หญิงสาวนางหนึ่งหลังจากเลิกรากับสามีเก่า เธอมาใช้ชีวิตทำงานเป็นแม่บ้านให้กับครอบครัวหนึ่งในกรุงเทพฯ เธอได้ข่าวว่าสามีเก่ากำลังตามหาและไม่ยอมเลิกรา วันหนึ่งเธอได้รับการติดต่อจากสามีเก่าว่ากำลังมาพบและจะพาเธอกลับ ความตื่นตกใจและความกังวลล่วงหน้าว่าสามีเก่าจะทำให้เธออับอาย และความกลัวที่จะต้องกลับไปใช้ชีวิตกับสามีเก่าทำให้เธอเก็บข้าวของเพื่อหลบหนีให้พ้นจากสามีเก่า กระทั่งเจ้าของบ้านมาทราบเรื่องจึงได้พูดคุย ทำความเข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ภาวะทางเลือกที่มีอยู่ รวมถึงความเป็นไปได้ ผลลัพธ์และวิธีการรับมือกับเรื่องราว ในที่สุดหญิงสาวก็สามารถค้นพบและทำความเข้าใจได้ว่า ตนเองมีทางเลือกอะไรได้บ้าง และสามารถรับมือกับเรื่องราวได้อย่างไรบ้าง
บ่อยครั้งเวลาที่เราแต่ละคนพบมรสุมชีวิต ชีวิตถูกซัดส่ายไปมา เราหลงลืมศักยภาพที่มีอยู่ เราหลงลืมสติปัญญาและความสามารถที่มีอยู่ ชีวิตไปรอดหรือไม่รอดก็ขึ้นกับว่าชีวิตนั้นๆ มีสติและวิธีรับมือกับมรสุมชีวิตที่เข้ามาลูกแล้วลูกเล่าได้เพียงใด
ท้องทะเลกว้างใหญ่ไพศาล ยามท้องทะเลสงบ ปราศจากคลื่นลม การเดินทางของเรือน้อยใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องยากลำบาก แต่บททดสอบความสามารถที่แท้อยู่ที่ว่า กัปตันเรือสามารถนำพาเรือให้เดินทางโดยปลอดภัยได้หรือไม่ยามเมื่อต้องเผชิญกับมรสุม คลื่นลม ฟ้าฝนที่สาดซัดรุนแรง ชีวิตแต่ละคนก็เหมือนเรือน้อยใหญ่ที่แล่นไปในท้องทะเลแห่งชีวิต นอกจากความสามารถของกัปตัน สิ่งสำคัญคือ เรือลำนั้นแข็งแรงเพียงใด เหมือนกับเราแต่ละคนมีหลักหรือรากฐานชีวิตอันเปรียบเหมือนสมอเรือที่แข็งแรงหรือไม่ อย่างไร
สำหรับบุคคลผู้ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในทางที่ไม่พึงปรารถนา: การไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา และการได้ในสิ่งที่ไม่ต้องการ สภาพเช่นนี้เป็นวิกฤตการณ์ของชีวิต หากเราสอบผ่านหรือก้าวข้ามไปได้ คุณค่าที่ได้รับคือ การมีบทเรียนชีวิตที่ช่วยให้เราเข้มแข็งขึ้น ฉลาดในการดำเนินชีวิตมากขึ้น แต่หลายคนสอบไม่ผ่านยามเมื่อประสบมรสุมชีวิตและวิกฤตการณ์ ชีวิตจึงต้องอัปปางด้วยการทำร้าย ทำลายชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งรอบตัว
ในแวดวงพุทธศาสนา หลักธรรมคำสอนที่มักกล่าวขานจนกลายเป็นคติเตือนใจ คือ “ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง” ด้านหนึ่งคือคำเตือนใจและคำปลอบประโลม แต่การมีหลักธรรมนี้ในจิตใจ ในวิธีคิด ก็ถือเป็นทุนชีวิต ตัวอย่างทุนชีวิต นอกเหนือจากทักษะ ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ยังหมายรวมถึงการมีสติปัญญา การมีระบบสังคม วัฒนธรรม ระบบความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือ พร้อมกับบางแง่มุมของวัฒนธรรมที่กัดเซาะทำลายสังคมก็มีด้วยเช่นกัน เช่น ระบบพวกพ้อง การทุจริตคอร์รัปชั่น ตรงนี้เองที่เป็นสาเหตุทำร้ายและทำลายเรือชีวิต
สาเหตุแท้จริงไม่ใช่ตัววิกฤตการณ์เสียทีเดียว แต่เป็นท่าทีที่เรามีต่อวิกฤตการณ์ “ปัญหาไม่ใช่ปัญหา วิธีรับมือกับปัญหาต่างหากที่เป็นปัญหาเสียเอง” คำกล่าวจากประสบการณ์ของนักจิตบำบัดครอบครัว เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ สะท้อนมุมมองที่สำคัญยามเมื่อเราเผชิญวิกฤตการณ์ เช่น การต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลง การสูญเสีย ภาวะสงคราม ภาวะการแข่งขัน การเจ็บป่วย ฯลฯ หัวใจสำคัญของการเผชิญกับวิกฤตการณ์คือ การมีความสามารถในการปรับตัว โดยเฉพาะการปรับตัวในเรื่องทัศนคติ มุมมอง ความเข้าใจ อารมณ์ รวมไปถึงพฤติกรรม โดยคุณภาพการปรับตัวก็ขึ้นกับคุณภาพของวิธีคิด ความรู้ ความเข้าใจต่อชีวิต ต่อการดำเนินชีวิต รวมถึงระบบสังคม
อุปสรรคของการปรับตัว คือ
เราทุกคนต่างมีความคาดหวัง แต่สิ่งสำคัญคือ การตรวจสอบว่าความคาดหวังที่มีอยู่วางอยู่บนความจริง ความเชื่ออย่างไร เช่น การคาดหวังว่าความสุขอยู่ที่คนอื่น อยู่ที่การครอบครองทรัพย์สมบัติ ความคาดหวังลักษณะนี้ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อความผิดหวังมากกว่าความคาดหวังที่มองว่าความสุข ความทุกข์ อยู่ที่การกระทำของตน
อุปสรรคนี้กักขังเราไม่ให้ยอมรับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น การตอบโต้ที่มักเกิดขึ้นคือ การปฏิเสธ การต่อต้าน การซึมเศร้า เสียใจ ภาวะยึดมั่นเช่นนี้ถ่วงรั้งให้การปรับตัวเกิดขึ้นได้ยาก
เช่น ความโกรธแค้น ความเกลียด ความกลัว ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราต่อสู้ ดิ้นรน รวมถึงต่อต้าน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การทำลาย ภายใต้ความเชื่อที่ซ่อนลึกคือ การทำลายสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นต้นเหตุจะทำให้อารมณ์เชิงลบเช่นนี้หายไป โชคร้ายที่เป็นความเข้าใจผิด เพราะผลลัพธ์คือ การลุกลามของความรุนแรงและผลกระทบ
การยึดมั่นถือมั่น ทำให้เราไม่ยอมรับวิกฤตการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต
ภายใต้วิกฤตการณ์ที่คุกคาม ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะมี ๒ ลักษณะ คือ การตอบโต้ด้วยการ “หนี” หรือ “สู้” เนื่องด้วยความกลัว สิ่งสำคัญคือ การเรียนรู้ก็ช่วยให้เราสามารถเอาชนะ หรือเท่าทันความกลัว เพื่อที่เราจะสามารถสร้างทางเลือกให้กับตนเองมากกว่าการหนี การสู้ หรือการตื่นตกใจ การมีทางเลือกช่วยให้เราได้ค้นพบและพัฒนาศักยภาพ รวมถึงกำหนดทิศทางที่พึงปรารถนาให้กับตนเอง แทนการเป็นผู้ถูกกระทำ
รากฐานชีวิต จึงหมายถึงชีวิตที่มีระบบสนับสนุนให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความสุขสวัสดี ระบบสนับสนุนเริ่มตั้งแต่การเรียนรู้และเท่าทันภาวะด้านลบในตนเอง ดังเช่น ภาวะการยึดมั่นถือมั่น การคาดหวังในทางที่ผิด รวมถึงการเท่าทันอารมณ์เชิงลบ ขณะเดียวกัน ระบบสนับสนุนก็รวมถึงการมีทิศทางหรือแนวทางเชิงบวก ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้ให้หลักการดำเนินชีวิตที่สำคัญคือ “เป็นประโยชน์และสงบเย็น” การเป็นประโยชน์สะท้อนถึงแนวทางดำเนินชีวิตที่มีความรู้ ความสามารถ ในการทำคุณประโยชน์ต่อตนเอง ต่อสังคมรอบข้าง และต่อโลก ขณะที่ด้านของภาวะสงบเย็น สะท้อนคุณภาพจิตใจ ระบบวิธีคิด ซึ่งสะท้อนต่อระบบและเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง