ในทางพุทธศาสนา ความสุขเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้ว่าพุทธศาสนาจะพูดถึงความทุกข์เป็นเรื่องแรกในอริยสัจ แต่ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เราเข้าใจทุกข์อย่างแท้จริง เมื่อเราเข้าใจทุกข์อย่างถึงรากแล้ว ความสุขก็จะเกิดขึ้นเอง เพราะเราจะรู้ว่าที่ทุกข์ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะความยึดติดถือมั่น โดยเฉพาะความยึดติดถือมั่นในตัวตน ในตัวกูของกู ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ ความคิด ทฤษฎี หรือภาพตัวตนที่เราสร้างขึ้นมา ทั้งหมดนี้คือที่มาหรือรากเหง้าแห่งความทุกข์ เพียงแค่เรารู้ด้วยใจ ไม่ได้รู้ด้วยสมอง ก็จะวางได้เอง และเมื่อถึงตรงนั้นความสุขก็จะเกิดขึ้น แต่ว่าความสุขแบบนี้จะต้องเกิดจากปัญญาที่แจ่มแจ้ง
ความสุขสำหรับคนทั่วไป เป็นความสุขที่เกิดจากการเสพทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือกามสุข เรียกอีกอย่างว่า ความสุขที่เกิดจากการเร้าจิตกระตุ้นใจ ลองสังเกตดู ความสุขทางโลกที่ผู้คนแสวงหา ไม่ว่ารูปธรรม หรือนามธรรมล้วนเป็นเช่นนี้ รูปธรรมอย่างเช่น อาหารที่อร่อย เพลงที่ไพเราะ หรือสัมผัสที่น่าพึงพอใจ ส่วนนามธรรมก็ได้แก่ ชื่อเสียง เกียรติยศ อำนาจ
ทั้งหมดนี้ล้วนมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่คล้ายกันคือ เร้าใจให้ตื่นเต้นเวลาที่ได้มาหรือได้เสพ เช่น อาหารอร่อยก็เพราะว่ามันกระตุ้นลิ้นแล้วก็ไปกระตุ้นใจ ต่างจากอาหารที่จืดชืด ไม่อร่อย เพลงที่มีโทนเดียว ใครฟังก็รู้สึกว่าไม่เพราะ เพลงที่คนส่วนใหญ่ฟังแล้วมีความสุขต้องเป็นเพลงที่มีจังหวะกระตุ้นเร้า ถ้าเป็นวัยรุ่นก็ต้องเป็นเพลงที่กระแทกกระทั้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อกระตุ้นผัสสะซึ่งนำไปสู่ความสุขทางใจ แม้แต่ความสุขทางเพศก็เกิดจากการกระตุ้นเร้าทั้งกายและใจ อำนาจก็เช่นกัน ผู้คนแสวงหาก็เพราะมันตื่นเต้นเร้าใจ ทำให้หัวใจพองโต แม้แต่ตัวเลขในสมุดบัญชี เห็นแล้วก็มีความสุขเพราะมันทำให้เกิดความกระเพื่อมไหวพองฟูในจิตใจ ทั้งๆ ที่เราไม่รู้ว่าจะได้ใช้เงินนั้นหรือเปล่า หลายๆ คนพอใจที่มีเงินเข้ามาเรื่อยๆ แม้ยังไม่ได้ใช้เงินก็มีความสุขแล้ว เพราะว่ามันเร้าจิตกระตุ้นใจ ในทำนองเดียวกัน ทำไมผู้คนชอบไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้า ทั้งๆ ที่ไม่มีเงิน นั่นเป็นเพราะเขารู้สึกตื่นเต้นเร้าใจเมื่อได้เห็นของแปลกๆ ใหม่ๆ นี่คือความสุขประเภทแรกที่ผู้คนเสาะหา
