คนเรามักมองโลกโดยแยกความจริงออกเป็นคู่ๆ หรือเป็นขั้วตรงข้ามกัน เช่น ความดีกับความชั่ว สุขกับทุกข์ ความสำเร็จกับความล้มเหลว ชีวิตกับความตาย มนุษย์กับธรรมชาติ ฯลฯ พร้อมกันนั้นก็แยกแต่ละคู่ออกเป็นส่วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกัน เช่น แยกความดีออกจากความชั่ว โดยมีนัยยะว่าชอบสิ่งหนึ่ง และปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่ง
ทัศนะการมองดังกล่าวเรียกว่า ทวิภาวะ ในทางตรงข้ามทัศนะที่ปฏิเสธการมองแบบแยกเป็นขั้วๆ เรียกว่า อทวิภาวะ (non-dualism) อทวิภาวะมองว่าโลกนี้ล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม ไม่อาจแยกจากกันได้ ต่างพึ่งพิงอาศัยกัน ความดีนั้นเชื่อมโยงสัมพันธ์กับความชั่ว ความดีนั้นเรารับรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีความชั่วเป็นตัวเทียบเคียง เงามืดเกิดขึ้นเมื่อมีแสงสว่าง เราไม่สามารถเลือกสิ่งหนึ่งโดยปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่งได้อย่างสิ้นเชิง เพราะทั้งสองสิ่งเปรียบเหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน ปรารถนาความสุขก็ย่อมต้องครุ่นคิดกังวลถึงความทุกข์ และเมื่อประสบความสำเร็จก็ต้องเตรียมใจพบกับความล้มเหลว
ในทัศนะของอทวิภาวะ แต่ละด้านของความจริงไม่เพียงแต่อยู่คู่เคียงกันอย่างไม่อาจแยกจากกันเท่านั้น ลึกลงไปกว่านั้นในแต่ด้านของความจริง ก็ยังมีด้านที่เป็นขั้วตรงข้ามแฝงอยู่ด้วย ในสุขย่อมมีทุกข์ เช่นเดียวกับในทุกข์ย่อมมีสุขให้สัมผัสได้ สั้นและยาวนั้นอยู่ด้วยกัน ไม้บรรทัดนั้นสั้นเมื่อเทียบกับเสาไฟฟ้า แต่ยาวเมื่ออยู่ใกล้ดินสอ ในทำนองเดียวกัน ในความหนาวมีความร้อน และในความร้อนก็มีความหนาว ในความมืดมีความสว่าง เช่นเดียวกันในความสว่างก็มีความมืดแฝงอยู่ด้วย กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว อทวิภาวะมองว่าโลกนี้ล้วนเป็นหนึ่งเดียว หาได้แยกแยะเป็นส่วนๆ ออกจากกันไม่
พุทธศาสนานั้นมองโลกอย่างเป็นอทวิภาวะตามหลักอิทัปปัจจยตา โดยเห็นว่าสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงกันเป็นสหสัมพันธ์ ไม่มีอะไรแยกขาดจากกันเป็นขั้วหรือเป็นคู่ๆ ได้ ดังมีพุทธพจน์ว่า “แสงสว่างต้องอาศัยความมืดจึงปรากฏ ความงามต้องอาศัยความไม่งามจึงปรากฏ” นอกจากจะอิงอาศัยกันแล้ว สิ่งที่ดูเหมือนตรงข้ามกันยังปรากฏอยู่ด้วยกัน พุทธพจน์ตอนหนึ่งมีความว่า “ความแก่มีอยู่ในความเป็นหนุ่มสาว ความเจ็บไข้มีอยู่ในความไม่มีโรค ความตายก็มีอยู่ในชีวิต”
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว โลกนี้ล้วนเป็นหนึ่งเดียว หาได้แยกแยะเป็นส่วนๆ ออกจากกันไม่
ทัศนะการมองแบบอทวิภาวะดังกล่าวเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญมาก เพราะช่วยให้บุคคลหลุดพ้นจากความติดยึดในสมมติบัญญัติ ซึ่งพัวพันกับการมองโลกเป็นคู่ๆ สามารถอยู่เหนือดีและชั่ว สุขและทุกข์ ตลอดจนโลกธรรมทั้งปวง ช่วยให้ถอนจากความสำคัญมั่นหมายในตัวตน (ว่ามีอยู่อย่างเป็นอิสระเอกเทศและยั่งยืนถาวร) ดังนั้นจึงนำไปสู่อิสรภาพทางจิตใจอย่างสิ้นเชิง แต่อทวิภาวะจะมีความสำคัญแต่เฉพาะการพัฒนาในทางจิตวิญญาณอย่างเดียวก็หาไม่ หากยังมีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตและกิจกรรมในทางโลกอีกด้วย
เมื่อมีความขัดแย้งและการเผชิญหน้า เป็นการง่ายที่เราจะมองอีกฝ่ายว่าเป็นคนชั่วร้าย ซึ่งมีนัยยะตามมาว่าฉันเป็นฝ่ายดีมีธรรม การมองเช่นนี้ทำให้ง่ายที่เราจะใช้วิธีการใดๆ กับอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ แม้กระทั่งวิธีรุนแรง ทั้งนี้เพื่อปกป้อง “ความถูกต้องดีงาม”
การมองแบบทวิภาวะจะช่วยให้เราตระหนักว่าไม่มีฝ่ายใดที่เลวไปหมด และอีกฝ่ายถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ การกระทำของฝ่ายหนึ่งนั้นย่อมเป็นผลสืบเนื่องหรือสัมพันธ์กับการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งเสมอไม่มากก็น้อย ผู้ปกครองกระทำตัวเป็นเผด็จการได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะความเฉยเมยหรือการยินยอมของราษฎร คานธีเคยตั้งข้อสังเกตว่า คนอังกฤษจำนวน ๓๐,๐๐๐ คนสามารถปกครองคนอินเดียจำนวน ๓๐๐ ล้านคนได้อย่างไร หากคนอินเดียไม่ยินยอมให้เขามาปกครอง
ความชั่วร้ายของคนจำนวนมากบ่อยครั้งก็เป็นผลจากโครงสร้างหรือระบบต่างๆ ในสังคมที่อยุติธรรมหรือบ่มเพาะปลูกฝังพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง โดยที่โครงสร้างหรือระบบดังกล่าวนี้เราเองก็มีส่วนสนับสนุนด้วย ดังนั้นเราจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมอันชั่วร้ายของคนเหล่านั้นได้
อทวิภาวะไม่เพียงแต่จะเตือนให้ตระหนักว่า เราเองก็มีส่วนร่วมในความชั่วร้ายของคู่กรณีเท่านั้น หากยังตอกย้ำด้วยว่าเราไม่สามารถแบ่งโลกออกเป็นขาวและดำ โดยเราอยู่ในฝ่ายขาว และอีกฝ่ายอยู่ฝ่ายดำ ทั้งนี้ก็เพราะแม้เราจะเป็นคนดีเพียงใด แต่ใช่หรือไม่ว่าลึกลงไปในจิตใจของเราก็ย่อมมีความเลวร้ายแฝงฝังอยู่ด้วย อาทิ ความโกรธเกลียด พยาบาท หรือเห็นแก่ตัว
ในเมื่อเราเองก็มีส่วนร่วมหรือเป็นเหตุปัจจัยแห่งความชั่วร้ายของผู้อื่นด้วย เราจึงไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อ “กำจัด” เขาไปจากสังคมหรือโลกนี้ (ทำกับเขาอย่างไร ก็ต้องทำกับเราอย่างเดียวกันด้วย) ขณะเดียวกันความตระหนักกว่าในจิตใจของเรานั้นมีความชั่วร้ายแฝงฝังอยู่ ก็ทำให้เราต้องระมัดระวังที่จะใช้ความรุนแรงกระทำกับผู้อื่น เพราะความรุนแรงนั้นเองจะหล่อเลี้ยงบ่มเพาะความชั่วร้ายในใจเราให้เติบใหญ่ขึ้น จนแสดงตัวออกมาเป็นพฤติกรรมที่ชั่วร้าย หรือแปรเปลี่ยนเราให้กลายเป็นคนชั่วร้ายในที่สุด ตำรวจที่ใช้วิธีการอันเลวร้ายกับโจร ในที่สุดกลับมีพฤติกรรมไม่ต่างจากโจร พูดอย่างอทวิภาวะก็คือ ในตำรวจนั้นมีความเป็นโจรที่รอการฟูมฟักแฝงอยู่ด้วย
ประวัติศาสตร์ได้บอกเราว่า การมองโลกเป็นขาวเป็นดำอย่างชัดเจนนั้น ได้สร้างความทุกข์มานและโศกนาฏกรรมแก่มนุษยชาติมานับครั้งไม่ถ้วน อาชญากรรมของฮิตเลอร์ สตาลิน และพอลพต ล้วนเกิดขึ้นจากการมองคู่กรณี (ยิวและชนชั้นกลาง) ว่าเป็นตัวชั่วร้ายที่ต้องกำจัดให้หมดไปจากโลก แต่แล้วความรุนแรงที่คนทั้งสามใช้กลับทำให้เขากลายเป็นคนชั่วร้ายยิ่งกว่าคนที่เขาต้องการกำจัดเสียอีก อุสมาบินลาเดนและจอร์จ บุช เป็นตัวอย่างล่าสุดของการสร้างความทุกข์ยากแก่เพื่อนมนุษย์เพราะมองโลกเป็นขาวเป็นดำอย่างชัดเจน
ความรุนแรงนอกจากจะขจัดความชั่วร้ายออกไปไม่ได้แล้ว ในที่สุดยังกลับเพิ่มคนชั่วร้ายให้มีมากขึ้น แทนที่จะลดลง คนชั่วร้ายที่เพิ่มขึ้นนั้นได้แก่ บุคคลที่ใช้ความรุนแรงกระทำกับผู้อื่น (แม้จะเพื่อพิทักษ์ความดีก็ตาม) และบุคคลที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง ซึ่งเกิดความเคียดแค้นชิงชังและหันไปหาความรุนแรงที่เข้มข้นกว่าเพื่อตอบโต้ ด้วยเหตุนี้เราจึงควรตั้งมั่นอยู่ในหลักการสันติวิธีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้