“การจะชวนใครเขาทำอะไร โดยเฉพาะทำเพื่อคนอื่น มันเป็นเรื่องยากที่จะให้เขาเชื่อ
เราต้องทำให้เขาเห็น ทำให้เขาดูก่อน ถึงแม้จะต้องใช้ระยะเวลา และความอดทนอย่างหนักก็ตาม
มันเป็นการสื่อสารที่ดีที่สุด”
“ทำไมพี่ถึงมาทำงานนี้ครับ ”
เด็กหนุ่มคนหนึ่งหันมาถามผมขณะที่เรือจอดหลบฝนอยู่ใต้สะพานกลางคลองบางระมาด ย่านตลิ่งชัน ฝนทำท่าจะตกตั้งแต่เช้า แล้วก็ตกลงมาจริงๆ โชคดีที่ภารกิจล่องเรือเก็บขยะของพวกเราใกล้เสร็จสิ้นแล้ว เหลือแต่เพียงช่วยกันแยกขยะ จำพวกถุงพลาสติก ขวดแก้ว และอื่นๆ ออกจากผักตบชวากองใหญ่ เพื่อจะได้เอาขยะตามธรรมชาติเหล่านั้นไปถมตามคันสวน หรือไม่ก็เอาไปสุมทับโคนต้นไม้ เพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยต่อไป
คำถามที่ดังแทรกเสียงเปาะแปะของสายฝนขึ้นมาในตอนนั้น ทำให้ผมนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งเพื่อทบทวนคำตอบ ซึ่งบ่อยครั้งที่ผมจะต้องตอบคำถามลักษณะนี้ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่มาทำงานเป็นอาสาสมัครเก็บขยะ บางครั้งแทนที่ผมจะตอบคำถามเหล่านั้นออกไปตรงๆ ว่า ทำไม…… แต่ผมกลับเล่าถึงเรื่องราวของชายผู้หนึ่ง เหมือนกับเรื่องนั้นจะเป็นคำตอบและเล่าเรื่องนี้เหมือนดังว่า มันเป็นตำนานที่ผมค้นเจอด้วยตัวเอง….
เมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน สายน้ำ ลำคลองในย่านชานเมืองกรุงเทพฯ เริ่มเกิดอาการเจ็บป่วย ขยะและของสกปรกเน่าเสียต่างๆ ลอยเกลื่อนเหนือผิวน้ำ ส่งกลิ่นไม่ชวนดมไปทั่วสองฝั่งคลอง เขาเกิดและอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่เด็ก เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสายน้ำนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่ยังเป็นท้องทุ่งนาอุดมสมบูรณ์ หลายปีผ่านไป จากนากลายมาเป็นสวน สวนที่เต็มไปด้วยผลหมากรากไม้ ข่า ตระไคร้ ใบมะกรูด ดูเหมือนจะเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น จนใครๆ ให้ชื่อพื้นที่บริเวณนี้ว่า ย่านสวนเครื่องต้มยำ
จนเมื่อความเจริญของเมืองขยายตัวเข้ามา ถนนหนทางตัดขึ้นใหม่ไปไหนมาไหนสะดวกสบายกว่าแต่ก่อน คนใหม่ย้ายเข้า พร้อมกับคนเก่าค่อยๆ ย้ายออก ที่ดินเปลี่ยนเจ้าของ สวนต้มยำกลับกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร จนคนเฒ่าคนแก่มักจะบ่นกับตัวเองในทีน้อยอกน้อยใจว่า “พอถนนมา คนก็เลิกใช้เรือ พอมีน้ำประปาเข้ามา คนก็เลิกใช้คลอง” นับวันสายน้ำอันเปรียบเสมือนชีวิต กำลังแย่ลงเรื่อยๆ เขามีแค่สองทางเลือก คือ นั่งดูอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไร ปล่อยให้สายน้ำค่อยๆ ตายไปอย่างไม่ไยดี กับอีกทางหนึ่งคือต้องทำอะไรสักอย่าง ทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น เขาเลือกทำอย่างหลัง ด้วยการออกพายเรือตระเวนเก็บขยะตามลำคลองเพียงลำพัง ขยะชิ้นแล้วชิ้นเล่าที่คนโยนทิ้ง เขาก็เก็บขึ้นมาชิ้นแล้วชิ้นเล่า วันแล้ววันเล่า ร้อยคนทิ้งกับหนึ่งคนเก็บ จนเวลาผ่านไปเป็นปี เขายังคงตั้งหน้าตั้งตาทำสิ่งที่เขาเชื่อ จนผู้คนที่พบเห็นเริ่มคำถาม
“คนบ้าที่ไหนมาพายเรือเก็บขยะ ..มันต้องบ้าแน่ๆ..”
“โอ๊ย…ขยะตั้งเยอะแยะ…คนก็ทิ้งลงมาทุกวัน เมื่อไหร่จะเก็บหมด”
สาม-สี่ปีผ่านไป ชายที่ถูกมองว่าเป็นคนบ้ายังคงก้มหน้าก้มตาเก็บขยะอยู่อย่างนั้น กับคำถามและเสียงเล่าลือถึงเรื่องราวของเขา เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสิบ จนหลายคนเก็บความสงสัยไว้ไม่ไหว ต้องเข้ามาถาม จากการสื่อสารฝ่ายเดียวด้วยการทำ ทำ ทำ และทำ ผ่านสายตาผู้พบเห็น เริ่มกลายเป็นการพูดคุยกันเกิดขึ้น ด้วยเรื่องราวเหล่านี้แหละ….ผมก็เลยมาอยู่ตรงนี้ในวันนี้
ผมหยุดเล่าครู่หนึ่ง เพื่อสำรวจผู้ฟังที่เพิ่มมากขึ้นจากหนึ่งคน กลายเป็นทุกๆ คนที่อยู่บนเรือลำนั้น ดูพวกเขายังสนใจที่จะฟังต่อ ด้วยการนิ่งเงียบและจดจ้องสายตามาที่ยังผม
“เรื่องเล่าจบแล้ว” ผมบอกพวกเขาอย่างนั้น
“นี่เป็นเรื่องจริงหรือเปล่าครับ?” เด็กหนุ่มคนเดิมถามขึ้นมาอีกครั้ง
“แล้วชายคนนั้นเป็นใครเหรอคะ?” เด็กสาวที่เพิ่งขยับเข้ามาถามแทรกขึ้นอีก
“เขาทำอย่างไรต่อจากนั้น?” เด็กหนุ่มอีกคนถาม
จากคำถามเหล่านั้นทำให้ผมต้องเล่าต่อ เพื่อคลี่คลายความสงสัยของพวกเขา
เขามีแค่สองทางเลือกคือ นั่งดูอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไร กับอีกทางหนึ่งคือ ต้องทำอะไรสักอย่างให้ทุกอย่างมันดีขึ้น
ผมก็ไม่รู้ว่าเรื่องราวที่ผมได้ฟังมานั้น เป็นเรื่องจริงหรือแค่เรื่องแต่งแล้วเล่าต่อๆ กันมา ผมโชคดีมีโอกาสได้เจอผู้ชายที่หลายคนเรียกว่า คนบ้าคนนั้นเมื่อประมาณสามปีก่อน แกมีชื่อว่า ลุงชวน ชูจันทร์ ผู้เป็นแกนนำก่อตั้งตลาดน้ำคลองลัดมะยม ตลาดเล็กๆ ที่เป็นศูนย์รวมของสินค้าพื้นบ้าน จำพวกผักผลไม้และอาหารการกินต่างๆ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองที่หลงใหลในวิถีความเป็นธรรมชาติแบบดั้งเดิม แต่ความตั้งใจเริ่มแรกนั้น ลุงชวนและพี่น้องในชุมชนตั้งใจให้ตลาดแห่งนี้ เป็นเพียงแค่เครื่องมือให้คนในชุมชนหันกลับมาดูแลแม่น้ำลำคลอง จากแนวคิดว่าถ้าคนยังใช้เรือ ใช้คลองแล้ว น้ำในคลองก็จะได้รับการดูแล ส่วนเรื่องเศรษฐกิจรายได้เป็นเพียงผลที่ตามมาทีหลัง นั่นคือสิ่งแรกที่ผมได้ฟังจากลุงชวน
ครั้งหนึ่ง ผมเคยเอ่ยถามลุงชวนแบบตรงๆ ถึงเรื่องชายบ้าในตำนานคนนั้น ลุงนิ่งไปครู่หนึ่งก่อนจะพูดขึ้นมาว่า
“การจะชวนใครเขาทำอะไร โดยเฉพาะทำเพื่อคนอื่น มันเป็นเรื่องยากที่จะให้เขาเชื่อ เราต้องทำให้เขาเห็น ทำให้เขาดูก่อน ถึงแม้จะต้องใช้ระยะเวลาและความอดทนอย่างหนักก็ตาม มันเป็นการสื่อสารที่ดีที่สุด”
ลุงชวนพูดด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา แต่ดูมุ่งมั่นจริงจัง และในแววตาที่สื่อออกมาพร้อมกับน้ำเสียงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจและความสุข สุขจากการได้คิดและทำเพื่อคนอื่น เพื่อสายน้ำและชุมชน สุขจากการได้ทำงานที่รักด้วยความพากเพียร เหมือนกับคำที่พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้นิยามความสุขแบบนี้ว่า เป็นสุขแท้ สุขแท้ด้วยปัญญา…