โพลล์บอกว่าคนกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ ๖๐ รู้สึกสลดหดหู่ใจอย่างยิ่งกับข่าวเด็ก ๙ ขวบฆ่าเด็ก ๓ ขวบตายอย่างทารุณ เพราะขัดใจที่ไม่ได้เล่นของเล่นที่ตัวอยากเล่น ความรู้สึกนี้คงไม่ได้แตกต่างไปจากความรู้สึกของคนญี่ปุ่นจำนวนมากกับเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๐ เมื่อทราบว่า เด็กนักเรียนอายุ ๙ ขวบที่ถูกฆ่าตัดศรีษะเอามาทิ้งในละแวกโรงเรียนนั้นเป็นฝีมือของเด็กอายุ ๑๔ ปี ! ทั้งนี้ยังไม่ต้องกล่าวถึงข่าวยุวอาชญากรรมในสหรัฐอเมริกา ที่คึกโครมสะเทือนขวัญมาก่อนใครอย่างต่อเนื่องและเนิ่นนานกว่าทศวรรษแล้ว เพราะนิตยสารไทม์เคยขึ้นปกเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน เริ่มตั้งแต่เด็กระดับวัยรุ่นที่มักก่อคดีข่มขืนและรุนแรงไปสู่คดีฆ่าคนชรา คนแปลกหน้า มาจนถึงปัจจุบันที่ผู้กระทำผิดมีอายุน้อยลงเป็นลำดับ และมีตั้งแต่การฆ่าพ่อแม่ ครู ฆ่าหมู่เพื่อนนักเรียน ฯลฯ ล่าสุด ที่เป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง คือความคิดเห็นที่แตกต่างกันต่อคำสั่งตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเด็กชายผิวดำอายุ ๑๒ ปี ในคดียิงครูตาย เพราะโกรธที่ถูกห้ามปรามมิให้เล่นเกินขอบเขตและกีดกันมิให้ยุ่งเกี่ยวกันเพื่อนนักเรียนหญิงของตัว
สังคมทั่วโลกปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับปัญหายุวอาชญากรรมที่มากขึ้นทางปริมาณและระดับความรุนแรงที่จะชวนให้สลดหดหู่เพิ่มมากขึ้นอย่างไม่รู้จบ หากติดตามย้อนหลังกลับไปดูพัฒนาการ จะพบว่า เราไม่อาจจะคาดหวังได้เลยว่าเรื่องที่เกิดขึ้นคือ “ที่สุด” แล้ว และจะไม่มีสิ่งที่ชวนให้หดหู่อนาถใจไปกว่านี้เกิดขึ้นอีก (ดูแต่เหตุการณ์สลดหดหู่แรกยังไม่จางหาย ข่าวเด็กนักเรียนชายรุมข่มขืนเพื่อนนักเรียนหญิงก็ตามมาติดๆ) เพราะสังคมได้สูญเสียสิ่งที่เรียกว่า กระบวนการขัดเกลา “ความเป็นมนุษย์” ไปแล้ว หรือมีอยู่อย่างกระพร่องกระแพร่งเต็มที เนื่องจากสังคมสมัยใหม่จับประเด็นเกี่ยวกับมนุษย์คลาดเคลื่อนไปหลายประการ
ประการแรก เราไม่เข้าใจว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐได้ด้วยการฝึก (เราจึงมักได้ยินแต่เพียงว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ”) หากปราศจากการฝึกฝน “ความเป็นมนุษย์” หรือความเป็นสัตว์ประเสริฐก็เกิดไม่ได้หรือเกิดได้ยากมาก มนุษย์ก็จะใช้ชีวิตตามสัญชาติญาณทางธรรมชาติ ดังเช่นสัตว์โลกทั่วไป ที่มุ่งความอยู่รอดและความต้องการของตนเองเป็นหลัก คิดแต่จะสนองตอบความต้องการของตนเองล้วนๆ เหมือนเสือออกหาเหยื่อ แต่การที่มนุษย์มี “ความต้องการและความพอใจ” ที่ซับซ้อน ไม่หยุดนิ่ง และมีศักยภาพทางสมองมากกว่าสัตว์ทั่วไป มนุษย์ ๑ คนจึงก่อความเดือดร้อนหรือก่อทุกข์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นได้มากมายมหาศาลกว่าสัตว์ ๑ ตัวซึ่งถือเป็นสัตว์ที่ดุร้ายมากที่สุดดังจงอาง เสือ ฯลฯ
