ปัจจุบันอาหารหลายอย่างได้รับการโฆษณาทั้งโดยตรงโดยอ้อมว่า มีสรรพคุณเพิ่มความจำ ความฉลาด ความเอ๊าะ ฯลฯ ไม่ว่าอาหารนม น้ำมันปรุงอาหาร และอาหารเสริมประเภทจับไก่ใส่ขวด รังนก ฯลฯ ยิ่งมีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรอง อาหารเหล่านั้นก็จะสามารถสร้างแรงจูงใจทางการตลาดได้โดยไม่ยาก ขายดิบขายดีได้โดยง่าย เพราะมิติการกินของสังคมสมัยใหม่นั้น มีเพียง 2 มิติ คือ อร่อยหรือไม่ และมีคุณค่าทางอาหารต่อประเด็นที่ผู้บริโภคสนใจหรือไม่ (ฉลาด จำเก่ง อ่อนกว่าวัย) โดยคนที่สนใจประเด็นหลังมาก ก็จะพิจารณาว่า อาหารเสริมนั้นมีประโยชน์จริงตามคำโฆษณาหรือเปล่า ถ้าจริงก็จะตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
ที่จริงแล้วเราควรจะต้องขบคิดไปเกินกว่าคำถามว่า อาหารดังกล่าวช่วยความจำดีขึ้นจริงหรือไม่ ฉลาดจริงหรือไม่ คือคำถามที่ว่า ความจริงนี้ มันมีนัยที่เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาชีวิตมนุษย์ สังคม และระบบนิเวศหรือธรรมชาติที่กำลังเสื่อมทรุดในเวลานี้ด้วยหรือไม่ อย่างไร คำถามเหล่านี้ไม่เคยถูกตั้งขึ้น เพราะปัจจัยที่กำหนดตลาด คือความพอใจของผู้บริโภค ราคาที่คุ้มทุนและกำไรของผู้ผลิต จริยธรรมในระดับที่ถกเถียงกันคือ สินค้านั้น มีคุณค่าจริงต่อผู้บริโภคหรือเปล่า และราคาแพงเกินไปหรือไม่ ถ้าอาหารนั้นๆ พิสูจน์ตัวได้แน่ชัด โดยปราศจากข้อโต้แย้งว่า ช่วยเพิ่มความจำ ความเยาว์วัยได้จริง ก็สามารถผลิตได้-ซื้อกินได้ การกินในสังคมสมัยใหม่จึงจำกัดการคิดอยู่เพียงผู้ผลิตและผู้ซื้อ ขาดมิติทางสังคม และมิติทางธรรมชาติ (ระบบนิเวศ) การขาดวิธีคิดเชิงบูรณาการนี่เองที่ทำให้มนุษย์เราแก้ไขปัญหาสุขภาพ และวิกฤตหลายอย่างไม่ได้
ผู้ผลิตอาหาร “คุณค่าสูง” และอาหารเสริมอื่นๆ อีกมากมาย พยายามจะส่งสารบอกว่า ความจำมีความสำคัญ จึงเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์หรือโรคความจำเสื่อม และเหมาะสำหรับเด็กที่กำลังเรียน ซึ่งต้องใช้สมองจดจำความรู้ และจำเป็นสำหรับผู้คนในยุคสารสนเทศ ที่มีปริมาณข่าวสารมากมาย หากเราคิดแบบแยกส่วนและแบบกลไก คือเห็นว่ามนุษย์เหมือนเครื่องจักร ถ้าเครื่องยนต์ฝืดก็ใส่น้ำมันเครื่อง หัวเทียนบอดก็เปลี่ยนหัวเทียน ความจำไม่ดีก็กินสารเพิ่มความจำเข้าไป เราก็จะซื้ออาหารดังกล่าวไปกิน ทั้งที่ความจริงนั้นระบบชีวิตของมนุษย์มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นหน่วยเดียวกันทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ระบบสังคม-นิเวศ การเปลี่ยนแปลงของส่วนหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับส่วนอื่นๆ ด้วยเสมอ “ความจำ” นั้นเป็นสิ่งสำคัญแน่นอนสำหรับมนุษย์ เพราะเป็นเสบียงของการคิดในรูปแบบต่างๆ ทั้งความคิดสร้างสรรค์ วิพากษ์วิจารณ์ แต่ความจำมิได้เกิดขึ้นสำเร็จรูปด้วยการกินซุปสกัด หรือสารผสมในนมผงทุกวันอย่างแน่นอน หากเกิดจากความสัมพันธ์เชื่อมโยงในการกินอาหารทุกประเภทอย่างหลากหลายพอเหมาะ การออกกำลังกาย สุขภาพจิตที่ดี (ความเครียดคือปัจจัยที่ทำให้ความจำถูกบั่นทอนอย่างมาก) และมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดีในระบบการศึกษา ฯลฯ
