ชีวิตของ “ปาน” เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเธอรู้ว่าได้รับเชื้อ HIV จากสามี แต่เธอไม่มัวคับแค้นใจในชะตากรรมของตน หรือโกรธแค้นสามี หากพยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เธอดูแลสามีจนเขาสิ้นลม จากนั้นก็มองไปข้างหน้าว่า เธอจะทำอะไรต่อไปกับชีวิตที่เหลืออยู่ ไม่นานเธอก็พบคำตอบ นั่นคือการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อคนอื่นๆ ที่มีชะตากรรมเหมือนเธอ รวมทั้งใช้ประสบการณ์ของตัวเธอเองเพื่อเตือนใจไม่ให้คนอื่นมาเป็นเหมือนอย่างเธอ
เธอได้กลายเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ ต่อมาได้กลายเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชนในหมู่บ้านและตามโรงเรียนต่างๆ ในภาคเหนือ แม้นั่นจะหมายถึงการเปิดเผยตนเองว่ามีเชื้อที่ผู้คนประหวั่นพรั่นพรึงก็ตาม
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลา ๑๗ ปีที่แล้วที่เธอรู้ว่ามีเชื้อร้ายอยู่ในร่างกาย แต่เธอก็ยังมีสุขภาพดีไม่ต่างจากคนอื่นๆ โดยไม่เคยรับยาต้านเชื้อเลย มิหนำซ้ำเธอยังมีอารมณ์ดี อาจจะดีกว่าคนทั่วไปเสียอีก ทั้งๆ ที่เธอน่าจะทุกข์มากกว่าคนรอบตัว เพราะนอกจากร่างกายจะมีเชื้อ HIV แล้ว ยังต้องเจอกับปฏิกิริยาของผู้คนที่ไม่เข้าใจโรคนี้ดีพอ โดยเฉพาะในยุคแรกๆ ที่ใครๆ ก็รังเกียจผู้ติดเชื้อ
อะไรทำให้เธอมีสุขภาพดีและมีชีวิตยืนยาวมาจนบัดนี้ คำตอบของเธอก็คือ
“ถ้าคิดแต่เรื่องของตัวเองก็ป่วยไปนานแล้ว”
การช่วยเหลือผู้อื่นอย่างต่อเนื่องไม่ได้ทำให้เธอแย่ลง ตรงข้ามเธอกลับมีความสุขมากขึ้น เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่พบว่า การเป็นจิตอาสาไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ให้เท่านั้น หากตนยังเป็นผู้รับด้วย นั่นคือได้รับความสุข หญิงผู้หนึ่งปวดหัวไมเกรน ต้องกินยา ระงับปวดทุกวัน แต่หลังจากที่เธอไปเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กอ่อนบ้านปากเกร็ดติดต่อกันไม่กี่สัปดาห์ เธอสังเกตว่าวันไหนที่ไปเป็นจิตอาสาที่นั่น วันนั้นเธอจะลืมกินยา สาเหตุก็เพราะไม่รู้สึกปวดหัวเลย ความสุขจากการดูแลเด็ก ทำให้อาการปวดหัวหายไปอย่างไม่รู้ตัว
มิใช่แต่ความสุขเท่านั้น หลายคนยังพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในจิตใจของตน “กบ” ชายวัยปลาย ๓๐ ซึ่งเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กอ่อนบ้านปากเกร็ดอีกผู้หนึ่ง รู้สึกว่าตนเองใจเย็นขึ้น เพราะเวลาอยู่กับเด็ก จะพูดจาโผงผาง หรือทำอะไรแรงๆ ไม่ได้ กลายเป็นการฝึกตนเองให้เป็นคนพูดจานุ่มนวลขึ้น ไม่ใช่กับเด็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงคนอื่นด้วย “พอผมพูดกับลูกน้องที่ออฟฟิศ ผมก็รู้สึกได้ว่านุ่มนวลขึ้น คือใช้คำพูดที่ฟังรื่นหูหน่อย พูดได้โดยไม่เห็นต้องฝืนอะไรเลย”
