ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ “สงบเย็นและเป็นประโยชน์” สงบเย็นหมายถึงใจสงบเย็น เป็นประโยชน์หมายถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น สองอย่างนี้ควรไปด้วยกัน ขณะที่เราทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เราก็ควรพบความสงบเย็นในจิตใจด้วย ความสงบเย็นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการดูแลจิตใจของตนเอง นั่นก็คือนอกจากการทำกิจเพื่อผู้อื่นแล้ว เราก็ต้องทำจิตเพื่อตัวเองด้วย
ทำกิจกับทำจิตเป็นสิ่งที่ต้องทำคู่กัน การทำกิจคือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น ส่วนการทำจิตคือการทำใจให้สงบเย็น หลายคนทำกิจแต่ลืมทำจิต แม้จะทำประโยชน์ให้ผู้อื่นมาก แต่ตัวเองกลับรุ่มร้อน ไม่มีความสงบเย็น เมื่อมีความรุ่มร้อนเกิดขึ้น การทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นก็จะค่อยๆ ลดลงไป พอถึงจุดหนึ่งก็เกิดโทษขึ้นมาด้วยซ้ำ
หลายคนตั้งใจช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นจิตอาสา หรือเอ็นจีโอ พอทำไปนานๆ แทนที่จะเกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น เกิดโทษขึ้นมาแทนที่ เพราะไม่ได้รักษาจิตใจของตนให้สงบเย็น บางคนเป็นดูแลผู้ป่วย ทีแรกก็ดูแลด้วยความเอาใจใส่ ทำด้วยความรัก แต่พอต้องรับภาระดูแลนานเข้าก็เริ่มเครียด หงุดหงิด เวลาแนะนำคนป่วยแล้วเขาไม่ทำตาม คนดูแลก็ไม่พอใจ พอสะสมมากขึ้นถึงจุดหนึ่งก็สติแตก ต่อว่าด่าทอผู้ป่วย เกิดความทุกข์ใจทั้งสองฝ่าย
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ปรารถนาดีต่อสังคม เป็นห่วงบ้านเมือง ทำอะไรต่ออะไรมากมายเพื่อช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้น ครั้นเจออุปสรรค พบเห็นเหตุการณ์ที่ไม่เป็นดั่งใจ ก็เป็นทุกข์ รู้สึกเครียด เกิดความโกรธ บางคนถึงกับท้อแท้ นั่นเป็นเพราะมัวทำกิจ แต่ลืมทำจิต อาทิ ลืมดูใจตนเอง การพยายามเปลี่ยนแปลงสังคม เกื้อกูลผู้อื่น แม้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ควรละเลยการรักษาใจตนเองด้วย รวมถึงการวางใจให้ถูกต้อง เช่น ไม่จดจ่ออยู่กับผลลัพธ์ในอนาคต จนลืมใส่ใจกับสิ่งที่กำลังทำในปัจจุบัน
สตินั้นช่วยรักษาใจได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่เศร้าหมองหรือร้อนแรง ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาบีบคั้นหรือเผาลนจิตใจ อีกทั้งยังช่วยให้เราจดจ่ออยู่กับการงาน ไม่วอกแวก ช่วยให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ จึงส่งเสริมทั้งการทำจิตและการทำกิจ
บ้านเมืองยุคนี้ การทำกิจควบคู่กับการจิต เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก หาไม่ผู้คนก็จะจมอยู่กับความทุกข์ ท้อแท้ หรือระบายความโกรธแค้น เกลียดชัง เข้าใส่กัน กลายเป็นว่า แทนที่จะช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้น กลับทำให้บ้านเมืองตกต่ำย่ำแย่กว่าเดิม
พูดถึงเรื่องบ้านเมืองแล้ว ขอพูดเรื่องตัวเองบ้าง มีเรื่องแจ้งให้ทราบว่า ปีนี้เป็นปีสุดท้ายของจดหมายข่าวพุทธิกา โดยฉบับหน้าจะเป็นฉบับสุดท้าย หลังจากนั้นเราจำเป็นต้องปิดตัวเอง ด้วยเหตุผลหลายประการ ดังแจ้งให้ทราบในประกาศภายในเล่มแล้ว
พบกับท่านผู้อ่านอีกครั้งในฉบับอำลา
เป็นเวลา ๑๖ ปีที่จดหมายข่าวพุทธิกาได้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างเครือข่ายพุทธิกากับผู้อ่าน โดยมุ่งส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าของพุทธธรรม และมีการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งระดับบุคคลและสังคม อย่างไรก็ตามในระยะหลังค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มเป็นสองเท่า ขณะเดียวกันสื่อประเภทอื่นก็มีเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นพื้นที่หลักในการสื่อสาร ส่งผลให้สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลายได้รับผลกระทบ ต้องทยอยปิดตัวเองเป็นจำนวนมาก
จดหมายข่าวพุทธิกามีสภาพไม่ต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลายในปัจจุบัน บัดนี้จึงถึงเวลาที่จะนับถอยหลัง โดยฉบับหน้า คือฉบับตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๘ จะเป็นฉบับสุดท้าย อย่างไรก็ตาม งานเผยแพร่สื่อสารของเครือข่ายพุทธิกา จะยังคงดำเนินการต่อไป ไม่ว่า การพิมพ์หนังสือเล่ม การรณรงค์ รวมทั้งการจัดทำเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ที่ขาดไม่ใด้ในยุคปัจจุบัน
สำหรับผู้อ่านที่ยังมีอายุสมาชิกอยู่จนถึงปี ๒๕๕๙ เราจะทดแทนท่านด้วยหนังสือเล่มของเครือข่ายพุทธิกา แต่หากท่านประสงค์จะขอค่าสมาชิกส่วนที่เหลือ เราจะยินดีคืนเงินให้ หากท่านประสงค์ทางเลือกอื่น กรุณาแจ้งให้เราทราบด้วย (โดยขอความกรุณาแจ้งในใบรับสิทธิทดแทนอายุสมาชิกที่เหลือในจดหมายข่าวหรือติดต่อไปที่คุณมณี ศรีเพียงจันทร์ เครือข่ายพุทธิกา)
อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่