เมื่อคิดเชื่อมโยงต่อไปสู่มิติทางสังคมอีก โดยสมมุติว่าอาหารชนิดนั้นมีคุณภาพดีจริง ของพิเศษเหล่านี้จะตอบคำถามความอดอยากของคนจนเรื้อรัง (เจ็ดชั่วโคตร) ในประเทศไทยซึ่งงานวิจัยเมื่อประมาณ 5 ปีก่อนบอกว่ามีอยู่เกือบ 8 ล้านคน ให้คนจนเหล่านี้ได้กินด้วยอย่างทั่วถึงหรือไม่ หรือซื้อกินได้เฉพาะคนมีสตางค์ เพื่อสร้างชนชั้นที่มีความจำดี โดยปล่อยคนไม่มีสตางค์ให้เป็นชนชั้นที่ความจำ (เป็นต้อง) เสื่อม สมมติต่อว่า มีการกระจายความเจริญเติบโตในการบริโภคอย่างเท่าเทียมในสังคม ปัญหาที่มนุษย์เราไม่ได้คิดถึงอีกอย่างหนึ่งคือ ความจริงที่ว่าเราทั้งหลายต่างก็อาศัยทรัพยากรธรรมชาติและสรรพชีวิตอื่นทั้งพืชสัตว์เพื่อการดำรงชีวิต การผลิตสินค้าในการบริโภคที่ตัดสินด้วยความพึงพอใจ และประโยชน์ต่อมนุษย์ แม้จะมีความเท่าเทียมในการบริโภค ก็ยังไม่พออยู่ดี เราจำเป็นจะต้องคิดถึงธรรมชาติด้วย
เนื่องจากความพึงพอใจในการบริโภคเนื้อของสังคมตะวันตก ทำให้ประเทศด้อยพัฒนาทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ป่าอเมซอนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดของโลกถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อนำพื้นที่เลี้ยงวัว ชาวบ้านไทยรุกป่าไปปลูกมันสำปะหลังส่งเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารเลี้ยงวัวในยุโรป และการนิยมกินโปรตีนถั่ว น้ำมันถั่ว ได้ทำให้มีการปลูกพืชตระกูลถั่วอย่างกว้างขวางทั่วโลก ก่อให้เกิดปริมาณไนโตรเจนในธรรมชาติมากขึ้นทั้งในดิน น้ำ และอากาศ ส่งผลให้เกิดมลภาวะในแหล่งน้ำทั่วโลก ทำลายความหลากหลายของพันธุ์พืชซึ่งใช้ไนโตรเจนน้อย กระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ โดยยังไม่ต้องพูดไปถึงว่า หากอาหารเสริมนั้น ไปเกี่ยวข้องกับสัตว์มีชีวิต การบริโภคนั้นย่อมก่อให้เกิดการเบียดเบียนมากยิ่งขึ้นไปอีก
เราถกเถียงกันเพียงว่า สินค้านั้นมีคุณค่าจริงต่อผู้บริโภคหรือเปล่า และราคาแพงเกินไปหรือไม่ แต่ไม่ได้มองว่าสินค้านั้นส่งผลกระทบต่อสังคมและปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง
วิธีคิดในเรื่องการกินการอยู่อย่างบูรณาการ คือคิดเชื่อมโยงทั้งประโยชน์ของมนุษย์ สังคม ธรรมชาติ คือทางรอดสำคัญของมนุษย์ปัจจุบัน ชุมชนในสมัยเดิมที่รักษาระบบนิเวศและความสัมพันธ์แบบรวยน้ำใจไว้ได้ เพราะการรู้จักกินและอยู่อย่างบูรณาการ มีความพอดีเป็นที่ตั้ง มิได้กินหรืออยู่โดยเอาความต้องการและความสะดวกของมนุษย์เป็นเกณฑ์ตัดสินเพียงประการเดียว คนที่อยู่ต้นน้ำรู้ว่าตนเองจะต้องกินน้ำและใช้น้ำอย่างสะอาดและประหยัด เพื่อแบ่งปันคนอยู่ท้ายน้ำมิให้ลำบาก เพราะมีกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ว่าตนเองมิได้อยู่เพียงลำพังและมิอาจอยู่ได้เพียงลำพังด้วย
เมื่อไรที่คนสมัยใหม่มีกระบวนการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม เราจะแก้ไขปัญหายากๆ หลายเรื่องได้ เช่น ปัญหาอุบัติเหตุ เราจะขับรถโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคนอื่น มิใช่เพียงของเราเท่านั้น เพราะเรารู้ว่า รถเป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตได้ คนตายหนึ่งคนบนท้องถนน มีญาติพี่น้องไม่รู้กี่คนต้องคร่ำครวญอาลัย และไม่รู้ว่ามีอีกกี่ชีวิตที่จะต้องลำบากยากเข็ญจากการสูญเสียนั้น