เรียนรู้อย่างพุทธในยุคปฏิรูปการศึกษา

สมเกียรติ มีธรรม 22 กันยายน 2001

ผมออกจะแปลกใจที่การปฏิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติขณะนี้ ไม่มีใครพูดถึงการปฏิรูปการเรียนรู้แบบพุทธ ซึ่งลึกลงไปกว่าการจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล หรือฝึกทักษะ กระบวนการคิด ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ตลอดจนการจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และจัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นทุกเวลาสถานที่

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงปัจจัยภายนอก และเป็นช่องทางที่จะเปิดให้ผู้เรียนได้ก้าวข้ามออกมาจากห้องเรียนเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้สอนลึกลงไปให้เห็นกระบวนธรรมที่ก่อให้เกิดความเห็นแก่ตัวได้  ซึ่งในแง่นี้ผมคิดว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่นักจิตวิทยาและนักจิตวิเคราะห์น่าจะศึกษากันมาก  โดยเฉพาะกระบวนการรับรู้ในพระพุทธศาสนาที่ไม่ก่อให้เกิดกิเลสตัณหา มานะ ทิฏฐิ นั้นเป็นอย่างไร และรับความรู้เข้ามาแล้วจะจัดการกับความรู้ที่เสวยอยู่นั้นอย่างไร  นี้เป็นเคล็ดลับเฉพาะในพระพุทธศาสนา และเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ต้องเสียเวลาเสียเงินทองไปเรียนจิตวิทยาถึงเมืองนอกเมืองนา

ในทางพระพุทธศาสนาได้แบ่งกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกและชีวิตของมนุษย์ออกเป็น 2 ภาคด้วยกัน กล่าวคือ ภาครับรู้และเสพเสวยโลก และภาคแสดงออกต่อโลก  ภาคเสพเสวยโลกนั้น แบ่งออกเป็น 6 ช่องทางคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมมารมณ์  ส่วนภาคแสดงออกหรือกระทำต่อโลกนั้นท่านแบ่งออกเป็น 3 ทางคือ การแสดงออกทางวาจา กาย และใจ  ชีวิตของเราที่ดำเนินไปในแต่ละวันก็โดย 2 ภาคนี้ทำงานอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความรู้หรือทางรับรู้  พระท่านเรียกว่า อายตนะคือ แดนเชื่อมต่อให้เกิดความรู้มี 6 อย่างดังกล่าวมาเบื้องต้น  โดยนัยนี้จะเห็นว่าเรามีช่องทางรับรู้หลากหลาย หาได้รับรู้แต่เพียงการใช้ตาอ่านหนังสือ ดูทีวี (จักษุวิญญาณ) ฯลฯ หรือฟังเพลง ฟังบรรยาย (โสตะวิญญาณ) ฯลฯ เท่านั้น  หากแต่ยังรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ทางจมูกรับรู้กลิ่น ลิ้นรับรู้รส กายรับรู้ด้วยการสัมผัส และใจรู้สึกนึกคิดอีกด้วย

แต่ความรู้จากช่องทางเหล่านี้ดูจะไม่มีความสำคัญเท่าใดในการปฏิรูปการเรียนรู้มากนัก เราจึงฝึกกันแต่เฉพาะการฟัง การอ่าน หรืออย่างมากก็ฝึกการคิด (ใจ) และรู้เรียนผ่านประสบการณ์ (กาย) เท่านั้น  ขณะเดียวกันเมื่อเกิดการรับรู้ขึ้นมาก็ไม่สามารถที่จะควบคุมไม่ให้เป็นไปตามความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรู้ได้  ในทางตรงกันข้าม เรากลับรับรู้สิ่งที่ถูกรู้นั้นไว้ แล้วคิดปรุงแต่งต่อไปตามความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรู้ จนเกิดความอยากได้ ติดใจ คิดที่จะเอาจะได้ขึ้นมาทันที  ถ้าเราไม่สามารถเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดกิเลสตัณหา และกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นปกติธรรมดา ไม่ก่อกิเลสตัณหาได้  การปฏิรูปการเรียนรู้ก็จะไม่มีความหมายใดๆ เลยที่จะทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่ไม่เห็นแก่ตัวได้

ในสังคมปัจจุบัน ผมคิดว่าการเรียนรู้ลักษณะนี้มีความจำเป็นมากสำหรับทุกคน  ยิ่งต้องเผชิญกับปัญหามากมายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน ประเดประดังเข้ามาทุกวี่วัน ถ้าไม่มีการเรียนรู้ที่ถูกต้องก็จะวิปลาสเอาง่ายๆ  อย่างเช่น เห็นว่าแก้เหงาได้โดยการไปเสพยาบ้า ยาอี กินเหล้าสูบบุหรี่ช่วยหายเครียดได้ ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น จนก่อปัญหาให้แก่สังคมมากมาย  ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่วัยรุ่นชาย-หญิงจะหันมาสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 35.7 และ 9.2 เมื่อ 7 ปีก่อน เป็นร้อยละ 75.8 และ 19.7 ขณะที่เด็กปัจจุบันมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย  ปรากฎการณ์เหล่านี้ล้วนส่อให้เห็นความวิปลาสที่เกิดจากการเรียนรู้ที่ไม่รู้จักควบคุมเวทนา หรือความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรู้ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาแก่ชีวิตสังคมได้

ดังนั้นการปฎิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติในขณะนี้ ผมคิดว่าน่าจะมีการปฏิรูปการเรียนรู้กันให้ถึงรากถึงโคนตามแนวแห่งทางพระพุทธศาสนา  แต่การจะปฏิรูปเช่นนี้ได้นั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ โดยหันมาใช้กระบวนทัศน์แบบพุทธเป็นแว่น เพื่อถางทางไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ให้ได้  หาไม่แล้วความวิปลาสก็จะเกิดขึ้นแก่สังคมไทยจนยากที่จะเยี่ยวยาแก้ไขได้  แม้รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณเท่าใด ใช้กำลังตำรวจไล่จับ ใช้กฎหมายบีบบังคับอย่างไรก็ไม่อาจจะหยุดหยั้งความวิปลาสลงได้  นอกจากจะฝึกให้ควบคุมอินทรีย์ของตน ไม่ให้เสวยอารมณ์ตามแรงของตัณหา มานะ ทิฏฐิ ก็จะพิชิตความวิปลาสที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ได้


ภาพประกอบ