คุณลุงชัย (นามสมมุติ) เป็นพ่อบ้านอายุเลยวัยเกษียณ เป็นคุณตาของหลานตัวน้อย ในช่วงข่าวคราวยึดทรัพย์อดีตนายกทักษิณ ชินวัตรกำลังร้อนแรง กิจวัตรของคุณลุงท่านนี้คือ การติดตามข่าวสารบ้านเมืองโดยเฉพาะรายการวิทยุ ข่าวทีวีจากคนเสื้อแดง ในความรู้สึกนึกคิดของคุณลุงก็คือ คนใกล้ตัวที่บ้าน ภรรยา และลูกๆ ช่างไม่รู้ถูก-ผิดเอาเสียเลย ไม่เข้าใจความหมายและคุณค่าของประชาธิปไตยที่แท้จริง ขณะเดียวกันในสายตาของภรรยาและลูก คุณลุงชัยกำลัง “บ้า” กับเหล่าคนเสื้อแดง นอนฟังข่าวคราวเสื้อแดงจนนอนหลับไป เนื้อหาและน้ำเสียงปลุกระดมที่ฟังดู “ร้อน” สร้างความเครียดให้กับสมาชิกในครอบครัว ยกเว้นแต่คุณลุงชัย ยามที่เอ่ยทักทายหรือบ่นว่า จึงมักจบลงด้วยการวิวาทและแยกห่างด้วยความคับข้อง ขุ่นเคือง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวของคุณลุงชัย ล่าสุดคุณลุงยินดีออกจากบ้านไปธนาคารจากปกติที่เรี่ยวแรงและแข้งขาก็ไม่ได้แข็งแรงนัก เพื่อโอนเงินบริจาคเข้ากองทุนคนเสื้อแดงจากเงินออมของตนเองซึ่งก็ไม่ได้มีมากมายนัก
เกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวของคุณลุงชัย หลายครอบครัวกำลังเกิดภาวการณ์เช่นนี้ คุกรุ่น ขุ่นเคืองและไม่พอใจ “ร้อน” กับความเห็นต่างในประเด็นการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น ความแตกร้าวกำลังเกาะกินครอบครัวและสังคมไทย เนื่องมาจากการยึดติดและเชื่อมั่นในความถูกต้องของความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตนเองหรือของกลุ่มตน คุณลุงชัยรับรู้ได้ถึงบรรยากาศในครอบครัวที่น่าอึดอัด คับข้องใจจากประเด็นการเมือง รับรู้ถึงท่าทีความขุ่นเคืองใจของคนใกล้ชิดในครอบครัว แต่ทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง คุณลุงชัยก็มักลืมตัว มุ่งเอาชนะและมีมุมมองที่มุ่งอยากให้คนใกล้ชิดคิดเห็นในทางเดียวกับตัวแก สำหรับคุณลุงชัย การติดตามข่าวสารแม้กระทั่งเวลาดึกดื่นแค่ไหนก็เป็นเรื่องสมควรกระทำ
เวลาที่เรายึดถือว่า “เราถูกต้อง” ยึดถือว่าสิ่งที่เราคิด เราเชื่อ เรารับรู้ว่าสิ่งนั้นคือ ความถูกต้อง มันดูเหมือนมีเรี่ยวแรงมหาศาลที่พุ่งออกมาเพื่อปกป้องความถูกต้องที่เรายึดถือ จนกระทั่งเราหลงลืมเรื่องอื่นๆ หลงลืมไปว่าเราได้ทำบางสิ่งที่หักหาญน้ำใจของคนใกล้ตัว และคนที่เข้ามาสัมพันธ์เกี่ยวข้อง การยึดถือความถูกต้องราวกับเป็นอุคมคติที่สูงค่า แท้จริงก็คือเพื่อการเติมเต็มความว่างเปล่า ไร้สาระของตัวตน แต่เมื่อตัวตนของเราผูกติดกับความถูกต้อง ตัวตนของเรากลับกลายเป็นสิ่งที่มีความหมาย มีตำแหน่งที่มั่นและดำรงอยู่ ตัวตนของเราไม่ใช่สิ่งไร้ความหมายอีกต่อไป ปัญหาอยู่ที่การยึดตัวตนเช่นนี้ หากกระทำบนการเบียดเบียนผู้อื่น บังคับกะเกณฑ์ผู้อื่น ตัวตนเช่นนี้ก็กลายเป็นความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และไร้น้ำใจ
ยามเมื่อเราเผชิญหน้ากับสิ่งคุกคามหรือทำร้ายตัวเราได้ ปฏิกิริยาที่เราตอบโต้จะมี ๒ ลักษณะ คือ สู้หรือหนี ขึ้นกับว่าความกลัวที่เกิดขึ้นนั้นใหญ่โต หรือคุกคามเรามากน้อยเพียงใด หากเป็นสิ่งที่ใหญ่โต เกินกำลังในความรู้สึก ปฏิกิริยาก็คือ การหลบหนี ถอยห่าง เหมือนกับจิ้งจกที่พร้อมสลัดหางทิ้ง เพื่อหลบหนีเอาตัวรอดได้ทันท่วงที อีกลักษณะท่าทีคือ การต่อสู้ การเข้าไปทำลาย กีดกันสิ่งที่น่ากลัว ท่าทีแสดงออกจึงมีลักษณะของความก้าวร้าว ดุดัน เหมือนหมาป่าที่พร้อมสู้ โจมตี กัดกินอีกฝ่าย เบื้องหลังปฏิกิริยา “สู้หรือหนี” คือเพื่อความมั่นคงปลอดภัย เพื่อการรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมายของตัวเรา แต่ปฏิกิริยาสู้หรือหนี