สมมุติว่าคุณหรือคนที่คุณรักล้มป่วยด้วยไตวาย และต้องการการเปลี่ยนไต หากไม่เช่นนั้นก็อาจตายได้ “คุณยินดีและยอมจ่ายเงินเพื่อซื้ออวัยวะไตมาทดแทนไตของคุณที่เสื่อมสภาพหรือไม่” หากว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาการสามารถสร้างและผลิตไตขึ้นมาได้
ข่าวสารคดีจากรายการวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๕ บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ บริษัทเอกชนข้ามชาติกำลังคิดค้นวิจัยการตัดต่อและดัดแปลงยีนเพื่อให้ลูกหมูที่โคลนนิ่งขึ้นมานั้นมีอวัยวะภายในที่สามารถนำมาใช้เป็นอะไหล่ทดแทนหรือซ่อมแซมให้กับอวัยวะภายในของมนุษย์ที่เสื่อมสภาพ ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็หมายถึงผลตอบแทนทางการตลาดเป็นมูลค่ามหาศาล อันเนื่องจากการตอบสนองความต้องการมีชีวิตที่แข็งแรงและยาวนานของคน (มีฐานะทางเศรษฐกิจดี) ทั่วไปได้
พร้อมกันนี้ สารคดีดังกล่าวได้บอกเล่าข่าวที่น่าสนใจอีกประการ คือ “ดอลลี่” ลูกแกะโคลนนิ่งตัวแรกของโลกกำลังล้มป่วยด้วยโรคไขข้ออักเสบ ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายท่านยอมรับว่าวิทยาการด้านการโคลนนิ่งยังมีเรื่องผิดพลาดที่คาดไม่ถึงอยู่อีกมาก ประเด็นเรื่องการโคลนนิ่งมนุษย์และความคิดความเชื่อมั่นในความก้าวหน้าของวิทยาการเทคโนโลยีด้านนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกตั้งคำถามอย่างมากในเรื่องศีลธรรมและความรับผิดชอบ
ในระดับประเทศและโลก ไม่ว่าเราจะยินดีหรือไม่ก็ตาม กรณีพืชผักตัดต่อยีน (genetic modified organism : GMO) เช่น ถั่วเหลือง ข้าว ฝ้าย มะละกอ กำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันแล้ว ดังที่มีความพยายามผลักดันเรื่องการติดสลากพืชผลดัดแปลงพันธุกรรม พืชผลเหล่านี้เป็นผลผลิตของวิทยาการตัดต่อยีนด้วยข้ออ้างเรื่องการเอาชนะข้อจำกัดของธรรมชาติ เรื่องการตอบสนองความขาดแคลนอาหารของพลเมืองโลก ภายใต้ความหวาดระแวงในเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบต่อชีวิตและระบบนิเวศน์ของโลก ดังที่มีผู้บริโภคหลายรายมีอาการภูมิแพ้จากการบริโภคถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมในสหภาพยุโรป (นิตยสาร “สารคดี” ฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๔ หน้า ๘๖) และเพราะเหตุที่ว่าเราทุกคนและทุกชีวิตต่างเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร ผลกระทบที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรก็จะเกิดขึ้นเป็นห่วงโซ่ด้วยเช่นกัน
อะไรคือเบื้องหลังของแรงจูงใจในการผลิตพืชผักตัดต่อยีน หรือความพยายามในการโคลนนิ่งอวัยวะมนุษย์จากสัตว์ ทั้งที่กระบวนการและขั้นตอนต้องอาศัยชีวิตสัตว์ทดลองจำนวนมาก ต้องอาศัยการลงทุนเป็นมูลค่ามหาศาล และที่สำคัญคือ การดำเนินการเหล่านี้ยืนอยู่บนพื้นฐานความเสี่ยงต่อชีวิต ความปลอดภัย ไม่เฉพาะกับมนุษย์แต่กับสรรพชีวิตในระบบนิเวศน์ของโลก และรวมถึงการฝ่าฝืนกฏของธรรมชาติ ฝ่าฝืนธรรมะ
ปัจจัยผลักดันที่ทำให้เกิดแรงจูงใจข้างต้น ด้านหนึ่งคือ ระบบกลไกการค้าเสรี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และสภาพโลกาภิวัตน์ที่ทำให้ทุนเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งที่ให้ผลกำไรสูง ทำให้บรรษัทข้ามชาติมีอำนาจมหาศาลและมีอำนาจที่อยู่เหนือรัฐในประเทศหนึ่งๆ บรรษัทข้ามชาติไม่ได้สังกัดความรับผิดชอบของตนเองว่าเป็นบรรษัทของประเทศใด แต่สังกัดอยู่ที่การสะสมทุนและผลกำไร ดังนั้นสำหรับประเทศโลกที่สาม เช่น ประเทศไทยที่เป็นแหล่งวัตถุดิบทางพันธุกรรม และเป็นตลาดสำคัญของผลิตภัณฑ์อาหารและยาจากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ พร้อมกับที่ปัจจัยดึงดูดของแรงจูงใจดังกล่าวก็คือ ความเป็นสังคมบริโภคนิยม ที่ผู้คนในสังคมพร้อมยินดีที่จะจ่ายเพื่อความมีชีวิตที่ยืนยาว เพื่อความมีสุขภาพที่ดี ด้วยอำนาจที่ถือครองเงินตรา
เพราะเหตุที่ว่าทุกชีวิตต่างเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร ผลกระทบที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรก็จะเกิดขึ้นเป็นห่วงโซ่ด้วยเช่นกัน
ภายใต้สังคมที่เป็นอยู่เช่นนี้ ความเป็น “ผู้บริโภค” ทำให้ดูเหมือนว่าเรามีอำนาจเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกซื้อ เลือกบริโภค แต่ในความเป็นผู้บริโภคจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เราก็เป็น “เหยื่อ” ของระบบกลไกของสังคมโลก ของบรรษัทข้ามชาติโดยผ่านนโยบายรัฐ ดังเช่น การถูกยัดเยียดในพืชผลตัดต่อยีนที่กำลังรุกเข้ามาในชีวิตประจำวัน พร้อมกับที่เราก็เป็นเหยื่อของกรอบระบบความคิดที่มุ่งเอาชนะธรรมชาติ เหยื่อของระบบโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ยินดีจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อเอาชนะความชราและความตาย และเหยื่อของอวิชชาความโง่เขลาในตนเอง ที่ให้ความสำคัญต่อพระเจ้าเงินตรามากกว่าธรรมชาติและศาสนธรรม
บางทีคำตอบในเรื่อง “ทางออก” อาจเป็นเรื่องที่รวดเร็วเกินไปนัก จุดเริ่มต้นที่นี่และเดี๋ยวนี้คือ การตระหนักรู้ในฐานะความเป็น “เหยื่อ” และการเลิกละเมอกับฐานะ “ผู้บริโภค” ในสังคมบริโภคนิยมเช่นนี้