ทำบ้านให้น่าตาย

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 26 มกราคม 2014

“บ้านหลังนี้น่าตายดีจริง…”

หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เอ่ยประโยคนี้เมื่อเข้าไปเยี่ยมสุภาพร พงศ์พฤกษ์ ผู้อยู่ในระยะท้ายของชีวิต  เธอออกแบบและสร้างบ้านถั่วพูขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้ว เหตุที่หลวงพ่อคำเขียนกล่าวเช่นนี้ มิใช่เป็นการแช่งชัก หากแต่ชมเชยในความพอเหมาะพอดีของการออกแบบบ้านพักสำหรับการจากไปอย่างสงบโดยแท้จริง

กลางบ้านของเธอคือโถงกว้างสำหรับวางเตียงผู้ป่วยไว้ตรงกลาง ยังเหลือบริเวณสำหรับหัตถการและสำหรับให้เพื่อนๆ จะมาล้อมวงเล่นดนตรีและนั่งสมาธิ  ที่ผนังบ้านมีภาพพระพุทธรูปและครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือ ที่ข้างเตียงของเธอมีหน้าต่างที่ใหญ่พอจะมองเห็นต้นไม้นานาพรรณที่เธอปลูกไว้ ในยามเช้าเธอจะเห็นรุ่งอรุณ ในเวลานั้นจะมีนกมาเกาะกินลูกไม้อยู่เสมอๆ

ในงานอบรมเผชิญความตายครั้งหนึ่ง พระไพศาลตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วมอบรมว่า “ถ้าเลือกที่ตายได้ จะตายที่ไหน” ผู้อบรมส่วนใหญ่บอกว่าอยากตายที่บ้าน แต่ความจริงคือ บ้านของพวกเขามักไม่ได้ถูกเตรียมให้เหมาะที่จะตาย เมื่อถึงเวลาที่จะตายจริงมักได้ไปตายที่โรงพยาบาล ซึ่งในหลายๆ โอกาส โรงพยาบาลก็ไม่ใช่สถานที่ที่ดีที่สุดที่จะตายอย่างสงบ

จากเดิมที่ใครๆ ก็ตายในบ้าน ปัจจุบัน การตายในบ้านกลับเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมตัว ใครที่ปรารถนาจะตายที่บ้านลองสำรวจหน่อยไหมว่า บ้านของคุณเหมาะที่จะตายมากน้อยเพียงใด

บ้านของเรามีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การตายไหม เห็นบรรยากาศนอกบ้านบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะต้นไม้สีเขียวให้ความสดชื่น กว้างขวางพอที่จะเอาเตียงผู้ป่วยใส่เข้าไปได้ไหม ความสะดวกในการขึ้นลงล่ะ ลองสำรวจดูซิว่า มุมไหนของบ้าน ที่เป็นมุมที่เราอยากนอนตาย

การตายที่บ้านในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า จึงควรสำรวจดูว่า บ้านของเราเหมาะที่จะตายมากน้อยเพียงใด

ผมเคยเห็นสามีภรรยาวัยใกล้สูงอายุคู่หนึ่งที่ตัดสินใจขายบ้านเก่าทิ้งเพราะบ้านมีหลายชั้นเกินไปทำให้ไม่สะดวกที่จะต้องเดินขึ้นลง เขาซื้อบ้านหลังใหม่ที่มีสองชั้น จะได้ไม่เป็นภาระแก่คนดูแลมาก นี่อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเตรียมสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะแก่การตาย

อย่างไรก็ตาม บ้านไม่ได้มีแต่ตัวอาคาร จะตายที่บ้านได้ ก็ยังต้องคำนึงถึง “คน” ในบ้าน ลองสำรวจดูซิว่า ถ้าเราจะต้องตาย ลูกหลานจะยอมให้เราตายที่บ้านไหม พวกเขาดูแลสุขภาพยามที่เราเจ็บป่วยได้หรือไม่ จะมีใครมาช่วยพวกเขาดูแลผู้ป่วยหรือไม่  ตรงนี้รวมถึงว่าพวกเขากลัวผีด้วยหรือเปล่า

การจะตายที่บ้าน ยังรวมถึงการสื่อสารถึงเจตนารมณ์ของผู้ป่วยกับคนในบ้านว่า เพราะอะไรจึงอยากตายที่บ้าน บางคนอาจรู้สึกผ่อนคลายกว่าเมื่ออยู่บ้าน บางคนอาจรู้สึกว่าเมื่อตายไปจะได้เป็นเทวดาคุ้มครองลูกหลานที่บ้าน เหตุผลสนับสนุนที่หนักแน่น ก็ย่อมทำให้ลูกหลานเข้าใจว่า เพราะเหตุใดเราจึงยืนยันที่จะตายที่บ้าน

ยิ่งบอกให้ละเอียดไปเลยว่า อาการแบบไหนจะขออยู่ที่บ้าน อาการแบบไหนอนุญาตให้ไปโรงพยาบาลได้  ก็จะช่วยให้เกิดความชัดเจนแก่ญาติๆ ผู้ต้องรับภาระในการตัดสินใจว่าจะดูแลผู้ป่วยที่บ้านต่อ หรือส่งไปโรงพยาบาลดีกว่า  การสื่อสารเจตนารมณ์เหล่านี้เน้นให้รับรู้โดยทั่วกัน แต่ถ้าจะให้ชัดเจน ก็เขียนเอกสารไว้เป็นมั่นเป็นเหมาะเลยก็ยังทำได้

การเตรียมตัวตายเป็นหนึ่งในศิลปะการใช้ชีวิต การทำบ้านให้น่าตาย ก็อาจเป็นหนึ่งในศิลปะของการตกแต่งบ้านและชีวิตในบ้านด้วยเช่นกัน ผมคิดว่า หลายๆ คนอาจไม่เคยคิดถึงการทำบ้านให้น่าตายมาก่อน วันนี้ผมขอเชิญชวนเดินสำรวจบ้านของคุณเอง แล้วลองตอบตัวเองครับว่า…

บ้านของคุณเหมาะที่จะตายมากน้อยเพียงใด?

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

Backstage writer, Urban sketcher