ประการที่สอง การฝึกฝนที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน โดยเฉพาะในระบบการศึกษาหรือแม้แต่ในสถาบันศาสนา ยังเป็นเพียงการฝึกสัมมาอาชีวะ ฝึกพลเมืองดีที่แยกแยะดีชั่ว ผิดถูกได้ แต่อาจกล่าวได้ว่ายังไปไม่ถึงหรือไม่เพียงพอต่อการฝึก“ความเป็นมนุษย์” อันหมายถึงความสามารถในการควบคุมและจัดการกับสัญชาติญาณตามธรรมชาติได้อย่างถูกต้องและด้วยความสุข อิสระ มิใช่คับข้องขุ่นเคืองที่จะต้องควบคุม ในขณะเดียวกันก็มีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์เป้าหมายหรืออุดมคติให้แก่ชีวิตและพวกพ้อง มิใช่อยู่ไปวันๆ จะเห็นได้ว่า การฝึกความเป็นมนุษย์จึงมิใช่เพียงการฝึกให้บุคคลรู้ศีลธรรม แยกแยะดีชั่วได้เท่านั้น หากหมายถึงการฝึกฝนให้บุคคล “รู้เท่าทัน” ทั้งตนเองและสิ่งภายนอกที่ตนไปเกี่ยวข้องหรือมากระทบกับตัว พร้อมทั้งมีกำลังจิตและความคิด (ปัญญา) สามารถจัดการกับความต้องการของตนเองและสิ่งภายนอกที่มากระทบไม่ว่าในทางบวกหรือลบได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง-ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม ทั้งในเวลาปัจจุบันและอนาคต
หากปราศจากการฝึกฝน “ความเป็นมนุษย์” หรือความเป็นสัตว์ประเสริฐก็เกิดไม่ได้ หรือเกิดได้ยากมาก
สถานการณ์ยุวอาชญากรรมสะท้อนถึงความบกพร่องและการปล่อยปละละเลยในการฝึกความเป็นมนุษย์ เด็กจึงรู้แต่ความต้องการของตนเอง ไม่มี “คนอื่น-ชีวิตอื่นหรือสิ่งอื่น” อยู่ในกระบวนการคิด รู้แต่เพียงการหาทางตอบสนองความต้องการของตนนั้นอย่างปราศจากการฉุกคิด (สติ) ขาดความอดทนอดกลั้น (ขันติ, ทมะ) ขาดความเมตตากรุณา แม้ในหลายคดีและหลายกรณี เด็กจะรู้สำนึกผิดถูก แต่ก็ได้ทำความผิดไปแล้ว เพราะขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง เนื่องจากความสามารถดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างต่อนื่อง ต้องอาศัยทั้ง “การรับรู้” และ “การเรียนรู้” ในวิถีชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการเรียนรู้ในทางพุทธศาสนาจะมีประสิทธิภาพนำไปสู่คุณสมบัติ “ความเป็นมนุษย์” ได้นั้น จะต้องฝึกฝนทั้งการรับรู้ข้อมูล คิดวิเคราะห์ข้อมูล, มีการปฏิบัติฝึกฝนทั้งทางพฤติกรรม (ศีล), จิต (สมาธิ) ให้มีคุณสมบัติของความอดทน อดกลั้น มีเมตตา มีความสงบ ฯลฯ และฝึกฝนการคิด ให้รู้จักคิดด้วยความแยบคาย (ปัญญา) กระบวนการปฏิบัติเพื่อการเรียนรู้นี้ต้องเกิดขึ้นตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน มิได้เกิดเฉพาะที่ เฉพาะเวลา (ไปโรงเรียนไปวัด) จนกระทั่งบุคคลได้รับผลจากประสบการณ์ตรงของการปฏิบัติที่เข้าไปเสริมความมั่นคงให้แก่การกระทำ จิตใจ และความคิด ทั้งหมดนี้คือกระบวนการฝึกความเป็นมนุษย์ในพุทธศาสนา (ปริยัติ, ปฏิบัติ, ปฏิเวธ)
การที่กระบวนการฝึก “ความเป็นมนุษย์” ต้องเกิดขึ้นในวิถีชีวิตประจำวัน ปรากฏการณ์อันชวนสลดหดหู่ใจทั้งหลาย จึงสะท้อนเตือนแก่เราโดยตรงว่า สังคมมิได้กำลังสูญเสียกระบวนการฝึกฝนความเป็นมนุษย์ไปจากสถาบันทางสังคม (การศึกษา ศาสนา สื่อมวลชน ฯลฯ) เท่านั้น แต่วิถีชีวิตของสังคมสมัยใหม่ก็ได้สูญเสียหรือกำลังสูญเสียกระบวนการขัดเกลาความเป็นมนุษย์ไปแล้ว มิหนำซ้ำกำลังฝึกฝนคนในสังคมไปในทางตรงข้ามด้วย การฝากความหวังไว้ที่การปฏิรูปการศึกษา จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง โดยยังไม่ต้องไปวิเคราะห์ว่าการปฏิรูปดังกล่าวช่วยสนับสนุนกระบวนการฝึกความเป็นมนุษย์ได้จริงหรือไม่ เพราะถึงจริงก็ไม่เพียงพออยู่ดี
เนื่องจาก “ความเป็นมนุษย์” ต้องฝึกจากวิถีชีวิต และฝึกฝนอย่างครบกระบวนการ หาไม่แล้ว “อนาถกว่านี้ยังมีอีก” อย่างแน่นอน