แต่ความสุขประเภทนี้เมื่อได้เสพ ได้สัมผัสไปสักพักก็จะเริ่มชินชา อยากได้ใหม่ หรืออยากได้มากขึ้น ไม่ต่างจากคนที่สูบบุหรี่ หรือกินกาแฟ เมื่อก่อนสูบบุหรี่เพียงแค่ครึ่งมวนก็สบาย มีความสุขแล้ว หรือชงกาแฟดื่มเพียงแค่ครึ่งช้อนก็รู้สึกกระชุ่มกระชวย แต่ถ้าสูบบุหรี่หรือดื่มกาแฟไปเรื่อยๆ ถามว่าบุหรี่ครึ่งมวน หรือกาแฟครึ่งช้อนเท่าเดิมพอไหม ไม่พอแล้ว ต้องเพิ่มมวนบุหรี่มากขึ้น ต้องเพิ่มปริมาณกาแฟมากขึ้น ความสุขแบบนี้ทำให้เราต้องเสพมากขึ้น หรือมีของใหม่มากขึ้นอยู่เรื่อยๆ
ทั้งๆ ที่มีเสื้อนับร้อยตัว ทำไมเราถึงอยากได้เสื้อตัวใหม่ เพราะว่าความสุขของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นกับว่ามีเท่าไหร่ แต่อยู่ที่ได้ของใหม่เพิ่มขึ้น คุณมีเงินร้อยล้านพันล้าน คุณก็ไม่มีความสุขถ้าคุณไม่มีเงินก้อนใหม่เข้ามา แม้จะเป็นเงินหมื่นเงินแสนก็ตาม เพราะฉะนั้นคนที่มีเงินร้อยล้านพันล้านจึงต้องหาเงินไม่รู้จักจบสิ้น จนกระทั่งกลายเป็นทาสของมัน เพราะว่าเงินก้อนใหม่หรือของใหม่ที่ได้มานั้นมันไปกระตุ้นจิตใจ ทำให้มีความสุข ความสุขของคนเราถึงที่สุดแล้วไม่ได้เกิดจากการมี แต่เกิดจากการได้ มีเท่าไหร่ก็ไม่มีความสุข ถ้าไม่ได้อะไรมาใหม่ๆ นี่คือโทษของความสุขแบบนี้ คือพอเสพเข้าไปมากๆ เราจะขาดมันไม่ได้ อยากได้เรื่อยไปจนตกเป็นทาสของมัน
มีเศรษฐีคนหนึ่งอายุ ๗๐ กว่าปี มีโรคภัยเบียดเบียน นอนป่วยอยู่ แต่แทนที่จะพักผ่อน กลับหมกมุ่นครุ่นคิดถึงโครงการลงทุนใหม่ๆ ไม่หยุดหย่อนจนเครียด ทั้งๆ ที่เขาควรจะหาเวลาพักผ่อนเพราะสุขภาพไม่อำนวย แต่เขากลับหยุดหาเงินไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มีอยู่แล้วมากมายมหาศาล และที่ได้มาใหม่ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ใช้หรือไม่ แสดงว่าเงินไม่ใช่ของเขา แต่ว่าเขาเป็นของเงิน จึงต้องทุ่มเทชีวิตเพื่อหาเงินหาทองจนกว่าจะหมดลม
จะว่าไปแล้วอุทกภัยครั้งนี้ช่วยให้เราเห็นตัวเองชัดเจนว่า สมบัติทั้งหลายนั้นเป็นของเราหรือเราเป็นของมัน ถ้ามันเป็นของเรา ถ้าเราเป็นนายมัน เมื่อเสียมันไปก็สามารถปล่อยวางได้ ไม่ทุกข์ร้อน แต่ถ้าเราเป็นของมัน เราก็จะคร่ำครวญเสียอกเสียใจ หรือถึงแม้จะยังไม่สูญเสียมันไป แต่ก็กังวลพะว้าพะวง ตัวเองอยู่ที่นี่แต่ใจไปอยู่ที่บ้าน อยู่กับทรัพย์สมบัติ หรือรถยนต์ หรือแม้ตัวจะอยู่บ้าน แต่ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะเครียดกับความสูญเสียที่กำลังจะเกิดขึ้น