เช่นเดียวกับ “น้องด้าย” เด็กหญิงวัย ๑๔ แม่ของเธอสังเกตว่าหลังจากที่น้องด้ายไปเป็นจิตอาสาบ้านปากเกร็ด เธอนิ่งและสุขุมมากขึ้น รับฟังคนอื่นมากขึ้น และใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับจิตอาสาหลายคนเกิดจากการคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง จากคนที่มักทำตามอารมณ์ เมื่อมาดูแลช่วยเหลือเพื่อให้ผู้อื่นมีความสุข ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตนเอง จะเอาแต่ใจตนเองตามนิสัยเดิมไม่ได้ “กบ”พูดถึงประสบการณ์ของตนเองว่า “เมื่อเราดูแลใส่ใจเด็ก เราจะอ่อนโยนไปเองโดยอัตโนมัติ คือในขณะที่เราพยายามจะให้เขามีพัฒนาการที่ดี เขาก็ช่วยขัดเกลาให้เราอ่อนโยนในเวลาเดียวกันด้วย”
ประสบการณ์ของ “กบ” ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อใดก็ตามที่เราช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเจตนาดีหรือด้วยใจบริสุทธิ์ ความเปลี่ยนแปลงมิได้เกิดขึ้นกับเขาเท่านั้น หากยังเกิดขึ้นกับเราด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อคิดถึงคนอื่นมากขึ้น อัตตาหรือความเห็นแก่ตัวก็ลดลง พร้อมจะละทิ้งนิสัยเดิม ๆ ที่ไม่ดี หรือเต็มใจที่จะขัดเกลาตนเองเพื่อความสุขของผู้อื่นมากขึ้น แต่ผลสุดท้ายตนเองกลับเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ หลายคนพบว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้คุณภาพชีวิตของตนดีขึ้น รวมทั้งทำให้สัมพันธภาพกับผู้อื่นดีขึ้นด้วย
“ป๊อป” นักธุรกิจหนุ่มซึ่งประสบความสำเร็จในอาชีพการงานก่อนวัย ๔๐ เล่าว่าแต่ก่อนตนเองแต่ทำงาน ไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น ยิ่งทำงานสำเร็จ ก็ยิ่งมั่นใจในตนเองมาก จนถึงกับ “เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง” แต่เมื่อได้มาเป็นจิตอาสาก็พบว่า “โลกมันกว้างกว่านั้น” เขาเริ่มนึกถึงผู้อื่นมากขึ้น ทำให้ความหุนหันพลันแล่นลดลง ผลที่ตามมาก็คือ นอกจากความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานจะดีขึ้นแล้ว เขายังเข้าใจแม่ของตนเองมากขึ้นด้วย นับแต่นั้นทุกสัปดาห์เขาจะกลับไปเยี่ยมแม่ และฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เหินห่างไปนานให้กลับแน่นแฟ้นดังเดิม
ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากการเป็นพี่เลี้ยงให้แก่เด็กน้อยที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวดองกับเขามาก่อนเลย
เรื่องราวของคนเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เมื่อเราช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เรามิได้เป็นเพียงผู้ให้เท่านั้น หากยังเป็นผู้รับด้วย ประโยชน์มิได้เกิดขึ้นกับเขาเท่านั้น เราเองก็ได้รับประโยชน์ด้วย แต่มิใช่ประโยชน์ทางวัตถุ หากเป็นประโยชน์ทางจิตใจ อาทิ ความสุข และจิตใจที่ประณีตงดงาม เป็นความเปลี่ยนแปลงภายในที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้จากการออกไปทำสิ่งดีๆ ให้แก่ผู้อื่น
พูดอีกอย่างก็คือ มุ่งกระทำภายนอก แต่เปลี่ยนแปลงภายใน
อย่างไรก็ตามมีความเปลี่ยนแปลงอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกัน กล่าวคือ เมื่อย้อนมาดูภายในกลับส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายนอกได้
สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ แห่งมหาวิทยาลัยชีวิต เล่าถึงนักศึกษาของเขาหลายคนที่พบกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิต นอกจากมีความสุขขึ้นแล้ว ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้นมาก ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มจากการที่เขาแนะนำให้นักศึกษาหันมาไตร่ตรองตนเองผ่านกิจกรรมบางอย่าง จากนั้นก็ให้เลือกพฤติกรรมเพียงหนึ่งอย่างที่อยากปรับปรุงแก้ไข โดยให้ถือเป็น “โครงงาน” หรือการบ้านที่ต้องทำทุกคน ระหว่างที่ทำการบ้านดังกล่าว ก็ให้สังเกตจิตใจและพฤติกรรมของตนไปด้วย พร้อมกับเขียนบันทึกประจำวัน แล้วนำผลการสังเกตรวมทั้งบันทึกดังกล่าวมานำเสนอในชั้นเรียน เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอภิปรายกัน
นักศึกษาคนหนึ่งเลือกโครงงาน “ขับรถให้ช้าลง” ก่อนหน้านั้นทุกวันเขาจะขับรถไปส่งลูกและภรรยาด้วยความเร็ว ๑๒๐-๑๔๐ กม.ต่อชั่วโมง ตลอดเวลาที่เดินทางทุกคนจะนั่งตัวตรง ตาจ้องมองถนนข้างหน้า ไม่มีการพูดคุยกันเลย แต่เมื่อเขาขับรถให้ช้าลง คือ ๙๐ กม.ต่อชั่วโมง เขาพบว่าตัวเองรู้สึกผ่อนคลายขึ้น ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวดดังแต่ก่อน ยิ่งกว่านั้นเขายังสังเกตว่าลูกและภรรยาก็ผ่อนคลายเช่นกัน บรรยากาศในรถดีขึ้นมาก มีการพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่ลูก เป็นความสุขที่เขาไม่เคยพบมาก่อนระหว่างขับรถ
นักศึกษาอีกคนหนึ่งเป็นนักธุรกิจ เธอเลือก “เคี้ยวอาหารให้ช้าลง” จากเดิมที่รีบกินข้าวให้เสร็จไวๆ เพราะต้องรีบไปทำงาน เมื่อเธอหันมาเคี้ยวข้าวให้ช้าลง ไม่นานเธอก็พบว่า “ข้าวมีรสหวาน อาหารที่อร่อยเป็นยังไง” การใช้เวลาบนโต๊ะอาหารที่นานขึ้น นอกจากทำให้ใจเธอนิ่งขึ้น ไม่ร้อนรนหรือพะวงถึงงานที่รออยู่ ยังทำให้เธอใส่ใจกับความรู้สึกของลูกและคนอื่นๆ ในครอบครัวที่กินร่วมโต๊ะ มีการสนทนากันมากขึ้น ไม่นานเธอก็รู้สึกได้ถึงความสัมพันธ์ที่อบอุ่นใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างคนในครอบครัว
การกินอาหารให้ช้าลง มีผลให้เธอลดความร้อนรนเร่งรีบในการทำงาน นอกจากจะรู้สึกผ่อนคลายขึ้น สุขภาพดีขึ้น โดยเฉพาะโรคปวดท้องและโรค “หายใจไม่ทัน” ที่รบกวนเธอมานานนับสิบปีหายไปอย่างปลิดทิ้ง ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและลูกน้องก็ดีขึ้นด้วย ในเวลาต่อมาเมื่อเธอโอนงานบางอย่างให้ลูกชาย หลังจากที่หวงไว้กับตัวเองตลอดด้วยความไม่ไว้วางใจ เธอก็มีเวลามากขึ้น จนสามารถไปเยี่ยมพ่อและพาพ่อไปเที่ยวได้ ผิดกับแต่ก่อนที่เธอมักจะอ้างว่าไม่มีเวลาเลย
นักศึกษาอีกคนหนึ่งทำโครงงาน “นับหนึ่งถึงร้อยค่อยพูด” เพราะเธอมักจะอารมณ์เสียใส่ลูกชายวัย ๑๐ ขวบที่ชอบตื่นสายและทำอะไรยืดยาดชักช้าเป็นประจำ จนบางทีถึงกับทุบตีลูก เสร็จแล้วก็มานั่งเสียใจที่ทำเช่นนั้นกับลูก เมื่อเธอเริ่มทำโครงงานนี้ มีหลายครั้งที่รู้สึกขุ่นเคืองลูก แต่เมื่อรู้ตัวว่ากำลังทำโครงงานนี้อยู่ ก็จะนับหนึ่งถึงร้อย แต่บางครั้งนับได้ไม่เท่าไร ใจก็สงบลง และสามารถพูดกับลูกโดยไม่ใช้อารมณ์ ต่อมาเธอก็ใช้วิธีรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเอง และพูดความรู้สึกนั้นให้ลูกได้รับรู้ เช่น บอกลูกว่าตอนนี้ใจแม่ไม่สงบ กังวลว่าลูกจะไปโรงเรียนสาย และแม่ก็จะไปทำงานสายด้วย จึงขอให้ลูกลุกขึ้นไปอาบน้ำแต่งตัว ปรากฏว่าลูกยินดีทำตามคำขอของแม่ หลังจากทำเช่นนี้หลายครั้ง เธอพบว่าความสัมพันธ์ของเธอกับลูกดีขึ้น ลูกถึงกับบอกเธอวันหนึ่งว่า ลูกรักแม่ ขอถ่ายรูปกับแม่ได้ไหม
นักศึกษาเหล่านี้ประจักษ์ด้วยตนเองว่า การเปลี่ยนแปลงตนเองนั้นสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ขยายวงกว้างออกไป ส่งผลถึงสัมพันธภาพกับผู้อื่น และสาเหตุที่เปลี่ยนแปลงตนเองได้ก็เพราะการหมั่นสังเกตตนเอง มิใช่แค่พฤติกรรมหรืออากัปกิริยาภายนอกเท่านั้น แต่รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ หลายคนได้เห็นอาการร้อนรนพลุ่งพล่านที่ผลักดันให้ทำอะไรเร็วๆ หรือพูดจาออกไปโดยไม่ทันยั้งคิด เพียงแค่เห็นอาการดังกล่าวเกิดขึ้นที่ใจ ก็พอแล้วที่จะทำให้มันสงบลง ไม่สามารถรบกวนจิตใจต่อไปได้ โดยไม่ต้องไปกดข่มมันเลยด้วยซ้ำ
สาเหตุที่เปลี่ยนแปลงตนเองได้ ก็เพราะการหมั่นสังเกตตนเอง โดยเฉพาะความรู้สึกนึกคิดหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ
จากความสงบภายใน สู่การกระทำที่สุขุมนุ่มนวล และใส่ใจคนอยู่รอบข้างมากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งเมื่อความเปลี่ยนแปลงภายในเกิดขึ้น ก็นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงภายนอก
เรื่องของจิตอาสาในครึ่งแรก และเรื่องของนักศึกษาในครึ่งหลัง แม้จะดูต่างกันราวกับตรงข้ามกัน กลุ่มแรกมุ่งช่วยเหลือผู้อื่น ขณะที่กลุ่มหลังมุ่งเปลี่ยนแปลงตนเอง แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นคล้ายกันตรงที่ นอกจากทุกคนจะมีความสุขแล้ว ยังนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน กลุ่มแรกได้พบความเปลี่ยนแปลงภายใน ในขณะที่กลุ่มหลังได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ภายนอก
ประสบการณ์ของทั้งสองกลุ่มชี้ให้เห็นว่า ภายนอก กับ ภายในนั้นไม่ได้แยกจากกัน ไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่า การช่วยเหลือผู้อื่นคือการช่วยเหลือตนเอง และการช่วยเหลือตนเองก็คือการช่วยเหลือผู้อื่น ข้อนี้พระพุทธองค์เคยตรัสรับรองว่า “บุคคลเมื่อรักษาตนก็คือรักษาผู้อื่น เมื่อรักษาผู้อื่นก็คือรักษาตน”
รักษาตนนั้นก็คือรักษาใจให้มีสติ สงบเย็น ไม่ร้อนรนหรือปล่อยให้ความโกรธความโลภเผาลนใจ ส่วนรักษาผู้อื่นก็คือการมีเมตตากรุณา อยากช่วยให้เขามีความสุขหรือพ้นทุกข์ ทั้งหมดนี้เรียกสั้นๆ ว่า ธรรมหรือความดี เมื่อมีธรรมกำกับ แม้ทำกับผู้อื่น ก็ส่งผลดีต่อใจตน แม้ทำกับใจตน ก็ส่งผลดีต่อผู้ที่อยู่รอบตัว
ความดีนั้น ไม่ว่าจะทำกับใคร กับผู้อื่นหรือตนเองก็ตาม อานิสงส์อันได้แก่ความสุขและความเจริญงอกงามในจิตใจย่อมแผ่ไปยังทั้งสองฝ่ายเสมอ เพราะถึงที่สุดแล้วเส้นแบ่งระหว่างเรากับผู้อื่น หามีไม่
หมายเหตุ: เรื่องราวของพี่เลี้ยงเด็กอ่อน มีที่มาจากหนังสือเรื่อง “อาสานวดเด็ก พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ๒” (มูลนิธิสุขภาพไทย) ส่วนเรื่องของนักศึกษาทำโครงงาน มาจากหนังสือเรื่อง “ตักสุขใส่กะโหลก ชะโงกดูใจ” เขียนโดย สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ (สำนักพิมพ์ busy- day) ส่วนเรื่องของ “ปาน” และเพื่อนอีกหลายคน หาอ่านได้จาก “๓๐ ชีวิตเปลี่ยน” (เครือข่ายพุทธิกา)