เป็นปฏิกิริยาสัญชาตญาณของสัตว์โลกทั่วไป ส่วนของสมองที่ทำหน้าที่นี้คือ ก้านสมอง อันเป็นสมองระดับสัตว์เลื้อยคลาน สำหรับสังคมมนุษย์ สัญชาตญาณนี้จึงต้องการการศึกษาเรียนรู้ยกระดับคุณภาพของสมองส่วนอื่น สันติวิธีอันเป็นวิถีของการไม่ใช่ความรุนแรง สามารถเกิดขึ้นและทำงานได้จึงต้องการความพร้อมของการเจริญเติบโตของสมองส่วนอื่นๆ ด้านของความรู้สึกและการมีวิจารณญาณเหตุผลของผู้คนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการมีทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ไขความขัดแย้ง แก้ไขปัญหามากกว่าวิธีดั้งเดิมดังเช่น สู้ หรือ หนี
การยึดถือความถูกต้องราวกับเป็นอุคมคติที่สูงค่า แท้จริงก็คือเพื่อการเติมเต็มความว่างเปล่าไร้สาระของตัวตน
สำหรับสังคมของคนหมู่มาก ความหลากหลาย ความแตกต่างของความคิดเห็นถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความธรรมดาเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องยุ่งยากหากมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในการจัดสรรผลประโยชน์ให้เกิดภาวะลงตัวในคนหมู่มาก การเมืองในฐานะเวทีของการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เกิดความเป็นธรรมต่อสังคมโดยรวม ระบบการปกครองจึงต้องเป็นระบบที่ทุกฝ่ายยอมรับ ระบอบประชาธิปไตยถือว่ามีข้อบกพร่องเลวร้ายน้อยที่สุด ในบรรดาระบบการปกครองต่างๆ เท่าที่มนุษยชาติเคยมีประสบการณ์ จึงเป็นเครื่องมือความถูกต้องของสังคมโดยรวมที่ต้องการสิทธิเสรีภาพ ภราดรภาพ และเสมอภาค
ความขัดแย้งและแนวโน้มความรุนแรงอันเนื่องจากอุดมการณ์เสื้อเหลือง เสื้อแดง มาจากชุดความคิดในเรื่องความถูกต้องที่แตกต่างกัน ลำพังความแตกต่างในชุดความคิดไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายหรือน่ากลัว แต่สิ่งที่เลวร้ายและปิดกั้นการสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างกันคือ อคติ ความยึดมั่น จนปิดกั้นการทำความเข้าใจระหว่างกัน รวมถึงการมีผลประโยชน์ที่หล่อเลี้ยงอคติตัวนี้ การยึดมั่นความถูกต้องจึงเป็นเรื่องน่ากลัว และกำลังสร้างความเสียหายเมื่อความถูกต้องไม่ได้วางพื้นฐานอยู่บนความดี ความงาม และความจริง
ท่านอดีตนายกรัฐมนตรี คุณอานันท์ ปันยารชุน ได้ให้ข้อสังเกตต่อเงื่อนไขสำคัญของการมีโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนว่าจะต้องประกอบด้วยเสาหลักสำคัญ ๗ เสาด้วยกัน คือ การเลือกตั้ง ขันติธรรมทางการเมือง การปกครองด้วยกฎหมาย เสรีภาพในการแสดงออก ความรับผิดชอบต่อประชาชนและความโปร่งใส การกระจายอํานาจ และประชาสังคม องค์ประกอบของเสาหลักทั้ง ๗ นี้จึงต้องการส่วนประกอบย่อยๆ ที่สำคัญคือ คุณภาพของประชาชน ประโยคสำคัญที่คุณอานันท์ได้ให้ไว้ “การสร้างประชาธิปไตยไม่เหมือนกับการสร้างสะพาน เพราะไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นศิลปะของการทําเท่าที่จะทําได้”
การเอาชนะคะคานผ่านนิยามความถูกต้องในแบบของเรา ของพวกพ้องเรา จึงกลายเป็นการทำลายเส้นทางของการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง และหากกระทำบนพื้นฐานความรุนแรงก็ยิ่งเป็นการปิดประตูประชาธิปไตยที่แท้จริง และนำไปสู่ความป่าเถื่อนของบ้านเมือง ภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังร้อนแรงด้วยภัยของอุดมการณ์การเมืองบนชุดความถูกต้องที่แตกต่างกัน นอกเหนือจากการสำรวจว่าความถูกต้องที่เรายึดถืออยู่วางพื้นฐานอยู่บนความดี ความงาม และความจริงหรือไม่ สิ่งสำคัญอีกประการคือ การยืนหยัดและสนับสนุนทุกวิถีในแนวทางสันติวิธี
“มีประโยชน์อะไร หากว่าความถูกต้องนั้นแลกมาด้วยเลือดและน้ำตา”