ท่านอาจารย์พุทธทาสเล่าไว้ในการบรรยายครั้งหนึ่งว่า เคยมีเจ้าหน้าที่จากกรมการป่าไม้มากราบเรียนท่านว่า จะขอถวายรางวัลนักอนุรักษ์ธรรมชาติดีเด่นแด่ท่าน จากผลงานการสร้างสวนโมกข์ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ร่มรื่นไว้ได้ท่ามกลางความแห้งแล้งของพื้นที่โดยรอบ
ท่านอาจารย์พุทธทาสปฏิเสธการรับรางวัลดังกล่าว โดยบอกว่า ท่านไม่ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ฯ เพราะไม่สามารถทำให้ชาวบ้านเชื่อและหยุดการถางป่าเพื่อปลูกสวนยางพาราตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐในช่วงต้นของทศวรรษ 2500 นั่นคือ ท่านแพ้นโยบายและกระบวนการของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านถางป่าเพื่อหาเงินรายได้จากการปลูกยางพาราส่งออก ด้วยการเอาความโลภเงินมากระตุ้นส่งเสริมตามคำขวัญ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ที่ร้อนแรงสุดขีดในยุคพัฒนาไปสู่ความทันสมัยในเวลานั้น (แล้วรัฐเองกลับจะมาให้รางวัลแก่ผู้ที่ไม่ทำตามนโยบาย)
ดังนั้น โดยข้อเท็จจริงแล้วป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์นานาชนิดในละแวกรอบสวนโมกข์แห่งใหม่จึงหมดสูญไป เพราะนโยบายและการจัดการของรัฐอย่างปฏิเสธได้ยาก เว้นไว้แต่สวนโมกข์เท่านั้นที่ยังคงสภาพป่าไว้ได้ แม้จะไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม เพราะสัตว์ต่างๆ ที่ท่านอาจารย์เล่าว่าเคยได้ยินเสียงหรือแสดงร่องรอยชัดเจนได้หายไปหมดพร้อมกับปริมาณน้ำใต้ดิน ซึ่งต้องเจาะบ่อลึกมากขึ้นทุกขณะจึงจะได้น้ำขึ้นมาใช้ แต่ก็นับว่ายังดีกว่าชาวบ้านรอบนอกซึ่งต้องเผชิญกับปัญหา ดังที่ท่านเคยเตือนไว้ถึงผลกระทบของการทำลายป่าเพื่อปลูกยางพาราสร้างรายได้ นั่นคือในฤดูแล้งน้ำใต้ดินหายากหรือบางปีที่วิกฤตมากก็แห้งเหือด ทำให้บางช่วงชาวบ้านต้องเข้ามาขอน้ำจากวัดไปใช้ ซึ่งท่านอาจารย์ก็เมตตาแบ่งปันให้ ชาวบ้านที่เกิดทันในช่วงที่บริเวณนี้มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ขนาดท่วมหลังช้าง และเรียกกันว่า “ด่านน้ำไหล” ซึ่งท่านอาจารย์นำมาตั้งเป็นชื่อทางการของสวนโมกข์ว่า “วัดธารน้ำไหล” คงแทบไม่อยากเชื่อว่า ผลกระทบจะมาเร็วในช่วงเวลาเพียง 3 ทศวรรษเท่านั้น
ตัวอย่างที่ยกมา เป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถระได้เตือนไว้ด้วยสายตาและความเข้าใจในเหตุปัจจัยของสรรพสิ่งที่เชื่อมโยงอิงอาศัยและมีผลกระทบต่อกันอยู่ ซึ่งน้อยคนนักที่จะฟังคำเตือนของท่าน ส่วนหนึ่งเพราะผลประโยชน์ระยะสั้นบังตา และ/หรือเพราะความรู้ไม่ลึกซึ้งพอที่จะมองเห็นระบบหรือบูรณาการแห่งองค์รวมของสรรพสิ่ง จึงมองเห็นได้แต่รูปธรรมเฉพาะที่ปรากฎเป็นเรื่องๆ จึงไม่เข้าใจผลกระทบในสิ่งที่ตนเองทำในปัจจุบันว่าจะส่งผลไปถึงอนาคตได้อย่างไร
น้อยคนนักที่จะฟังคำเตือนของท่าน ส่วนหนึ่งเพราะผลประโยชน์ระยะสั้นบังตา และมองไม่เห็นว่าสิ่งที่ตนทำในปัจจุบันจะส่งผลไปถึงอนาคตอย่างไร
คำเตือนอีกเรื่องหนึ่งซึ่งท่านอาจารย์กล่าวไว้ล่วงหน้าถึง 30 ปี นั่นคือ ในปลายเดือนพฤษภาคม 2519 ท่านอาจารย์ได้บรรยายธรรมในโอกาสที่มีอายุครบ 70 ปี ในหัวข้อ “โลกวิปริต” โดยท่านได้เล่าสภาพการณ์ความวิปริตในเวลานั้น และอธิบายถึงสาเหตุของความวิปริตดังกล่าวอย่างละเอียดว่า เกิดจากการที่มนุษย์พาสังคมของตนเองคลาดเคลื่อนออกไปจากหลักธรรมหรือจากความเป็นปรกติไปสู่ความวิปริต คือการตกเป็นทาสของอำนาจแห่งวัตถุนิยม สามารถกระทำสิ่งที่ผิดทางศีลธรรม (หรือความปกติ) ต่างๆ โดยท่านได้กล่าวเตือนว่า “ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ” ซึ่งคำเตือนของท่านก็ค่อยปรากฎความจริงขึ้นเป็นลำดับ ให้เราประจักษ์ด้วยรูปธรรมต่างๆ นานา ว่ามนุษย์และสังคมของมนุษย์ที่ตกอยู่ในอำนาจของวัตถุนิยมกำลังอยู่ในสภาพทุกข์เข็ญ ร้อนใจ และร้อนเป็นไฟจากการเบียดเบียนทำร้ายและทำลายกันด้วยรูปแบบวิธีการที่รุนแรงสยดสยองต่างๆ อันเป็นผลจากความวิปริตที่ตนเองเป็นผู้ก่อไว้นั่นเอง
เรามีสังคมที่ลูกฆ่าพ่อแม่เพื่อหาเงินเสพยา เรามีสามีภรรยาที่ยิงอีกฝ่ายหนึ่งแล้วยิงตัวตายและหลายครั้งฆ่าลูกไปพร้อมกันด้วย เรามีพ่อ ลุง ตา ปู่ ที่ข่มขืนลูกหลานในไส้ตัวเล็กๆ มีแม่ที่พาลูก 8 ขวบเร่ขายบริการทางเพศ เรามีวัยรุ่นหญิงชายขายตัวเพื่อแลกเงินมาซื้อข้าวของหรูหรามาอวดเพื่อน ฯลฯ ข่าวความวิปริตเหล่านี้กลายเป็นข่าว “ปกติ” ที่ได้ยินกันอย่างต่อเนื่องเพราะมิใช่เพิ่งเกิด ในต่างประเทศเอง ที่ญี่ปุ่น วัยรุ่นนัดหมายกันทางอินเตอร์เน็ตไปฆ่าตัวตายด้วยการรมแก๊ซในรถยนต์พร้อมกัน อัตราคนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายพุ่งพรวด ในปี 2546 มีจำนวน 34,000 คน โดยในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้นถึง 22% หรือเมื่อไม่นานมานี้ ในสหรัฐอเมริกา มีการล่อลวงหญิงท้องแก่ประมาณ 7 เดือนคนหนึ่งไปฆ่า แล้วผ่าเอาลูกในท้องออก ซึ่งในปีสองปีที่ผ่านมา เกิดการฆ่าหญิงมีครรภ์แก่เพื่อเอาเด็กในท้องหลายคดีแล้ว ทั้งเพื่อเอาเด็กไปเลี้ยงและไปขาย และมีเด็กวัยรุ่นที่ออกจากบ้านพร้อมปืนเพื่อไปยิงใครก็ได้ที่ตนเองพบ ทั้งที่ไม่รู้จักและไม่มีเรื่องแค้นเคืองอะไรกันมาก่อน และโดยที่ตนเองก็บอกไม่ได้ว่าทำไปเพราะอะไร รวมไปถึงความวิปริตวิปลาสของบุคคลอีกมากมายที่ไม่เป็นข่าว
ความวิปริตของระบบนิเวศและชีวิตในสังคมทั่วโลกปัจจุบัน คือสถานการณ์ที่กำลังคุกคามคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสังคมมากที่สุด ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่าจะบรรเทาและคลี่คลายได้ด้วยการนำศีลธรรมหรือความปกติกลับมาแทนที่ความวิปริตดังกล่าว แต่ศีลธรรมที่จะกลับมานั้น จะต้องเป็นศีลธรรมที่เข้าถึงแก่นแท้แห่งหลักธรรมในศาสนาของตนเองเป็นสำคัญด้วย ดังที่ท่านอาจารย์ได้พยายามทำมาตลอดชีวิตของท่านคือการสร้างพลังของ “ศีลธรรมบนรากฐานของปรมัตถธรรม” เพราะดังที่เราจะเห็นในหลายสถานการณ์ว่า คำอธิบายของศีลธรรมหรือจริยธรรมที่ใช้ต่อเนื่องมาในยุคสมัยเดิมที่ปัญหายังไม่ซับซ้อนรุนแรงนั้น ขาดพลังที่จะวิเคราะห์สภาพโลกวิปริตและชีวิตวิปลาสดังกล่าวมาได้อย่างมีพลังคือเห็นจริงได้อย่างแจ่มแจ้ง ทำให้ศาสนาหลุดหายไปจากการแก้ไขวิกฤตการณ์ต่างๆ มีแต่การอาศัยกำลังของกฎหมายซึ่งอ่อนแอเหมือนกัน (หรือยิ่งกว่า) เพราะไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักความยุติธรรม (สัจธรรม) หากตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของผู้ร่างกฎหมาย และนำไปสู่ความเลวร้ายได้มาก เพราะผู้ใช้และบังคับใช้ซึ่งมีอำนาจ ขาดจิตวิญญาณ (ปัญญา) และความละอายใจ
ซึ่งสังคมของเราดูว่าจะมีมากเป็นพิเศษเสียด้วย