งานสัมมนาศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองในหัวข้อเรื่อง “การคอร์รัปชั่นในภาคธุรกิจกับบรรษัทภิบาลในประเทศไทย” เมื่อวันพุธที่ ๒๘ พ.ย. ๒๕๔๕ มีประเด็นสำคัญที่ใคร่ขออ้างอิงถึงคือ ภายใต้สภาพบรรยายกาศการคอรัปชั่นที่แพร่ระบาดในทุกวงการและไม่สามารถเอาผิดได้เท่าที่ควร การเป็นบรรษัทภิบาลในความหมายที่เป็นองค์กรธุรกิจที่มีความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต สามารถตรวจสอบความรับผิดชอบได้ นั่นคือเป็นองค์กรที่ดีของสังคมนั้น แทบเป็นไปไม่ได้ โดยเหตุผลสำคัญดังตัวอย่างเช่น เพื่อที่จะได้งานโดยชนะการประมูล แทบไม่มีโอกาสเลยหากไม่ใช่ระบบเงินใต้โต๊ะ และเมื่อใช้เงินใต้โต๊ะ ก็หมายความถึงผลกระทบที่ติดตามมา นั้นคือ การปลอมแปลงบัญชีเพื่อปกปิดต้นทุนที่มิชอบตัวนี้ การลดคุณภาพวัสดุก่อสร้างเพื่อชดเชยต้นทุนที่เสียไป การผลักภาระบางอย่างไปที่ผู้บริโภคในรูปต่างๆ เท่าที่ทำได้ และผลกระทบเลวร้ายอื่นๆ ที่ต่อเนื่องตามมา
ซึ่งทำให้โดยรวมประเทศไทยมีปัญหาการคอร์รัปชั่นสูงถึงลำดับที่ ๖๘ จากลำดับทั้งหมด ๙๙ ประเทศ (จากรายงานของ Transparency International ปี ๑๙๙๙) นั้นหมายความชัดเจนว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น สาเหตุไม่ได้มาจากความบกพร่องทางพฤติกรรมหรือปัญหาทางศีลธรรมส่วนบุคคล แต่เป็นปัญหาที่ระบบโครงสร้างในหลายด้าน ทั้งปัญหาจากโครงสร้างการบริหารจัดการ โครงสร้างการตรวจสอบความรับผิดชอบ มาตรฐานบัญชี โครงสร้างทางกฏหมายในการป้องกัน การแก้ไขปัญหาและการลงโทษ ขณะเดียวกันวัฒนธรรมสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการยอมรับหน้าตา ภาพลักษณ์ ความสำเร็จและการบริโภคทางวัตถุก็ทำให้การทุจริตคอรัปชั่นกลายเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันต่อๆ มาจนกลายเป็นวัฒนธรรมไทยที่อาจเรียกได้ว่า “วัฒนธรรมการโกง” ดังเช่นเสียงสะท้อนจากวงสัมมนาในหัวข้อข้างต้นว่า “บริษัทคนไทยมีการโกงกันในทุกระดับ”
ในแวดวงระดับชนบทท้องถิ่น ข่าวคราวเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นก็เป็นเรื่องที่พบเห็นและได้รับรู้กันทั่วไป เพียงแต่ยังขาดการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบเท่านั้น สังคมไทยซึ่งถือตัวว่าเป็นสังคมชาวพุทธ จึงดูเหมือนว่าสามารถแยกแยะได้ระหว่างการเป็นชาวพุทธถือศีล ๕ กับการอยู่ในวัฒนธรรมการทุจริตคอรัปชั่น อีกนัยหนึ่งก็คือ แง่มุมทางศาสนาแทบไม่ได้มีความหมายหรือมีบทบาทอย่างใดเลยกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของสังคมไทย ผู้เขียนเชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องพัวพันกับการทุจริตคอรัปชั่นอาจมีความรู้สึกผิดบาปในจิตใจในช่วงเริ่มแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปและการหล่อหลอมทางวัฒนธรรมและสังคมก็อาจทำให้ความรู้สึกผิดบาปค่อยๆ จางคลาย หรืออาจชดเชย หลีกเลี่ยงด้วยการยึดถือในลัทธิบริโภคนิยมเข้ามาทดแทน
เพื่อที่จะได้งานโดยชนะการประมูล แทบไม่มีโอกาสเลยหากไม่ใช่ระบบเงินใต้โต๊ะ และเมื่อใช้เงินใต้โต๊ะ ก็หมายความถึงผลกระทบที่ติดตามมา
หลายฝ่ายในสังคมไทยมีความพยายามอยู่บ้างในการจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิจัยถึงที่มาและที่ไปของปัญหา ความพยายามในการกำหนดนโยบาย วางระเบียบกฏหมายเพื่อควบคุมบังคับ รวมถึงการรณรงค์ทางสังคม ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากมุมมองผู้เขียนซึ่งเคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาวิจัยทางเศรษฐศาสตร์การเมืองอยู่บ้าง มีดังนี้
– ความพยายามข้างต้นของหลายฝ่ายมีความสำคัญ และจำเป็นแต่ยังไม่เพียงพอ เพราะความเป็นปัญหาทางโครงสร้างสังคมและทางวัฒนธรรม ทำให้มิติการจัดการต้องคำนึงในเรื่องค่านิยม ระบบคุณค่า และความเข้มแข็งทางจิตใจในศีลธรรมของคนในสังคม
– ปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมการโกง การคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและสืบเนื่อง ก็คือความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในระดับใดก็ตาม ความร่วมมือนี้มีตั้งแต่การยอมรับ การร่วมลงมือกระทำ จนไปถึงการรับรู้ การเพิกเฉย การไม่ใส่ใจ จนไปถึงการไม่มีความรู้สึกรังเกียจในบุคคลหรือองค์กรที่กระทำหรือพัวพันในการทุจริตคอร์รัปชั่น
– ปัจจัยสำคัญของความร่วมมือและการยอมรับดังกล่าวคือ ความกลัว ไม่ว่าจะเป็นความกลัวต่อผลกระทบในความมั่นคงปลอดภัยทางอาชีพการงาน การดำรงชีวิต ความกลัวไม่กล้าขัดขืนในที่สุดก็นำไปสู่การยอมจำนน และอาจพัฒนาไปสู่ความโลภ ให้ความร่วมมือ จนถึงการลงมือกระทำทุจริตคอร์รัปชั่นเอง
– ภายใต้ความพยายามต่างๆ นี้ มิติหนึ่งที่ควรใส่ใจด้วย จึงเป็นมิติทางด้านจิตใจ หรือการมีศาสนธรรมในจิตใจ มิตินี้ต้องอาศัยการฝึกฝนอบรมทางจิตใจในศีลธรรม ภายใต้ความคิดความเชื่อที่ไม่ตกเป็นทาสของความกลัวที่โง่เขลา มิตินี้อาจเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่ปัจเจกบุคคลเพียงคนเดียวก็เป็นจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่อง ไม่ใช่หรือ
– การไปให้พ้นจากวัฒนธรรมการโกง จุดเริ่ม ณ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือ การไม่ให้ความร่วมมือและยุติการกระทำใดๆ ที่จะมีส่วนสนับสนุนการทุจริตคอรัปชั่นของปัจเจกบุคคลแต่ละคน แน่นอนว่าผลกระทบย่อมเกิดขึ้นและติดตามมาได้ ท้ายที่สุดพระพุทธเจ้าก็ทรงสรรเสริญการกระทำนี้ว่า “พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต พึงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม”
ขอความเข็มแข้ง (ในศีลธรรม) จงมีอยู่ในใจของทุกผู้คน