นี่คือโทษของกามสุข คือเมื่อติดใจมันเข้าแล้ว นอกจากจะต้องเพิ่มปริมาณในการเสพมากขึ้น หรือดิ้นรนหามาเพิ่มไม่หยุดหย่อนแล้ว เรายังตกเป็นทาสของมัน แล้วมันก็จะเผาใจของเรา พระพุทธเจ้าอุปมาว่ากามสุข รวมไปถึงสุขจากโลกธรรม เปรียบเหมือนคบไฟที่ทำด้วยหญ้าแห้ง แม้จะให้แสงสว่าง แต่ก็เต็มไปด้วยควัน ซึ่งทำให้ระคายจมูก ระคายตา บางที่พระองค์ก็เปรียบว่าเหมือนกับการถือคบไฟเดินต้านลม ถ้าเราถือไปเรื่อยๆ ไม่ยอมปล่อย ในที่สุดไฟก็จะเผามือ
ความยึดติดถือมั่นในตัวเราของเรา ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ ความคิด ทฤษฎี หรือภาพตัวตนที่เราสร้างขึ้นมา ทั้งหมดนี้คือรากเหง้าแห่งความทุกข์
มีความสุขอีกประเภทหนึ่ง เกิดจากจิตที่สงบ ปลอดจากสิ่งยั่วยุกระตุ้นเร้าของวัตถุ ความสุขประเภทนี้ตรงข้ามกับความสุขประเภทแรก คือ ใจยิ่งสงบเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นสุขมากเท่านั้น เช่นสุขที่เกิดจากสมาธิ หรือสุขที่เกิดจากการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สงบสงัด
ความสงบใจมีสองแบบ คือ สงบเพราะไม่รู้ กับสงบเพราะรู้ สงบเพราะไม่รู้เช่น ถ้าเราไม่ฟังข่าวน้ำท่วม ไม่ฟังวิทยุ ไม่ดูโทรทัศน์ เราเก็บตัวอยู่ในห้องพระ ใจเราก็สงบได้ แต่เมื่อใดที่เราเปิดโทรทัศน์ดูข่าว เราก็ไม่สงบแล้ว หรือบางคนแม้อยู่คนเดียว ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่ฟังวิทยุ ใจก็ไม่สงบ แต่พอเริ่มเอาจิตมาอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้ารู้สึก หายใจออกรู้สึก จิตไม่ออกไปคิดถึงเรื่องน้ำท่วม จิตก็สงบนิ่ง อันนี้คือความสงบเพราะไม่รับรู้ ไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยที่ใจก็ไม่รับรู้อะไรอย่างอื่นนอกจากลมหายใจ
แต่มีความสงบอีกประเภทหนึ่งคือ ความสงบเพราะรู้ รู้อารมณ์ที่กระเพื่อมไหว และรู้ใจที่คิดนึก ถึงแม้ว่าไม่ได้อ่านข่าว ไม่ได้ฟังวิทยุ แต่พอใจฟุ้งหรือนึกอาลัยข้าวของที่จมน้ำ หรือกังวลว่ารถของเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดน้ำท่วมในวันนี้หรือวันพรุ่ง พอรู้ว่าใจฟุ้งซ่านก็วางความคิดนั้น จิตก็สงบ
สงบเพราะรู้ คือรู้ใจที่กระเพื่อม รู้อารมณ์ที่ครอบงำใจ รู้แล้วก็วาง นั่นคือรู้เพราะมีสติ เมื่อมีสติก็รู้ทันอารมณ์ รู้ทันจิตที่คิด ที่ปรุงแต่ง รู้แล้วก็วาง ถ้ารู้แบบนี้ใจเราก็สามารถสงบได้แม้อยู่ท่ามกลางเสียงอึกทึกวุ่นวาย แม้เราจะฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ทีแรกใจก็กระเพื่อม กังวล แต่พอมีสติรู้ทัน ก็วางมันได้ ความสงบก็กลับมาสู่จิตใจ เราไม่จำเป็นต้องปิดหูปิดตา สามารถรับรู้ข่าวสารบ้านเมืองโดยที่ใจยังสงบอยู่ได้ เพราะไม่ได้รู้เรื่องภายนอกหรือข่าวสารบ้านเมืองเท่านั้น แต่ยังรู้ภายในคือรู้ใจด้วย รู้ใจแล้วก็วางความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ลงได้ จึงทำให้ใจสงบ นี่คือสงบเพราะรู้ รู้ด้วยสติ
เรายังสามารถจะรู้ด้วยปัญญา รู้ด้วยปัญญาคือ รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง รู้ถึงความเป็นอนิจจังของสิ่งต่างๆ รู้ว่าวันนี้สุขพรุ่งนี้ทุกข์ รู้ว่าวันนี้ทุกข์พรุ่งนี้สุข และรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเราได้ คือรู้ไตรลักษณ์นั่นเอง เมื่อรู้ไตรลักษณ์แล้วใจก็สงบ แม้มีอะไรมากระทบใจก็ไม่กระเพื่อม แม้ของจะสูญหายไปกับสายน้ำก็ไม่ทุกข์ เพราะเรารู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เรารู้และตระหนักถึงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา แม้ในวันที่มีความสุข เราก็ตระหนักถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า อนาคตภัย
อนาคตภัยคือ ภัยในอนาคต วันนี้สุขก็จริงแต่ว่าพรุ่งนี้ไม่แน่ วันนี้สุขภาพดี แต่พรุ่งนี้ก็อาจเจ็บป่วย วันนี้ยังมีกำลังวังชา แต่พรุ่งนี้ก็จะไม่มีเรี่ยวแรง วันนี้อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ แต่พรุ่งนี้ก็อาจขาดแคลน วันนี้ครอบครัวชุมชนมีความสงบ แต่พรุ่งนี้ก็อาจจะวุ่นวายวิวาทกัน เมื่อระลึกได้เช่นนี้ก็พยายามป้องกันไม่ให้ภัยเหล่านั้นเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็เตรียมตัวเตรียมใจหากมันเกิดขึ้นมา จะได้ไม่เป็นทุกข์ เพราะเผื่อใจไว้แล้ว พร้อมกันนั้นก็มีปัญญารู้ว่าไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ในยามที่เจ็บป่วยเราก็ยอมรับว่านี่เป็นธรรมชาติหรือธรรมดาของสังขาร เมื่อรู้เช่นนี้เราก็ปล่อยวางได้ น้ำจะท่วมบ้านเราก็ปล่อยวางและทำใจได้ เพราะเรารู้แต่แรกว่าไม่มีอะไรแน่นอนเลย หรือเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง
แต่เมื่อใดก็ตามที่เราทุกข์ก็แสดงว่าเรายังไม่เข้าถึงความจริง ยังไม่เกิดปัญญา หลวงพ่อชา สุภัทโท พูดไว้น่าคิดว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรานั้นมันถูกเสมอ แต่ถ้าเราทุกข์เมื่อไหร่นั่นแปลว่าใจเราวางไว้ผิด ใจที่วางไว้ผิดในที่นี้ได้แก่การยึดติดถือมั่นเพราะความไม่รู้ เพราะขาดปัญญา แต่ถ้าเรามีปัญญา วางใจได้ถูกต้อง จิตก็จะสงบ ไม่ทุกข์เพราะความผันผวนปรวนแปรที่เกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่า สงบเพราะรู้ สงบอย่างนี้แหละที่จะนำไปสู่ความสุขอันสูงสุด คือพระนิพพาน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี”