏิวัติ”  ศจ.เสน่ห์ จามริก เป็นคนแรกๆ ที่ชี้ว่า ขบวนการ ๑๔ ตุลาเป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ที่ “มุ่งประท้วงโจมตีต่อหลักการปกครองและความสัมพันธ์แบบเจ้าคนนายคน” อันเป็นหลักการทางสังคมแบบเก่า “ซึ่งไม่สามารถกำหนดความสัมพันธ์ของบุคคลและกลุ่มชนต่างๆ ให้อยู่ร่วมกันได้โดยสันติ”  ใช่แต่เท่านั้น ขบวนการดังกล่าวยังก่อให้เกิดผลสำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่การปลดปล่อยพลังทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา

หลังจากเหตุการณ์ผ่านมาได้ ๓๐ ปี คุณูปการของเหตุการณ์ดังกล่าวก็แลเห็นได้ชัด แม้ยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเต็มที่ในตำราเรียนของทางราชการก็ตาม  การปฏิวัติ ๑๔ ตุลา ได้นำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตย ที่แม้จะสะดุดอยู่หลายครั้ง แต่ก็ผ่านพ้นอุปสรรคและก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ประชาชนมิใช่ไพร่ราบที่ต้องสยบยอมต่อผู้ปกครองอีกต่อไป

กล่าวได้ว่าการปฏิวัติ ๑๔ ตุลาได้ปลดปล่อยประชาชนให้เป็นอิสระจากรัฐมากขึ้น  รัฐไม่สามารถบงการชี้นำประชาชนตามอำเภอใจได้ต่อไป  ไม่แต่ในทางการเมืองเท่านั้น หากรวมถึงในทางวัฒนธรรม  “ความเป็นไทย” ไม่จำต้องหมายถึงการนับถือพุทธ พูดภาษาไทยกลาง และมีชื่อไทย อย่างที่รัฐเคยกำหนดอีกต่อไป  ในยุคนี้แม้จะมีชื่อฝรั่ง นิยมฮวงจุ้ย เห่อของนอก ก็ยังเป็นไทยได้เต็มภาคภูมิ

นอกเหนือจากการปลดปล่อยประชาชนให้เป็นอิสระจากรัฐมากขึ้นแล้ว การปฏิวัติ ๑๔ ตุลายังได้ปลดปล่อยระบบเศรษฐกิจให้เป็นอิสระจากการผูกขาดของคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งหากินกับระบบเผด็จการทหาร เศรษฐกิจไทยจึงมีประสิทธิภาพและเติบโตขึ้นเป็นลำดับ  โภคทรัพย์ได้กระจายสู่คนจำนวนมากขึ้น เศรษฐีใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งมีการไหลบ่าของเงินทุนต่างชาติ ตามมาด้วยการสิ้นสุดสงครามเย็น จนมาถึงยุคโลกาภิวัตน์ และการแพร่ระบาดของ “ตลาดเสรี”  ระบบเศรษฐกิจไทยไม่เพียงเติบโตอย่างก้าวกระโดดเท่านั้น หากยังเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ถึงตอนนี้อำนาจของเศรษฐกิจได้เพิ่มพูนจนครอบงำรัฐและคนทั้งชาติ  เม็ดเงินกลายเป็นตัวชี้ขาดว่าป่าผืนใดควรอยู่ หมู่บ้านใดควรไป ภูเขาลูกใดควรถูกทำลาย  ความสงบร่มเย็นของชาวบ้านไม่สำคัญเท่ากับเม็ดเงินที่จะได้จากการสร้างเขื่อนและโครงการท่อก๊าซ  อำนาจของเงินทำให้ทุกอย่างถูกแปรเป็นสินค้า ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ผู้หญิง วัฒนธรรมและศาสนา  เงินกลายเป็นตัววัดความสำเร็จของชีวิตและคุณค่าของผู้คน ขณะเดียวกันตรรกะของตลาดได้กำหนดวิธีคิดของผู้คนจนนึกถึงแต่เรื่องกำไรขาดทุนไม่เว้นแม้แต่เวลาเลือกคู่  ตลาดได้เข้ามากำหนดแม้กระทั่งอัตลักษณ์หรือตัวตนของผู้คน จะเป็นใครอยู่ที่ว่าคุณบริโภคอะไร จะเป็นคนทันสมัยต้องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อนี้ จะเป็นคนเก่งก็ต้องใช้รองเท้ายี่ห้อนั้น จะเป็นแม่ที่ดีก็ต้องใช้ผ้าอ้อมยี่ห้อโน้น ฯลฯ

การปฏิวัติ ๑๔ ตุลา ได้ทำให้ผู้คนหลุดจากพันธนาการของรัฐ (และประเพณีเก่าๆ ของสังคม) ก็จริง แต่แล้วไม่ทันที่จะได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง ประชาชนก็กลับไปอยู่ในพันธนาการของอำนาจทุนซึ่งเติบใหญ่มาจากระบบเศรษฐกิจที่เป็นอิสระจากรัฐ (อันเป็นผลพวงของการปฏิวัติ ๑๔ ตุลาด้วยเช่นกัน)  การปฏิวัติ ๑๔ ตุลาจบไปแล้ว แต่ประชาชนก็หาได้เป็นอิสระอย่างแท้จริงไม่ เสรีภาพที่ประชาชนได้มานั้นอำนาจทุนฉกฉวยเพื่อประโยชน์ของมันเองเท่านั้น

สังคมไทยยังต้องการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือการปฏิวัติให้เป็นอิสระจากทรราชย์ของเงินตราและอำนาจทุน  เงินนั้นเป็นบ่าวที่ดี แต่เป็นนายที่เลว  ระบบเศรษฐกิจที่ถือเอากำไรเป็นคุณค่าสูงสุด การพัฒนาที่ถือเอาเงินเป็นเป้าหมายแรกสุด การเมืองที่รับใช้อำนาจทุน และการปกครองที่ใช้เงินเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนสยบยอม เหล่านี้จำเป็นจะต้องถูกทัดทาน  แต่ทำเพียงเท่านั้นยังหาพอไม่ สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปก็คือ การเปลี่ยนแปลงภายในตนเองอย่างลึกซึ้ง

อำนาจทุนเข้ามาบงการชีวิตเราได้ ก็เพราะความเชื่อ (ทิฏฐิ) ว่ามีเงินมากเท่าไรก็ยิ่งบันดาลสุขได้มากเท่านั้น  เราไม่เพียงแค่ต้องการร่ำรวยเท่านั้น หากยังต้องการร่ำรวยกว่าคนอื่น (ได้โบนัส ๑๐ ล้านก็ไม่ทำให้มีความสุขตราบใดที่เพื่อนร่วมงานได้ ๒๐ ล้าน) นั่นเพราะเราไม่ได้แค่ต้องการสบายเท่านั้น หากยังต้องการสูงเด่นเหนือคนอื่นด้วย (มานะ)  ยิ่งทุกวันนี้คุณค่าของคนเราไม่ได้อยู่ที่ว่า ทำสิ่งดีงามหรือไม่ หากอยู่ที่ว่า มีอะไร เท่าไร หรือบริโภคอะไรด้วยแล้ว เราก็ยิ่งต้องการเงินมากเท่านั้น (ตัณหา)

สังคมไทยยังต้องการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือการปฏิวัติให้เป็นอิสระจากทรราชย์ของเงินตราและอำนาจทุน

ตัณหา มานะ ทิฏฐิ คือเชื้อมูลภายในที่ชักนำให้เงินเข้ามาครอบงำกำหนดชีวิตของเรา โดยมีระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายนอกเป็นปัจจัยสนับสนุน  อิสรภาพยังเกิดขึ้นไม่ได้หากเชื้อมูลทั้งสามประการยังหนาแน่นและถูกกระตุ้นเร้าไม่หยุดหย่อน การปฏิวัติภายในจึงเป็นสิ่งขาดไม่ได้สำหรับอิสรภาพที่แท้จริง

การปฏิวัติภายในเป็นสิ่งที่คนอื่นทำให้ไม่ได้ แต่ละคนต้องทำเอง  แต่จะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยชุมชนและสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล  แม้แต่พระภิกษุที่มุ่งหลุดพ้นก็ยังต้องอาศัยสังฆะหรือชุมชนแห่งสหธรรมิกช่วยเกื้อหนุน  กัลยาณมิตรนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตที่มุ่งความหลุดพ้นฉันใด ชุมชนผู้ใฝ่ธรรมก็จำเป็นสำหรับผู้มุ่งปฏิวัติด้านในฉันนั้น  การสร้างชุมชนที่สมานกันด้วยคุณธรรม มีเมตตาต่อกัน แบ่งปันกันด้วยน้ำใจ ยิ่งกว่าจะคำนึงถึงกำไร-ขาดทุน เป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการปฏิวัติภายใน  และจะดียิ่งกว่านั้นหากล้อมรอบด้วยสังคมที่เข้มแข็งในทางศีลธรรม มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยไม่ถูกครอบงำกำกับด้วยตรรกะแบบตลาดอย่างเดียว

๑๔ ตุลา ผ่านมาได้ ๓๐ ปีแล้ว แต่การปฏิวัติยังไม่สิ้นสุด  ขั้นต่อไปที่สิ่งที่สังคมไทยจักต้องก้าวให้ถึงก็คือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา