ดอกไม้ในเตาหลอม

มะลิ ณ อุษา 3 มิถุนายน 2018

แม่เป็นคนมือเย็น ชอบปลูกต้นไม้ และที่ชอบเป็นพิเศษคือดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม พ่อเองก็ชอบปลูกต้นไม้เหมือนกัน ต้นไม้ที่พ่อปลูกมาตามกระแสพ่อยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อตะโกดัดราคาแพงมาประดับหน้าบ้าน เงินสองพันห้าร้อยบาท เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว ถือว่าไม่น้อยเลยสำหรับครอบครัวฐานะปานกลาง แต่เพราะพ่อเป็นคนหาเงิน เราจึงทำได้แค่เพียงใช้กรรไกรตัดกิ่งเล็มใบอ่อนที่แพลมออกมานอกพุ่มตามคำสั่งของพ่อเท่านั้น

เมื่อย้อนกลับไปสัก 2–3 ทศวรรษ สถานการณ์ที่พ่อเป็นใหญ่ในบ้าน ทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว แม่เป็นแม่บ้านที่ทำหน้าที่ดูแลลูกๆ และทำงานบ้านทุกอย่าง คงเป็นภาพที่เกิดขึ้นในครอบครัวส่วนใหญ่

พ่อเป็นคนรักครอบครัว พอๆ กับรักการสมาคมกับเพื่อนๆ ในขณะที่แม่รักครอบครัวมากกว่าสิ่งใด แต่ที่สุดของทั้งพ่อกับแม่ คือความรักลูกๆ เป็นความรักที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดีและวิธีการ!

ทุกคำถามในวัยเด็กของพี่ชายและผู้เขียน มักมีคำตอบและวิธีการรออยู่เสมอ สามารถบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า ไม่เคยได้ยินคำถามกลับทำนองว่า “ลูกคิดว่าอย่างไร” หรือ “ลูกคิดว่าจะทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้” เพราะพ่อกับแม่มีคำตอบ (ในใจ) ที่ชัดเจนและหนักแน่นมากๆ อยู่แล้ว เราจึงไม่ค่อยได้ฝึกคิดเพื่อหาคำตอบด้วยตัวเอง หรือแม้มีคำตอบ เราก็ไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น หากคำตอบนั้นแตกต่างออกไป

เราสองพี่น้องจึงเป็นผู้ฟังที่ดี ท่ามกลางผู้บัญชาการหมายเลขหนึ่ง และผู้วิพากษ์วิจารณ์หมายเลขสอง

ในวันที่ครอบครัวเล็กๆ ของเราเริ่มขยายออก มีสมาชิกตัวเล็กตัวน้อยเพิ่มเข้ามา เป็นวันที่วัยและบทบาทของพ่อกับแม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่ความรักและวิธีการยังคงไม่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังสามารถขยายไปยังหลานๆ ได้อย่างไม่ตกหล่น ต่างจากเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนตรงที่ว่า เรามีผู้บัญชาการและวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มขึ้นมาอีก 1 คน นั่นก็คือ พี่ชายของผู้เขียนเอง!

กระนั้น เด็กๆ ก็ยังไม่ได้ยินคำถามชวนคิดเช่นเดิม

ตั้งแต่ออกมาเรียนและใช้ชีวิตนอกบ้าน ผู้เขียนกลับบ้านปีละ 1 – 2 ครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน แม้จะคิดถึงแค่ไหน ก็ไม่เคยอยู่บ้านเกินสัปดาห์ เพราะทุกครั้งที่กลับบ้าน มักจะมีความรู้สึกอึดอัด หายใจไม่ทั่วท้อง ในหนึ่งวันจะได้ยินแต่คำสั่งหรือไม่ก็คำบ่น“นั่นไม่ดี” “นี่ไม่ได้” “ทำนั่นสิ” “ทำนี่หรือยัง” ฯลฯ

เราไม่ค่อยได้ฝึกคิดเพื่อหาคำตอบด้วยตัวเอง หรือแม้มีคำตอบ เราก็ไม่กล้าแสดงความเห็น

ถึงบรรทัดนี้ ผู้อ่านอาจสงสัยว่า แล้วผู้เขียนมาเล่าเรื่องครอบครัวของตัวเองให้ฟังทำไม

แล้วผู้อ่านคิดว่าอย่างไรล่ะ?

ช่วงไม่กี่ปีให้หลัง ผู้เขียนกลับบ้านบ่อยครั้งขึ้น เปิดใจที่จะเผชิญหน้ากับสภาวะที่เคยผลักไสให้มากขึ้น อันเนื่องมาจากผู้เขียนอยากเข้าใจสภาวะที่ติดค้างอยู่ในใจ เพราะรู้ว่าพ่อกับแม่รักผู้เขียนมาก แต่ไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดจึงไม่สามารถตอบรับความรักของท่านได้อย่างเต็มหัวใจ

วันนี้ แม้พ่อกับแม่จะยังมีความรักและใช้วิธีการเช่นเดิม แต่ด้วยกำลังกายและความจำที่ถดถอย

บรรยากาศในบ้านจึงเปลี่ยนไป(บ้าง) เมื่อมือที่เคยให้ กลับพลิกหงายเป็นมือที่รับ ท่านคงรู้สึกถึงคุณค่าและอำนาจที่ลดลง

ผู้เขียนเชื่อว่า ใต้หลังคาบ้านทุกบ้านมีความทรงจำ ทุกๆ คำพูดและการกระทำ เป็นเหมือนเบ้าหลอมให้เราเติบโตขึ้นมา ไม่ว่าเราจะยินดีรับหรือไม่ก็ตาม แต่วันนี้ บ้านได้แปรเปลี่ยนเป็นที่พักพิงของผู้สูงวัยกับหลานตัวเล็กๆ ในขณะที่คนรุ่นลูกออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน มีทั้งอิสรภาพ ความรู้ และอำนาจทางการเงิน

เราสามารถทำในสิ่งที่เราอยากทำโดยไม่มีเสียงทัดทาน หรือถ้าจะมีก็เบามาก เราสามารถไปในที่ที่เราอยากไป เราเฉลิมฉลองกับผู้คนที่เราเลือกเอง เราเป็นตัวของตัวเองใน ‘บ้าน’ ที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของเราเอง ช่างเป็นช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าชีวิตได้รับการเติมเต็มเสียจริงๆ

ทว่า ลึกๆ แล้ว เรารู้ว่ามันยังพร่องเติมเท่าไรก็ไม่เต็มเสียที ไม่ว่าเราจะหลอกตัวเองแนบเนียนแค่ไหนก็ตาม…เรารู้

เรามี…คำบอกรักที่ยังไม่ได้พูด

เรามี…คำขอโทษที่ติดอยู่ที่ริมฝีปาก

เรามี…คำสารภาพที่ไม่กล้าแม้แต่จะนึกถึง

เรามี…ความเจ็บปวดที่ไม่พร้อมจะให้อภัย

ฯลฯ

ช่วงเวลา 4 วันที่กลับบ้าน ผู้เขียนเตรียมงานมาทำมากมาย เพื่อจะได้ไม่ต้องรับรู้สถานการณ์วุ่นวายภายในบ้าน แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ ผู้เขียนกลับวางงานทุกอย่างลง นั่งตรงหน้าแม่ สบตาและฟังเวลาที่แม่พูดถึงความไม่พออกพอใจต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ฟังให้ถึงความรู้สึกลึกๆ เวลาที่พ่อออกคำสั่งให้ทำนั่นนี่ในขณะเดียวกันก็มองหลานสาววัยรุ่นที่กำลังสะท้อนภาพผู้เขียนในอดีต

น่าประหลาดใจที่ผู้เขียนไม่ได้เห็นพ่อกับแม่ชัดขึ้น แต่เห็นตัวตนของตัวเองชัดขึ้น! บิงโก!

เห็นความทุกข์ที่เกิดจากความขัดแย้งภายในที่สะสมมาเนิ่นนานโดยไม่รู้ตัว ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงได้รู้สึกโกรธ แต่ไม่รู้ว่าโกรธอะไร ตอนนี้รู้แล้วว่า เป็นความโกรธที่ไม่สามารถบอกความรู้สึกและความต้องการของตัวเองได้ เราอยากทำสิ่งนั้นเราไม่อยากทำสิ่งนี้ตามที่พ่อกับแม่บอก แต่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร และไม่สามารถอธิบายได้ว่ามันคืออะไรและอีกอย่างคือ ความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถตอบสนองความปรารถนาของท่านได้ ชีวิตในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นจึงเลื่อนไหลไปด้วยความอึดอัดคับข้องใจเช่นนี้ แม้จะเพียรถามตัวเองเท่าไรก็ไม่เคยได้คำตอบเสียที

ใต้หลังคาบ้านทุกบ้านมีความทรงจำ ทุกคำพูดและการกระทำเป็นเหมือนเบ้าหลอมให้เราเติบโตขึ้นมา

ท่ามกลางแสงกระจ่างของจันทร์เพ็ญคืนวิสาขบูชา สวนดอกไม้ของแม่แซมอยู่ในสวนไม้ประดับของพ่ออย่างกลมกลืน มีพี่ชายเป็นคนตัดแต่งทำความสะอาด พร้อมทั้งหาก้อนหินและอ่างปลามาประดับประดา ช่างแตกต่างจากบ้านสวนของผู้เขียนเสียเหลือเกิน ที่นั่น ทั้งไม้ดอก ไม้ผล ไม้ยืนต้น และไม้ประดับ อยู่รวมกันตามธรรมชาติ ผู้เขียนมีหน้าที่แค่บำรุงดินและรดน้ำ ปล่อยให้กิ่งไม้และใบแห้งสุมเป็นปุ๋ยอยู่โคนต้น เวลาที่พ่อกับแม่มาที่บ้านสวน ท่านก็จะบอกให้ทำนั่นทำนี่ รานกิ่งไม้บ้างสิ ถอนต้นนั้นออกสิ มันเกะกะขึ้นผิดที่ ฯลฯ

ผู้เขียนเพียงยิ้มแล้วเดินไปหยิบกรรไกรมาตัดกิ่งไม้แห้งตามที่ท่านบอก(บ้าง)  อาจเป็นการเข้าข้างตัวเอง ที่จะบอกว่า ผู้เขียนมองเห็นรอยยิ้มแห่งคุณค่าปรากฏขึ้นมาลางๆ ในแววตาฝ้าฟางคู่นั้น

เมื่อยังหนุ่มสาว ความรักและความหวัง ผลักดันให้พ่อแม่เร่งเร้าที่จะสร้างอนาคตให้ลูกๆ ในขณะที่เราอยากเรียนรู้ปัจจุบัน เราจึงรู้สึกกดดันและร้อนรน

เมื่อเข้าสู่วัยชรา ความรักและความเหงา เรียกร้องให้พ่อแม่กลับไปอยู่ในอดีตที่เคยรายล้อมด้วยลูกๆ ในขณะที่เราใฝ่ฝันถึงอนาคต เราจึงกดดันและพะวักพะวง

ท่ามกลางเปลวเพลิงอันร้อนรุ่ม ความรักและการรับฟัง จะเป็นหยดน้ำที่หล่อเลี้ยงต้นไม้เล็กๆ ให้เติบโตโดยไม่ถูกแผดเผาและเปลวเพลิงนั้นไม่มอดดับไปเสียก่อน โดยเฉพาะในวันที่ แทบทุกบ้านจะมีผู้สูงอายุและความทรงจำอยู่ใต้ชายคา


ภาพประกอบ

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน